น้ำพริกแคบหมูยายน้อย แบรนด์น้ำพริกโฮมเมดที่บูลลี่ตัวเองจนมีผู้ติดตามกว่าแสนคน

น้ำพริกแคบหมูยายน้อยเป็นได้ทุกอย่าง ยกเว้น ‘อาหาร’ น้ำพริกแคบหมูยายน้อย

น้ำพริกแคบหมูยายน้อยอร่อย = เฟคนิวส์

น้ำพริกแคบหมูยายน้อย ดีต่อใจ บรรลัยต่อฟัน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างสโลแกนแสบๆ คันๆ เข็ดฟันยิ่งกว่ามันหมูของ น้ำพริกแคบหมูยายน้อย แบรนด์น้ำพริกโฮมเมดที่คิดค้นและปรุงโดยอดีตแม่ค้าอาหารตามสั่ง ยายน้อย–กนกรักษ์ เพียรทำดี และลูกชาย เบียร์–ศรัญญู เพียรทำดี หนึ่งในคอนเทนต์ครีเอเตอร์จากเพจ Buffalo Gags 

และด้วยลีลาการขายที่ไม่ธรรมดา พร้อมอารมณ์ขันรสจัดจ้านของเบียร์นี่เองที่ทำให้ยอดขายน้ำพริกแคบหมูยายน้อยพุ่งจากหลักร้อยสู่หลักแสนในเวลาเพียง 3 ปี!

ในแง่หนึ่ง ยอดซื้อน้ำพริกแคบหมูยายน้อยนั้นมาจากคุณภาพที่สมกับผลตอบรับ แต่ในอีกแง่ ต้องยอมรับว่าการตลาดแบบบูลลี่ตัวเองนี่เองที่ทำให้ใครหลายคนติดอกติดใจจนยอดขายปังขนาดนี้ และในประเด็นหลังนี้เองที่เราติดต่อเบียร์ไปเพื่อสอบถามถึงแนวคิดทางการตลาดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังอารมณ์ขันและการนำเสนอที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร

และหลังจากลับฝีปากเตรียมฟาดฟันคารมกับพ่อค้าอยู่นาน ในที่สุดเราก็พร้อมแล้วที่จะชวนเบียร์มาคุยถึง ‘น้ำพริกแคบหมูยายน้อย’  

น้ำพริกที่เป็นมาทุกอย่างแล้ว ยกเว้น ‘อาหาร’

จุดกำเนิดที่โลก (โซเชียลฯ) ต้องจารึก

เพราะการนำเสนอที่เน้น ‘ขายขำ’ จนแทบจะไม่ได้ ‘ขายของ’ ทำให้เราสงสัยเหลือเกินว่าจุดกำเนิดของน้ำพริกแคบหมูยายน้อยเริ่มต้นจากไหน? ยายน้อยเป็นใคร? และเมนูขวัญใจคนไทยนี้ถูกคิดค้นมาเพื่อจุดประสงค์ใดกันแน่ 

เรื่องนี้เบียร์ให้คำตอบกับเราไว้ด้วยน้ำเสียงชวนขำดังนี้

“น้ำพริกแคบหมูยายน้อยเริ่มต้นในช่วงปี 2561 เป็นช่วงที่ ‘ยายน้อย’ หรือคุณแม่ของผมวางมือจากการขายอาหารตามสั่งและกลับมาพักอยู่ที่บ้าน ด้วยความว่างเขาเลยตัดสินใจหาอะไรเล็กๆ มาขายในหมู่บ้านเพื่อแก้เหงา

“พอดีช่วงนั้นคุณแม่อินกับการดูสูตรอาหารในยูทูบ เขาเลยได้พบสูตรทำน้ำพริกแคบหมูและลองทำ หลังจากลองผิดลองถูกและพัฒนาสูตรอยู่นาน ในที่สุดก็ได้ ‘น้ำพริกแคบหมูยายน้อย’ ออกมาขายสมใจ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ทำอย่างจริงจังนะ คุณแม่เบื่อทีก็ทำออกมาขายที สัปดาห์ละครั้งบ้าง เดือนละครั้งบ้าง เราเองก็ช่วยโพสต์ขายด้วยอีกแรง

