​ตามไปสัมผัสงานคราฟต์จากใจใน from now from here

เราได้ยินมาว่ามีคู่รักญี่ปุ่นไทยคู่หนึ่งตั้งใจหอบหิ้วความสุขและความรักในงานคราฟต์จากเชียงใหม่มายังเมืองหลวงที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตเพื่อให้คนรักชอบ
จนลืมไปว่าตัวเองเคยรักและฝันอะไร

พวกเขาโยนคำถามไปสู่สังคมว่า จะเป็นไปได้ไหมว่าคนเราทุกคนนั้นอาจเกิดมาเพื่อทำบางอย่างที่เป็นตัวเรา และเมื่อพยายามทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด สักวันหนึ่งก็จะพบกับความสุขที่ยั่งยืน ผ่านการจัดแสดงงานฝีมือของทั้งคู่และเพื่อนๆ ในนิทรรศการเล็กๆ ที่ชื่อว่า from
now from here เราจึงออกเดินทางมาพูดคุยกับพวกเขาถึงความตั้งใจในการจัดงานที่น่ารักพอๆ
กับงานคราฟต์หน้าตาน่าเอ็นดูตรงหน้า

ไม่ว่าสิ่งนี้จะอยู่ที่ไหน
ไม่ว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นของใคร ถ้าหากเรารู้ เราจะตามไปดู

ใคร : 4
ครอบครัวคนไทย-ญี่ปุ่นที่ใช้มือและใจสร้างงาน

งานครั้งนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 4 ครอบครัวที่ค้นพบสิ่งตัวเองรัก กล้าลองผิดลองถูก และฝึกฝน จนได้งานคราฟต์ดีไซน์ไม่เหมือนใคร

เริ่มจาก หงส์ และชิฮิโระ คู่รักที่รักในศิลปะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Rendee Design และผู้ริเริ่มไอเดียงาน

เอ และบี สองพี่น้องฝาแฝดสาวชาวกรุง ผู้ไม่ได้จบด้านการออกแบบเสื้อผ้าและไม่มีความรู้เรื่องการสร้างแพตเทิร์น แต่สร้างงานจากสิ่งใกล้ตัวและความชอบในชีวิตประจำวัน บันทึกวัฒนธรรมป๊อปลงบนผ้าทอมือใยกัญชงและจังหวะการปักโดยใช้ด้ายย้อมสีธรรมชาติในชื่อแบรนด์ It takes two to tango

หนู นิด และเล็ก
สามพี่น้องผู้รักงานคราฟต์ แต่แยกย้ายกันไปเติบโตในรูปแบบที่เป็นตัวเอง โดย ‘หนู’ เลือกไปทำ หนูโจฟาร์ม กับสามีชื่อโจ
ฟาร์มสเตย์ที่ใช้ธรรมชาติและศิลปะนำทาง

‘นิด’ เลือกไปเปิดบ้านนารีสโมสร
แบ่งปันการทำงานศิลปะบนผืนผ้าลินินที่เธอรักให้กับผู้คน ส่วน ‘เล็ก’ นอกจากจะเป็นนักเขียนสายบ้าน งานคราฟต์ และการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เธอยังแบ่งเวลามาทำ Younglek UNDER : under
& easy wear แบรนด์เสื้อผ้าและชุดชั้นในสำหรับสาวๆ
เมืองร้อนที่ชอบสัมผัสเนื้อผ้าธรรมชาติ

ทาคุจิ และเซ็ตสุโกะ
คู่สามีภรรยาช่างปั้นดินเผาและช่างภาพชาวญี่ปุ่นในเชียงใหม่ที่ลงมือทำสิ่งที่รักอย่างตั้งใจเป็นเวลาหลายปี
ทาคุจิได้ค้นพบความสงบจากทำเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นจากการลองผิดลองถูก ทดลองผสมดินเมืองไทยและหาสูตรการเคลือบเอง
ส่วนเซ็ตสุโกะนั้นได้ค้นพบความสุขจากการบันทึกเรื่องราวของผู้คนในเชียงใหม่ผ่านภาพถ่ายและงานเขียนที่อ่อนโยนต่อใจ

ทำอะไร :
แสดงงานคราฟต์ในแบบฉบับของตัวเอง

เครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่น
เสื้อผ้าใยกัญชงที่ปักลายป๊อปคัลเจอร์ด้วยด้ายย้อมสีธรรมชาติ
ชุดชั้นในเมืองร้อนที่ตัดเย็บจากความเข้าใจ เครื่องประดับทำมือจากวัตถุดิบใกล้ตัว และข้าวของออร์แกนิกจากฟาร์ม คือตัวอย่างของงานทำมือที่หงส์และเพื่อนๆ ตั้งใจนำมาจัดวางในรูปแบบของนิทรรศการศิลปะที่ดูง่าย มองสบาย
เหมือนมาบ้านเพื่อน

