เป็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในหลายปีสำหรับผู้ชมภาพยนตร์ กับผลประกาศรางวัลออสการ์ ประเภทว่าหนังเรื่องนี้ได้ Best Picture แต่รางวัล Best Director เป็นของผู้กำกับหนังอีกเรื่องหนึ่ง อ้าว หนังดีนี่ผีกำกับเหรอ ทำไมมันถึงไม่ได้ไปพร้อมๆ กัน ทำไมถึงแยกส่วน และช่วงหลังๆ เราจะเห็นผลรางวัลออกมาเป็นแบบนี้มากขึ้น
อย่างล่าสุดปี 2017 ที่ Moonlight ได้ Best Picture แต่เดเมี่ยน ชาแซล ได้ Best Director จาก La La Land หรือปีก่อนนั้นที่ Spotlight ได้ Best Picture แต่อีนาร์รีตู จาก The Revenant ได้ Best Director (ว่าง่ายๆ คือปีของ Birdman นั้นเป็นปีที่ตัวหนังได้ทั้งรางวัล Best Picture และ Best Director ในรอบ 5 ปี กลายเป็นสิ่งที่ดันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ซะงั้น) คนจึงมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทำไมถึงไม่สัมพันธ์กันทั้งที่ผู้กำกับก็เปรียบได้กับผู้นำของหนังเรื่องนั้น หนังจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเป็นส่วนใหญ่ และต้องมีเขาในแทบทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นยันจบ
โดยเบื้องต้น ความรู้สึกนี้อาจจะเกิดได้ชัดขึ้นก็เพราะจำนวนหนังที่เข้าชิง Best Picture กับ Best Director นั้นไม่สัมพันธ์กัน ตั้งแต่ปี 2009 มีการปรับกฎให้ตัวหนังยอดเยี่ยมเข้าชิงได้ 10 เรื่อง แต่ตัวผู้กำกับยังคงมีได้แค่ 5 คน ดังนั้น จึงจะมีหนังที่เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมแต่ไม่ได้เข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยมเยอะขึ้นกว่าปกติ
แต่โดยเบื้องลึกแล้ว ระบบการโหวตของออสการ์ในสาย Best Picture นั้น สมาชิกทุกตำแหน่ง ทุกอาชีพและสาขาจะโหวตหนังให้เข้าชิงในสาขานี้ได้ ตรงข้ามกับสาขา Best Director คนที่มีสิทธิ์เสนอรายชื่อจะต้องเป็นผู้กำกับกันเองเท่านั้น ดังนั้นความไม่สัมพันธ์กันนี้ก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะเรากำลังใช้แว่นคนละกรอบในการตัดสิน
ฝ่ายผู้มีสิทธิ์โหวต Best Picture นั้นอาจจะโหวตด้วยหลักเกณฑ์มากมายหรือโหวตจากความชอบต่างๆ ในขณะที่สาย Best Director เวลาบรรดาผู้กำกับมองผู้กำกับและตัดสินความดีงาม บางครั้งพวกเขาจะมองเห็นรายละเอียด ความยากลำบากบางอย่างในการกำกับหนังเรื่องนั้น และความพยายามในการสร้างสิ่งเหล่านั้นบางครั้งก็ไม่ใช่เพื่อความสนุกของผู้ชม แต่เป็นการสร้างสิ่งใหม่ให้วงการภาพยนตร์หรือเป็นความทะเยอทะยานในการพัฒนาเทคนิคเดิมที่มีอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับความฮิตหรือความแมสของหนังแต่อย่างใด หรือบางครั้งก็ไม่เกี่ยวข้องกับความดีของตัวหนังโดยรวมด้วยซ้ำ
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมคิดตามและพอจะทำความเข้าใจได้และค่อนข้างเห็นด้วย เช่น ในปี 2014 ที่หนังเรื่อง Gravity ได้รางวัล Best Director แต่พลาดรางวัล Best Picture ให้กับ 12 Years a Slave เอาจริงๆ แล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามวลรวมของ Gravity งานกำกับนั้นพุ่งกระฉูดทะลุดวงตา วิสัยทัศน์สดใหม่ของผู้กำกับ อัลฟองโซ กัวรอง คือกระดูกสันหลังของหนังเรื่องนี้ ในการจะถ่ายหนังอวกาศออกมาสมจริงแบบนั้น รวมถึงฉากลองเทคมหัศจรรย์มากมายที่ทำให้ต้องผลิตยาวนานถึง 7 ปี
ขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเชิงบทภาพยนตร์นั้น Gravity ค่อนข้างจะธรรมดา หรืองานแสดงของจอร์จ คลูนีย์ และแซนดร้า บูลล็อก ก็โดนงานกำกับบดบังจนหมดสิ้น
หันกลับมาดูที่ 12 Years a Slave ในด้านกำกับนั้น สตีฟ แม็กควีน ทำได้ดี มันคือการเอาลายเซ็นในงานเก่าๆ ของตัวเองมาโกแมสได้อย่างสวยงาม แต่ก็ไม่สามารถสู้หรือต่อรองอะไรกับงานกำกับของอัลฟองโซ กัวรอง ใน Gravity ได้ แต่ถ้ามององค์ประกอบด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ การแสดง มันทำงานด้วยกันเป็นอย่างดีจนทำให้ 12 Years a Slave กลายเป็นหนังดราม่าชั้นเยี่ยมที่มีองค์ประกอบใหม่ๆ จากรสมือของสตีฟ แม็กควีน ที่คนดูสัมผัสได้เลยในจอภาพยนตร์ ในขณะที่ Gravity ถ้าไม่อ่านเบื้องหลังการทำงานของผู้กำกับแล้ว เราจะไม่รู้เลยว่างานภาพมหัศจรรย์ที่ปรากฏตรงหน้าใช้ความลำบากในการสร้างอย่างยาวนาน และถ้าใครไม่ได้ติดตามประวัติศาสตร์การทำลองเทค ก็อาจจะไม่ซาบซึ้งกับความอุตสาหะของการลองเทคแบบใหม่ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งอาจทำให้ความแจ๋วของหนังเรื่องนี้หายไปหลายเปอร์เซนต์
ทั้งหมดนี้ทำให้หลายๆ ครั้ง ลิสต์ผู้กำกับผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออกมาไม่ค่อยสัมพันธ์กับหนังที่เข้าชิง แม้ว่าในรอบไฟนอลตัดสินผู้ชนะจะเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนโหวตผู้ชนะจากทุกสาขาได้ (ไม่จำกัดแค่ชาวผู้กำกับกันเองแล้ว) แต่บางทีผู้กำกับของหนังที่เราชอบมากๆ ก็ไม่มาอยู่ในลิสต์ให้โหวตเสียแล้ว, ก่อนของจะมาถึงมือให้โหวต มันก็ถูกคัดกรองมาก่อนรอบหนึ่งเรียบร้อย ดังนั้นผลผู้กำกับยอดเยี่ยมจึงมีความเป็นไปได้ที่จะไม่สัมพันธ์กันกับหนังยอดเยี่ยมเข้าไปอีก
อันที่จริง สิ่งนี้อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะถือเป็นการแยกองค์ประกอบการตัดสินที่อาจจะแฟร์กับทุกฝ่าย แถมถูกตัดสินจากคนในสาขาวิชาชีพตัวเองด้วย หนังบางเรื่องภาพรวมออกมายังไม่ดีมากหรือโคตรจะไม่บันเทิงผู้ชม แต่งานกำกับแบบนี้ไม่มีใครเคยกล้าทำมาก่อน ก็ควรได้รับการสนับสนุน หรือหนังบางเรื่องอาจจะดูงั้นๆ แต่ฟังเพลงประกอบทีไรน้ำตาไหลทุกที คนทำเพลงก็ควรได้รางวัลไป หรือหนังบางเรื่องโคตรจะดี แต่พอมองลึกๆ แล้วนี่มันเขียนบทและตัดต่อตามสูตรมากๆ แต่ถ้ามันออกมาดี ทีมโปรดิวเซอร์ก็ต้องได้รับการชื่นชมในการผสมสูตรนี้ให้ยังกลมกล่อมได้สำหรับคนดู ดังนั้นเราอาจจะต้องตัดสินกันในแต่ละองค์ประกอบไปเพื่อส่งเสริมคนทำงานในแต่ละสาขาจริงๆ
ข้อดีคือโลกเราจะได้ไม่มีหนังดีแบบเดียว ด้วยมาตรฐานเดียว ด้วยมุมมองเดียว รวมถึงเราอาจจะต้องปรับความเข้าใจของคำว่า Best Picture กันใหม่อีกสักที
หนังดีไม่ใช่ผีกำกับแน่นอน คนกำกับนี่แหละ เพียงแต่หนังที่ดีอาจจะไม่ได้พึ่งพาการกำกับแต่เพียงอย่างเดียว องค์ประกอบอื่นๆ ยังคงต้องรวมร่างมาช่วยกันให้กลายเป็นหนังยอดเยี่ยม (ภายใต้การนำทางของผู้กำกับ) หรือบางครั้งหนังดีนั้น อาจมีรีมาร์กเล็กๆ ว่าหนัง (กำกับ) ดี หนัง (การแสดง) ดี หนัง (ภาพสวย) ดี หนัง (บันทึกเสียง) ดี หรือหนัง (ธรรมดาแต่รวมๆ แล้วออกมา) ดี
สำคัญที่สุด หนังจะดีหรือไม่ดี best ไม่ best ก็ไม่ได้มีผลทำให้หนังเรื่องนั้นเป็นหนังดีสำหรับคุณ อันที่จริงคุณสามารถมอบรางวัลออสการ์ให้หนังเรื่องไหนก็ได้ด้วยตัวคุณเอง หนังอมตะคลาสสิกบางเรื่องก็ไม่ได้รางวัลออสการ์ ผู้กำกับปรมาจารย์บางคนไม่เคยได้เข้าชิงออสการ์ หรือเข้าชิงก็ไม่เคยชนะ แต่หนังของพวกเขายังมีชีวิตมาได้จนถึงวันนี้ แล้วเราจะไปเอาแน่เอานอนอะไรหรือเอาเป็นเอาตายอะไรกับคำว่า Best Picture ของเวทีรางวัลแห่งหนึ่ง
เพราะสุดท้ายหนังเรื่องไหนได้รางวัล Best Picture แต่คุณคิดว่ามันไม่ใช่ Best Picture มันก็ไม่ใช่ Best Picture อยู่ดี
ภาพประกอบ มงคล ศรีธนาวิโรจน์