22 หนังสือขายดีที่กลายมาเป็นคีย์วิชวลใน ‘รักคนอ่าน’ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47

Highlights

 
  • งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 มีชื่องานว่า 'รักคนอ่าน' และได้ทีม Pink Blue Black & Orange มาออกแบบคีย์วิชวลเพื่อโปรโมตงานถึง 22 แบบด้วยกัน
  • คีย์วิชวล 22 แบบนี้ สื่อถึงความหลากหลายของหนังสือในงาน และ 22 ประเภทหนังสือขายดีที่อ้างอิงจากแบบสอบถามในงานครั้งผ่านๆ มาของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักอ่าน นักเขียน สำนักพิมพ์ หรือโรงพิมพ์

เดือนมีนาคมต่างเป็นเดือนที่เราทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอ เพราะในช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคมของทุกปี เราจะได้พบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพราะเป็นงานที่ทุกคนจะได้มาเลือกจับจ่าย ซื้อหา อุดหนุนหนังสือจากสำนักพิมพ์ พบปะพูดคุยกับนักเขียน ฟังเสวนาที่จัดขึ้นมาสำหรับนักอ่านโดยเฉพาะ

หากใครได้เห็นอาร์ตเวิร์ก โปสเตอร์ และสื่อประชาสัมพันธ์งานต่างๆ สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม – 7 เมษายนนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะปิดปรับปรุง ภายใต้ชื่องาน ‘รักคนอ่าน’ ผ่านตามาบ้างแล้ว คงจะสังเกตว่ารูปแบบของคีย์วิชวลหรือกราฟิกที่สื่อถึงงานในปีนี้ ไม่ได้เป็นภาพเดียวจบอย่างปีที่ผ่านมา แต่มีหลายภาพในสไตล์ต่างสไตล์กัน และมีรายละเอียดต่างๆ ในแต่ละภาพที่ชวนให้เราเหลียวหลังกลับไปมองให้ชัด หรือพยายามตีความให้มากขึ้น

เพราะอยากรู้ว่ามีแนวคิดอะไรอยู่เบื้องหลังคีย์วิชวลเหล่านี้ เราจึงชวน สยาม อัตตะริยะ แห่งบริษัทออกแบบชื่อดังอย่าง Pink Blue Black & Orange ผู้เป็น design director ของโปรเจกต์มาพูดคุยถึงวิธีคิดและกระบวนการทำงานให้ฟังกันดูสักที

เริ่มจากตั้งโจทย์

สยามเล่าให้ฟังว่า ทีแรกที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยติดต่อมา ชื่อของงานนั้นไม่ใช่ ‘รักคนอ่าน’ อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นชื่อที่ออกจะยาวอยู่สักหน่อย

“โจทย์ที่เขาคิดกันมาและบอกเราในตอนแรก คือชื่อ ‘เรารักกันเพราะหนังสือ’ เพราะเขามองว่าครั้งนี้จะเป็นงานหนังสือครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนจะปิดปรับปรุง โดยยังไม่แน่ใจว่าครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร เลยอยากโฟกัสช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราผูกพันกันจากงานหนังสือ มันดูอบอุ่น ซึ้งใจนะ แต่มันยาวมาก” สยามเล่าและเปรียบว่าถ้าเป็นชื่อวรรณกรรมสักเล่มอาจจะน่าอ่าน แต่เมื่อเป็นชื่องานเขาก็รู้สึกหนักใจ

ในช่วงแรก ทางสมาคมฯ ยังคงเปิดกว้างให้ทาง Pink Blue Black & Orange ได้ลองเสนอแนวทางอื่นๆ พวกเขาจึงเสนอไอเดียไปจำนวนมาก โดยมีตั้งแต่ไอเดียแบบเซฟๆ แนวทางเดียวกับปีที่ผ่านมา เช่น ‘อ่านเอาเรื่อง’ ซึ่งโฟกัสที่พฤติกรรมการอ่าน, ‘ยูเรก้า’ พูดถึงช่วงเวลาประทับใจขณะอ่านหนังสือ ไปจนถึงไอเดียที่ห่ามและบ้าขึ้น อย่าง ‘พาหะ’ ที่มองว่าหนังสือเป็นพาหะทางความคิดที่เกิดการแนะนำ แพร่กระจายกันต่อไป และ ‘สัปดาห์มหาประลัย’ เพราะเป็นเทศกาลที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมกายเตรียมใจมา ทั้งนักอ่าน นักเขียน โรงพิมพ์ ซึ่งชื่อนี้ก็เกือบจะผ่านและได้ทำจริง แต่เมื่อคณะกรรมการฯ ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กลับไปพูดคุยทบทวนกันอีกที ก็อยากจะให้สยามกลับไปที่ ‘เรารักกันเพราะหนังสือ’ อีกครั้ง