“from now from here หรือ Tsunagu
Tsunageru Project ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่าการเชื่อมต่อ คนที่มาร่วมแสดงงานครั้งนี้ไม่ต้องพูดอะไรกันมากเพราะเรามีพื้นฐานที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือคนที่ทำงานทำมือเพื่อตัวเองอย่างจริงใจ
มีการพยายามลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ไม่ได้ตามใคร ไม่ได้สนใครอื่นหรือเทรนด์
แต่กลั่นงานทั้งหมดมาจากข้างในตัวเขา เสน่ห์ที่ตามมาก็คือความสดใหม่และเป็นความจริง นอกจากนี้เราก็ตั้งใจเอาศิลปะ งานคราฟต์ หลากหลายสาขามารวมกัน
ทุกคนชมได้ อยากให้มีความอบอุ่น ดูแล้วสนุก”

ที่ไหน : Rikyu
by boy Tokyo

แฮร์ซาลอนสุดติสท์ในซอยสุขุมวิท 24
ที่เปิดพื้นที่บริเวณชั้น 2 เป็นอาร์ตสเปซชื่อ
‘Studio 2.0’ สำหรับแสดงงานศิลปะหรือจัดเวิร์กช็อปต่างๆ
ให้ผู้คนที่รักในศิลปะและงานคราฟต์มาแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ผ่อนคลายเป็นกันเอง ชวนให้ผู้คนที่อยู่นอกวงจรศิลปะเข้ามาทำความรู้จักโลกศิลปะใกล้ๆ
ได้แบบไม่มีเขิน

ทำทำไม :
พักความวุ่นวายในเมืองเพื่อทบทวนหัวใจ และเชื่อมโยงผู้คนผ่านงานทำมือ

หงส์บอกกับเราว่า
ความเจริญและเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตประจำวันของเราให้ดูเหมือนกันไปหมด
สิ่งที่หายไปในเมืองใหญ่คือเอกลักษณ์ของผู้คน คงจะดีไม่น้อยหากนิทรรศการครั้งนี้จะทำให้คนเมืองได้เป็นตัวเองผ่านการสัมผัสเรื่องราวเบื้องหลังชิ้นงานทำมือ และพูดคุยแลกเปลี่ยนความชอบกันไปมา

“เราอยากเปิดพื้นที่ให้คนเมืองได้กลับมามองสิ่งสามัญธรรมดา
ให้เขาได้ลองสัมผัสงานทำมือลึกๆ ไม่ใช่ความน่ารักที่เห็น
แต่งานทุกชิ้นในนิทรรศการนี้มีเรื่องราวมากกว่านั้น เช่น
เสื้อหนึ่งตัวผ่านการย้อมสีธรรมชาติเอง เขาทำจากตัวเขาเองจริงๆ
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้หาได้ง่ายๆ ในสังคมเมือง
เพราะวิถีความเป็นอยู่และสิ่งรอบข้าง”

ส่วนบี
ฝาแฝดผู้น้อง เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่จริงใจกับความชอบของตัวเองบอกเราว่า “จุดคลี่คลายตัวเราจริงๆ คือตอนได้ไปออกงานครั้งแรกที่งานบ้านและสวนแฟร์ เราไม่อยากใส่เสื้อผ้าที่ตัวเองทำไปออกงาน
เพราะตอนนั้นพวกเรามัวแต่คิดว่าคนอื่นจะชอบไหม แต่ปรากฏว่าคนเราชอบไม่เหมือนกัน
ถ้าเจอคน 10 คน ก็มี 10 ความชอบ สุดท้ายก็เลยกลับมาถามตัวเองง่ายๆ ว่าตัวเองชอบอะไร
ตัวเองอยากใส่อะไรก็ทำอันนั้นสิ เลยเป็นแบบนี้จนถึงทุกวันนี้”

“ส่วนงานนี้จูนกันง่ายมาก
ทุกคนเป็นเหมือนแม่เหล็ก วิ่งเข้าหากัน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแลกเปลี่ยนกัน
สมมติว่าพี่ชอบงานของเพื่อน เพื่อนชอบงานของพี่ จบงานก็แลกของกัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เคยได้รับมาก่อน”

“เราเองอยากเห็นความสัมพันธ์ในเรื่องการเชื่อมโยงคนกับคน
ในเรื่องของวิถีชีวิต เอกับบีก็เป็นแค่จุดๆ หนึ่งในงาน
แต่ถ้าทุกคนมาแล้วเชื่อมโยงกันมันก็จะกลายเป็นวงกลมที่ค่อยๆ ขยายต่อไปเป็นครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น”

แนะนำให้ตามไปดู

ถึงจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนทำงานคราฟต์ในช่วงเวลาสั้นๆ
แต่ในสังคมเมืองที่เสียงผู้คนรอบข้าง เสียงสังคม ดังกว่าเสียงหัวใจข้างใน
งานทำมือของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ตรงหน้ากลับทำให้เราทบทวนตัวเองอีกครั้ง

แวะไปพูดคุยกับศิลปินใจดีที่พร้อมแบ่งปันเรื่องราวการเดินทางของงานแต่ละชิ้น
ก่อนเลือกข้าวของทำมือชิ้นโปรดติดไม้ติดมือกลับบ้านกันได้ใน from
now from here นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 20 มิถุนายน 2560 เวลา 09.30 – 18.30 น. แกลเลอรี่ปิดทำการทุกวันพุธนะ

ภาพ กฤต วิเศษเขตการณ์ และ มณีนุช บุญเรือง

AUTHOR