“แต่พอเราเอาน้ำพริกของแม่มาโพสต์ขายจริงจังในเฟซบุ๊กส่วนตัว กลายเป็นว่าโพสต์แรกก็มีเพื่อนๆ เข้ามาแซวกันว่ากินแล้วฟันจะแตกไหม? หรือเอาไปปาได้ไหมเพราะมันแข็ง จุดเริ่มต้นเลยมาจากตรงนี้เอง” 

แต่จากคอมเมนต์แซวขำๆ ในกลุ่มเพื่อนวันนั้น ดันกลายเป็นว่าโพสต์ดังกล่าวกลับไปไวรัลในเพจ Buffalo Gags จนใครๆ ก็อยากเข้ามาร่วมวงตบมุกด้วย ช่วยกันคิดคอนเซปต์ล้อแคบหมูยายน้อยกันยกใหญ่ 

สุดท้ายเบียร์จึงตัดสินใจเปิดเพจ น้ำพริกแคบหมูยายน้อย ขึ้นจนได้ โดยได้แรงบันดาลใจจากครั้งนั้นและตั้งใจเน้น ‘ขายขำ’ โดยเฉพาะ

เน้น ‘ขายขำ’ แต่ก็ไม่มองข้าม ‘ความอร่อย’ 

“ในขณะที่น้ำพริกเจ้าอื่นแข่งขันกันที่รสชาติและความน่ากิน แต่เพจเรานำเสนอความตลก ความสนุกสนาน และการจิกกัดสินค้าตัวเองอย่างออกรส นี่คือสิ่งที่ทำให้น้ำพริกแคบหมูเราแตกต่างจากคนอื่น 

“80-90 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าที่ทักมามักเริ่มต้นด้วยการถามว่า “กินแล้วฟันแตกจริงไหม?” คือความไม่รู้มันกระตุ้นให้เขาสนใจและอยากลอง ถ้าเราบอกว่ามันไม่อร่อย พอเขาได้ลองแล้วรู้สึกไม่ถูกปากมันก็เท่าทุน ถ้าลองแล้วชอบก็จะรู้สึกว่าเป็นกำไร แต่เอาจริงๆ ก็อยากให้คนกินบอกว่าอร่อยนะ” 

เบียร์พูดพลางหัวเราะ เพราะถึงจะตั้งใจล้อเลียนสินค้าตัวเองขนาดนี้ แต่สุดท้ายด้วยความเป็นอาหาร เขาก็ใส่ใจเรื่องคุณภาพมากเช่นกัน

“จากประสบการณ์การทำร้านอาหารตามสั่งที่ผ่านมาของแม่ ทำให้เข้าใจว่าลิ้นคนมันชอบไม่เหมือนกัน น้ำพริกยายน้อยเลยตั้งใจทำรสชาติให้ไม่จัดมาก คนไม่กินเผ็ดก็กินได้ แต่ก็จะมีบ้างที่ลูกค้าฟีดแบ็กกลับมาว่าไม่อร่อย จืดไป ถ้าเป็นความคิดเห็นส่วนน้อยก็จะรับฟังไว้แล้วอธิบายให้เขาเข้าใจ เพราะการต้องปรับรสให้ถูกปากทุกคนคงทำไม่ไหว แต่ก็มีเยอะเหมือนกันที่บอกว่าโม้หรือเปล่า สั่งมาลองแล้วก็อร่อย

“เราดีใจนะ แต่ก็จะตอบไปตามสไตล์ว่า “ถ้าอร่อยเป็นของปลอม ทิ้งไป!” 

การตลาดแบบตบมุกช่วยให้ขายของได้จริงหรือ?