“พอเป็นหัวข้อนี้จริง เราเลยนำเสนอทิศทางที่น่าจะเล่าต่อได้ง่ายกว่า คือคำว่า ‘รักคนอ่าน’ ซึ่งยังคงสื่อสารถึงจิตวิญญาณคนผลิต ผู้เขียน หนังสือ คนอ่าน ที่อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้น มีนักเขียน โรงพิมพ์ ผู้ออกแบบ มีงานสัปดาห์หนังสือได้ ก็เพราะมีคนอ่าน แล้วมันก็มีเซนส์ความเป็นไทยที่มีอารมณ์ขัน ทีเล่นทีจริง คล้ายๆ กูนึกแล้วมึงต้องอ่าน ยิ้มก่อนอ่าน ตาหวานก่อนเปิด มันเอาไปใช้ในงานออกแบบต่อได้ด้วย และทางสมาคมฯ ก็รู้สึกว่าคำนี้น่ารัก” นักออกแบบอธิบาย

22 ประเภทหนังสือ

เมื่อตกลงได้ชื่องานมาเป็นที่เรียบร้อย สยามก็เริ่มคิดคีย์วิชวลจากข้อมูลที่ทางสมาคมมีอยู่ในมือ นั่นคือรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ผ่านมา ที่มีข้อมูลตั้งแต่เพศ อายุ รายรับต่อเดือน ประเภทหนังสือที่ซื้อ เหตุผลที่มางานสัปดาห์หนังสือฯ

“เหตุผล 3 อันดับแรกของคนที่มา หนึ่ง ความหลากหลาย อยากหาหนังสืออะไรมางานเดียวได้ทุกอย่าง สอง มีหนังสือที่หาไม่ได้ทั่วไป หายาก เพราะในร้านหนังสือใหญ่จะวางหนังสือที่ขายดีเป็นหลัก สาม ได้พบกับนักเขียนและคนคอเดียวกัน” เขาว่า

จากเหตุผลของคนมางาน สยามเลือกหยิบความหลากหลายมาเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเขามองว่าการที่จะสื่อสารความหลากหลายออกมานั้น ก็ไม่น่าจะทำได้ด้วยภาพเพียงภาพเดียว ผู้อ่านหนังสือแต่ละประเภทก็เปรียบได้กับคอดนตรีต่างแนวที่แต่ละแนวจะมีซับคัลเจอร์ของตัวเอง เขาจึงตั้งใจทำวิชวลที่จะสื่อสารถึงตัวตนและรสนิยมการอ่านที่หลากหลาย

ข้อมูลจากการสำรวจของสมาคมฯ หนังสือที่ขายดีภายในงานหนังสือมีทั้งหมด 22 ประเภท นั่นคือ ธุรกิจ หุ้น การลงทุน, นิยายรัก, ตำราอาหาร, หนังสือการ์ตูน, นิยายแฟนตาซี, ท่องเที่ยว, จิตวิทยา ให้กำลังใจ, เทคโนโลยี, นิยายกำลังภายใน, นิยายผี สยองขวัญ, ประวัติศาสตร์ โบราณคดี, หนังสือเด็ก, ฮาวทู, โหราศาสตร์ ดูดวง โชคชะตา, วรรณกรรมเยาวชน, ดูแลสุขภาพ, หนังสือธรรมะ ศาสนา ปรัชญา, หนังสือเรียน คู่มือสอบ, หนังสือการตลาด, เพศศึกษา อีโรติก, สารคดี, นิยายวาย

และ Pink Blue Black & Orange ก็บ้าพอที่จะลงมือทำคีย์วิชวลออกมา 22 แบบด้วยเช่นกัน

 

รัก + คนอ่าน

เพื่อให้คีย์วิชวลทั้ง 22 แบบที่มีความแตกต่างไปด้วยกันได้ จึงต้องอยู่ในฟอร์แมตเดียวกัน

