“EBooks are stupid.” เมื่อวงการสิ่งพิมพ์กำลังท้าทายการอยู่รอดของอีบุ๊กส์

“EBooks are stupid.”
– Arnaud Nourry
Chief Executive of Hachette Livre
The Guardian, Feb. 20, 2018

นี่คือพาดหัวบทสัมภาษณ์ Arnaud Nourry ผู้บริหารของ Hachette Livre 1 ใน 5 ของสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในบทความของ The Guardian เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

2 – 3 ปีหลังมานี้ ดูเหมือนสถานการณ์ของอีบุ๊กส์ดูจะน่าเป็นห่วงกว่าหนังสือเล่ม จนเราอาจเจอบทความที่พาดหัวว่า “Will EBook Survive?” ด้วยยอดขายที่ไม่มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีทิศทางย้อนกลับไปติดลบลงด้วยซ้ำ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Hachette Livre เป็นสำนักพิมพ์ที่ยืนหยัดในการปกป้องโครงสร้างตลาดหนังสือมากที่สุดสำนักพิมพ์หนึ่ง กระทั่งยอมถอดหนังสือออกจากรายการขายอีบุ๊กส์บน Amazon ไปจนถึงมีคดีความต่อสู้เรื่องราคาขายอีบุ๊กส์ด้วยซ้ำ แม้เรื่องดังกล่าวจะผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นชัดคือทิศทางของอุตสาหกรรมหนังสือที่อาจต้องเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นว่า “อีบุ๊กส์จะปรับตัวยังไง” และ “ร้านหนังสือแบบเชนสโตร์จะทำยังไงให้อยู่รอด” เพราะหนังสือเล่มและร้านหนังสืออินดี้ต่างหากที่ไม่ได้น่าห่วงแล้ว ที่ผ่านมาดัชนีหลายตัวได้สะท้อนผ่านพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ยืนยันฝ่ามรสุมว่า ‘อินดี้อยู่ได้’

พลังสร้างสรรค์นี้เองที่อาร์นูด์ได้ขยายความคิดของเขาออกไปอีกว่า โดยธรรมชาติ อีบุ๊กส์เป็นเพียงการเปลี่ยนวิธีนำเสนอเนื้อหาจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมแต่อย่างใด ในทางกลับกัน หนังสือเล่มกลับนำไปขยายรูปแบบการนำเสนอได้อีกมากมาย อาร์นูด์เน้นว่านี่คือความสามารถที่เขามองไม่เห็นว่าอีบุ๊กส์จะกลับมาเติบโตได้ยังไงในอนาคต ตราบใดที่ยังไม่สามารถแสดงพลังหรือความสร้างสรรค์ที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ ได้ ทั้งที่ปัจจัยด้านการเติบโตทางดิจิทัลก็พร้อมเสริมเต็มที่ แต่ดูเหมือนอีบุ๊กส์จะยังไม่สามารถหยิบสิ่งเหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์ได้มากพอ

อาร์นูด์ยังเสริมอีกว่า Hachette ไม่ได้ต่อต้านอีบุ๊กส์ แต่พร้อมจะทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอเนื้อหาไปถึงผู้อ่านให้ได้มากที่สุด สิ่งที่ Hachette คำนึงคือความสมดุลของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องราคาหนังสือที่อาจจะส่งแรงกระเพื่อมไปทั้งอุตสาหกรรม ถ้าเพียงแต่เน้นไปที่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งเท่านั้น

บทท้าทายอีกอย่างของอีบุ๊กส์คือเทรนด์ของหนังสือในปี 2018 ที่กลุ่มบรรณาธิการหนังสือในอังกฤษได้ร่วมกันคาดการณ์ออกมาว่า ปีนี้หนังสือประเภทไหนจะโด่งดังหรือกลับมาโด่งดังอีกครั้ง สืบเนื่องจากในปี 2017 วงการหนังสือไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์’ ใดๆ หากเทียบกับปี 2016 ที่มีหนังสือ ‘ใหม่ ใหญ่ ดัง’ เรียงแถวออกมาสู่ตลาด แถมด้วยกระแสหนังสือภาพระบายสี (coloring book) ที่มาแรงมากในปีนั้น อย่างไรก็ตาม ปี 2017 อุตสาหกรรมหนังสือยังสามารถประคองตัวเติบโตต่อเนื่องได้อีกปี ดังนั้นในปี 2018 ทุกคนถึงตื่นเต้นที่จะหาอะไรใหม่ๆ มาสร้างปรากฏการณ์ให้ได้

