ประเทศที่มีความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมย่อมมองเห็นคุณค่าของการอ่านและหนังสือ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นประเทศอย่างอังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ จัดเทศกาลหนังสือประจำปีกันอย่างต่อเนื่อง แถมยังนำเสนอประเด็นทางวรรณกรรมกันอย่างหลากหลายและคึกคัก
ถึงรัฐจะไม่ได้สนับสนุน แต่ในไทยก็มีคนที่เห็นความสำคัญของเทศกาลเช่นนี้ เช่น กลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาจัดเทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Book Festival (BBF) ที่ชูโรงเรื่องคุณค่าของหนังสือและการอ่านโดยเฉพาะด้านวรรณกรรม รวมถึงเน้นสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของคนทำงานหนังสือ ทั้งมิติของศิลปินและนักวิชาการผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น นิทรรศการ เสวนา เวิร์กช็อป การฉายหนัง และพื้นที่จำหน่ายสินค้า งานนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2015 ครั้งที่ 2 ในปีถัดมา และเว้นห่างถึง 5 ปีก่อนจะกลับมาในปีนี้กับธีม ‘The Magic of Paper’ หรือ ‘มนตราแห่งกระดาษ’
นอกจากการร่วมมือกันของเหล่าสำนักพิมพ์และคนทำงานสิ่งพิมพ์แล้ว BBF 2021 ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กรวัฒนธรรมต่างประเทศเพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจและส่งเสริมวงการหนังสือและการอ่านในสังคมไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงาน
หนึ่งในนั้นคือโปรเจกต์ ‘ชุดวรรณกรรมราคาประหยัด’ ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับนักอ่านจนได้รับกระแสตอบรับอย่างดีงาม เพราะไม่ใช่บ่อยๆ ที่เราจะได้เห็นสิ่งพิมพ์ยุคนี้มีราคาต่อเล่มไม่เกิน 200 บาท แถมยังออกแบบสวยงามน่าหยิบมาอ่าน
ในคอลเลกชั่นประกอบด้วย 8 วรรณกรรมจาก 5 สำนักพิมพ์ ได้แก่ บอด โดย ฌูเซ่ ซารามากู (Library House), จดหมายถึงพ่อ โดย ฟรันซ์ คาฟคา (Library House), ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ โดย ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (สมมติ), ยูโทเปีย โดย เซอร์ โธมัส มอร์ (สมมติ), เสื้อโค้ต โดย นิโคไล โกโกล (สมมติ), เรื่องลึกลับในห้องสมุด โดย ฮารูกิ มูราคามิ (กำมะหยี่), เทียนสีแดงของนางเงือก โดย โองาวะ มิเม (JLIT) และ ชำเรา โดย พิราอร กรวีร์ (เม่นวรรณกรรม)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงชวนกลุ่มบุคคลเบื้องหลังมาพูดคุยถึงที่มาที่ไป กระบวนการสร้างสรรค์ และสิ่งที่อยากเห็นในการจัดทำชุดวรรณกรรมราคาประหยัด ประกอบด้วย ทีมผู้จัดงาน BBF 2021 จ๊อก–ชัยพร อินทุวิศาลกุล จากโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ และ หน่อย–รังสิมา ตันสกุล ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Library House, อรรถ บุนนาค ผู้ก่อตั้ง JLIT (เจลิท) หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมโปรเจกต์, มีนา–ธีระศิลป์ คำปัน ผู้ติดต่อประสานงานระหว่างสำนักพิมพ์กับโรงพิมพ์ และ ใหม่–มานิตา ส่งเสริม กราฟิกดีไซเนอร์ผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบของโปรเจกต์
ท่ามกลางช่วงเวลาที่ผู้คนบอกว่าหนังสือไทยราคาแพง อีกทั้งรัฐก็แทบจะไม่เคยสนับสนุนคนทำงาน การมีวรรณกรรมชุดนี้ออกมาจะสร้างผลแบบไหนในสังคม และในอนาคตเราจะมีโอกาสเห็นสำนักพิมพ์ทั่วไปทำหนังสือราคาประหยัดออกมาเหมือนเอดิชั่นของต่างประเทศหรือไม่ ลองไปคุยถึงความเป็นไปได้กับพวกเขากัน
ความแพงของหนังสือนี้มีที่มา
หนังสือไทยราคาสูงเกินกำลังที่คนจะซื้อไหว เป็นหัวข้อที่ไม่ว่าจะพูดกี่ครั้งก็มักได้รับความสนใจเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีการเทียบกับค่าครองชีพของคนไทยกับราคาหนังสือ และค่าครองชีพกับราคาหนังสือในต่างประเทศ
ใช่ว่าเรื่องนี้คนในวงการสิ่งพิมพ์จะไม่รู้ เพราะไม่ว่าจะสำนักพิมพ์ใหญ่หรือเล็กต่างก็ประสบกับปัญหา ‘หนังสือแพงเกินไป’ ด้วยกันทั้งนั้น แต่จะให้ลดราคาหนังสือลงก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้จริง เนื่องจากต้นทุนการทำหนังสือไทยต่อเล่มไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ตั้งแต่ต้นทุนที่มองเห็นชัดๆ อย่างค่ากระดาษหรือค่าพิมพ์ ซึ่งมีหลักการเรียบง่ายว่ายิ่งพิมพ์เยอะหนังสือก็ยิ่งมีราคาถูก แต่เพราะตลาดหนังสือในประเทศไทยยังไม่ใหญ่ขนาดนั้น จำนวนพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มจึงไม่เยอะพอที่จะลดราคาต่อเล่มลงได้อีก
นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่คนอ่านมองไม่เห็นหรือไม่ค่อยรับรู้อีกมาก เช่น ค่าลิขสิทธิ์หนังสือ ค่าแปล ค่ากราฟิก หรือแม้แต่ค่าแรงคนทำงานสำนักพิมพ์เอง ซึ่งในสถานการณ์ที่รัฐไม่สนับสนุนคนทำงานหนังสือ จนสำนักพิมพ์ต้องแบกรับต้นทุนทั้งหมด สำนักพิมพ์จึงไม่สามารถลดราคาหนังสือได้มากนัก สิ่งที่ทำได้ตอนนี้จึงเป็นการพยายามสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจว่าทำไมหนังสือไทยถึงมีราคาสูง
ถึงอย่างนั้น เสียงสะท้อนเรื่องหนังสือแพงก็ทำให้คนทำหนังสืออดคิดหาทางออกไม่ได้ ดังนั้นระหว่างที่ทีม BBF กำลังรวบรวมไอเดียกิจกรรมในเทศกาล จ๊อก เจ้าของโรงพิมพ์ใหญ่ผู้อยู่ในแวดวงหนังสือมานานก็เสนอไอเดียผลิตหนังสือราคาย่อมเยาขึ้นมา
