“ความโกรธและหดหู่ขับเคลื่อนให้เราอยากแก้ปัญหา” แซก ศุภวุฒิ เยาวรุ่นผู้ร่วมก่อตั้ง YACM

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แซก–ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม กำลังจะเริ่มต้นชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย 

แม้ยังไม่ทราบว่าจะได้เรียนทางด้านจิตวิทยาอย่างที่ตั้งใจหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่จะส่งผลต่ออนาคตของเยาวรุ่นวัย 17 ปีคนนี้แน่

แต่ก่อนจะไปถึงอนาคตที่แซกเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เมื่อหันไปมองสถานการณ์บ้านเมืองรอบตัวในปัจจุบัน เราเห็นอะไรบ้าง

เราเห็นสังคมที่ไม่เท่าเทียมโดยผู้มีอำนาจที่หรี่ไฟของประชาธิปไตยจนแทบจะมอดดับ

เราเห็นสังคมฟอนเฟะที่คนรุ่นใหม่แทบหมดสิ้นความหวังจนอยากย้ายหนีออกจากประเทศ

เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้โคตรจะยากเพราะซ้อนทับเกี่ยวพันกันมั่วไปหมด

ฯลฯ

เราเห็นปัญหามากมายก่ายกองขนาดนี้ ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ใครหลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะเริ่มกังวลใจเกี่ยวกับอนาคต เพราะพวกเขาก็เห็นสิ่งเดียวกัน 

แซกเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่ที่ต่างออกไปคือ เพราะ ‘เห็น’ นี่แหละที่ทำให้อีกด้านของชีวิตเขากำลังพยายามทำบางอย่างอยู่

YACM

ในอีกบทบาทหนึ่งนอกจากการศึกษา แซกคือผู้ร่วมก่อตั้ง YACM หรือ Youth Assembly for Change Making องค์กรที่ทำงานเป็น ‘ตัวกลาง’ ให้เด็กและเยาวชนที่สนใจงานเพื่อสังคมได้เจอโอกาสในการทดลองทำงาน โดย YACM จะทำหน้าที่ทั้งเป็น connection connecter คือพาคนที่สนใจไปเจอกับองค์กรต่างๆ พร้อมยื่นโอกาสฝึกงานให้ และยังเป็น moderator จัดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อพาทั้งสองฝั่งมาเจอกันด้วย

ซึ่งในปัจจุบัน ประเด็นสังคมที่ YACM พยายามเข้ามาเป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรกับคนรุ่นใหม่แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น นั่นคือปัญหาสุขภาพจิต ความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน

แน่ล่ะ สิ่งที่แซกกำลังทำนี้เองคือที่มาที่ทำให้เรานัดหมายสนทนากับเขา เพราะด้วยขอบเขตงานและจุดมุ่งหมายของ YACM เราอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรทำให้แซกในวัย 17 ปีเริ่มต้นและทำสิ่งนี้

แต่ในภาพรวมใหญ่กว่านั้น เราก็สนใจในแง่มุมของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเพื่อสังคมเช่นกัน ว่ากับสังคมที่ดำเนินไปอย่างไม่ปกติ เขามองมันด้วยสายตาแบบไหนยังไง อะไรคือสิ่งที่เห็น และท้ายที่สุด แซกยังมีความหวังในอนาคตที่จะเป็นของคนรุ่นเขาหรือเปล่า

ใช่ เราคุยกันด้วยห้วงคิดคำนึงถึงปัจจุบันที่อาจเทาหม่นและดำมืดไปสักหน่อย

แต่เราก็หวังว่าถ้อยคำของคนรุ่นใหม่คนหนึ่งต่อไปนี้ 

จะสร้างแสงสว่างแห่งความหวังน้อยๆ ขึ้นมาบ้างก็ยังดี

YACM

YACM เกิดขึ้นมาได้ยังไง

พื้นฐานผมเป็นเด็กกิจกรรมครับ ไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบทำนู่นนี่ อย่างก่อนหน้านี้ก็ทำเพจเพื่อเป็นช่องทางให้เยาวชนได้สื่อสารเรื่องต่างๆ บ้าง แต่ช่วงไม่กี่ปีหลัง พอได้ทำงานมากขึ้นอย่างการไปอยู่ในสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ หรือการได้ไปร่วมงานกับองค์กรการศึกษาอย่าง Saturday School ในตำแหน่ง project coordinator ประสบการณ์เหล่านี้ก็ทำให้ผมเริ่มรู้ว่าตัวเองอินกับงานประสานเบื้องหลังและงานเพื่อสังคม เลยร่วมกับเพื่อนก่อตั้ง YACM ขึ้นมา

