บทที่หนึ่งถึงอนันต์​ของ Pier Nirandara จากนักเขียนไทยอายุน้อยที่สุดสู่พรมแดงในฮอลลีวูด

Highlights

  • เปี๊ยะ–แพรกานต์ นิรันดร คืออดีตนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนไทยที่มีอายุน้อยที่สุดเมื่อ 11 ปีที่แล้ว เธอมีผลงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษไตรภาคในชื่อ Interspecies Trilogy หรือ จักรภพพันธุ์มหัศจรรย์
  • นอกจากผลงานการเขียน ในชีวิตส่วนตัว เปี๊ยะมีโอกาสได้ทำงานในฮอลลีวูดในฐานะสะพานของคอนเทนต์ที่จะนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์
  • นี่เองคือความตั้งใจของเธอ เปี๊ยะอยากทำให้คอนเทนต์ของเอเชียและประเทศไทยได้ไปปรากฏกายในฮอลลีวูดบ้าง เพราะเธอเชื่อว่าศักยภาพของพวกเรานั้นเป็นไปได้แล้ว

การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยที่ผมกับ เปี๊ยะ– แพรกานต์ นิรันดร หรือ Pier Nirandara อยู่ห่างกัน 13,295 กิโลเมตร

ผมอยู่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เธออยู่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้ตัวอยู่ห่าง แต่ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้เราได้คุยกันผ่านหน้าจอโดยเห็นหน้าค่าตา ผมจึงได้ฟังเรื่องราวชีวิตของเปี๊ยะผ่านคำบอกเล่าพร้อมกับได้สัมผัสตัวตนของเธอไปด้วย

และความน่าสนใจในเส้นทางชีวิตของเปี๊ยะนี่เองคือประเด็นหลักที่นำผมมาสนทนากับเธอ

ตอนนี้เปี๊ยะอายุ 26 ปี เธอทำงานอยู่ในฮอลลีวูดในตำแหน่ง Vice President of Film & TV ของบริษัท A-Major Media และเป็นที่รู้จักในชื่อ Pier Nirandara

ก่อนหน้านี้ ในวัย 25 ปี เธอทำงานกับ Sony Pictures Ent. และเคยเดินพรมแดงเดียวกันกับ Brad Pitt และ Leonardo DiCaprio ในงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Once Upon A Time in Hollywood มาแล้ว 

ในวัย 20 ปี เรื่องสั้น ‘ฟ้า’ ของเธอมีชื่อเข้าชิงรางวัลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ (S.E.A. Write Award’s ASEAN Young Writers Award)

และในวัย 15 ปี เธอคือนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนอายุน้อยที่สุดที่มีผลงานซีรีส์หนังสือภาษาอังกฤษไตรภาคในชื่อ ‘Interspecies Trilogy ในนามปากกาว่า Pieretta Dawn 

จากนักอ่านและนักเขียนที่คำนำหน้ายังเป็น ด.ญ. สู่หญิงสาวที่ทำงานระดับโลกกับเหล่านักแสดงฮอลลีวูด ระหว่างทางเหล่านั้นเปี๊ยะทำได้ยังไง และเส้นทางชีวิตของเธอเป็นแบบไหน–เหล่านี้เองคือคำถามที่ผมเอ่ยถามเธอที่อยู่ห่างไปไกลครึ่งโลก

อย่าปล่อยให้คำนำยาวไปกว่านี้เลย 

บทแรกในชีวิตของเธอเริ่มต้นในบรรทัดต่อไป

 Pier Nirandara

บทที่ 1 : เวทมนตร์ของเด็กชายผู้รอดชีวิต

เด็กหญิงเปี๊ยะรู้จักโลกของหนังสือตั้งแต่ 6 ขวบ

คล้ายเด็กหลายคน ครอบครัวคือคนจุดประกายให้เธอสนใจในด้านนี้ พ่อของเปี๊ยะลงทุนซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมาจากออสเตรเลียด้วยหวังให้ลูกคุ้นเคยกับการอ่าน

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Harry Potter and The Philosopher’s Stone 

“คุณพ่อคุณแม่เริ่มจากการอ่านให้เราฟัง” เปี๊ยะเล่าถึงก้าวแรกของตัวเอง

“ในตอนนั้นคล้ายๆ กับว่าเขาตั้งใจให้เราเรียนภาษาไปพร้อมกับการอ่านหนังสือ แต่กลายเป็นว่าในแง่เรื่องราว แฮร์รี่ พอตเตอร์ กระตุ้นให้เราอินมากจนมีแค่เล่มแรกเล่มเดียวที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง หลังจากนั้นเราหาแฮร์รี่ ภาคต่อมาอ่านเองหมดแม้ยังไม่มีเวอร์ชั่นภาษาไทย