“เรามักได้ยินเสียงคนอ่านบ่นว่าหนังสือราคาแพง ซึ่งมันก็แพงจริงๆ เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในประเทศนี้ แต่พอเราเป็นโรงพิมพ์ก็จะรู้ว่าวัสดุทุกอย่างที่ใช้มีราคาเดียวกันหรือแพงกว่าที่ต่างประเทศใช้ด้วยซ้ำ ประเทศเราผลิตกระดาษเองได้แค่จำนวนหนึ่งแต่ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้ามา เพราะฉะนั้นเราแทบไม่มีจุดได้เปรียบอะไรเลยนอกจากค่าแรงที่ถูกกว่า” เขาเล่าถึงเหตุผลคร่าวๆ ถึงเบื้องหลังราคาที่สูงของหนังสือไทย
“ฉะนั้นมันเลยนำมาสู่การทดลองทำโปรเจกต์นี้ เราอยากรู้ว่าถ้าหนังสือถูกลง แต่รูปลักษณ์ไม่เหมือนเดิมเพราะเราลดต้นทุน คนจะยังซื้อหนังสือไปอ่านไหม ถ้าซื้อเขาซื้อเพราะอะไร ในโปรเจกต์นี้เราทำทุกอย่างอย่างจำกัด เช่น กระดาษที่มีให้เลือกแค่ไม่กี่ออพชั่น ระบบการพิมพ์ที่ไม่มีเทคนิคซับซ้อนพิสดาร เพื่อดูว่าเรายังสามารถสร้างอะไรให้ออกมาดูดี น่าใช้ หรือมีความงามได้ไหม แล้วคนจะตอบรับกับมันยังไง เหมือนเซตโจทย์ให้ตัวเองและคนในสังคม”
การทดลองในรูปแบบวรรณกรรม (ราคา) พิเศษ
หลังจากตัดสินใจเดินหน้ากับไอเดียของจ๊อก หน่อยจากสำนักพิมพ์ Library House ก็ทำหน้าที่เป็นตัวตั้งตัวตีติดต่อส่งคำชวนร่วมโปรเจกต์ไปยังสำนักพิมพ์พันธมิตรที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ BBF ครั้งแรก ได้แก่ สำนักพิมพ์เจลิท สมมติ เม่นวรรณกรรม และกำมะหยี่
“ในฐานะคนทำหนังสือ เราเล็งเห็นว่าแค่งานในบ้านอย่างการพิมพ์หนังสือของตัวเองก็วุ่นวายพออยู่แล้ว ถ้าต้องทำงานแบบข้ามและไขว้กันระหว่างสำนักพิมพ์แบบนี้เรายิ่งต้องเชื่อมั่นว่าเพื่อนที่ชวนมาจะต้องไปด้วยกันได้ เพราะระยะเวลาไม่ได้เยอะและเราต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เลยกลายเป็นกลุ่มนี้ขึ้นมา”
เมื่อได้รับคำชวน อรรถแห่งเจลิทที่ได้รับฟังฟีดแบ็กจากผู้อ่านเรื่องหนังสือราคาแพงมาตลอดก็ตอบตกลงเข้าร่วมโปรเจกต์ทันที ด้วยอยากสื่อสารเหตุผลที่ทำให้หนังสือมีราคาแพงและสำรวจความต้องการของนักอ่านไทย
“เราคิดว่าโปรเจกต์นี้น่าสนใจในแง่การทดลองทำหนังสือให้ราคาถูกลง แต่ต้องบอกก่อนว่านักอ่านไทยมีดีมานด์ในการอ่านสูงมาก ตั้งแต่กระดาษ เนื้อสัมผัส รูปเล่ม เราเลยอยากทดลองว่าผู้อ่านรับได้ไหมกับคุณภาพแบบ paperback (หนังสือปกอ่อน) เหมือนหนังสือฝรั่งหรือญี่ปุ่นซึ่งมันทำให้หนังสือมีต้นทุนถูกลง เราอยากเห็นผลตอบรับปลายทางของการทำสิ่งนี้”
กว่าจะเป็น 8 เล่มในชุดวรรณกรรมราคาประหยัด
ส่วนวิธีการคัดเลือกวรรณกรรมแต่ละเรื่องเพื่อเข้าเซตใช้ความสะดวกของเหล่าสำนักพิมพ์เป็นหลัก อย่างสำนักพิมพ์ Library House เลือกหนังสือจากแนวคิดที่อยากสะท้อนให้เห็นเรื่องต้นทุนของหนังสือแบบชัดๆ บอด และ จดหมายถึงพ่อ ที่หน่อยเลือกมาจึงมีความตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือเล่มหนึ่งบาง อีกเล่มหนึ่งหนา เล่มหนึ่งมีลิขสิทธิ์ ส่วนอีกเล่มเป็นของสาธารณะ โดยเมื่อตัดทอนต้นทุนด้านการผลิต เช่น กระดาษดีๆ รูปเล่มแฟนซี หรือเทคนิคการพิมพ์หรูหรา เหลือแค่สิ่งที่ตัดไม่ได้อย่างต้นทุนการพิมพ์ที่แปรผันตามความหนา ค่าแปล ค่าลิขสิทธิ์ (ถ้ามี) และค่าคนทำงาน หนังสือที่เห็นจึงสะท้อนที่มาของราคาหนังสือได้ชัดเจน