ปัจจุบัน YACM ทำอะไรบ้าง

ตอนนี้ YACM มีทีมงาน 3 คน คือผม เมนู (สุพิชฌาย์ ชัยลอม) และมิน (วิชญาดา ชำนาญศิลป์) จุดประสงค์ขององค์กรคือการเป็น connection connector เชื่อมหน่วยงานเพื่อสังคมกับเด็กที่อยากเริ่มต้นทำงานเพื่อสังคม ซึ่งเรื่องนี้มาจาก pain point ที่เราไปเจอว่าเด็กหลายคนอยากทำงานด้านนี้แต่ไม่รู้ว่ามีพื้นที่ไหนที่เปิดรับ เราเลยอยากเข้าไปเป็นตัวเชื่อมตรงนั้นเพื่อให้เด็กที่สนใจเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น

YACM

อย่างแผนงานในเดือนหน้าที่ถ้าไม่ติดโควิดไปซะก่อน (หัวเราะ) เราจะมีอีเวนต์ชื่อว่า ‘Social Connect for Youth’ ที่ทาง YACM ร่วมกับทาง สสส. ในการพาเยาวชนที่สนใจทำงานเพื่อสังคมมาเรียนรู้และรู้จักกับพี่ๆ ที่ทำงานเพื่อสังคมใน 5 ประเด็น คือ สุขภาพจิต ความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน โดยรูปแบบงานจะคล้ายๆ กับคลาสการทำงานเพื่อสังคม 101 คือน้องๆ จะได้มาลองศึกษาและทำงานกับคนที่ทำงานจริงๆ เลย

YACM

ความสุขของการทำสิ่งเหล่านี้คืออะไร เพราะถ้าว่ากันตามตรง มันเป็นงานท่ีคุณยังไม่ต้องทำเต็มตัวก็ได้เพราะต้องเรียนไปด้วย

ผมว่ามันเป็นเพราะพอทำแล้วผมรับรู้ได้ถึงคุณค่าในตัวเอง เหมือนรู้สึกได้ว่านี่แหละคือตัวเรา จะใช้คำว่าอิคิไกก็ได้ ถึงจะวัดผลได้ไม่แน่ชัด แต่เวลาได้ทำงานที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในการทำงานเพื่อสังคม ผมมีความสุข และผมก็ไม่อยากเห็นภาพที่เด็กต้องถูกบังคับไปปลูกป่าหรือเก็บขยะทั้งที่เขามีความสามารถมากกว่านั้น

ค้นพบคุณค่านี้ได้ยังไง

(นิ่งคิด) น่าจะเริ่มช่วงมัธยมฯ ปลาย ผมก็คล้ายกับเด็กทั่วไปที่ทะเลาะกับที่บ้านเพราะรู้สึกว่าป๊ากับม้าไม่ค่อยเข้าใจในความเป็นเรา และพออยู่ในครอบครัวคนจีน เป็นลูกคนที่ 2 จาก 5 คน เวลาทำอะไรเขาก็หวังจะเห็นผลที่ออกมาเป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราอยากทำซึ่งอาจวัดผลไม่ได้แบบนั้น สภาพแวดล้อมเลยทำให้ตั้งคำถามว่าผมจะเป็นตัวเองไม่ได้เลยเหรอ