ถ้าลองมองดูอาหารที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการขาย แอดมินเพจร้านค้าอื่นอาจต้องถ่ายรูปนำเสนอสินค้าให้ดูอร่อย น่าสนใจ แต่เบียร์กลับคิดต่าง ปัจจุบันเขายังคงทำตามแผนเดิมคือผลิตคอนเทนต์ส่งเสริมการขายล้อเลียนสินค้าตัวเองทุกวัน และตอบข้อความหยอกล้อลูกเพจไปด้วย

แต่ถ้าถามถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้น้ำพริกแคบหมูยายน้อยดังขึ้นไปอีก เบียร์ก็อธิบายเรื่องนี้ให้เราฟังเหมือนกัน

“ช่วงเดือนตุลาคม ปี 2563 เราตัดสินใจว่าจะเอาน้ำพริกแคบหมูยายน้อยไปออกบูท ซึ่งมันจำเป็นต้องทำป้ายไวนิล เราเลยอยากได้สโลแกนปังๆ มาใส่เพื่อให้คนจำน้ำพริกของเราได้

“ตอนนั้นคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ก่อนนอนเลยตัดสินใจลงภาพแล้วเว้นที่สำหรับใส่สโลแกนไว้ จากนั้นโพสต์ลงไปในเพจพร้อมข้อความว่า “มาช่วยคิดสโลแกนให้หน่อยจะออกบูท” ซึ่งตอนนั้นคือถามจริงจังนะ ไม่ได้ตั้งใจขายขำเลย” 

แต่แล้วผลลัพธ์ที่ได้กลับดีเกินคาด เพราะนอกจากจะมีคนมาช่วยคิดสโลแกนกันเป็นหมื่นคอมเมนต์แล้ว ทุกสโลแกนยังแกงสินค้าได้ทั้งแสบ ทั้งมัน จัดจ้านออกรสไม่แพ้น้ำพริกจนมียอดแชร์สูงถึงหลักหมื่น และกลายเป็นไวรัลในเวลาแค่ชั่วข้ามคืน

สุดท้ายเบียร์ก็เอาสโลแกนที่ชาวเน็ตช่วยกันคิดมาใช้จริง ไม่ได้ใช้แค่อันเดียวนะ แต่เลือกมากว่า 40 สโลแกน พิมพ์ลงในไวนิล 2 แผ่นใหญ่ แผ่นละ 20 สโลแกน! 

“เมื่อน้ำพริกแคบหมูยายน้อยกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากเหตุการณ์นั้น หลายคนเลยสนใจวิธีขายที่ไม่เหมือนใครของเรา ก็มีมาถามว่าการตลาดแบบนี้คืออะไร เราเลยพยายามหาคำจำกัดความที่ช่วยอธิบายการตลาดแบบตัวเองได้ชัดเจนที่สุด ตอนนั้นเองที่เริ่มใช้คำว่า bully marketing ในทุกการสัมภาษณ์

“การขายของเราเกิดจากการที่เราออกตัวบูลลี่สินค้าของตัวเองเพื่อให้ลูกเพจเข้ามามีส่วนร่วม พูดคุย และตบมุกกันเต็มที่แบบไม่ต้องกลัวร้านโกรธ วิธีนี้ช่วยลดช่องว่างระหว่างเพจกับลูกค้า ทำให้เขากล้าพูด กล้าตำหนิ และกล้าคุยเล่นกับเราเหมือนเป็นเพื่อนกันจริงๆ บางทีไม่ใช่แค่เขาคุยกับเราแต่เขาคุยเล่นกันเองด้วย กลายเป็นคอมมิวนิตี้ที่ทุกคนเข้ามาเล่นสนุกกัน”

แต่เป็นธรรมดาที่ความสนุกจะพาคำพูดคนให้เลยเถิด ไม่ใช่ทุกครั้งที่ทุกมุกจะประสบความสำเร็จ มีบ้างที่การตบมุกชงมุกของลูกเพจทำให้เบียร์ถึงกับเกิดอาการขำไม่ออกอยู่เหมือนกัน