ขณะเดียวกันฝั่งเจลิทนั้นเลือก เทียนสีแดงของนางเงือก ผลงานภายใต้สำนักพิมพ์ย่อยเจลิตเติ้ล เนื่องจากเป็นหนังสือที่ขายดีจนหมดสต็อกแต่ยังมีเสียงเรียกร้องอยู่เสมอ บวกกับแนวหนังสือที่เป็นวรรณกรรมเยาวชน พ่อแม่จะได้ซื้อให้เด็กๆ อ่านได้อย่างไม่ต้องคิดมาก
นอกจากนี้ผลงานเรื่องอื่นๆ ที่แต่ละสำนักพิมพ์เลือกมาล้วนสะท้อนถึงคาแร็กเตอร์ตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมแนวการเมืองจากนักเขียนชื่อดังระดับโลกที่สำนักพิมพ์สมมติเลือกพิมพ์ วรรณกรรมร่วมสมัยของนักเขียนไทยจากเม่นวรรณกรรม กระทั่งงานเขียนชิ้นใหม่ของฮารูกิ มูราคามิ ที่ไม่เคยพิมพ์ไทยมาก่อนจากกำมะหยี่ โดยนักอ่านจะซื้อเพียงเล่มเดียวหรือซื้อเป็นเซตก็ได้เหมือนกัน
เพราะหนังสือหนึ่งเล่มไม่ได้มีแค่ตัวอักษร
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพชัดๆ ว่าหนังสือในชุดวรรณกรรมราคาประหยัดแตกต่างจากหนังสือทั่วไปยังไง แน่นอนว่าถ้ามองจากอาร์ตเวิร์กคงไม่เห็นรายละเอียดชัดเจนนัก แต่ถ้าได้พินิจพิจารณาและสัมผัสใกล้ๆ จะรับรู้ถึงคุณภาพที่ลดลงจากหนังสือปกติในท้องตลาดได้ทันที
“หนังสือที่พิมพ์ในโปรเจกต์นี้ส่วนใหญ่เคยพิมพ์ด้วยคุณภาพปกติมาแล้ว แต่เวอร์ชั่นนี้จะพิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟคุณภาพระดับเดียวกับที่ทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งน่าจะเปิดอ่านง่ายขึ้น แต่ถ้ามือเปียกน้ำไปจับก็คงยุ่ย ส่วนปกน่าจะทนทานเหมือนเดิม” จ๊อกอธิบายให้ฟัง
หน่อยในฐานะคนทำงานสำนักพิมพ์อธิบายเสริมถึงชุดความคิดในการทำหนังสือที่แตกต่างจากที่เคยทำ พร้อมยกตัวอย่างว่า จดหมายถึงพ่อ ในเวอร์ชั่นปกตินั้นใช้เวลาและพลังเยอะมากในการออกแบบ ทั้งพิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษและใช้กระดาษดีๆ ในขณะที่เวอร์ชั่นในเซตวรรณกรรมราคาประหยัดนั้นลดโปรดักชั่นลงมา
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าวรรณกรรมเซตนี้จะลดความสำคัญของงานออกแบบ กลับกัน เพราะเธอมองว่าอุตสาหกรรมการผลิตหนังสือจะสมบูรณ์ได้ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างเนิร์ดฝั่งตัวอักษรกับเนิร์ดงานออกแบบ เซตวรรณกรรมราคาประหยัดจึงเป็นเหมือนโจทย์ใหม่ของทั้งคู่มากกว่า