จากตรงนั้นเหมือนผมก็เริ่มหาเพื่อน หาเวิร์กช็อปเพื่อหาคำตอบ เลยเป็นช่วงที่ทำกิจกรรมเยอะมาก และความชอบมันก็พาถลำลึกจนเจอคุณค่าตรงนี้ ซึ่งมันกลับไปสะท้อนเรื่องเดิมคือผมไม่อยากให้ใครเจอแบบตัวเอง ผมอยากให้เด็กได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ดังนั้นถ้าเขาอยากทำงานเพื่อสังคมแต่ไม่มีโอกาส ผมก็จะช่วย

YACM

จากงานตรงนี้ คุณเห็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานเพื่อสังคมมากน้อยขนาดไหน

ในแง่จำนวนผมว่าพุ่งสูงมาก มันเป็นไปตามงานวิจัยเลย ที่บอกว่าเจนฯ Z จะเป็นเจเนอเรชั่นที่มี social awareness เมื่อเขาเห็นปัญหาเขาก็อยากแก้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทยนะ แต่เป็นทั่วโลก

แต่ถ้าถามลึกลงไปว่าทำไม ผมว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนเจนฯ Z มีความรู้สึกว่า ‘ตัวเองมีดีบางอย่าง’ พอเขาคิดแบบนี้ผสมกับปัญหาที่เห็น เขาก็อยากเอาสิ่งที่ ‘ดี’ ของตัวเองไปให้กับสังคม เขาอยากให้จุดเด่นของเขาไปเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น มากกว่าการดูว่าสังคมอยากได้อะไรแล้วค่อยทำ ตรงนี้เองคือจุดที่ผมคิดว่าทำให้เด็กยุคนี้สนใจงานเพื่อสังคมในแง่มุมที่แตกต่างจากยุคอุตสาหกรรม แต่มันก็ตามมาด้วยการที่หลายคนมองไม่เห็นช่องว่างบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างคนที่เข้าไปใหม่กับระบบที่อยู่มานาน ซึ่งตรงนี้แหละคือสิ่งที่ผมเข้าไปช่วย

การเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สนใจงานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มันส่งผลยังไงต่อคุณ

มันทำให้ผมมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำและเห็นความหวังในอนาคตมากขึ้นเยอะ ถึงวัยเราอาจจะยังขาดประสบการณ์ แต่ตอนนี้เรามีอุดมการณ์ที่เต็มเปี่ยมและกำลังพยายามทำความเข้าใจเพื่อเรียนรู้ know-how ในการแก้ปัญหาบางอย่างให้ได้ และผมว่านี่คือสิ่งสำคัญในการพัฒนา

YACM

คุณมองกระแสสังคมที่คนรุ่นใหม่ออกมาพูดและพยายามแก้ไขปัญหาว่ายังไงบ้าง ยกตัวอย่างเช่นการที่คนรุ่นราวคราวเดียวกับคุณไปม็อบ

ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่คนที่ไปม็อบ เพราะพ่อแม่ไม่ให้ไป แต่ผมก็เข้าใจในมุมของเด็กที่ไปม็อบ นั่นคือความตั้งใจในการทำเพื่อสังคมของเขา เพราะในเมื่อเขาไม่รู้ว่าตัวเองสามารถทำหรือพูดอะไรในสังคมได้ พอมีม็อบเป็นช่องทาง เขาก็ไป และที่ส่วนใหญ่พูดเรื่องการศึกษา นั่นก็เพราะว่ามันเป็นปัญหารอบตัวที่เขาเจอ ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ผิดเลย แต่ในอีกมุมผมคิดว่าการแก้ปัญหาใหญ่ๆ ยังต้องการคนรุ่นใหม่ในอีกหลายมุม ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ผมอยากนำเสนอในตอนนี้

ตอนที่ผมตั้ง YACM มีทฤษฎีหนึ่งที่เราผูกไว้กับองค์กรคือ The Four Roles of Social Change ทฤษฎีนี้อธิบายไว้ว่าเวลาเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ ในสังคม เราจำเป็นต้องมี 4 บทบาท ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การแก้ปัญหาเหตุการณ์น้ำท่วม

บทบาทแรกที่ต้องมีเลยคือ helper เปรียบเทียบคือคนที่ตะโกนบอกทุกคนให้หนีน้ำหรือเอาถุงยังชีพมาแจก

