“ในอีกด้านงานหนังสือทำให้เราเห็นความงามของมนุษย์” เหตุผลที่ต้องไป Frankfurt Book Fair

Highlights

  • Frankfurt Book Fair คือหนึ่งในงานหนังสือใหญ่งานหนึ่งของโลก เป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่ผู้คนจะมาแลกเปลี่ยนแนวคิดที่หลากหลาย
  • ในด้านหนึ่งงานหนังสือคือธุรกิจ แต่ในอีกด้านงานหนังสือทำให้เราเห็นความงามของมนุษย์ เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่อยากจะกลับมาเห็นในทุกๆ ปี

Frankfurt Book Fair

Visitors in Total 302,267

 Exhibitors 7,450 from 104 Countries

Proportion of Trade Visitors 47% : Public Visitors 53%

+8% Increase Over the Weekend

+1.8% Rise on Trade Visitor Days

ในโลกนี้มีงานอีเวนต์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคืองานหนังสือ แท้จริงแล้วมีการจัดงานที่เรียกว่า ‘งานหนังสือ’ หรือ book fair ทุกเดือน ทั่วโลก ถ้านับจริงๆ อาจจะทุกอาทิตย์

ผู้คนไปทำอะไรที่งานหนังสือ งานหนังสือแต่ละประเทศเหมือนหรือต่างกันยังไง

แท้จริงงานหนังสือทำหน้าที่ 2 หลักใหญ่ๆ หนึ่งคือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมหนังสือ และอีกนัยหนึ่งเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่ผู้คนจะมาแลกเปลี่ยนแนวคิด

Frankfurt Book Fair คือหนึ่งในงานหนังสือใหญ่งานหนึ่งของโลกที่จัดมานับสิบปี สิบขวบปีที่ผ่าน Frankfurt Book Fair บอกอะไรกับเราบ้าง

hellotravel.com

สิบปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์หลากหลายขึ้นบนโลก ทั้งข่าวดี ข่าวร้าย ความกลัว เราได้เรียนรู้ความกล้าหาญและความจริง สิบปีก่อนงานหนังสือมีแต่ความน่ากลัวและเงาทะมึนของอีบุ๊กที่หลากหลายบริษัทต่างพาเหรดมาเปิดบูทในงานกันมากมาย เรียกว่าต้องยกฮอลล์หนึ่งให้กันไปเลย ตอนนั้นหลีกไม่ได้ที่จะหวั่นใจถึงการคุกคามที่รวดเร็ว สิบปีที่แล้วนี้เองที่เรายังคาดการณ์ว่าอีบุ๊กจะเข้ามาทดแทนรูปแบบหนังสือเล่ม

ในตอนนั้นคนหนังสือทั่วโลกใช้เวลามากกว่าครึ่งของ 30 นาทีทองหมดไปกับการปรับทุกข์ถึงอนาคตและธุรกิจหนังสือ

แล้วทำไมถึงต้อง 30 นาที

ที่ Frankfurt Book Fair หรือที่ London Book Fair ทุกคนใช้เวลาพบกันเพียง 30 นาที เพื่อพูดทุกเรื่องราว นำเสนอหนังสือใหม่ๆ หรือนั่งปรับทุกข์กันจนหมดเวลา และต้องรีบวิ่งไปนัดถัดไป เราเรียกการประชุมแบบนี้ว่า back-to-back เป็นภาพปกติที่จะเห็นคนเดินกินแซนด์วิชหรือขนมเค้กหวานๆ บางคนเอาไส้กรอกหรือเตรียมถุงผลไม้มาจากบ้าน กล้วยคืออาหารหลักให้พอประทังหิว นี่คือ 30 นาทีทองที่ขาดไม่ได้ ไม่มีขยับเวลาให้ มาช้าก็เหลือเวลาตามกรอบ 30 นาที จะสนิทกันแค่ไหน หรือต้องปรับทุกข์กันมากเท่าไหร่ แต่ชีวิตต้องเดินหน้า และมันคือกฎ

สิบปีที่แล้วที่ Frankfurt Book Fair จะมีจำนวนฮอลล์ที่ใช้อยู่เรียกว่า Hall 3, 4, 5, 6 และ 8 แต่ละฮอลล์จะมี 3 ชั้น ยกเว้น Hall 8 ที่มีเพียงชั้นเดียวแต่มีหลังคาให้แสงแดดส่องผ่าน ตอนนั้นมีการแบ่งชัดเจนว่า Hall 3 เป็นฮอลล์ของสำนักพิมพ์เยอรมัน ศาสนา ท่องเที่ยว Hall 4 และ 5 เป็นห้องที่แสดงงานจากประเทศต่างๆ ที่นำหนังสือมาเป็นตัวแทนหรือซอฟต์พาวเวอร์เพื่อโปรโมตประเทศผ่านงานเขียน ทั้งยังใช้เป็นเวทีในการขายงานลิขสิทธิ์

ที่เห็นเด่นชัดและประสบความสำเร็จในการใช้ Frankfurt Book Fair เป็นช่องทางนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศคืออินโดนีเซีย ที่เริ่มต้นจากการเป็น guest of honor คือได้สิทธิในการนำเสนอวัฒนธรรมหนังสือและวัฒนธรรมอื่นๆ ของตัวเองผ่าน Primary Hall ซึ่งยกให้ประเทศที่ได้เป็นเกสต์รับไปใช้ประเทศเดียวทั้งฮอลล์ และต่อด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องการนำเสนอให้หลากหลายพื้นที่

อินโดนีเซียใช้เวทีงานหนังสือส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของตัวเอง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพวกเขาได้ไปเป็น guest of honor อีกครั้งใน London Book Fair จึงไม่แปลกที่งานปีนี้สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อย่าง Penguin Random House จะมีหนังสือของนักเขียนอินโดนีเซียมานำเสนอ

 

มาที่ Hall 6 กันบ้าง พื้นที่ส่วนนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3-4 ส่วน ชั้นบนสุดเป็นพื้นที่ของหนังสือเรียน หรือเรียกว่า academic book ชั้นสองเป็นหนังสือศิลปะ ที่รวมมาจากทุกประเทศ แต่ที่เน้นมากๆ คือหนังสือศิลปะของเยอรมนี ชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ และตรงนี้เองเป็นพื้นที่รวมตัวกันของเหล่าบริษัทที่ทำ DRM (digital rights management) หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับอีบุ๊ก รวมถึงการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ Hall 8 เป็นที่สุดท้ายที่เหล่าสำนักพิมพ์ต่างประเทศใช้เป็นพื้นที่คุยเรื่องการซื้อ-ขายหนังสือกับคู่ค้าจากทั่วโลก

Hall 6 และ Hall 8 ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน ความรู้สึกของผู้คนในตอนนั้นเหมือนบ้านคนละฝั่งคลองที่เฝ้ามองกันด้วยความหวาดระแวง

เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง มีการยุบ Hall 8 เพราะต้องการปรับปรุงพื้นที่ ผนวกกับแต่เดิมนั้นการจะออกจาก Hall 8 ไปที่อื่นต้องวิ่งแข่งกับเวลา ไปจับรถเวียนที่วิ่งรับ-ส่งคนระหว่างพื้นที่จัดแสดงต่างๆ ถ้าตกรถต้องวิ่ง 100 เมตรตามกฎ 30 นาทีทองเลยทีเดียว ถ้ายุบแล้วจะอยู่กันยังไง

ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่อยู่ดีๆ บูทที่ทำแอพฯ ทำอีบุ๊ก ก็พลันปิดตัวลง หายออกไปจากพื้นที่งานแบบเงียบๆ ดังนั้นจึงเกิดพื้นที่ใหม่ขึ้นมา และเป็นที่มาให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ อย่างบูทนิตยสาร Monocle หรือปัจจุบันคือบูทแนะนำนิตยสาร และงาน Indiecon ของเหล่านิตยสารอิสระที่มาใช้พื้นที่แทน บูทหนังสือจึงมีรอยยิ้มกลับมาให้เห็นบ้าง

uk.phaidon.com

การไปงานหนังสือไม่ได้บอกเราแค่ว่าอะไรอยู่ อะไรไป แต่งานหนังสือในต่างประเทศเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่เชื่อมคนทั่วโลกผ่านซอฟต์พาวเวอร์ชิ้นงาม เราเห็นการพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับสิทธิสตรีมากมาย อย่าง Great Women Artists ที่ขีดฆ่าคำว่า Women ออก เพราะนำเสนอความเท่าเทียม ดังนั้นคำว่า Women จึงไม่จำเป็น หรือหนังสือรณรงค์รักษ์โลกที่ออกมาทุกระดับ ตั้งแต่ให้เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ที่จะได้เรียนรู้ถึงผลกระทบถ้ายังปล่อยให้อะไรๆ เป็นไปอย่างเดิม ครอบคลุมทุกอย่างไปจนถึงแนวคิดทางการเมือง ไม่ว่าจะต่อต่านทรัมป์ เชิดชูมิเชล โอบามา ทุกอย่างเท่าที่มนุษย์จะต้องการหาจากหนังสือที่นี่มีหมด หรือจะเป็นหนังสือที่ช่วยให้เราพักตัวเองจากโซเชียลมีเดียหรือออนไลน์ต่างๆ ได้

นี่จึงเป็นข้อดี เพราะในงานเราจะได้ทราบถึง current affairs หรือเหตุการณ์ปัจจุบัน แนวคิดของคนประเทศนั้นๆ ว่าเขาคิดเห็นและมองเรื่องรอบตัวยังไง โลกกว้างกว่าที่เราคิด ในหนังสือหนึ่งเล่มเมื่อสำนักพิมพ์นำเสนอให้ฟังเขาอาจจะพูดถึงปัญหาขาดแคลนทรัพยากรในบราซิลที่จะนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้

สิ่งสุดท้ายของการไปงานหนังสือเราอดไม่ได้ที่จะยกท่อนหนึ่งของบทเพลงของ Louis Armstrong ขึ้นมา

I see friends shaking hands saying how do you do.

ไม่เพียงแค่นั้น ตลอดงานเราจะได้ยินเสียงเพื่อนๆ วิ่งมากอดกัน เอาแก้มชนกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันตลอดทางเดิน เป็นภาพแห่งสัมพันธ์ของมนุษย์อันงดงามในงานหนังสือ

บางคนยังจำได้ว่าคราวที่แล้วผมไม่สบาย ถามว่าโอเคแล้วนะ ลูกกี่ขวบแล้ว บางคนลึกไปกว่านั้น ถามว่าตอนนี้ลูกยังสนใจเรื่องผีอยู่ไหม งานนี้มาด้วยหรือเปล่า

ในด้านหนึ่งงานหนังสือคือธุรกิจ แต่ในอีกด้านงานหนังสือทำให้เราเห็นความงามของมนุษย์ เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่อยากจะกลับมาเห็นในทุกๆ ปี และบอกใครๆ ว่า ‘I’m in a book business.’ แม้ว่าบางคราจะมีข่าวร้ายชวนให้เศร้า มีข่าวการเสียชีวิตของใครบางคนที่เรารู้จักและเขายังคงถูกพูดถึงในงาน สำหรับผมงานหนังสือมีเสน่ห์ที่สุดก็ตรงนี้ ตรงที่ได้พิสูจน์ว่ามิตรภาพยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่ง

หากมีคนถามว่ามางานหนังสือทำไม เพราะแค่ 30 นาทีทองไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจเราเติบโตขึ้น แต่มิตรภาพจะฝังแน่นและนานมากกว่านั้น และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมางานหนังสือ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นภิษา

เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สนใจในหนังสือ และสิ่งพิมพ์