“ถ้ามุ่งมั่นแค่ว่าจะทำหนังสือเวอร์ชั่นราคาประหยัด เราไม่ต้องออกแบบปกสวยๆ แค่ซีร็อกซ์มาขายก็ได้ แต่ที่เรายังพยายามทำหนังสือให้มีดีไซน์ใหม่ๆ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักออกแบบไปเรื่อยๆ ตัวเราเองก็สนุกกับการทำงาน เวลาทำหนังสือ เราตื่นเต้นตั้งแต่ตอนอ่านไฟล์เวิร์ดหรือต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้ว แต่จะยิ่งตื่นเต้นขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เมื่อเห็นกระบวนการออกแบบปกจากนักออกแบบ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมปกติเราถึงอยากทำให้เอเลเมนต์ของการออกแบบ การเลือกสรรวัสดุ ทะลุไปถึงมิติของนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างการใช้กระดาษพิเศษ เป็นต้น
“ทีนี้พอมาทำวรรณกรรมเวอร์ชั่นราคาประหยัดเราเลยต้องเปลี่ยนความคิดตรงนี้ เพราะมันต้องลดต้นทุนทุกอย่าง ซึ่งจะเป็นโจทย์ในอนาคตต่อไปว่าถ้ายังอยากทำหนังสือเวอร์ชั่นนี้ เราจะทำยังไงกับฝั่งดีไซเนอร์ได้บ้าง พูดให้เห็นภาพรวมคือไม่ว่าในเวอร์ชั่นปกติหรือเวอร์ชั่นประหยัด เมื่อจ่ายเงินซื้อหนังสือหนึ่งเล่มแปลว่าคุณกำลังกระจายรายได้ให้คนทำงานประกอบวิชาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสืออยู่ ถ้าคนทำสำนักพิมพ์คิดแค่ว่าออกแบบหนังสือยังไงก็ได้ เน้นราคาถูกเป็นพอ แล้วคนเป็นนักออกแบบจะได้โชว์ศักยภาพออกมาไหม”
สำหรับการดีไซน์ปกชุดวรรณกรรมราคาประหยัดนี้ หน่อยได้ให้ใหม่ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบอาร์ตเวิร์กของ BBF 2021 มาดูแล
เมื่อต้องออกแบบหนังสือ 8 เล่ม 8 ทิศทาง ใหม่เล่าว่าเธอยึดเอาดีไซน์ของ BBF เป็นหลัก นั่นคือการใช้เทคนิค handmade graphic หรือการทำกราฟิกด้วยมือ ก่อนสแกนแล้วนำมาประกอบร่างในคอมพิวเตอร์เพื่อให้หนังสือทั้ง 8 เล่ม แม้จะต่างด้านเนื้อหาแต่ก็ยังมีลักษณะร่วมกัน ทั้งยังสื่อสารถึงการเป็นโปรเจกต์พิเศษที่เกิดขึ้นในงานนี้โดยเฉพาะ
“ส่วนวิธีคิดในการออกแบบคืออ้างอิงจากราคาหนังสือที่ถูกลง เราต้องสะท้อนให้เห็นว่าจากเวอร์ชั่นปกติขายเล่มละ 300 พอมาขายในเวอร์ชั่นที่ราคาถูกกว่า งานออกแบบก็ไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปเราใช้เวลาทำงานประมาณ 2 สัปดาห์ต่อเล่ม แต่สำหรับ 8 เล่มนี้เราใช้เวลา 2 สัปดาห์ จากปกติที่เราจะอ่านเนื้อเรื่องเองก็เหลือกระบวนการฟังบรีฟเรื่องย่อแล้วนำไปตีความ ทั้งหมดต้องมีการวางแผนและออกแบบให้อยู่ในเซตเดียวกันได้แบบไม่กินเวลาทำงานของเรามากเกินไป ดังนั้นเราจึงให้น้องในทีมออกแบบมาแล้วเราเป็นคนดูภาพรวม ทั้งเลย์เอาต์และการสื่อสารของวรรณกรรมแต่ละเรื่อง”
การรวมกลุ่มคือทางรอดของสำนักพิมพ์ยุคใหม่
นอกจากจะเป็นการทดลองกับสังคมการอ่านไทยแล้ว โปรเจกต์วรรณกรรมราคาประหยัดนี้ยังเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดของเหล่าสำนักพิมพ์ในปัจจุบันด้วย