“วิธีคิดของออฟฟิศเราค่อนข้างซื่อบื้อ จาก ‘รักคนอ่าน’ รักก็ใช้เป็นเชปรูปหัวใจครึ่งดวงให้เอามาประกอบกันได้ โดยที่ด้านในก็จะมีรูปคนอ่านหนังสืออยู่ในทุกรูป แต่เราจะเลือกให้เหมาะกับหมวด เช่น หนังสือเรียนก็เป็นเด็กนักเรียน นิยายรักก็เป็นคิวปิด เป็นภาพที่ตรงไปตรงมาเพื่อเปิดกว้างให้ทุกคนตีความได้” สยามบอก

แต่ภายใต้ความตรงไปตรงมา อารมณ์ขันก็เป็นเครื่องมือที่เขาหยิบมาใช้เพื่อให้เกิดความดึงดูด น่าสนใจ โดยจะสอดแทรกความซุกซนปะปนอยู่ในรายละเอียดของภาพต่างๆ เช่น หมวดหนังสือจิตวิทยาหากมองให้ดีจะเห็นคนอ่านหนังสือซ้อนอยู่ในหนังสือแบบไม่จบไม่สิ้น, สัตว์ประหลาดสยองขวัญกำลังอ่านหนังสือ มนต์รักอสูร, ไพ่ทาโรต์ของหนังสือโหราศาสตร์หากมองดีๆ ก็จะเห็นภาพในไพ่เป็น The Writer หรือนักเขียน, The Broke Man คนที่ช้อปจนเงินหมด, หมวดหนังสือฮาวทูก็เป็นหนังสือคู่มือการต่อคิวเข้าแถวซื้อหนังสือแบบกวนๆ เป็นต้น

“ในการสื่อสาร การคุยเรื่องตลกจะให้ความรู้สึกเป็นกันเองมากกว่า เวลาคนไปดูหนังแล้วมีมุกที่เราเก็ตแล้วขำแต่คนอื่นไม่เก็ต เราก็จะรู้สึกว่าหนังทำงานกับเรา เราเลยพยายามใส่ตรงนี้เข้าไป ใครไม่เห็นก็ไม่เป็นไรเพราะภาพก็ยังดูรู้เรื่อง”

สยามอธิบายว่า ไอเดียเหล่านี้มาจากการพูดคุย โยนไอเดียกันไปมาภายในทีม จนเมื่อได้แกนหลักก็แบ่งให้แต่ดีไซเนอร์ละคนเอาไปวาดตามความสนใจ งานที่ได้เลยมีบุคลิกที่หลากหลายและใช้เทคนิคต่างๆ กัน แต่ก็ต้องคอยดูแลเรื่องสีสัน ขนาด สัดส่วนของภาพรวมว่า อยู่ด้วยกันแล้วจะต้องไม่ลายตาเกินไป บางภาพอาจมีรายละเอียดยุบยิบ ใช้หลากหลายสี แต่บางภาพอาจมีองค์ประกอบน้อยชิ้น ใช้สีไม่กี่สี เพื่อให้ดูสบายตา

 

เราถามสยามว่า ระหว่างที่ทำพวกเขาต้องเจอกับความท้าทายอะไรบ้างไหม เขาคิดอยู่ชั่วครู่แล้วส่ายศีรษะ

“ก็เป็นเรื่องธรรมดานะ เพราะเรามีทัศนคติในการมองปัญหาว่ามันไม่ได้นำความทุกข์มาให้ แต่เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้คิดสิ่งที่ออกไปจากวิถีเดิมๆ เวลาทำงานเราก็จะเริ่มจากการคิดว่าถ้าแบบเดิมใช้วิธีนี้ เราจะใช้วิธีอื่นได้ไหม”

เมื่อได้คีย์วิชวลทั้ง 22 แบบเรียบร้อย ทุกภาพก็ถูกปรับให้สามารถใช้งานได้ง่ายเพื่อส่งต่อให้ทางสมาคมฯ สามารถไปผลิตซ้ำ ปรับขนาดเป็นอาร์ตเวิร์กลงสื่อได้ตามสะดวกอย่างที่เราเห็นในที่ต่างๆ และยังนำมาใช้ในบัตรห้อยคอสตาฟ รวมถึงของที่ระลึกในงานอีกด้วย

ใครสนใจไปเยี่ยมชม ‘รักคนอ่าน’ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 สามารถไปชมงานได้ในวันที่ 28 มีนาคม – 7 เมษายน 2562 เวลา 10:00-21:00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 


website: pinkblueblack.com

facebook: Pink Blue Black & Orange

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!