บทบาทที่ 2 คือ advocate หรือคนที่จะคอยออกนโยบายส่วนกลางเพื่อแก้ไขไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น

บทบาทที่ 3 คือ rebel คือคนที่คอยบอกสังคมให้รู้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นเรื่องผิดปกติ พูดง่ายๆ คือม็อบหรือเวทีปราศรัยนั่นเอง

และบทบาทที่ 4 คือ organiser คือคนที่จับทุกคนทุกตำแหน่งมาหาทางทำงานร่วมกันให้ได้ เพราะในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ยากมากที่คนทำงานนั่งโต๊ะจะมาคุยกับแกนนำ

ผมคิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่ได้รู้สิ่งนี้จะมีประโยชน์มาก เพราะมันจะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็เป็นแอ็กทิวิสต์ได้ผ่านบทบาทต่างๆ ที่ตัวเองถนัด ทุกคนจะสามารถขับเคลื่อนสังคมได้และเคารพในบทบาทอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย

ฟังดูแล้วเหมือนคุณมองตัวเองเป็นออร์แกไนเซอร์

ณ ตอนนี้คือใช่ครับ ชัดเจนมาก แต่อย่างหนึ่งที่ต้องย้ำคือบทบาทนี้ไม่ใช่ personality มันไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องอยู่ในบทบาทนั้นในการขับเคลื่อนสังคมตลอดเวลา คุณเป็นทั้ง 4 บทบาทก็ยังได้ อย่างที่มูลนิธิกระจกเงาทำ หรืออย่างเมนูที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีทางการเมืองบ่อยๆ ช่วงนั้นก็ชัดเจนว่าเมนูเป็น rebel แต่ช่วงหลังๆ พอเมนูรู้จักคนมากขึ้น เมนูก็บอกผมว่าจะเปลี่ยนสายมาเป็น organiser มากกว่าแล้ว สรุปคือคุณไม่จำเป็นต้องเป็นบทบาทเดียวตลอด เพราะความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากแค่บทบาทเดียวด้วย

คุณคิดเห็นยังไงกับการที่ผู้ใหญ่บางคนอาจบอกคุณว่า ‘ปัญหาในสังคมหลายๆ อย่างมีตั้งนานแล้ว คนรุ่นใหม่แก้ไขไม่ได้หรอก’

ถ้ายึดตามที่เขาพูดก็ถือว่าเขาพูดถูกครับ หลายปัญหามีนานแล้วจริง และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย แต่ในความคิดผมคือ ในเมื่อมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็ไปแก้ที่โครงสร้าง ก็ต้องคิดต่อว่าจะต้องแก้ยังไง แต่ละคนจะเล่นบทบาทไหน หลังจากนั้นก็รวมคนที่เห็นปัญหาเดียวกันนี้เป็นเครือข่ายเพื่อให้รัฐเห็น แล้วก็ลงมือแก้ ไม่ได้รู้สึกว่าทำไม่ได้

ไม่ได้มองว่าปัญหาใหญ่ๆ เหล่านั้นคือเรื่องที่ยากเกินไปใช่ไหม

ยากสิครับ ยากมากด้วย และแต่ละปัญหาก็อาจใช้เวลานานมากๆ ในการแก้ไข แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือลงมือทำ วางกลยุทธ์ และหาเครือข่ายเพื่อผลักดันทุกอย่างไปพร้อมกัน

คุณเคยตั้งคำถามว่าทำไมเด็ก ม.ปลายอย่างคุณถึงต้องมาคิดและทำอะไรแบบนี้ด้วย ทั้งที่หลายอย่างเหมือนเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่

(นิ่งคิด) ผมเคยคุยกับเมนูนะว่าถ้าทุกอย่างในสังคมมันดี จริงๆ แล้วสังคมนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวตนของเราแบบตอนนี้ก็ได้ นี่เราทำอะไรกันอยู่ ไม่ใช่หน้าที่เราด้วยซ้ำ แต่พอคุยกันไปมา เราก็เห็นตรงกันว่า ‘เออ ก็เราไม่มีทางเลือกนี่หว่า’ (หัวเราะ) ก็ในเมื่อเราเป็นคนที่เห็นปัญหาและอยากแก้ไข เราก็ทำ แค่นั้นเอง มันคือความจริงว่านี่คือตัวเราในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นถ้าอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ ทุกคนมีสิทธิตัดสินใจในชีวิตตัวเองอยู่แล้ว