มุกไม่ฮาพาเพื่อนเครียด

“บางครั้งการหยอกล้อของเขาไปไกลเกินกว่าที่เราคาดไว้ เช่น ใช้คำหยาบคาย หรือพาดพิงถึงคุณแม่ ซึ่งเราไม่โอเค เราใช้วิธีแคปข้อความแบบเบลอชื่อและหน้าผู้ส่ง แล้วโพสต์บอกบนเพจไปเลยว่าแบบนี้ไม่น่ารัก เราเลยมองว่าทุกอย่างเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องระวังก็คือการล้ำเส้น ไม่ใช่แค่ลูกเพจนะ บางครั้งตัวเราเองก็เคยเผลอล้ำเส้นไปเหมือนกัน” เบียร์เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

“อย่างมีช่วงหนึ่งที่เราชอบเล่นมุกแคบหมูเป็นแคบหมา แล้วช่วงนั้นมีรูปภาพรถบรรทุกหมาเป็นประเด็นในโซเชียลฯ เราเลยหยิบเอามาเล่นในเพจ ซึ่งจังหวะที่จะโพสต์ก็รู้สึกลังเลเหมือนกัน เพราะไม่มั่นใจว่าเล่นเรื่องนี้แล้วคนจะขำไหม แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจโพสต์ลงไปเหมือนเป็นการลองเชิง แต่เรานั่งรอดูฟีดแบ็กอยู่ตลอด พอเริ่มมีคนคอมเมนต์ในทำนองว่ารู้สึกไม่โอเค เราก็ตัดสินใจลบโพสต์ทิ้งทันที”

“หลังจากเหตุการณ์นั้นทุกครั้งก่อนที่จะเล่นประเด็นอะไรในโซเชียลฯ เราจะหาอ่านข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เช็กให้ชัวร์ก่อนว่าลงไปแล้วจะไม่หน้าแตก เรื่องไหนที่สุ่มเสี่ยงหรือคนมีความคิดเห็นแตกต่างกันมากๆ ก็จะเลี่ยง แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันก็จะหยิบมาแซว เช่น ประเด็นเฟคนิวส์ หลังจากโพสต์เราเลยจะรอดูฟีดแบ็กทุกครั้ง เพราะการสร้างจุดยืนและขอบเขตที่ชัดเจนของเราจะทำให้ลูกเพจเล่นอยู่ในขอบเขตเดียวกันด้วย เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจนานพอสมควรเหมือนกัน”

และเพราะด้วยความขายขำ นอกจากขอบเขตของความขำ เบียร์ยังได้เรียนรู้อีกหลายเรื่อง เพื่อให้เสียงหัวเราะที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี เช่น เรื่องของความสม่ำเสมอ เบียร์ก็เล่าให้เราฟังว่ามันมีผลเช่นกัน

“สำหรับการทำเพจขายของ หลักคือเราห้ามหายไปจากฟีดของลูกค้าเด็ดขาด เพราะความสม่ำเสมอนี้จะช่วยให้ลูกค้ามองเห็นสินค้าของเราอยู่ตลอด ยิ่งเป็นคอนเทนต์ที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามาเล่นมาพูดคุยกันยิ่งทำให้ยอดเอนเกจสูงและมีโอกาสเป็นไวรัลมากขึ้น มีหลายครั้งเหมือนกันที่ลูกค้าทักเข้ามาสั่งน้ำพริกเพราะเห็นโพสต์ของเราบ่อยจนเขารู้สึกว่า เออ ลองสั่งสักหน่อยซิ