ในงาน Frankfurt Book Fair 2017 มีเทรนด์หนึ่งเกิดขึ้น คือการตกลงสัญญาผลิตหนังสือใหม่ โดยหนังสือกลุ่มที่มีการตกลงสัญญามากที่สุดคือ non-fiction แนวพัฒนาตัวเอง (self-improvement) ให้แรงบันดาลใจ และหนังสือประเภทอาหารสุขภาพ หนังสือที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเป็นเทรนด์ไม่น้อยกว่าหนังสือภาพระบายสี หรือ Hygge คือหนังสือประเภทที่พูดถึงการอาบป่า (shinrin-yoku) ของญี่ปุ่นอย่าง The Japanese Art of Forest Bathing ของสำนักพิมพ์ Octopus, The Art and Science of Forest Bathing – How Tree Can Help You Find Health and Happiness โดยสำนักพิมพ์ Penguin UK ตามมาด้วยหนังสือโยคะ อาหารสุขภาพ หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาสมองจะกลับมาได้รับความนิยม และกลุ่มที่มาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดด้านความเสมอภาคของสตรีในสังคม หรือ #Metoo ในปัจจุบัน เป็นที่จับตามองว่าหนังสือเล่มสองของ Good Night Stories Rebel Girls จะยังรักษาระดับการขายได้เหมือนเล่มแรกหรือไม่

หนังสือกลุ่มข้างต้นเป็นโจทย์ท้าทายอีบุ๊กส์อย่างมากว่าจะทะลุกำแพงคำถามถึงความสร้างสรรค์ในวิธีการนำเสนอได้หรือไม่ เพราะโดยลักษณะเนื้อหานั้น ดูว่าหนังสือเล่มจะได้เปรียบเรื่องวิธีการมากทีเดียว

ปี 2018 เริ่มต้นปีด้วยความคึกคักต้อนรับตลาดด้วยหนังสือเจ้าปัญหาอย่าง Fire and Fury ที่ออกมาขายไม่กี่วันก็หมดร้านทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ถึงขนาดที่สำนักพิมพ์บอกว่า “แค่เปิดปีมาก็น่าตื่นเต้น” และที่จะตามมาในช่วงสิ้นปีคือ Becoming หนังสือแนว memoir ของมิเชล โอบามา ที่จะวางแผงในเดือนพฤศจิกายนนี้ ยังไม่รวมหนังสืออื่นๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ความตื่นตัวเช่นนี้เกิดจากภาวะการแข่งขันแบบหนีตายของหนังสือเล่ม นำมาซึ่งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกสิ่งที่จะนำมาผลิต เลือกรูปแบบการปกป้องอุตสาหกรรมในระยะยาว เลือกที่จะเข้าใจระบบนิเวศของอุตสาหกรรมหนังสือ และท้ายที่สุดคือเลือกที่จะปล่อยให้ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) แต่ละตัวทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อส่งผลสู่ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการเริ่มต้นสู้กับอีบุ๊กส์เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว

ที่สุดแล้ว อีบุ๊กส์ได้ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของหนังสือเล่มที่เรามีมา และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมหนังสือและคนอ่านได้ตระหนักถึงบทบาทและการทำงานร่วมกัน การโปรโมตหนังสือของคนรักหนังสือ การเลิกขายหนังสือจากเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เองเพื่อหันกลับมาสนับสนุนร้านหนังสือมากขึ้นทั้งในด้านส่วนลด กิจกรรม เพิ่มความพยายามในการคัดสรร เลือกเฟ้นหนังสือดีๆ พัฒนาเทคนิคการพิมพ์ให้แปลกใหม่ มีลูกเล่นที่อีบุ๊กส์ทำไม่ได้ออกมามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากหนังสือป๊อปอัพ เลเซอร์คัต ที่ออกมามากขึ้น ดังนั้นอาจพูดได้ว่าอีบุ๊กส์ก็มีข้อดีไม่น้อย แต่ที่ยังน่าห่วงคือจากนี้ไป อีบุ๊กส์จะพัฒนาไปทางไหน และจะปรับตัวอย่างไรกับภาวะปัจจุบันที่โลกไม่ได้หมุนหาอีบุ๊กส์เพียงทิศทางเดียวอีกต่อไป

ภาพประกอบ อัครักษ์ ยิ้มสอาด

AUTHOR