เทรนด์หนังสือเล่มที่น่าจับตาจาก 3 งานหนังสือใหญ่ระดับโลก

1

ในโลกธุรกิจหนังสือนานาชาติ มีงานแฟร์สำคัญไม่กี่งานที่จัดวนมาทุกปี

เริ่มต้นด้วย Bologna Children’s Book Fair ที่อิตาลี งานหนังสือเด็กที่เน้นการพูดคุยเรื่องลิขสิทธิ์ เนื้อเรื่อง ภาพประกอบ ผู้แต่งทั้งหน้าใหม่ หน้าเดิม จะได้พบกับสำนักพิมพ์ ทั้งยังเป็นเวทีให้นักเขียนใหม่ๆ ที่ไม่ว่าจะมีเอเยนต์หรือไม่มี ได้นำเสนองานของตัวเองและหวังว่าจะตกเป็นเป้าของแมวมองสักที่ ถ้าเป็นนักเขียนที่มีชื่ออยู่แล้ว อาจมีการแข่งประมูลผลงานได้สถิติใหม่ หรือแม้กระทั่งดูดนักเขียนให้ย้ายค่ายกันเลยทีเดียว งานนี้เลยเป็นการวัดกึ๋นบรรณาธิการว่าจะ ‘ตาถึง’ ‘อ่านขาด’ หรือ ‘เห็นแวว’ ชิ้นงานสักชิ้นที่อาจกลายเป็นปรากฏการณ์แบบ Harry Potter หรืองานของนักเขียนชาวอังกฤษที่โดดเด่นเรื่องบทกวีสำหรับเด็กอย่าง Julia Donaldson หรือไม่

งานถัดมาที่เคยถูกเปรียบเป็นมวยรองในเวทีนานาชาตินั่นคือ London Book Fair ก่อนปี 2013 งานนี้ไม่ค่อยมีใครไป เพราะคนมองว่า Frankfurt Book Fair ใหญ่กว่า ครบกว่า ดีกว่า แต่ความเชื่อเหล่านั้นเปลี่ยนไป พร้อมกับการสร้างจุดยืนและการลุกขึ้นต่อสู้ของเหล่าสำนักพิมพ์และร้านหนังสือในอังกฤษที่ถือว่าลอนดอนเป็นหนึ่งในมหานครของหนังสือภาษาอังกฤษ แคมเปญที่อาศัยความร่วมมือทั้งสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และนักเขียน อย่าง Books Are My Bag ก็ถูกคิดขึ้นมา ด้วยอยากให้คนกลับมาสนใจหนังสือเล่มมากขึ้น แต่ผลพลอยได้ยังใหญ่กว่าที่ทีมงานคิดไว้และส่งผลมาจนทุกวันนี้ คือเกิดการตื่นตัวด้านวัฒนธรรมการอ่าน และกระตุ้นให้นักอ่านร่วมกันปกป้องวัฒนธรรมหนังสือ

งานใหญ่ปิดท้ายปีคือ Frankfurt Book Fair ที่ใหญ่ทั้งขนาดและคุณภาพ แต่สิ่งนี้กำลังถูกท้าทายจาก London Book Fair เพราะด้วยเวลาที่ผู้ร่วมงานมีจำกัด ในขณะที่ลอนดอนรวมทุกอย่างไว้ภายในฮอลล์เดียว แต่ที่แฟรงเฟริสต์กลับแตกออกเป็น 4-5 ฮอลล์ ถ้าตารางประชุมแน่นขนาดที่เรียกว่า back-to-back โอกาสการเปลี่ยนฮอลล์จึงเป็นอะไรไม่ได้นอกจากต้องวิ่งร้อยเมตรเลยทีเดียว แถมถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่าสิ่งที่ตลาดนานาชาติต้องการล้วนมีพร้อมในงานที่ลอนดอน ขณะที่แฟรงเฟริสต์นั้นเต็มไปด้วยตลาดหนังสือเยอรมันมากกว่าครึ่ง

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร งานหนังสือใหญ่ระดับโลกทั้งสามงานนี้ก็ยังเป็นจุดหมายที่คนทำหนังสือต้องไป ในขณะที่ Book Expo America ซึ่งเคยสำคัญกลับค่อยๆ หายไปจากตารางเดินทางของเหล่าคนขายหนังสือทั่วโลกด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 20 ชั่วโมงเพื่อไปร่วมงานที่จัดเพียงสามวัน และส่วนมากยังเน้นแค่ตลาดภายในอเมริกา

2

สิ่งที่เราเริ่มเห็นในปีนี้คือหนังสือเล่มมีพัฒนาการทิ้งห่างคู่แข่งอย่างอีบุ๊กส์มากขึ้น การนำเอาเอกลักษณ์ของกระดาษมาเป็นตัวเอกผสมผสานกับเทคโนโลยี จึงทำให้หนังสือเล่มทำสิ่งที่อีบุ๊กส์ไม่มีวันจะทำได้

ลองพิจารณางานของสำนักพิมพ์ Sassi จากอิตาลีที่ต้องร้อง “ว้าว” กันเลย หรืองานเลเซอร์คัตสวยๆของสำนักพิมพ์หนังสือเด็กอย่าง Little Tiger Press หรือ Walker ก็ยิ่งตอกย้ำว่าหนังสือเด็กมีอิทธิพลช่วยพยุงตลาดหนังสือเล่มให้เติบโตได้อย่างไร หรือสำนักพิมพ์หนังสือด้านกราฟิกและศิลปะอย่าง Thames & Hudson และ Laurence King Publishing ที่ปีนี้หนังสือในชุด Spring-Summer 2018 มีการปรับเปลี่ยนมากทีเดียว รวมถึงยังหยิบผลงานของศิลปินดีๆ มาจัดเป็นนิทรรศการ อย่างนิทรรศการ Where I Find Myself ของช่างภาพสตรีทชาวนิวยอร์ก Joel Meyerowits จากหนังสือ Street Photography หรือสำนักพิมพ์อินดี้ Turnaround ก็เอาหนังสือที่เป็นตัวแทนจำหน่ายออกมาเรียกน้ำย่อยได้มากทีเดียว อาทิ Start Up London ของสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์เฉพาะเรื่องราวของ East London อย่าง Hoxton Mini Press และงานโฟโต้บุ๊กส์สวยๆ อีกมากมาย