“แต่การดูแลเพจคนเดียวบางครั้งก็รู้สึกเหนื่อย บ้างทีข้อความเข้าเยอะมากจนตอบไม่ไหว เลยตอบไปแบบธรรมดาจริงจัง คือไม่มีแรงเล่นมุกแล้ว แต่กลายเป็นลูกค้าผิดหวังว่าทำไมไม่เล่นด้วยเลย ตอนนี้เลยพยายามตอบสลับๆ เล่นบ้างจริงจังบ้าง แต่จะไม่เมินข้อความของคนที่ทักมาเด็ดขาด ไม่มีการสั่งของแล้วเงียบหาย บางทีทักมาคุยเล่นไม่สั่งของเราก็ตอบเหมือนกัน” 

‘น้ำพริกแคบหมูยายน้อย’ เป็นได้ทุกอย่าง ยกเว้นอาหาร

สโลแกนนี้เป็นหนึ่งในหลายหมื่นสโลแกนที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อขายขำเท่านั้น แต่ปัจจุบันน้ำพริกแคบหมูยายน้อยเป็นมากกว่าแค่อาหารธรรมดาแล้วจริงๆ เพราะมันกลายเป็นของเล่นที่ลูกค้าอยากสั่งไปอวดเพื่อน เป็นสังคมที่ผู้คนผ่านเข้ามาเพื่อคลายเครียด และเป็นเพจรับงานโปรโมตสินค้า 

ใครจะคิดล่ะว่าเพจที่เป็นร้านค้าจะขายของให้คนอื่นได้ด้วย!

“เรามองว่าสินค้าเรามันเลยจุดของการเป็นอาหารไปแล้ว บางคนซื้อไปแล้วต้องคิดต่อว่าจะเล่นกับสินค้าเรายังไง มันกลายเป็นของที่เขาซื้อแล้วไปถ่ายรูปอวดกัน ซึ่งมันกลายเป็นการโฆษณาที่เราไม่ต้องเสียเงินยิงแอดเลย ช่วงหลังนอกจากจะลงคอนเทนต์บูลลี่สินค้าตัวเองแล้ว เราเลยรับลงโฆษณาบูลลี่สินค้าคนอื่นด้วย อาศัยว่าตัวเราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์อยู่แล้วเลยขายงานได้ ทำให้เพจเรามีรายได้ 2 ทาง”

และจากความสัมพันธ์ทั้งหมดที่เบียร์สร้างนี่เอง ทำให้เจ้าของแบรนด์และลูกเพจเกิดการเชื่อมโยงกันทางใจไม่ใช่แค่ตัวเลข อย่างที่บอกว่าน้ำพริกแคบหมูยายน้อยเป็นได้ทุกอย่าง ปัจจุบันมันเลยเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้พวกเขาอยากรู้จัก พบปะ และพูดคุยกันในโลกความเป็นจริงด้วย

“เคยมีลูกค้าทักมาบอกว่าคอนเทนต์ของเราช่วยให้เขาผ่านเรื่องเครียดๆ มาได้ มันทำให้เราดีใจ อย่างช่วงปีที่แล้วเราไปออกบูทประมาณ 4-5 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีลูกเพจมาหา มาพูดคุยกันแบบตัวเป็นๆ มาขอถ่ายรูปกับคุณพ่อคุณแม่ด้วย” 

“เหมือนแฟนมีต” เราถาม 

เบียร์หัวเราะออกมาแล้วตอบแบบสบายๆ “ประมาณนั้น เพราะโมเมนต์นั้นแหละที่ทำให้เราตัดสินใจว่าจะไปออกบูทให้ได้อย่างน้อยเดือนละครั้ง

“ไม่ใช่เพราะอยากไปตั้งร้านขายเอากำไรนะ แต่เราอยากเจอลูกเพจแบบตัวเป็นๆ มากกว่า” 

ใช่ น้ำพริกแคบหมูยายน้อยเป็นได้ทุกอย่าง ยกเว้น ‘อาหาร’

เพราะหลังจากฟังเบียร์เล่าเสร็จ เราคิดว่านี่ยังเป็นความสุขของเขาในเวลานี้ด้วย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน