‘ทะเลสาบน้ำตา’ สุขสันต์ ร้าวราน ไปกับความกึ่งจริงกึ่งฝันกึ่งทรงจำของสองเด็ก

Highlights

  • ทะเลสาบน้ำตา คือนวนิยายเรื่องล่าสุดของ วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลดับเบิลซีไรต์ ซึ่งนับเป็นผลงานเขียนลำดับที่ 3 ของเธอ โดยมีคำจำกัดความว่าเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป
  • จากเรื่องมายาคติของ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ ความพร่าเลือนของประวัติศาสตร์กับทรงจำของ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา รวมถึงสำนวนภาษาที่สวยงามละเมียดละไมของวีรพร ทำให้มีนักอ่านจำนวนไม่น้อยรออ่านงานเขียนเล่มนี้อย่างใจจดใจจ่อ
  • เรื่องเล่าถึงยิหวา เด็กหญิงผู้ถูกแม่ทิ้งไว้ในตึกพิลึกพิลั่นเพื่อออกไปตามหาความรักหลังจากที่พ่อกลายเป็นต้นไทร และ อนิล เด็กชายที่พ่อหมางเมิน พ่อไล่แม่ออกจากบ้าน เมื่อพ่อแต่งงานใหม่ อนิลตัดสินใจออกมาเร่ร่อน และเจอกับยิหวา เดินทางไปกับสมาคมลับแห่งต้นชงโค ประกอบด้วย คุณยายไลลา ห่านปุยฝ้าย และแมวโบ๋แบ๋
  • แม้หนังสือเล่มนี้จะอ่านง่ายกว่าเล่มก่อนๆ และมีการเล่าที่คล้ายกับอ่านนิทาน ประกอบความแฟนตาซี เหนือจริง และปะปนไปด้วยมุมมองกึ่งจริง กึ่งฝัน กึ่งทรงจำ แต่นี่ถือเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่กอบรวมส่วนประกอบของยุคสมัยมานำเสนอได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ก็อ่านได้แน่นอน

“มันจะเป็นวรรณกรรมเด็กที่เศร้าที่สุดในโลกหรือเปล่านี่”

นั่นเป็นความคิดที่ชำแรกขึ้นมาในหัวฉันตอนที่ทราบข่าวว่า วีรพร นิติประภา นักเขียนเจ้าของรางวัลดับเบิลซีไรต์จะปล่อยงานเขียนลำดับที่ 3 ออกมา

เธอให้คำจำกัดความนวนิยายเล่มนี้ว่าเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป

จากการได้อ่านผลงานนวนิยายทั้ง 2 เล่มที่ผ่านมาของนักเขียนผู้เป็นขวัญใจเด็กรุ่นใหม่คนนี้ ฉันพบว่าตัวเองถูกจริตฝีมือการเขียนของวีรพรไม่น้อย ไม่ว่าเรื่องมายาคติของ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต หรือ ความพร่าเลือนของประวัติศาสตร์กับทรงจำของ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา ยังไม่นับความงดงามและละเมียดละไมของภาษาที่ใช้บรรยายจนบางครั้งอ่านแล้วราวกับกำลังยืนอยู่ในสวนดอกไม้หลังบ้านแห่งนั้นจริงๆ

แต่ใครๆ ก็รู้ว่าวีรพรเป็นนักเขียนผู้มาพร้อมกับความโศกเศร้า หลายต่อหลายครั้งที่ฉันได้ยินเสียงคนรอบข้างที่อ่านงานเขียนของเธอแล้วมักเอ่ยว่า ‘อ่านยาก’ หรือ ‘เศร้าเกินไป’ ทว่าเมื่อใดก็ตามที่ก้าวข้ามสองข้อนี้ไปได้แล้ว จะพบว่ามวลอักษรของเธอแสนดึงดูดให้เราจมจ่อมอยู่กับหน้ากระดาษเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา ที่หนา 400 กว่าหน้า โดยฉันใช้เวลาอ่านในช่วงวันหยุดปีใหม่แค่ 1-2 วันเท่านั้น

ที่อ่านต่อเนื่องรวดเดียวจบไม่ใช่เพราะความหนา แต่ความโศกที่อัดแน่นในนั้นทำให้ฉันต้องหยุดพักกลั้นน้ำตา