ถ้านับจากยอดขายและฟีดแบ็กตั้งแต่เปิดพรีออร์เดอร์ โปรเจกต์นี้ทำให้พวกเขารับรู้ถึงคำว่ารวมกันเราอยู่อย่างเป็นรูปธรรม เพราะด้วยความที่แต่ละสำนักพิมพ์ทำหนังสือกันมาอย่างยาวนานบวกกับมีฐานแฟนนักอ่านประจำอยู่แล้ว ทำให้การรวมตัวกันของพวกเขาทรงพลังขึ้น
พร้อมกันนี้ สำนักพิมพ์เองก็เหมือนได้ขยายฐานคนอ่านไปด้วย เพราะเมื่อพิมพ์วรรณกรรมออกมาเป็นชุดพิเศษและราคาไม่แพง คนอ่านก็มีโอกาสซื้อเป็นเซตมากขึ้นและอาจได้ลองอ่านวรรณกรรมประเภทอื่นๆ ของสำนักพิมพ์ที่ไม่เคยรู้จัก นำไปสู่การต่อยอดให้เกิดความสนใจตามไปซื้อเรื่องอื่นๆ อ่านเพิ่ม นับเป็นวิธีการกระจายงานเขียนของแต่ละสำนักพิมพ์ให้ออกไปไกลกว่าที่เคยสื่อสารกันในวงจำกัด
ถ้าดูจากกระแสโลกตอนนี้ หน่อยเล่าว่าการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะไม่ว่าแบรนด์ไหนก็ไม่สามารถยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางได้อีกแล้วต่อให้เป็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลกก็ตาม ทุกวงการจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาว คนทำหนังสือเองก็เช่นกัน
“ถ้าพูดถึงวงการหนังสือไทย มันไม่ยากนะที่จะทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์อื่นๆ เช่น เราเองถ้าทำสำนักพิมพ์อย่างเดียวเราอาจจะไม่รู้จักใครเลย แต่พอเราทำ BBF เราเลยเห็นถึงเคมีที่ตรงกันของเหล่าสำนักพิมพ์ ถ้ามีโปรเจกต์ใหม่ๆ ขึ้นมาเราจะนึกถึงเขาทันทีเลยเห็นว่าการร่วมงานกันมันไม่ยาก และเราเชื่อว่านอกเหนือจากสำนักพิมพ์ตรงนี้น่าจะยังมีสำนักพิมพ์อื่นที่อยากร่วมงานกันอีก เพียงแต่มันมีข้อจำกัดเรื่องช่วงเวลา ความยากลำบากของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถยกหูโทรหาได้หมด”
อรรถเสริมถึงการรวมตัวกันของคนทำสิ่งพิมพ์ไทยที่มีมานานแล้วเช่นงานสัปดาห์หนังสือและสมาคมสิ่งพิมพ์ เพียงแต่บทบาทของกลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจและกำหนดทิศทางต่างๆ มักจะเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่เสียมากกว่า เมื่อมาถึงยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย สำนักพิมพ์เล็กๆ ถึงเริ่มได้เปรียบขึ้นในแง่ของความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวหรือร่วมมือกัน กลายเป็นการเติมเต็มช่องว่าง อุดข้อด้อยที่สู้สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่ได้
“เมื่อพวกเราได้รวมตัวกันทำงานหนังสือแบบ BBF ขึ้นมามันก็ช่วยแก้ปัญหาหรือซัพพอร์ตสิ่งที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ขาดหายไป อย่างปกติเราอาจไม่มีโอกาสหรือทุนในการลองทำโปรเจกต์แบบนี้ แต่พอ 5 สำนักพิมพ์มาร่วมกันก็พอเห็นหนทางว่าทำได้ มีคนมาช่วยจัดการแบ่งเบาภาระที่ปกติต้องแบกรับคนเดียวออกไป แล้วเราก็ไปทำสิ่งที่ถนัดอย่างการทำคอนเทนต์ เราคิดว่าการรวมกลุ่มแบบนี้จะช่วยให้สำนักพิมพ์เล็กๆ มีที่ทางในตลาดหนังสืออย่างชัดเจนมากขึ้น และเป็นการแสดงการต่อรองอย่างหนึ่งในวงการหนังสือด้วย”
