เรามีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการ Sacrifice งานจัดแสดงเต็มรูปแบบครั้งแรกของศิลปินคอลลาจชื่อดัง นักรบ มูลมานัส ที่ไม่ว่าจะหยิบจับชิ้นส่วนของงานศิลปะไทยและต่างประเทศมารวมเป็นผลงานชิ้นใหม่กี่ครั้งก็ยังคงสวยงามและลงตัว ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นักรบบอกเราว่า “ผลงานบางชิ้น ความหมายจะแล้วแต่คนตีความและต่อยอด มันไม่มีที่สิ้นสุด เราก็สนุกสนานกับการที่เห็นว่าคนมีความเห็นต่างๆ กันไป นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ศิลปะเป็นศิลปะ”
ในนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากนักรบจะผสมผสานงานคอลลาจแบบแอนะล็อกและดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกันแล้ว เขายังหยิบประเด็นศาสนามาใช้ได้อย่างน่าสนใจ สำหรับนักรบ ศาสนาและศิลปะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทั้งสองสิ่งเกี่ยวข้องกับความศรัทธาของมนุษย์ และสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งให้ออกมาสวยงาม
“หากลองย้อนไปดูงานศิลปะเก่าๆ ศิลปินก็จะมีการอ้างถึงงานที่เก่ากว่า มีการหยิบเรื่องราวเก่าๆ มาพูดถึงใหม่อีกครั้ง เหมือนเป็นการบูชาครูไปในชิ้นงาน อย่างงานคอลลาจของเราเองก็หยิบชิ้นส่วนเก่าๆ มาเล่าใหม่ เป็นการรำลึกและบูชาสิ่งเก่าๆ เราอาจจะต้องยอมสละสิ่งเก่าๆ เพื่อทำให้เกิดเป็นสิ่งใหม่” นักรบอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกใช้ชื่องานครั้งนี้ว่า ‘Sacrifice’ ที่หมายถึงการทำพิธีบวงสรวงและการเสียสละ
เราจึงอยากชวนทุกคนมาย้อนดูและทำความรู้จักคุณครูผู้อยู่เบื้องหลังเหล่าศิลปินดังในตำนานอย่าง Leonardo Da Vinci, Michelangelo และ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ในวันที่พวกเขายังฝึกปรือฝีมือกันอยู่ เพื่อรำลึกและบูชาครูของพวกเขาไปด้วยกัน
01 ศิลป์ พีระศรี
ช่วง มูลพินิจ, ถวัลย์ ดัชนี, สวัสดิ์ ตันติสุข และ เฟื้อ หริพิทักษ์ คือศิลปินไทยระดับตำนาน ผู้เป็นที่เคารพรักของศิลปินไทยรุ่นใหม่จนถึงวันนี้ เป็นผลผลิตอันกลมกล่อมจากความเสียสละของอาจารย์คนเดียวกันนั่นคืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี หรืออาจารย์ฝรั่ง นั่นเอง
อย่างที่รู้กันว่า อาจารย์ศิลป์ได้มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาด้านศิลปะร่วมสมัยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อให้ความรู้แก่คนไทยที่สนใจด้านศิลปะ
อนุสาวรีย์และพระบรมรูปสำคัญต่างๆ ที่เราเห็นกันจนคุ้นตา หลายชิ้นงานเป็นผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นที่รักของลูกศิษย์ และไม่ใช่เพราะเพียงแค่ความรัก ความเอาใจใส่ ต่อลูกศิษย์ที่มากกว่าทักษะทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิธีคิดที่กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีแก่ศิลปินรุ่นหลังไม่รู้จบ
02 Andrea del Verrocchio
เคยสงสัยกันไหมว่าศิลปินระดับโลกอย่าง Leonardo Da Vinci เจ้าของภาพชื่อดังอย่าง Mona Lisa มีใครคอยปลุกปั้นอยู่เบื้องหลังในวันที่เขาเริ่มหัดวาดเขียนเรียนศิลปะ จากความสงสัยนี้ เราออกค้นหาคำตอบจนพบว่าใครคนนั้นก็คือ Andrea del Verrocchio ปรมาจารย์แห่งสถาบันฝึกสอนศิลปะชื่อดังในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
ว่ากันว่าเขาเป็นครูที่มีบทบาทอย่างมากในการทำให้ Da Vinci พัฒนาฝีมือศิลปกรรมและประติมากรรมจนเก่งขึ้นเรื่อยๆ Verrocchio เคยให้ Da Vinci ช่วยฝึกวาดรูปภาพสีน้ำมันและได้ร่วมกันวาดภาพเขียนชื่อดังอย่าง The Baptism of Christ เขาให้ Da Vinci วาดภาพเทวดาไว้ด้านซ้ายของพระเยซูและบนฉากหลังของภาพนั้น ภาพนี้ถือเป็นภาพแรกๆ ที่ Da Vinci ได้ลงมือวาดด้วยตนเอง แล้วจึงนำเทคนิคการวาดด้วยสีน้ำมันไปสร้างสรรค์ผลงานต่อๆ ไป
ส่วนตัวท่านปรมจารย์ Verrocchio เองก็ได้สร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซไว้ให้โลกจดจำอย่าง Equestrian statue of Bartolomeo Colleoni รูปปั้นนายพลผู้ยิ่งใหญ่ที่กำลังขี่ม้า ในกรุงเวนิส ประเทศอิตาลีนั่นเอง
03 Pietro Perugino
‘ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด’ ขนาดศิลปินระดับโลก Raphael เจ้าของผลงานดังอย่าง The School of Athens ยังต้องฝึกฝนและมีครูคอยลับฝีไม้ลายมือไม่ต่างกัน
ครูของเขาคือ Pietro Perugino ศิลปินผู้มากความสามารถแห่งเมืองเปรูเจีย ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์ของ Andrea del Verrocchio และเพื่อนร่วมชั้นเรียนของ Leonardo Da Vinci
ชื่อเสียงของ Pietro โด่งดังไปไกลในหลายๆ เมืองของอิตาลี และมีผู้ต้องการงานของเขามากมาย ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกเรียกตัวไปกรุงโรมเพื่อร่วมสร้างสรรค์งานจิตรกรรมเขียนสีบนปูนเปียก บนผนังวิหาร Sistine Chapel ไม่ว่าจะเป็นผลงาน The Charge to St. Peter, Moses leaving for Egypt และ The Baptism of Christ ร่วมกับศิลปินชื่อดังในยุคนั้น ซึ่งเขาได้นำเสนอมิติใหม่ในการทำงานศิลปะสมัยนั้นโดยเพิ่มมิติภาพให้ดูลึกขึ้นผ่านการวาดพื้นทางเดิน ปูไปสู่สถาปัตยกรรมอันเป็นฉากหลังของภาพ ตลอดจนการใช้แสงที่นวลและชัดเจน โดยลูกศิษย์คนเก่งอย่าง Raphael เองก็ได้นำแนวทางนี้ของ Perugino ไปใช้ได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์แบบที่สุด
04 Lorenzo Ghiberti
งานประติมากรรมถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องใช้ความสามารถอย่างมากในการทำผลงานให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด
จากการค้นหาข้อมูล เราได้พบว่ามีบุคคลหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเซียนทางด้านนี้ เขาคือ Lorenzo Ghiberti ประติมากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านงานโลหะและจิตรกรรมฝาผนังชื่อดังในยุคเรเนซองส์ เขาเป็นอาจารย์ของศิลปินมากมายรวมถึงประติมากรชื่อดังอย่าง Donatello เขาได้ถ่ายทอดหลักสูตรการปั้นโลหะต่างๆ ให้แก่ Donatello จนมีผลงานสร้างชื่อหลายชิ้น และยังเคยช่วยกันสร้างประตูโบสถ์ใหญ่ๆ ด้วย ฝีมือของ Ghiberti ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นฝีมือที่สง่างามและมีเสน่ห์สุดๆ ในยุคนั้น
ต่อมาเขาได้รับการยกย่องเป็นปรมาจารย์แห่งช่างฝีมือ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ Gates of Paradise ประตูสีทองอร่ามแห่งหอศีลจุ่มฟลอเรนซ์
05 Domenico Ghirlandaio
กว่าศิลปินผู้มากความสามารถระดับโลกอย่าง Michelangelo จะมีความสามารถและสร้างสรรค์ผลงานให้เราทุกคนชื่นชมได้ขนาดนี้ ในช่วงแรก เขาต้องผ่านการฝึกสอนจากครูผู้มากความสามารถอย่าง Domenico Ghirlandaio จิตรกรผู้มีชื่อเสียงแห่งเมืองฟลอเรนซ์ในยุคนั้นเช่นกัน
ครูคนนี้ได้ถ่ายทอดเทคนิคการเขียนจิตรกรรมฝาผนังเส้นสายเด่นตรงที่ให้ความรู้สึกเป็นสามมิติในตัว และการเขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้ที่เขาเชี่ยวชาญให้กับ Michelangelo
ฝีมือของเขาเป็นที่เลื่องลือถึงขนาดที่ Francesco Sassetti ผู้สร้างโบสถ์ Sassetti Chapel ตกลงจ้างให้เขาสร้างสรรค์งานจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของนักบุญฟรานซิส ตลอดจนภาพบุคคลสำคัญในสังคมสมัยนั้น และฉากภูมิทัศน์ร่วมสมัยของฟลอเรนซ์
อ้างอิง da-vinci-inventions.com, wmf.org, italoamericano.org, italian-renaissance-art.com, biography.com, italian-renaissance-art.com