“ตอนนั้น แฮร์รี่ พอตเตอร์ แสดงให้เราเห็นว่าหนังสือหนาๆ ไม่ใช่แค่สำหรับผู้ใหญ่อย่างเดียว และยิ่งเราเปิดอ่าน เรายิ่งได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ของชีวิตตลอดเวลา หนังสือจึงกลายเป็นเวทมนตร์ที่เราสัมผัสได้ทุกครั้ง เรากลายเป็นคนรักการอ่านตั้งแต่ตอนนั้นเอง”

“แล้วจากนักอ่านกลายมาเป็นนักเขียนได้ยังไง” 

“เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่า ‘ฉันอยากเข้าไปอยู่ในโลกนี้มาก!’ ระหว่างการอ่านแฮร์รี่นี่แหละ”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักอ่านอยากเป็นนักเขียน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เปี๊ยะโดดเด่นออกมาจากนักเขียนคนอื่นในเวลานั้นคงเป็นเรื่องของวัยและภาษา 

ในวัย 15 ปีที่บ่มเพาะการอ่านมาครึ่งชีวิต เปี๊ยะเริ่มเขียนเรื่องราวจากจินตนาการให้คนรอบตัวอ่านเป็นภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าเธอใช้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นแรงบันดาลใจ แต่เธอก็สารภาพว่าในตอนแรกไม่ได้คาดหวังอะไร เธอเขียนเพราะอยากเขียนและระบายความรู้สึกเท่านั้น 

“เราเขียนเพื่อตัวเอง เราเขียนเพราะรู้สึกว่าอยากสร้างโลกแบบแฮร์รี่ให้คนอื่นเหมือนกัน อีกอย่างคือเราอยากแสดงแทรกไอเดียว่าโลกนี้มีคนหลายประเภทลงไปด้วย เพราะตอนอ่านแฮร์รี่ เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่มีตัวละครเอเชียเลยยกเว้นโช แชง ต่างกับชีวิตจริงที่เจอมา เราเรียนโรงเรียนอินเตอร์มาตั้งแต่เด็ก ทุกคนที่เรารู้จักจึงมาจากทั่วโลก ดังนั้นเราถึงอยากเสริมตรงนี้ลงไป สุดท้ายนิยายของเราอย่าง Interspecies Trilogy จึงมีทั้งนางเงือก เอลฟ์ และพรายทะเล เพราะเราอยากให้เรื่องนี้เป็นตัวแทนความหลากหลายของมนุษย์”

“จากไม่ได้คาดหวังอะไร คุณเริ่มจริงจังตอนไหน” ผมสงสัย

“คนรอบตัวเริ่มติด (หัวเราะ) พอติดเยอะเข้าก็เริ่มคิดจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ

“ด้วยความที่ไม่รู้จักใครในวงการ ถ้าพูดถึงสำนักพิมพ์วรรณกรรมเยาวชน เรานึกถึงนานมีอยู่แล้วเพราะพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เราเลยส่งงานของตัวเองไปและโทรไปตื๊อเขาเรื่อยๆ ว่าอ่านหรือยัง

“สุดท้ายเขาโทรกลับมาบอกเราว่าอยากเจอ”

 Pier Nirandara

บทที่ 2 : ตำรานักเขียนว่าด้วยนักเขียน

“เขียนเองหรือเปล่า”

ด้วยคุณภาพของผลงาน ภาษาที่ใช้และอายุในประวัติ เมื่อแรกเจอนานมี นี่จึงเป็นคำถามแรกที่เปี๊ยะได้รับ

“ไม่แปลกที่เขาไม่เชื่อว่าเราเขียน เพราะในตอนนั้นไม่เคยมีเด็กที่เขียนนิยายภาษาอังกฤษหนาขนาดนั้นมาก่อน แต่หลังจากตอบไปว่าเราเขียน และคุยกันไม่นาน นานมีก็บอกว่าอยากพิมพ์งานของเรา”

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น วรรณกรรมเยาวชนในซีรีส์ Interspecies Trilogy (แปลไทย ‘จักรภพพันธุ์มหัศจรรย์’) ในตอนแรกที่ชื่อว่า The Mermaid Apprentices (แปลไทย ผจญภัยในแดนเงือก) ตีพิมพ์ออกมา และได้รับความนิยมในทันที ด้วยกระแสตื่นตัวของวรรณกรรมบวกกับความโดดเด่นของเปี๊ยะในตอนนั้น แวดวงหนังสือต่างรู้จักเธอในนาม ‘Pieretta Dawn’ เด็กสาวผู้เป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดในประเทศอย่างรวดเร็ว

“ไม่เคยคิดฝันเลยว่าจะได้มีผลงานออกมาแบบนั้น” เธอเล่าให้ผมฟังพร้อมรอยยิ้ม

จากอายุ 15 ปีในตอนแรกเริ่ม วรรณกรรมเล่มที่สองในซีรีส์อย่าง The Nymph Treasury (แปลไทย ขุมสมบัติพรายทะเล) ก็ปล่อยออกมาตอนที่เธออายุ 17 ปี และเล่มที่สามอย่าง The Elven Ambassador (แปลไทย ไขปริศนาเมืองเอลฟ์) ก็ปิดไตรภาคตอนเธออายุ 23 ปี นอกจากผลงานเขียน การเป็นนักเขียนอายุน้อยที่สุดยังพาให้เธอไปปรากฏตัวตามงานมากมายทั่วประเทศไทยรวมถึงการมีพื้นที่บนหน้าสื่อทั้งโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ 

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนทำให้เธอเติบโตจนผูกพันกับหนังสือจนส่งผลต่อรอยต่อช่วงหนึ่งของชีวิต

“ช่วงมหาวิทยาลัยเราเรียนเกี่ยวกับด้านจิตวิทยาที่อเมริกา แต่ช่วงที่ต้องฝึกงาน เราเลือกขอฝึกงานกับเอเจนซีที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักเขียนในการขายลิขสิทธิ์กับสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ พูดง่ายๆ คืองานที่ช่วยให้หนังสือกลายเป็นหนัง

“ในอเมริกา หนังสือกับภาพยนตร์นั้นคาบเกี่ยวกันเยอะมาก แต่ในความเห็นเรา เราว่างานตรงนี้มีคนเอเชียน้อยเกินไป นั่นทำให้หนังสือหรือวรรณกรรมจากเอเชียตีตลาดฮอลลีวูดไม่ค่อยแตก ดังนั้นเราถึงอยากเข้ามาช่วยนักเขียนที่มาจากเอเชียหรือไทย เราอยากช่วยคนที่มีความฝันเหมือนกับเรา คนที่ฝันเห็นหนังสือของตัวเองกลายเป็นหนัง

“เราฝึกงานที่นี่จนได้ทำงานประจำ จนเมื่อปีที่แล้วเราก็ได้ย้ายมาทำงานกับ Sony Pictures Entertainment”

 Pier Nirandara

บทที่ 3 : ฮอลลีวูด

ชื่อตำแหน่งยาวเฟื้อยของเปี๊ยะเมื่อทำงานอยู่กับ SONY คือ Director of Development, International Content

พูดอย่างเข้าใจง่าย เนื้องานที่เธอทำนั้นไม่ได้ต่างกับงานเดิม เพียงแค่เปลี่ยนฝั่งจากการเป็นเอเจนต์ของนักเขียน กลายเป็นคนของฝ่ายสตูดิโอแทน เธอมีหน้าที่คอยอ่านบทและหนังสือจากต่างประเทศเพื่อหาเรื่องราวที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพพอจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้

“ฟังคร่าวๆ เหมือนงานหลักของคุณคือการอ่านหนังสือ ดังนั้นถือเป็นงานที่ยากไหม เพราะคุณก็เป็นนักอ่านอยู่แล้ว” ผมเอ่ยถามตามที่ตัวเองสงสัย

“ยากมากค่ะ” เปี๊ยะตอบผมทันทีพร้อมรอยยิ้มก่อนอธิบายต่อ

“ในแง่หนึ่ง เราว่าตัวเองโชคดีมากที่การอ่านหนังสือกลายเป็นงาน เราพูดกับเพื่อนตลอดว่าไม่อยากเชื่อเลยว่าจะมีคนจ้างเรามาอ่านหนังสือทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเราอ่านอยู่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่เรารักอะไรแล้วมันกลายเป็นงาน เวทมนตร์มันจะสูญเสียไปนิดหน่อย เราว่าคงเป็นเหมือนเหรียญสองด้านนั่นแหละ แต่โดยรวมเรายังถือว่าตัวเองโชคดีนะ”

“จากการอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาสู่การเป็นสะพานเชื่อมนักเขียนและสตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูด คุณว่าตัวเองเดินทางมาไกลไหม” ผมโยนคำถามให้เปี๊ยะ