ทะเลสาบน้ำตา ก็ทำได้แบบนั้น เรื่องราวของสองเด็กติดตรึงให้ฉันสะเปะสะปะไปกับสายธารชีวิตทั้งคู่ เพื่อที่จะรู้ว่าท้ายสุดแล้วเส้นทางน้ำตาของพวกเขาไปสิ้นสุดลงที่ใด เหือดแห้งหรือไหลพราก คงเดิมหรือแปรเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม

อีกจุดที่ถ้าไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ ภาพประกอบแนวคอลลาจฝีมือ นักรบ มูลมานัส ที่ไม่ได้แค่ออกแบบปกอย่างเดียว แต่ยังออกแบบภาพประกอบแทรกไปตลอดเล่ม ชี้ชวนให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น บางชิ้นสวยมากจนอยากได้มาแปะที่ห้องเลย

“การตื่นให้ความรู้สึกเหมือนวูบร่วง ควงคว้าง ร้างหล่น แต่ไม่ใช่จากข้างบนลงข้างล่าง หากจากก้นบึ้งสีดำของความหลับ ทะลึ่งขึ้นในโลกสีน้ำเงินอึมครึม” (หน้า 11)

ตอนอ่านประโยคเปิดเรื่องนี้ครั้งแรก ฉันประทับใจมากจนอ่านซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ แน่นอนว่าเรื่องภาษาก็ส่วนหนึ่ง แต่การสร้างความรู้สึกที่ทำให้อยากอ่านต่อนั้นนำไปไกลกว่า บรรทัดถัดไปจึงเล่าถึงหนึ่งในตัวละครเอกกับความฝันที่ค้างเติ่งกับความจริงเรื่องแม่

เธอคือ ยิหวา เด็กหญิงผู้ถูกแม่ทิ้งไว้ที่บ้านในตึกพิลึกพิลั่นเพื่อออกไปตามหาความรักหลังจากที่พ่อกลายเป็นต้นไทร และ อนิล เด็กชายซึ่งถูกพ่อหมางเมินหลังจากไล่ตะเพิดแม่ออกจากบ้าน เมื่อทนต่อการถูกมองข้ามไม่ไหวหลังจากพ่อแต่งงานใหม่ อนิลจึงตัดสินใจออกจากบ้าน เร่ร่อนจนกระทั่งได้มาเจอกับยิหวา และกลายเป็นเพื่อนรักกัน ยิหวาพาอนิลไปรู้จักกับชาวสมาคมลับแห่งต้นชงโคซึ่งประกอบด้วยคุณยายไลลา ห่านปุยฝ้าย และแมวโบ๋แบ๋ จากนั้นจึงเป็นการเดินทางของสองตัวละครหลักไปยังเมืองกระจกและป่าดึกดำบรรพ์ ที่ที่ทั้งคู่พบเจอความฝันและความทรงจำอันไม่ปะติดปะต่อของสถานที่กับเวลา 

ระหว่างที่อ่าน ฉันพบว่าภาษาที่วีรพรใช้ในเล่มนี้ค่อนข้างเข้าใจง่ายกว่าสองเล่มที่ผ่านมา รู้สึกได้ว่าคำน้อยลง นั่นเพราะเธอคงอยากให้เยาวชนอ่านได้อย่างไม่ยากเกินไปนัก อีกทั้งวิธีการเล่าเรื่องก็มีลักษณะเหมือนนิทาน บวกกับความเหนือจริงของบรรยากาศ ตัวละคร และสภาพแวดล้อม จึงทำให้มีความแฟนตาซีขึ้นมา ไม่ถึงกับมีผู้วิเศษพ่อมดแม่มดแบบนั้น มันดูกึ่งความจริง กึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำ พร่าเลือนกันไปหมด 

ที่เป็นแบบนั้นคงเพราะผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่องบรรยายเรื่องราวผ่านดวงตาของเด็กวัยสิบขวบกว่าๆ แบบยิหวากับอนิล ยกตัวอย่าง ชาวตึกพิลึกพิลั่นที่มีตั้งแต่คู่สามีภรรยาที่อยู่ในเสื้อตัวเดียวกัน เพราะตัวสามีกลัวว่าภรรยาที่ไม่ชอบการมีชีวิตอยู่จะฆาตกรรมตัวเอง หญิงหม้ายเจ้าของร้านขายวิกที่ทำทรงผมประหลาด คุณตาพ่อครัวที่เหมือนนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น รวมถึงคนในเมืองกระจกที่คุณยายไลลาบรรยายว่า 

“ก็คนพวกนั้นน่ะมีแต่คำตอบล่ะรู้มั้ยเล่า คุณยายหนูแดงผู้ซึ่งเอาวิกผมไปส่งให้ร้านค้าในเมืองกระจกบ่อยๆ บอก พวกเขาจะคอยพูดนี่บอกนั่นตลอดเวลาทั้งๆ ที่ไม่มีใครถาม แล้วนอกจากพูดเหมือนๆ กันเรื่องเดียวๆ กันยังไม่เคยถามคำถามอีกต่างหาก เอาแต่เร่งรีบลุกลี้ลุกลนยุกๆ ยิกๆ จะไม่มีเวลาคิดอะไร ทนรออะไรใครแทบไม่ได้ อะไรๆ ก็ต้องเอาเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ พวกเขาคิดว่าเวลาของเขามีราคาแพง แต่ก็แพงเฉพาะเวลาของตัวเองเท่านั้นนะ เวลาของคนอื่นอย่างพวกเราๆ น่ะเขาตีราคาถูกจะตาย” (หน้า 56)

แน่นอนว่าถ้าอ่านแบบไม่คิดอะไรก็จะคิดว่า ชาวเมืองกระจกมีนิสัยแบบนั้น แต่ถ้าหากพินิจพิเคราะห์ดีๆ จะเห็นว่าในหลายๆ ส่วนของเรื่อง ผู้อ่านสามารถตีความและเชื่อมโยงกับโลกจริงได้มากมายไปไกลถึงสเกลการเมืองระดับประเทศเสียด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันฉันสัมผัสได้ถึงความเศร้าและกะพร่องกะแพร่งจากเรื่องราวของตัวละคร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นชินสำหรับหนังสือวรรณกรรมเยาวชนในไทยเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ที่ฉันเคยเจอ มักเป็นเรื่องราวของเด็กกับแง่งามอะไรบางอย่าง บ้างผูกกับครอบครับ บ้างผูกกับโรงเรียน บ้างผูกกับค่านิยมของสังคม ยังไม่นับจำนวนที่มีน้อยและความหลากหลายที่ไม่ค่อยจะหลายหลากเท่าไหร่ด้วย

แต่หลายครั้งที่ฉันได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมประเภทนี้ของต่างประเทศ กลับพบว่านักเขียนใส่ประสบการณ์ร้ายๆ ความเจ็บปวด ความเศร้าโศก ไปจนกระทั่งความตายไว้ในตัวอักษรเหล่านั้น ซึ่งฉันคงไม่สามารถฟันธงได้ขนาดนั้นว่าตกลงแล้วมันดีหรือไม่ดีกันแน่ ทว่าที่มั่นใจคือประสบการณ์และความรู้สึกเหล่านี้เป็นความจริง และไม่ว่าใครก็มีโอกาสประสบได้ทั้งนั้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม

ฉันจำได้ว่าเคยคุยกับรุ่นน้องที่เรียนจบด้านหนังสือเด็กมา เธอยกคำพูดของ Maurice Sendak นักวาดหนังสือเด็กชาวอเมริกันที่เธอชื่นชอบมาว่า “Children are tough, though we tend to think of them as fragile.” พร้อมกับเสริมว่า หลายๆ ครั้งเรารู้สึกว่าสื่อสำหรับเด็ก sugar-coated เกินไป ไม่ใช่เพราะเด็กเปราะบางแต่ผู้ใหญ่ต่างหากที่ชอบคิดแทนเด็ก ขี้กลัวไปเอง ทั้งที่เด็กๆ คือฟองน้ำที่กล้าหาญจะตายไป

หลังจากที่อ่านจบ บรรทัดสุดท้ายของเรื่องทำฉันนิ่งงันไปพักหนึ่ง พลางคิดว่าคงจะดีถ้าเด็กๆ ในประเทศได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะ ทะเลสาบน้ำตา ชี้ชวนให้มองโลกอย่างแช่มช้า รู้จักทำความเข้าอกเข้าใจคนอื่น จากการได้เห็นตัวละครต่างวัยต่างสายพันธุ์เป็นเพื่อนเป็นครอบครัวเป็นบ้านให้กัน เมื่อเราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกพ่อแม่ไม่ได้ ก็ไปหาความสัมพันธ์มิตรภาพใหม่ๆ ที่อยากได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ยิหวา อนิล และสมาชิกสมาคมลับใต้ต้นชงโคคือความสัมพันธ์อื่นๆ ที่เป็นไปได้ 

ในสังคมไทยที่นับถือคุณค่าจากวัย ความเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ทำให้เกิดการถ่างออกของลำดับขั้น กลายเป็นแนวคิดที่เห็นคนไม่เท่ากัน เพียงเพราะอีกฝั่งอายุน้อยกว่า ทำไมผู้ใหญ่ทำผิดได้ ทำไมผู้ใหญ่พูดคำหยาบคายได้ ทำไมผู้ใหญ่ทำสีผมได้ ทำไมผู้ใหญ่มีความรักได้ แต่ทำไม ทำไม ทำไม และทำไมเด็กถึงทำไม่ได้เลย หรือถ้าทำก็จะมีการตัดสินว่าผิด ไม่เหมาะสมทันที ทั้งที่สิ่งที่ทำก็ทำเหมือนผู้ใหญ่ทุกประการ

นอกจากนี้จุดที่ทำให้ฉันประจักษ์แจ้งว่าเหตุใดวีรพรเป็นนักเขียนที่สร้างแรงกระเพื่อมแก่นักเขียนรุ่นใหม่ๆ และเป็นไอดอลของนักอ่านวัยเยาว์คือ การที่วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้กอบรวมส่วนประกอบของยุคสมัยปัจจุบันมาสรุปได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเรื่องเพศของตัวละครทั้งสอง การที่บ้านไม่ได้หมายถึงแต่ครอบครัวอย่างเดียว ความโดดเดี่ยวของคนสมัยใหม่ ความเหลื่อมล้ำของความเจริญในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์และโพสต์ที่เธอมักแสดงความคิดเห็นอย่างเข้าอกเข้าใจความนึกคิดของคนสมัยนี้ได้โดยไม่เอาตัวเองมาเป็นบรรทัดฐาน

อย่างที่แม่ของยิหวาได้พูดกับลูกของเธอเอาไว้ “มันไม่มีคนไม่ดีอยู่ในโลกนี้หรอกยิหวา แม่ว่า มีแต่คนที่หัวใจแตกสลายไม่เป็นชิ้นอัน” (หน้า 18)

แม้ตอนจบจะค่อนข้างตามสูตรไปนิด แต่ฉันคิดว่ามันเป็นตอนจบที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะการสมหวัง-ไม่สมหวังคือเรื่องธรรมดาสามัญของชีวิตที่ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ใช้ชีวิตบนโลกมานานแค่ไหน ก็ต้องเจอ สำคัญคือช่วงชีวิตที่สมหวังหรือไม่สมหวังนั่นต่างหากว่าจะดำเนินไปอย่างไร ตีอกชกตัวฟูมฟายหรือหันกลับมามองว่าตนได้อะไรกลับมาบ้าง

“ทุกอย่างเป็นอย่างที่มันเป็น และด้วยเหตุที่มันเป็นอย่างที่เป็น…มันก็ถึงไม่เป็นอย่างอื่น และเมื่อมันไม่เป็นอย่างอื่นได้อีก สิ่งที่เป็นอยู่จึงถือว่าดีที่สุดเสมอ กระทั่งตอนที่เรื่องเผอิญไม่เป็นอย่างที่อยากให้เป็น”

ฉันหวังเหลือเกินว่าในโลกแห่งความจริงที่ฟั่นเฟือนไปด้วยความลวง ความไม่เท่ากัน และความเชื่อนั้น ตัวละครเอกที่เป็นเหล่าเด็กๆ ของเราจะอยู่รอดมาด้วยความหวัง และสะบัดทิ้งร่องรอยจากอดีตที่ส่งต่อกันมาโดยไร้ซึ่งการตั้งคำถาม เพื่อที่สักวันจะหมายมั่นสร้างโลกของพวกเขาเอง ด้วยความรู้สึกที่ตนก็มีสิทธิมีเสียงเท่ากับผู้ใหญ่ที่มีโอกาสทำผิดไม่ต่างจากเด็กเช่นเดียวกัน

ในโลกใบนั้น โลกที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ไม่มีใครตัดสินคุณจากแค่วัย รูปลักษณ์ หรือเพศ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone