นักรบ มูลมานัส ชีวิตก็เหมือนกับการคอลลาจภาพ “ลองผิดลองถูก ไม่เวิร์กก็เริ่มต้นใหม่”

วิธีการทำศิลปะคอลลาจภาพ คือการที่เราหยิบจับสิ่งที่มันสามารถประกอบกันได้ ชิ้นนี้น่าสนใจดูแล้ว
เหมาะสมก็นำมาเรียงจัดวาง ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยนแล้วจัดวางใหม่ ความสนุกของการทำคอลลาจภาพในระหว่างทางคือ เราไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หน้าตาสุดท้ายจะเป็นแบบไหน แค่ค่อยๆ หา ค่อยๆ สะสมเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ ลองผิดลองถูกกันไปจนเป็นภาพที่ลงตัวในเวลาที่กำหนด

  บางที มันก็เหมือนกับชีวิตการทำงานที่ใครๆ ต่างต้องทดลองทำนู้นทำนี่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราอาจจะมองไม่เห็นภาพในอนาคตที่กำลังเยือนถึง แต่ชีวิตก็ต้องคลำทางต่อไป ไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาดีหรือแย่ เราก็ต้องยอมรับและก้าวเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ อยู่ดี

เหมือนกับการทำงานผลงานศิลปะของ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปิน Illustration คอลลาจสายประวัติศาสตร์ที่ใครๆ ต่างต้องเคยเห็นผ่านตาไม่ว่าจะเป็น หน้าปกหนังสือ ผลงานศิลปะหรือสื่อต่างๆ  ดูภายนอกผ่านผลงานศิลปะสุดเนี้ยบ อาจทำให้เผลอคิดไปก่อนสนทนาว่าเขาน่าจะเป็นคนเพอร์เฟ็กต์ชันนิสต์ทุกระเบียบนิ้ว แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คาดฝัน เขาเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำคอลลาจภาพกับชีวิตมีความคล้ายคลึงกัน “ลองผิดลองถูก ถ้าไม่เวิร์กก็เริ่มต้นใหม่ ทำต่อไปเรื่อยๆ”

“ไม่ได้คาดหวัง แม้ว่ารูปที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมันจะเป็นอย่างไร เราแค่แบบโอเค และต้องเชื่อว่า สุดท้ายแล้วมันจะทำออกมาเป็นภาพที่มันอาจจะไม่ได้สวย 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าเราโอเคกับเวลานั้นๆ ให้มันได้ก็พอ”

ความคิดเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มการเป็นศิลปินคอลลาจออกแบบหน้าปก a day เล่มที่ 205 เกี่ยวกับเรื่องดวง ความเชื่อและโชคชะตาราศีในปี 2017 ซึ่งมาจากโครงการที่ชื่อว่า a day Junior ชวนไปบรรยายการทำภาพประกอบให้กับน้องอะเดย์จูเนียร์รุ่นที่ 13 และบรรณาธิการในรุ่นนั้นก็ชวนเขาไปทำภาพหน้าปกดังกล่าว ปัจจุบันเวลาห่างออกไปเกือบสิบปี เขายังคงเดินหน้าทำในสิ่งชอบต่อไปเรื่อยๆ แต่มุมมองการพัฒนาตัวเองเปลี่ยนแปลงไปจากจุดเดิมมากน้อยขนาดไหน นี่คือหัวข้อบทสนทนาที่เราอยากจะคุยกับเขาวันนี้

8 เต็ม 10 คะแนนการพัฒนาตัวเองจากจุดเริ่มต้น

“ถ้าถามว่าตัวเองเปลี่ยนไปไหมจากตอนเริ่มต้นก็ไม่เปลี่ยน แต่ว่าถ้าถามเรามองเห็นอะไรรอบข้างมากขึ้น พัฒนามากขึ้น สมัยก่อนเรามองว่าความ Illustration มันคือการตีความออกมาจากตัวอักษร แต่พอได้ทำงานที่มันหลากหลายมากขึ้น โจทย์อะไรที่ไปมากกว่าการตีความให้ตรงกับตัวอักษร หรือว่าอยากไปงานศิลปะร่วมสมัย มันทำให้เราปลดปล่อย เราฟรีตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของการทำงานของเราเป็นหน้าที่อะไรอยู่

“คิดว่าให้ 8 คะแนนก็เหมือนเราเลิกที่จะตีกรอบนู้น นี่ โน้น นั้น เรามองภาพอะไรที่มันใหญ่มากขึ้น ตอนแรกๆ วิธีการทำคอลลาจเริ่มจากที่เราคิดว่ามันทำได้หรอ มันทำเป็นงานคอมเมอร์เชียล ทำเป็นงานที่สื่อสารได้รึเปล่า เพราะว่าเราหยิบจับในส่วนที่เป็นโลกอดีต ถ้ามันสามารถพูดถึงปัจจุบันและอนาคตได้รึเปล่า อันนี้เป็นคำถามตอนเด็กๆ แต่ตอนนี้เหมือนเราเชื่อมโยงกับตัวเองได้มากขึ้น หมายถึงว่าเลิกคิดไปแล้วว่าคอลลาจมันจะพูดถึงเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รึเปล่า เพราะมันพูดได้อยู่แล้ว 

“แต่โลกในปัจจุบันโจทย์เรื่องราวมันไปไกลกว่านั้นแล้ว ที่เราสนใจคือความท้าทายในประเด็นต่างๆ มากกว่าตรงนั้นแล้ว โลกที่เปลี่ยนแปลงมากมาย อย่างตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีใครมาพูดแล้วว่าอัตลักษณ์ไทยคืออะไร เพราะเราข้ามไปไกลแล้ว เรารู้สึกว่าเราข้ามสมัยก่อนที่ตีกรอบในการนิยามความเป็นไทยคืออะไร ตอนนี้ก็ยังมีนิยามอยู่ แต่ตอนนี้กรอบมันกว้างขวางมากขึ้นแล้ว คนเห็นมุมมองที่มันหลากหลายมากขึ้นแล้ว เราควรหยิบโยงเอกลักษณ์ของเรา คือพลเมืองของชาติ ความเป็นพลเมืองของโลก การอยู่ร่วมกันในสังคม 

“ซึ่งเราก็พยายามที่จะหาทางอยู่ร่วมกันมากมาย การผ่าวิกฤตการณ์ต่างๆ สาธารณสุข วิกฤตการณ์ทางการเมือง ทุกวันนี้ก็ยังพยายามหาที่ทางให้กับตรงนี้อยู่ มันก็เป็นโจทย์ที่คิดไม่มีวันจบสิ้นว่า คนที่อุดมการณ์แตกต่างกันจะวางตัว จะดำรงอยู่ได้อย่างไรในสังคมนี้ ทั้งเรื่องความท้าทายของสิ่งแวดล้อมต่างๆ เราจะอยู่ในโลกนี้ที่มันถดถอยลงทุกวันได้อย่างไร เรื่องเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของผู้คน หรือในนิทรรศการต่างๆ ของเราก็พยายามหาคำตอบให้ใคร่ครวญในเรื่องเหล่านี้ 

“ยกตัวอย่าง มันมีนิทรรศการหนึ่งที่เราทำที่ The Jim Thompson Art Center ในปี 2020 ตอนนั้น AI เข้ามา ซึ่งความสนใจของเราคือเรื่องวรรณกรรม เรื่องราวโบราณ เราก็เลยลองใช้เทคโนโลยีที่ AI กับไตรภูมิพระร่วงที่มันเป็นข้อความ ที่มันเก่าแก่ เรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของไทย เป็นที่มาที่ไปของความคิด ความเชื่อต่างๆ ทั้งหมดเลยในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดและอยู่ในความเชื่อของไทยในปัจจุบันนี้เลย 

“เราก็เลยเอาเทคโนโลยีนี้มาเรียนรู้และมาศึกษาสิ่งเหล่านี้แล้วก็ประมวลผลสร้างไตรภูมิพระร่วงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเราก็พยายามตั้งคำถามในโลกที่เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ และสิ่งที่มันอยู่ข้างหลัง ที่เราเดินผ่านไปแล้วมันจะยังดำรงอยู่ไหมในรูปแบบไหน หรือการที่เราเดินไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องข้างหน้ารึเปล่า หรือเราจะโอบกอบปัจจุบัน อดีตเข้าไปด้วยกับการเดินไปข้างหน้าไปพร้อมกันได้ไหม”

ชีวิตเปรียบเหมือนยุคก่อน-หลังปฏิวัติฝรั่งเศส

“ยุคเริ่มต้นมันก็ต้องหาทาง อาจจะเป็นยุคที่ต้องหาเส้นทาง รู้สึกว่าชีวิตมันก็มีความดิ้นรนต่อสู้เหมือนกัน การทำงานสร้างสรรค์ในประเทศเรามันก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายขนาดนั้น ทุกคนรับรู้ ทุกคนจบทางด้านความคิดสร้างสรรค์มา แต่คนที่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมได้จริงๆ มันก็ยากอยู่ในการหาตำแหน่งที่ทางให้ตัวเอง

“โดยเฉพาะการทำงานศิลปะ มันก็ต้องผ่านการตบตีแย่งชิงกับตัวเองและความคิด หมายถึงว่า สิ่งนั้นโอเคไหม เราทำสิ่งนั้นได้รึเปล่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นเหมือนสมรภูมิเลยอะ ถ้าเปรียบเป็นยุคประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอาจจะเป็นช่วงปฎิวัติฝรั่งเศสก่อนนโปเลียน ต้องต่อสู้กับตัวเอง ใช้ความกล้าหาญ ต้องผ่านการทิ้งอะไรบางอย่างไปเพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป

  “ส่วนในตอนนี้เราน่าจะอยู่ในยุคนโปเลียน เพราะเราผ่านพ้นในการปฎิวัติมาแล้ว มันก็เป็นยุคที่สมดุลอำนาจ มันเหมือนนโปเลียนจะมีชัยในสมรภูมิต่างๆ แต่มันก็ยังไม่จบของช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เขาก็มียุครุ่งเรือง แต่ก็มียุคที่เขาจะล่มสลาย แล้วเราก็ต้องมาหาฉันหามติกันต่อว่า รัฐจะไปทางไหน รัฐจะมีกษัตริย์ปกครองต่อหรือจะเป็นสาธารณรัฐ จะเอาใครขึ้นมาปกครองต่อ ถ้าเปรียบชีวิตก็เป็นแบบนั้นนะ 

  “แม้มันจะมียุคที่ผ่านความวุ่นวาย ผ่านการปฏิวัติต่างๆ แต่เราก็โอเคที่เจอกับสิ่งใหม่ เราก็อาจจะสำนึกกับสิ่งเหล่านั้น แต่มันก็จะหายไป ล่มสลายไป แล้วเราก็หาอะไรที่มาหยิบโยงอีก ซึ่งอาจจะการกลับไปที่เดิมหรือการกลับไปสู่อนาคต หรือว่าการเป็นสิ่งเหล่านั้นที่มีทั้งความวุ่นวาย แต่ความวุ่นวายนั้น ก็มีชัยชนะอยู่ละ แต่ในความชัยชนะก็มีความพ่ายแพ้อยู่ในนั้นเหมือนกัน”

ความ Struggle ในสังคมที่ไม่ซัพพอร์ตศิลปะอย่างยั่งยืน

“ทุกคนต้องมีช่วง Struggle อยู่แล้ว ขนาดพระพุทธเจ้ายังมีเฟลเลย ถึงกับต้องไปออกบวชเลย ชีวิตมันเป็นกราฟอะ มันขึ้นๆ ลงๆ ชีวิตจริงที่ทุกคนดูประสบความสำเร็จมันมีการเรียนรู้ มีการเติบโตอะไรหลายๆ อย่างของตัวเอง วิธีการที่จะรับมือสิ่งเหล่านั้น มันก็เป็นปัจเจกของแต่ละคน เหมือนยูต้องทำสิ่งนั้นๆ สิ่งนี้สิ แต่เราไม่เชื่อในสิ่งเหล่านั้น เราเชื่อว่าทุกคนต่างมีวิธีการรับมือของตัวเอง แค่เราต้องหาสิ่งเหล่านั้นให้เจอที่จะต้องบำบัดดูแลตัวเอง แน่นอนทุกเส้นทางชีวิตต้องมีล้มลุกคลุกคลาน มีสะดุดล้ม แต่คีย์ที่สำคัญคือ การที่เราเรียนรู้ตัวเอง รู้จักตัวเองและก็หาวิธีปลอบประโลมตัวเอง 

“ความเฟลของเราน่าจะเป็นช่วงยากลำบากแรกๆ มากกว่า ช่วงแรกๆ ที่จะทำ Illustration ทำงานศิลปะ มันเต็มไปด้วยคำถามว่าฉันจะทำได้ไหม และสิ่งเหล่านี้มันเป็นงานศิลปะได้หรอ และเรายังไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากพอ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันก็โอเคนะ สำหรับเราเองไง แต่สำหรับคนอื่นมันโอเครึเปล่า เรารู้สึกว่ามันเหนื่อยและยากในตอนเริ่มต้น 

