จับตามองอัตลักษณ์ของภูมิภาคอาเซียนผ่านการเลือกตั้ง

นอกจากเพลงชาติ เครื่องแต่งกาย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และชาติพันธุ์ ของประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มถูกประชาสัมพันธ์ให้เรารับรู้และเข้าใจมากขึ้น สภาพสังคมและการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านคืออีกสิ่งที่จะทำให้เรามองเห็นและเข้าใจความเป็นไปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้นเช่นกัน

เข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน และย้อนกลับมาดูประเทศของเราเอง

คำที่เรียกภูมิภาคนี้ว่า Southeast Asia หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2380 โดยนักภูมิศาสตร์ชาวเดนมาร์ก Conrad Malte-Brun และเริ่มใช้อย่างกว้างขวางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในอดีต ภูมิภาคนี้ถูกศึกษาและบันทึกโดยชาวต่างชาติด้วยวิธีการศึกษาแบบเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ติดทะเลและเป็นท่าการค้าที่สำคัญ ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นดินแดนที่เปิดรับผู้คนและวัฒนธรรมจากภายนอก ส่งผลให้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา มากที่สุดอีกภูมิภาคหนึ่ง

ต่อมาในยุคล่าอาณานิคมที่ประเทศตะวันตกเข้ามายึดครองและบริหารจัดการประเทศต่างๆ แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศส่งผลต่อสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศในภูมิภาคนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ภายใต้ความหลากหลาย ปัจจุบัน ภูมิภาคนี้เผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกันคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจของรัฐในทางที่ผิด ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา แม้หลายประเทศจะมีการเลือกตั้งเป็นประจำ บางประเทศเพิ่งมี หรือบางประเทศยังดูคลุมเครือห่างไกลความจริง ประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนเผชิญกับอุปสรรคในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

มาเลเซียและกัมพูชาคือสองประเทศเพื่อนบ้านเราที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งการเลือกตั้งจะสะท้อนสภาพการเมืองของพวกเขาอีกครั้ง ขณะที่สิงคโปร์และเมียนมาเพิ่งเลือกตั้งไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่ประเทศของพวกเขาหลังการเลือกตั้งยังต้องเจอกับบททดสอบอีกมากมาย

การเลือกตั้งของมาเลเซียกับการเอาชนะการเมืองแบบอัตลักษณ์

มาเลเซียมีกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

มาเลเซียถือเป็นหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เชื้อชาติเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ ปัจจุบันมาเลเซียมีประชากรราว 30.9 ล้านคน โดยมี 3 เชื้อชาติหลักที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียคือ มาเลย์ จีน และอินเดีย (มาเลย์ 50.1% จีน 22.6% อินเดีย 6.7% และอื่นๆ)

ในช่วงที่มาเลเซียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวอังกฤษได้เข้ามาแบ่งบทบาทหน้าที่ของชาวมาเลเซียตามเชื้อชาติ โดยให้ชาวจีนดูแลเรื่องเศรษฐกิจมหภาคและการค้าในเขตเมือง ชาวมาเลเซียมีหน้าที่ในงานราชการและทำเกษตรกรรมในหมู่บ้าน ขณะที่ชาวอินเดียทำสวนยางและสวนปาล์มเพื่อส่งออก ส่งผลให้เชื้อชาติมีผลต่อโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของชาวมาเลเซียในเวลาต่อมา อย่างเช่นชาวจีนในมาเลเซียจะมีรายได้สูงกว่าเชื้อชาติอื่นๆ ส่วนชาวมาเลย์จะมีบทบาททางการเมือง ตำแหน่งราชการสำคัญๆ ของประเทศส่วนใหญ่ตกเป็นของชาวมาเลย์ โดยชาวมาเลย์มองว่าชาวจีนมีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ขณะที่ชาวจีนมองว่าเชื้อชาติตนนั้นขาดส่วนร่วมทางการเมือง

ตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2500 พรรค United Malays National Organization (UMNO) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของมาเลเซียที่มีสมาชิกเป็นชาวมาเลย์ ก็ตระหนักว่าพรรคที่ขาดความหลากหลายทางเชื้อชาติจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้และจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากอังกฤษ อีกทั้งเพื่อลดเสียงที่แตกต่างในบรรดาพรรคการเมือง จึงตัดสินใจรวมกับพรรค Malaysian Chinese Association (MCA) และพรรค Malaysian Indian Congress (MIC) ก่อตั้งเป็นพรรค Alliance ที่เปลี่ยนเป็นพรรค Barisan Nation ในเวลาต่อมา ที่ปัจจุบันมีพรรคการเมืองอื่นๆ ร่วมด้วย โดยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พรรค Barisan National จึงกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลที่สุด เอาชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลมาโดยตลอด 60 ปี หรือตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ อย่างไรก็ตาม พรรค Barisan National ยังคงถูกมองว่าเป็นพรรคตัวแทนของชาวมาเลย์และการรวมกับพรรคของเชื้อชาติอื่นนั้นอาจเป็นเพียงภาพลักษณ์เท่านั้น

แม้ว่าการเมืองของมาเลเซียจะไม่เผชิญกับรัฐประหารหรือการแทรกแซงของทหารดังเช่นไทย เมียนมา และอินโดนีเซีย แต่ก็ต้องเผชิญกับระบบพรรคการเมืองผูกขาด (one-party dominant system) โดยที่ผ่านมา กลุ่ม Barisan National ประสบความสำเร็จเรื่องชาตินิยมของชาวมาเลย์เพื่อได้คะแนนเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงมีระบอบการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบให้พรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งได้ยากขึ้น จนบรรดาพรรคฝ่ายค้านต้องใช้กลยุทธ์รวมตัวกันในนาม Pakatan Harapan (The Pact of Hope) เพื่อให้ได้ที่นั่งในสภามากขึ้น อย่างไรก็ตามกลยุทธ์นี้ยังอ่อนแอ เพราะในบรรดาพรรคฝ่ายค้านเองไม่ได้มีอุดมการณ์เดียวกันทุกพรรค และยังมีความขัดแย้งกันเอง

ปัจจุบัน แม้ว่าความหลากหลายจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่และกลุ่มคนในเมือง แต่การเมืองมาเลเซียยังคงหลีกหนีจากประเด็นทางเชื้อชาติและศาสนาค่อนข้างยาก เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านเองก็ยังต้องอาศัยฐานเสียงจากเชื้อชาติที่สนับสนุนพรรคของตน

กัมพูชากับการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าไม่โปร่งใสและยุติธรรม

กัมพูชาจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โดยเป็นอีกประเทศที่ถูกปกครองโดยพรรค Cambodia’s People Party (CPP) ของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน (Hun Sen) มาตลอดระยะเวลา 38 ปี ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งของกัมพูชาที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่โปร่งใสและไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้แข่งขันอย่างยุติธรรม เช่น การจำกัดเสรีภาพสื่อและระบอบการเมืองแบบอุปถัมภ์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กัมพูชาได้ออกกฎหมายสั่งห้ามพรรคการเมืองสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกรัฐสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งกฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้านว่า รัฐบาลออกกฎหมายนี้เพื่อกีดกันพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เพราะอดีตหัวหน้าพรรค CNRP คือ Sam Rainsy ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทและยุยงปลุกปั่น และถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง หลังจากกล่าวหานายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร Kem Ley นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะที่หัวหน้าพรรค CNRP คนปัจจุบันคือ Kem Sokha นั้นเพิ่งถูกจับในข้อหากบฏเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา โดย Kem Sokha คือคู่แข่งคนสำคัญของฮุน เซน ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ดังนั้นกฎการเลือกตั้งที่สั่งห้ามพรรคการเมืองใดๆ ยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนบุคคลที่ต้องโทษทางการเมือง ทำให้นายกรัฐมนตรีฮุน เซนออกมาเตือนว่า พรรค CNRP จะถูกยุบหากยังสนับสนุนบุคคลที่ถูกรัฐสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมืองหรือถูกจับกุม

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา พรรค CPP ได้คะแนนไป 51% ขณะที่พรรค CNRP ได้คะแนนไป 46% ซึ่งแม้ว่าพรรค CPP หรือพรรครัฐบาลจะยังชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่พรรค CNRP นั้นได้คะแนนเพิ่มขึ้นสูสีกับพรรครัฐบาลจนถูกมองว่าเสียงสนับสนุนพรรค CNRP จะสั่นคลอนอำนาจของพรรค CPP ที่อยู่ในอำนาจมามากกว่า 3 ทศวรรษ ทำให้กฎการเลือกตั้งต่างๆ ที่ออกมาในช่วงการเลือกตั้งโค้งสุดท้ายถูกมองว่าเป็นอีกกลยุทธ์ของพรรค CPP เพื่อยังต้องการอยู่ในอำนาจด้วยการชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปีหน้า

หนทางหลังการเลือกตั้งของเมียนมาและสิงคโปร์

เมียนมาและสิงคโปร์คือสองประเทศที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2558

สิงคโปร์คือประเทศที่ความหลากหลายทางเชื้อชาติเป็นประเด็นทางการเมืองและเผชิญกับระบอบพรรคการเมืองผูกขาดคล้ายคลึงกับมาเลเซีย พรรค PAP คือพรรคเดียวที่ปกครองสิงคโปร์มา 58 ปี ประสบความสำเร็จในการนำความเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้สิงคโปร์เปลี่ยนจากประเทศขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติสู่ศูนย์กลางการเงินแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่มั่งคั่งของสิงคโปร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแลกมาด้วยเสรีภาพการแสดงออกที่จำกัดและความเหลื่อมล้ำระหว่างเชื้อชาติในสังคม โดยเชื้อชาติหลักๆ คือ จีน มาเลย์ และอินเดีย ซึ่งในอดีตมีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงของชาติ จับกุมนักเคลื่อนไหวที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ พ.ร.บ.การออกอากาศควบคุมสื่อควบคุมเนื้อหาของสืออย่างเข้มงวด

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของพรรค PAP ทำให้พรรคได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลามมายาวนาน อย่างไรก็ตาม ระบอบการเลือกตั้งของสิงคโปร์และการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นถูกมองว่าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พรรคอื่นๆ ชนะการเลือกตั้งได้ยากขึ้นและทำให้การเมืองสิงคโปร์ขาดความหลากหลาย ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองของสิงคโปร์เริ่มมีให้เห็นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น และคะแนน Popular Vote ของพรรค PAP ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา แต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่มีขึ้นหลังการเสียชีวิตของนายลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) และการครบรอบ 50 ปีการเป็นเอกราชของสิงคโปร์ทำให้พรรค PAP กลับมาได้คะแนนอย่างล้นหลามอีกครั้งจากกระแสชาตินิยม ปัจจุบัน แม้ว่าสิงคโปร์จะยังเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แต่เสรีภาพในการแสดงออกยังคงถูกจำกัด เสรีภาพสื่อของสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2560 ที่จัดทำโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) อยู่ที่อันดับ 151 จาก 180 ประเทศ

ขณะที่เมียนมาคือประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมายาวนานที่สุดในอาเซียน จนในที่สุดการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2558 ที่ชาวเมียนมาเฝ้าคอยนั้นไม่ถูกกีดขวางและทำให้เมียนมาเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาสู่รัฐบาลพลเรือนได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม อำนาจของทหารยังไม่หมดไปจากกิจการพลเรือนของเมียนมาทันที รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2551 ที่ถูกร่างในสมัยที่ทหารยังปกครองประเทศยังเปิดทางให้ทหารมีอำนาจในสภา 25 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภาสูงและสภาล่างถูกกำหนดให้เป็นของทหาร รวมไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ อย่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงเกี่ยวกับรักษาชายแดนต้องถูกแต่งตั้งโดยทหารเช่นกัน

ที่ผ่านมาความหลากหลายทางชาติพันธุ์คือความท้าทายของเมียนมาในการสร้างเอกภาพจากในอดีตที่กองทัพใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ โดยภาษา วัฒนธรรม และศาสนา ของชนกลุ่มน้อยยังถูกละเลยจากรัฐ ก่อนที่ออง ซาน ซู จี จะนำพรรค National League of Democracy ชนะการเลือกตั้ง เธอได้รับการสนับสนุนจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่เชื่อว่าจะนำเมียนมาไปสู่การยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่วิกฤตโรฮีนจาและอำนาจทหารที่ยังแทรกแซงอยู่สะท้อนว่า แม้เมียนมาจะเพิ่งหลุดพ้นจากรัฐบาลทหาร แต่หนทางสู่ประชาธิปไตยที่ปราศจากการแทรกแซงของทหารและการยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ยังมีอุปสรรคที่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี

AUTHOR