#NeverAgain : เมื่อเด็กรุ่นใหม่สั่นสะเทือนรัฐบาลด้วยโลกออนไลน์

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นวันที่เด็กหนุ่มสาวมีความสุขกับเทศกาลวันแห่งความรัก แต่ที่ Marjory Stoneman Doughlas High School ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา กลับไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อมีเด็กหนุ่มวัย 19 ปีนั่งรถอูเบอร์มาที่โรงเรียนตอนบ่ายและใช้ปืนที่ตัวเองซื้อมาอย่างถูกต้องกราดยิงคนในโรงเรียนจนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 17 คน

หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปสองวัน หนึ่งในนักเรียนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นเริ่มถ่ายทอดสดผ่านแอพพลิเคชัน Periscope ของ Twitter และถามคนอื่นๆ ในโรงเรียนถึงชีวิตหลังเหตุการณ์ดังกล่าว จนเริ่มมีการพูดถึงกันในกลุ่มนักเรียนและคนที่ดูการถ่ายทอดนั้นว่า

“จงพูดต่อไป และสร้างการเปลี่ยนแปลงซะ”

หลังจากนั้น เหล่านักเรียนจำนวนมากก็เริ่มเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ จัดตั้งกลุ่ม Never Again MSD และสร้างแคมเปญบนโซเชียลมีเดียผ่านการใช้แฮชแท็ก #NeverAgain ก่อนที่มันจะกลายเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่พาคนทุกเพศทุกวัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมเพื่อผลักดันกฏหมายป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้อาวุธปืน

นี่คือการต่อสู้ของกลุ่มคนที่นำโดยนักเรียน เด็กและเยาวชน เพื่อต่อสู้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่ามีผลประโยชน์ในด้านการเมืองอย่าง The Nationa Rifle Association (NRA) และการต่อสู้ครั้งนี้น่าติดตามชนิดที่ CNN ถึงกับเรียกว่ามันคือฝันร้ายที่สุดของ NRA เลยก็ว่าได้

อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้?

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กราดยิงโดยตรงคือตัวนักเรียนเอง ซึ่งในวันนี้พวกเขาคือคนกลุ่ม Digital Native ที่รู้จักและเข้าใจการสื่อสารและการขับเคลื่อนสังคมบนโลกออนไลน์เป็นอย่างดี ถึง Cameron Kasky, Emma Gonzalez และ David Hogg จะยังเรียนไม่จบแต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของพวกเขา เพราะพวกเขารู้ดีด้วยซ้ำว่าสื่อออนไลน์สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างไร

หลังจากตั้งกลุ่ม แฮชแท็กในทวิตเตอร์ของ #NeverAgain ก็มีการทวีตข้อความอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่มาวิจารณ์ต่อต้าน หรือแม้กระทั่งส่งข้อความตรงไปถึง โดนัลด์ ทรัมป์ และนักการเมือง ข้อความมากมายถูกส่งต่อกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็วในระยะเวลานั้น แถมข้อความเหล่านั้นไม่ได้มาจากผู้ใหญ่หรือองค์กรที่เป็นทางการ หากแต่เป็นข้อความที่มาจากเด็กวัยรุ่นที่ประสบเหตุผู้เต็มไปด้วยความรู้สึกอย่างแท้จริงต่อเหตุการณ์

ภายใน 4 วัน พวกเขาสามารถระดมทุนได้มากถึง 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจะชุมนุมและเดินเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ และยังได้รับการสนับสนุนจากคนดังมากมายไม่ว่าจะเป็นโอปราฟ์ วินฟรีย์ หรือสตีเว่น สปีลเบิร์ก ที่จะร่วมบริจาคเพิ่มให้อีก

ความน่าสนใจคือ #NeverAgain ไม่ใช่แค่แคมเปญที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแค่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เฉยๆ แต่กำลังกลายเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมครั้งใหญ่ชนิดที่จะสั่นสะเทือนรัฐบาล นักการเมือง องค์กร ตลอดไปจนถึงกระบวนการออกกฎหมายต่างๆ ที่ทำโดย ‘ผู้ใหญ่’

แล้วอะไรที่ทำให้ #NeverAgain ถึงสร้างปรากฏการณ์อย่างนี้ได้แม้ว่าคนก่อตั้งและคนที่ขับเคลื่อนอยู่ยังเป็นเพียงนักเรียนด้วยซ้ำ?

ส่วนหนึ่งก็คงเพราะเหล่าเยาวชนเหล่านี้รู้จักโซเชียลมีเดียดีกว่าใครๆ พวกเขารู้วิธีบริหารจัดการ การใช้สื่อ การสร้างกระแส การสร้างคอนเทนต์ ฯลฯ และเมื่อเหล่าเยาวชนเหล่านี้รวมพลังกัน #NeverAgain อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่มากๆ บนโลกออนไลน์ก็ได้

แต่เหนืออื่นใดแล้ว แรงผลักดันสำคัญก็คงเพราะพวกเขายังเป็นเยาวชนอยู่ด้วยนั่นแหละ

เยาวชนที่รู้ดีว่าเขาจะเติบโตขึ้นมาในประเทศนั้นๆ ซึ่งพวกเขาคงไม่ต้องการให้บ้านของเขาเป็นบ้านที่ไม่น่าอยู่ เช่นเดียวกับที่พวกเขาคงไม่อาจจะรอให้ผู้ใหญ่มากำหนดชะตาชีวิตของบ้านในอนาคต แถมผู้ใหญ่เหล่านั้นก็ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ซึ่งพวกเขาไม่อยากจะรอฮีโร่หรืออัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยแก้ไขตาม ‘ระบบ’ ของผู้ใหญ่

และนั่นทำให้พวกเขาลุกขึ้นมา ‘เปลี่ยนแปลง’ ด้วยมือของพวกเขาเอง

Twitter l #NeverAgain

ภาพ vice.com, people.com, nydailynews.com, usatoday.com

AUTHOR