เพื่อให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น
แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่แวดวงสิ่งพิมพ์ไทยทำหนังสือราคาประหยัดออกมา แต่เซตวรรณกรรมที่เกิดขึ้นใน BBF 2021 นี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในสังคมการอ่านไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คนพูดกันว่าสิ่งพิมพ์ตายแล้ว
ในฐานะที่เคยทำงานร้านหนังสือและปัจจุบันทำงานด้านโรงพิมพ์ มีนาปรารถนาว่าโปรเจกต์ชุดวรรณกรรมราคาประหยัดนี้จะทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น มีประชากรคนอ่านมากขึ้น ส่งผลไปถึงการเติบโตของคนทำงานสิ่งพิมพ์ในทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันจ๊อกก็คาดหวังว่าเมื่อราคาหนังสือถูกลง คนไทยจะเปลี่ยนความคิด ไม่มองหนังสือเป็นของสูงต้องบูชาอีกต่อไป อ่านจบที่ไหนก็ทิ้งไว้ให้คนอื่นอ่านต่อได้
ส่วนอรรถที่เคยอยู่ประเทศญี่ปุ่นมานานก็ยกตัวอย่างถึงสถานีรถไฟของที่นั่นที่มีตู้หนังสือให้คนเอาหนังสืออ่านจบแล้วมาวางเพื่อให้คนที่ต้องเดินทางไกลๆ หยิบไปอ่านต่อ โดยเขาคิดว่าถ้าโปรเจกต์นี้ไปได้ดีและทำได้จริงในอนาคต สิ่งที่จ๊อกหวังอาจเกิดขึ้นจริงก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น อรรถยังคิดว่าสังคมการอ่านไทยน่าจะขยายขึ้น เพราะพอคนเข้าถึงหนังสือได้ง่าย อ่านแล้วชอบ ก็จะเกิดความรู้สึกอยากจะซื้อเอดิชั่นที่หนาและสวยขึ้น ซึ่งโยงไปถึงจิตวิญญาณชอบสะสมของคนยุคนี้
“อีกอย่างคือเราอยากเห็นคนทำงานที่ต้องใช้เวลาในการรอเพื่อประกอบอาชีพ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ รปภ. หยิบหนังสือมาอ่านกันมากขึ้น การที่มีหนังสือราคาประหยัดจะช่วยขยายวงการอ่านให้กว้าง ทำให้สังคมการอ่านของไทยแข็งแรง และสุดท้ายมันก็วนกลับมาที่วงการหนังสือ เมื่อฐานคนอ่านมากขึ้น ยอดซื้อเพิ่ม หนังสือจะพิมพ์ได้เยอะ ราคาหนังสือก็ถูกลง มันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ถึงสิ่งที่เราทำจะเป็นโปรเจกต์เล็กๆ แต่ก็น่าจะสร้างอิมแพกต์ให้สังคมการอ่านไทยได้ใหญ่เหมือนกัน”
“ประเด็นคือขอให้อ่าน จะชอบไม่ชอบค่อยว่ากัน แต่อยากให้บอกว่ารู้สึกอย่างนี้เพราะอะไร แค่นี้คนทำหนังสือก็ฟินแล้ว โดยเฉพาะเด็กๆ เพราะมันจะทำให้พวกเขาคัดสรรสิ่งที่อยากจะอ่านต่อไปในอนาคต และจะค้นหาต่อยอดไปเรื่อยๆ”
“พูดง่ายๆ ว่าโปรเจกต์นี้เหมือนเป็นการทดลองให้เกิดภาวะนี้ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง” หน่อยเห็นด้วยกับพันธมิตรสำนักพิมพ์ของเธอก่อนทิ้งท้าย