เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่เฟซบุ๊กน่าจะเจอวิกฤตการณ์ด้านความเชื่อมั่นมากสุดครั้งหนึ่ง จากเหตุการณ์ที่มีการเปิดเผยว่าข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านบัญชีถูกบริษัท Cambridge Analytica แอบดึงเอาไปใช้งานจนกลายเป็นประเด็นลุกลามใหญ่โตชนิดที่ตัว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เองต้องโดนสภาคองเกรสเชิญมาให้ปากคำเช่นเดียวกับผลกระทบด้านธุรกิจของเฟซบุ๊กที่่มูลค่าหุ้นร่วงไปในช่วงที่เรื่องนี้เป็นข่าว
เรื่องนี้สำคัญขนาดไหน ทำไมมันถึงเป็นประเด็นใหญ่โตชนิดที่รัฐบาลต่างๆ เรียกร้องคำตอบจากเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับภาคธุรกิจมากมายที่ทั้งตั้งคำถามและโจมตีการบริหารจัดการของเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวที่มีการรณรงค์ให้เลิกใช้เฟซบุ๊กกันไปเลยทีเดียว
สิ่งที่น่าจะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่สุดคงเป็นเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานที่เฟซบุ๊กมีข้อมูลอยู่ ต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่าข้อมูลผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กนั้นไม่ได้มีแค่ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือข้อมูลพื้นฐาน เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่มีมากกว่านั้นคือข้อมูลมหาศาลที่ผู้ใช้งานสะสมไว้ตั้งแต่เริ่มใช้ไม่ว่าจะเป็นสเตตัสต่างๆ ที่ตั้งขึ้นในแต่ละวัน รูปภาพที่อัพโหลดขึ้นไปเพื่อแชร์ให้กับคนอื่น เครือข่ายเพื่อนต่างๆ ที่ตัวเองมี รวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ ที่เราใช้งาน เช่น ไปกดไลก์เพจไหน คอมเมนต์ที่โพสต์อะไร กดไลก์คอนเทนต์ไหนจากเพจไหน ฯลฯ เป็นข้อมูลที่ซับซ้อนและน่าอัศจรรย์อยู่พอสมควร
เคยมีการพูดกันว่าถ้าเราใช้งานเฟซบุ๊กไปถึงระดับหนึ่งแล้ว เราก็จะพบว่าเฟซบุ๊กรู้จักตัวเราดีกว่าญาติพี่น้อง เพื่อน พ่อแม่ หรือแม้แต่คู่รักของเราเสียอีก นั่นก็เพราะเฟซบุ๊กมีข้อมูลเหล่านี้ที่สะท้อนพฤติกรรม ความคิด รสนิยม ฯลฯ เลยไม่แปลกว่าทำไมตอนที่เราเล่นเฟซบุ๊กนั้นเราจึงเห็นคอนเทนต์ที่น่าอ่านน่าติดตาม และการแนะนำเรื่องราวที่เราอยากรู้โดยผ่านการคัดเลือกจาก อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กที่ประมวลผลข้อมูลเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
ถ้ามองในแง่ดี ที่เราใช้เฟซบุ๊กกันมาตลอดก็คือการที่มันสามารถสนองความต้องการเราได้ดีเหลือเกิน แต่ขณะเดียวกันมันก็น่ากลัวมากถ้าหากข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี แถมจะยิ่งน่ากลัวขึ้นไปอีกถ้าหากมีใครสามารถเจาะข้อมูลของเฟซบุ๊กและล้วงเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้
นั่นเลยไม่แปลกที่เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลครั้งนี้จะกลายเป็นประเด็นใหญ่โต เพราะแม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกดึงออกไปจากเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2014 แต่เมื่อมีการโยงว่าบริษัทที่ได้ข้อมูลเหล่านี้ไปนั้นมีโอกาสที่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วิเคราะห์เพื่อทำแคมเปญด้านการเมืองในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา มันเลยกลายเป็นประเด็นร้อนแรงสุดๆ เพราะหากสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เชิงลึกได้ มันก็ย่อมสามารถเอาไปใช้สร้างแคมเปญโฆษณาหรือการสื่อสารต่างๆ ที่สร้างอิทธิพลให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะนั้นโหวตหรือไม่โหวตให้ใครได้
ความน่ากลัวที่หลายคนเริ่มกังวลกันจากเหตุการณ์นี้คือการที่เฟซบุ๊กมีข้อมูลส่วนตัวของเรา ‘มากเกินไป’ ชนิดที่ตัวเราเองก็อาจจะไม่เคยเอะใจมาก่อน และถ้าข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ไปถึงผู้ไม่หวังดีแล้วมันก็ย่อมเป็นภัยที่น่าวิตกกังวลเอาเสียมากๆ
ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าคนคนนั้นรู้ได้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีเพื่อนเป็นใคร ปกติชอบพูดเรื่องอะไร ไม่คุยเรื่องอะไร มันก็ทำให้พวกเขามีโอกาสจะตีสนิท สร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวง หรือแม้กระทั่ง ‘ล้างสมอง’ พวกเราได้อย่างง่ายดาย
จนถึงตอนนี้ กระบวนการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดียวกับที่ผู้ใช้งานหลายคนเองก็เริ่มแขยงและระวังการให้ข้อมูลต่างๆ บนออนไลน์มากขึ้น ส่วนเฟซบุ๊กเองก็ออกมาตรการป้องกันและเปลี่ยนนโยบายหลายอย่างเกี่ยวกับการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานให้รัดกุมมากขึ้น
แต่ต่อให้ระบบจะรัดกุมแค่ไหน สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าคือตัวผู้ใช้งานอย่างเราๆ นี่แหละที่มักจะไม่ได้อ่านข้อตกลงที่โชว์ให้เราเห็นก่อนใช้งาน ซึ่งเราก็จะกดยอมรับแบบข้ามๆ ไปโดยไม่ได้อ่านเลยว่าตัวโปรแกรมจะเอาข้อมูลจากเราไปทำอะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งการกดเล่นแอปพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์หรือผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งบางแอปฯ ก็แอบเก็บข้อมูลเราไปโดยไม่รู้ตัวดังที่เคยเป็นข่าวถูกแชร์กันอยู่บ่อยครั้ง
สุดท้ายก็เป็นความสะเพร่าของพวกเราเองที่ ‘อนุญาต’ ให้คนไม่หวังดีเข้าไปถึงข้อมูลของเราได้โดยที่พวกเขาไม่ต้องหาวิธีเจาะอะไรเลย
ภาพประกอบ ณัชณิชา วงษา