“ไกลมาก บางทีก็ไม่อยากเชื่อเลย แต่เราคิดว่านั่นแหละคือเหตุผลให้เราตั้งใจทำงาน ไม่ทำแบบขอไปทีเพราะเราเข้ามาด้วยตัวเอง มันไม่มีอะไรง่าย ดังนั้นเราต้องตั้งใจให้คนอื่นเห็นว่าเรายังเข้ามาได้ คนไทยคนอื่นก็สามารถเข้ามาได้เหมือนกัน”

เมื่อปีที่แล้ว หน้าที่การงานเปิดโอกาสให้เปี๊ยะได้ไปร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์ของ Sony Pictures Entertainment อยู่หลายเรื่อง เช่น Once Upon A Time in Hollywood ที่เธอได้ร่วมพรมแดงกับ Brad Pitt และ Leonardo DiCaprio หรือเรื่อง Bad Boys for Life ที่เธอได้เห็นนักแสดงที่ชื่นชอบอย่าง Will Smith ตัวเป็นๆ ประสบการณ์ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เธอตกตะกอนกลายเป็นความตั้งใจในปัจจุบัน

“การได้เดินพรมแดงกับคนดังเหล่านี้ สำหรับเรามันบ้ามาก แต่มันยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากเป็นสะพาน 

“เราเชื่อว่าด้วยคุณภาพและฝีมือตอนนี้ คนไทยสามารถโกอินเตอร์มาฮอลลีวูดได้นะ ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์​ Bad Genius (ฉลาดเกมส์โกง) เราได้ทำงานกับบริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์หนังเรื่องนี้เข้ามา ดังนั้นในมุมเรา สามารถพูดได้เลยว่าโอกาสของประเทศมาถึงแล้ว ยิ่งตอนนี้มีหลายแพลตฟอร์ม ความต้องการคอนเทนต์ก็มีสูงขึ้นมาก เราเชื่อว่านี่แหละคือโอกาสที่ดีมากจริงๆ สำหรับเรา“

“ได้เป็นทั้งนักเขียนและทำงานในฮอลลีวูด ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รักไหม และมันเป็นความสุขหรือเปล่า” ผมถามให้เปี๊ยะสรุปความ

เธอยิ้มอีกครั้ง ก่อนเอ่ยคำตอบที่เป็นการปิดบทสนทนา

“เราชอบเปรียบเทียบการทำงานเหมือนการวิ่งเทรดมิลล์ ตอนวิ่งเราเกลียดมาก เหนื่อยมาก เซ็งมาก ทำไมงานถึงยากและทรมานขนาดนี้ แต่เชื่อไหมว่าพอเขียนเสร็จหรือได้ส่งต่อเรื่องไหนให้กลายเป็นภาพยนตร์ได้สำเร็จ มันเป็นความสุขเสมอ มันคือความรู้สึกดีที่ได้ทำอะไรดีๆ เป็นความสุขที่ได้เป็นสะพานให้คนที่มีความฝันเหมือนเรา

“และเราคงทำแบบนี้ต่อไปไม่ว่าข้างหน้าจะไปทางไหน”

 Pier Nirandara

บทที่ 4 : การเดินทางครั้งใหม่

อาจเรียกว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ว่าได้ เพราะระหว่างเขียนบทความนี้ ผมนึกสงสัยเข้าไปเช็กความเคลื่อนไหวของเปี๊ยะในโซเชียลพอดี

ตอนนั้นเองที่ผมได้เห็นว่าเธอเปลี่ยนงานแล้ว

เพราะเหตุนี้เอง ผมจึงส่งอีเมลไปสอบถามเธอถึงงานในปัจจุบัน อย่างแรกคงเพื่อจะได้อัพเดตความเป็นไป แต่อีกอย่างคือผมอยากรู้ว่าเธอยังคงยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเคยกล่าวไว้ไหม

และนี่คือคำตอบของเธอ 

Hi !

Yes, I just started a new job. I’m the new Vice President of Film & TV for A-Major Media. It’s a production company focused on telling Asian/Asian-American stories in Hollywood. Like Crazy Rich Asians, The Farewell, Searching, To All The Boys I’ve Loved Before, Joy Luck Club, etc. It’s a super exciting job and a fantastic opportunity in this time!.

“Here is the official company blurb: A-Major Media is a film and television production company that’s dedicated to championing Asian-American voices. Working with the industry’s established and emerging talent, we strive for compelling and entertaining stories that come from an Asian-American perspective while still being universal.”

ดูเหมือนว่าบทชีวิตต่อไปกำลังรอเธออยู่แล้ว

AUTHOR