ใน London Book Fair ปีนี้ กระดาษยังถูกทำให้กลายเป็นวัสดุที่จับต้องได้มากขึ้น เมื่อผสมเข้ากับเทคนิคอย่างเลเซอร์คัตหรือการพับที่วิจิตร เล่มที่แทนคำอธิบายได้ดีคือ This Book is a Planetarium ของสำนักพิมพ์ Chronicle USA เนื้อหาที่หนักแน่นประกอบด้วยแผนภูมิที่สวยงามทำให้หนังสือเล่มหนึ่งมีค่าและน่าเหลือเชื่อว่ากระดาษสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย

3

อีกสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ Event Leaded ปลายปี 2018 จนถึงปี 2019 มีห้วงเวลาสำคัญ 3 งานประหนึ่งการฟอร์มโครงสร้างให้การทำหนังสือจากนี้ไป

งานแรกในเดือนตุลาคมคือการครบรอบ 75 ปีของ เจ้าชายน้อย สำนักพิมพ์มากมายเอาหนังสือเจ้าชายน้อยออกมาปัดฝุ่น เปลี่ยนหน้าปก หรือทำสินค้าต่อยอดจากหนังสือ งานที่สองช่วงกลางปี 2019 คือครบรอบ 50 ปีของการลงจอดบนดวงจันทร์ ปีนี้เราจึงได้เห็นหนังสือเกี่ยวกับอวกาศ ระบบสุริยะจักรวาล ดวงดาว เตรียมรับการระลึกถึงเวลาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ และงานสุดท้ายในช่วงท้ายปี 2019 คือ 500 ปี Leonardo Da Vinci ที่สำนักพิมพ์ได้นำเสนอปรู๊ฟหนังสือของลีโอนาร์โดในหลายๆ แง่มุมทั้งปรัชญา แนวคิด และสิ่งประดิษฐ์ ไปถึงผลงานด้านศิลปะของเขา

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าวงการหนังสือเริ่มจะหยิบไทม์ไลน์สำคัญของโลกมาเป็นกรอบในการผลิตบ้างแล้ว เริ่มหาเนื้อหาที่เข้าถึงความสนใจของคนอย่างตรงไปตรงมา และพัฒนาความรู้เดิมให้ยิ่งน่าสนใจผ่านการนำเสนอใหม่ๆ เพื่อให้เป็นที่จดจำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาศัยสิ่งที่คนอ่านรู้จักอยู่แล้วมาเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จแทนที่จะต้องเริ่มจากศูนย์

อีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นได้มากขึ้นคือการผสมผสานภาพและพฤติกรรมการอ่านเข้าด้วยกัน วิชวลมักจะได้เปรียบและมีพลังมากกว่าเนื้อหาที่ต้องอาศัยการอ่าน ตั้งแต่ปี 2013 เราเลยเริ่มคุ้นชินกับอินโฟกราฟิกมากขึ้น เห็นเรื่องยากๆ ถูกทำเป็นภาพประกอบหรือแผนภูมิซึ่งทำให้หนังสือน่าสนใจขึ้นอีกมาก เนื้อหาหนักๆ ไม่ได้เป็นเรื่องยากจะเข้าใจอีกต่อไป

อัตลักษณ์ของหนังสือเล่มที่มีคุณภาพทิ้งห่างจากอีบุ๊คส์ไปเรื่อยๆ ยิ่งตอกย้ำสิ่งที่ อาร์โนลด์ นัวเร่ย์ เจ้านายใหญ่ของ Hachette Livre ที่ว่า ‘Ebooks are stupid’ สิ่งที่อาร์โนลด์บอกคืออีบุ๊กส์ไม่สามารถสร้างรูปแบบตัวเองให้น่าสนใจไปกว่าหน้าจอธรรมดาเท่านั้น มันจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ปราศจากความคิดสร้างสรรค์ใดๆ และไม่สามารถดึงดูดคนให้กลับมาสนใจอ่านหนังสือได้มากขึ้น

อีบุ๊กส์อาจติดภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ร้ายในโลกหนังสือ แต่ความเป็นจริงที่ไม่ควรลืมคือ เรายังต้องช่วยรักษาไม่ให้อีบุ๊กส์สูญหายไป เพราะมูลค่าของโลกหนังสือได้รวมอีบุ๊กส์เข้าไปแล้ว

ส่วนผสมที่สมดุลของธุรกิจหนังสือคือการมีร้านหนังสือเป็นศูนย์กลาง ผสมผสานด้วยรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ อีบุ๊กส์ หนังสือเสียง ที่จะช่วยพยุงตลาด และช่วยสมดุลน้ำหนักกับโซเชียลมีเดียที่ดึงเวลาในการอ่าน และเป็นคู่แข่งที่แท้จริงของตลาดหนังสือไปได้

ภาพประกอบ Nut.Dao

ภาพ londonbookfair.co.uk, amtaleem.com, hoxtonminipress.com, kellianderson.com

AUTHOR