“ตอนเด็กๆ ก็ผิดพลาดเยอะๆ ไม่รู้เรื่อง ไม่มีความมั่นใจ แต่ก็ทำสิ่งนั้นเรื่อยๆ พิสูจน์ตัวเอง ไม่ต้องพิสูจน์คนอื่นๆ ทำงานออกมาเรื่อยๆ พยายามมองสิ่งรอบข้างเยอะๆ ว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ มันคือทางเดินที่ค่อยๆ เรียนรู้ตัวเองพร้อมๆ กับเรียนรู้สังคม ว่าตอนนี้สังคมเขาต้องการทำอะไร สังคมเขามีงานแบบไหน แล้วเราจะไปทำอะไรที่มันส่องสะท้อนสิ่งที่สังคมต้องการได้รึเปล่า

“คำว่า Struggle มันอาจจะไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่มาก ว่าทำสิ่งนี้แล้วโดนฟ้อง มันผิดพลาด เหมือนเราทำไปเรื่อยๆ ถ้าสมมติว่าทำสิ่งนี้มาแล้วไม่มีใครสนใจฉัน ไม่มีใครมองเห็นฉัน แค่นี้มันก็ Struggle แล้วได้ปะ เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่คนอาจไม่ได้เห็นคุณค่าศิลปวัฒนธรรมกับงานสร้างสรรค์มากพอ มันอาจจะเป็นสิ่งรองจากสิ่งอื่นๆ ที่เขาอาจจะทำรายได้ได้มากกว่าหรือว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน สมัยก่อนมีกิจกรรมมีที่ทางให้แสดงผลงานมากขึ้น แต่ว่าทำสิ่งนั้นอย่างไรให้ยั่งยืน มันคือ Ecosystem ซึ่งตอนนี้มันยังไม่ยั่งยืนสักเท่าไหร่ 

 “มันเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัยในตัวเองที่อยู่ในสังคมนี้ เหมือนการที่อยู่ดีๆ คนหนึ่งจะทำงานศิลปะ ออกแบบ เหมือนมีที่ทางของตัวเองละ ที่ได้แสดงผลงานที่ดีๆ มีโอกาสเผยแพร่ผลงานและความคิดของเรา มันยากอยู่นะ แต่สมัยนี้มันอาจจะง่ายขึ้น แต่เราว่ามันก็ยังยากอยู่ในการที่จะทำสิ่งนั้นให้ยั่งยืน คือประกอบเป็นอาชีพได้ แล้วก็เลี้ยงชีพได้ เราก็รู้สึกว่ามันยังยากอยู่”

เรียนรู้ที่จะช่างมันเถอะกับสิ่งรอบข้าง ทำไปเรื่อยๆ กับตัวเอง ให้เราได้เติบโต

“ถ้าถามชีวิตตอนนี้เราพอใจหรือยัง ก็พอใจนะ เราเป็นคนทำงานช้า เรามามองกลับไปที่งานหรือทางเดินที่ตัวเองเดินมาก็รู้สึกว่าโอเค เพราะอย่างตอนเด็กๆ ก็ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่า เราเป็นนักวาดภาพประกอบเหรอ เพราะเราก็ไม่ได้วาด ตอนที่เราทำงานศิลปะ ก็ยังไม่กล้าเรียกด้วยซ้ำว่าเป็นศิลปิน เรารู้สึกศิลปินมันดูยิ่งใหญ่อะ และเราไม่ได้จบตรงสาย เป็นคนที่ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเรียกตัวเองเป็นศิลปินได้ไหม พอมาถึงจุดๆ หนึ่งก็โอเค แต่เราก็ผ่านมันมาแล้วไง ในการไม่กล้า ในการกลัวสิ่งต่างๆ

  “สมมติคุณจบออกแบบแล้วคุณมีแวดล้อมของผู้คนรายล้อม แต่เราไม่ได้จบตรงสายแล้วไปทำศิลปะ ไปทำงานออกแบบ มันไม่มีคนรายล้อมอะ มันไม่มี Support System ที่จะเข้าใจเรา ตอนเด็กๆ ก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวในบางที รู้สึกว่าเราจะทำได้ไหม หากเราก้าวขาในวงที่เราไม่รู้จักเลย เขาจะต้อนรับรึเปล่า แต่ตอนนี้ก็ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว

  “สิ่งที่ทำให้เราผ่านมาได้คือความช่างมันเถอะ ความปล่อยวาง ความเด็กๆ มันก็จะทำไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกมันคือการเติบโต รู้สึกว่าโอเค ช่างแม่ง ไม่ต้องคิดแล้ว เราก็ทำของเราไป เราก็ทำไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็เลิกคิดถึงคนอื่น หมายถึงว่าเลิกคิดว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร ฉันก็แค่ทำของฉันไปเรื่อยๆ ก็พอแล้ว”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่