เหนื่อยไหมกับการเป็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นปัญหา ท่ามกลางผู้ใหญ่โดยรอบที่อาจจะไม่เห็น

เหนื่อยอยู่แล้วครับ แต่ก็อย่างที่บอกว่าสำหรับผมทั้งหมดนี้มันตอบคุณค่าในตัวผม และผมก็มองว่ากับคนที่เห็นต่าง เราก็มีหน้าที่ในการอธิบายให้เขาเข้าใจว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพราะอะไร ไม่ใช่วางเฉย แต่ถ้าสุดท้ายคนเหล่านั้นปิดกั้นโอกาสไม่ให้เราทำสิ่งที่อยากทำ ผมว่าก็แค่ไปหาคนอื่นที่ทำให้เราได้ทำสิ่งนั้นก็เท่านั้น

อย่างช่วงนี้ที่มีกระแสการย้ายประเทศโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คุณรู้สึกยังไงบ้าง

ผมว่าประเด็นนี้ละเอียดอ่อนครับ ในมุมหนึ่งผมก็เข้าใจคนที่อยากย้าย เขากำลังสูญเสียความมั่นใจในตัวผู้มีอำนาจอย่างรัฐบาล และเขาก็ไม่เห็นแนวทางในอนาคตของตัวเองแล้ว ถ้าไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้วว่าจะส่งผลดีต่อชีวิตมากกว่า ผมว่าย้ายประเทศก็ดี คนเราควรเลือกทางที่ทำให้ตัวเองมีคุณค่ามากที่สุด

แต่ถ้าถามผม โดยส่วนตัวผมคิดว่าตัวเองยังพอมีเวลาและแนวทาง ผมยังพอเห็นทางที่จะทำงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศนี้ดีขึ้น ผมยังเห็นปัญหาที่ตัวเองพอรู้ขั้นตอนแก้ไข ผมเลยไม่อยากย้าย ผมเสียดายความเป็นตัวเองในตอนนี้ที่อยากทำงานเพื่อสังคม เสียดายทางไปต่อที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น คุณค่าผมคือการได้ทำสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นถ้าทำแล้วยังพอมีกินก็คงทำต่อไป

แล้วทุกวันนี้คุณอยู่ด้วยความรู้สึกแบบไหน

แน่นอนว่าหดหู่ครับ เพราะทุกวันนี้เวลาเห็นพี่น้องที่ไม่สามารถอยู่รอดเพราะผู้มีอำนาจสั่งไม่ให้เขาอยู่รอด มันทำให้ผมโกรธและหดหู่อยู่แล้ว (นิ่งคิด) แต่ก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกันที่ขับเคลื่อนให้ผมอยากแก้ไขปัญหาและทำงานเพื่อสังคม ผมอยากทำให้ดีขึ้นเพื่อตอบโจทย์คุณค่าในชีวิต

สุดท้าย คุณยังมีหวังในประเทศนี้ใช่ไหม

(ยิ้ม) ผมว่าความหวังจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรารู้หนทางไปสู่เป้าหมายในอนาคต ซึ่งผมไม่รู้ว่าความหวังที่พูดถึงกับที่ผมคิดคือภาพเดียวกันไหม แต่โดยส่วนตัวผมอนุมานว่าความหวังของตัวเองคือความเปลี่ยนแปลงของระบบอำนาจนิยมในประเทศ

ผมอยากเห็นมนุษย์เท่ากัน อยากเห็นทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ อยากให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง ซึ่งถ้ายึดตามนี้ผมก็ยังมีหวัง เพราะการที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่มีไฟและสนใจในการทำงานเพื่อสังคมขนาดนี้ ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราอาจจะเจอทางออก

แม้จะยังมาไม่ถึง แต่ก็ต้องค่อยๆ เดินไปครับ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone