ร้านหนังสือเด็กในไทย ทำไมมีแค่ร้านเดียว – ฉุกคิดเพื่อวันพรุ่งนี้ของเรา

ไม่มีใครปฏิเสธว่าหนังสือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็ก ตั้งแต่ปี 2014 ธุรกิจหนังสือเด็กเติบโตในอัตราที่สูงมากและทิศทางยังคงพุ่งขึ้นต่อไป เรามีตัวเลขยืนยันความอะเมซิ่งของหนังสือกลุ่มนี้ได้ อย่างตลาดหนังสือเด็กในอังกฤษปี 2014 มีมูลค่า 332.2 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 7% ในปี 2015 แถมยังเชิดหัวขึ้นไปอีก 7% สู่ 379.5 ล้านปอนด์ในปี 2016 เป็นที่ทราบกันดีว่าในปีนั้นเจ.เค.โรว์ลิง (J. K. Rowling) ได้ร่ายมนต์ผ่านหนังสือเล่มใหม่ Harry Potter and the Cursed Child กวาดยอดขาย 11.6 ล้านปอนด์ เทียบเป็น 3% ของมูลค่าตลาดรวมในปีนั้น ดังนั้น พอมาถึงปี 2017 นี้ หากเทียบยอดรวมกลับพบว่ามียอดจำหน่ายลดลง 3.8% ในช่วง 33 สัปดาห์ของปี แต่ก็ไม่ได้น่าวิตกแต่อย่างไร เพราะเมื่อถอดตัวเลขขายของ Harry Potter and the Cursed Child ออก หนังสือเด็กยังคงปิดที่แรงบวก 4% เทียบกับปี 2016

ทิศทางยังคงสดใสและมีที่ทางไปอีกมาก ถ้าหนังสือเด็กเป็นเหมือนทางออกที่ปลอดภัยที่สุดของทุกสำนักพิมพ์ทั้งไทยและเทศในการอยู่รอด มีเพียงคำถามเดียวเท่านั้นคือ…

เมื่อหนังสือเด็กสำคัญมากขนาดนั้น ทำไมเราถึงมีร้านหนังสือเด็กน้อยมาก ทำไมเราไม่ร่วมกันสร้างกรอบความรู้ใหม่เพื่อสร้างเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค

สองสิ่งที่วงการหนังสืออยากให้เกิดขึ้นจริงๆ คือพื้นที่การอ่านหรือร้านหนังสือสำหรับเด็ก และเนื้อหาที่สร้างความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กให้มากขึ้น แต่ความจริงกลับมุ่งไปในทางตรงกันข้ามคือขาดแคลนอย่างมาก เราอาจเห็นหนังสือเด็กรูปเล่มสวยงาม แต่นั่นยังไม่เพียงพอต่อการสร้างเด็กให้เป็นคนคุณภาพคนหนึ่ง

Lauren Child ผู้ดูแลส่วนหนังสือเด็กของร้านหนังสือ Waterstones ในอังกฤษ บอกว่า “วรรณกรรมเยาวชนควรจะเชื่อมโยงออกไปสู่โลกภายนอก เชื่อมโยงกับรูปแบบของศิลปะและองค์ความรู้อื่นๆ ที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เด็กทุกคนควรได้โอกาสในการลงมือทำเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ผ่านความรู้ที่เชื่อมโยงกับจินตนาการ”

เราพูดกันบ่อยๆ ว่าประเทศเราจำเป็นต้องสร้าง creative economy เพราะสำคัญต่อการพัฒนาและกำหนดทิศทางของประเทศให้มีภาวะที่แข่งขันได้ แต่จุดเริ่มของความคิดสร้างสรรค์คือการสร้างเยาวชนของเราให้คิดเป็นและออกนอกขนบความรู้ที่เดิมมีอยู่มากมายในตลาด อย่างความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น การเคารพวัฒนธรรมเดิม การเป็นเด็กมารยาทดี สิ่งเหล่านี้เป็นเนื้อหาที่ดีและมีอยู่มากพอควรในตลาดหนังสือปัจจุบันซึ่งเราก็ยังคงภูมิใจที่จะหยิบมาทำซ้ำในรูปแบบเทคนิคต่างๆ

แต่สิ่งที่หายไปก็คือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ที่สร้างให้เด็กคิดเป็น กระตุ้นต่อมสร้างสรรค์ให้เขาลองออกนอกกรอบ แม้กระทั่งวรรณกรรมเยาวชนที่เขียนขึ้นเพื่อกระตุ้นจินตนาการให้เด็กก็ดูจะน้อยเกินไป หรือไม่ก็อยู่อย่างเหงาๆ เพราะคนไทยเราชอบที่จะซื้อหนังสือภาพมากกว่า

ทำไมเด็กไทยจะฝันไปท่องอวกาศไม่ได้

ทำไมเด็กไทยจะเป็นนักสำรวจใต้น้ำไม่ได้

ทำไมเด็กไทยจะคิดค้นเครื่องบินที่สามารถบินรอบโลกโดยประหยัดน้ำมันที่สุดไม่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านหนังสือปัจจุบันไม่ได้สะท้อนความสำคัญของหนังสือในหมวดนี้เลย
หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนยังคงได้พื้นที่เท่าเดิม และร้านหนังสือ (หรือจะเรียกให้หรูก็ร้านแบบไลฟ์สไตล์) ไม่ได้เผื่อพื้นที่และออกแบบให้ดีพอสำหรับลูกค้าเด็กๆ แต่อย่างใด

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เรากำลังกลัวอะไรกันอยู่หรือเปล่า หรือมองเพียงผลตอบแทนต่อเล่มของหนังสือเด็กที่ราคาไม่สูง
รายได้ต่อตารางเมตรจึงต่ำ สู้เอาไปขายอย่างอื่นดีกว่า
หรือร้านหนังสือเด็กไม่ได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของห้างสรรพสินค้า ต้องร้านชิกๆ คูลๆ
ถึงจะเท่

ถ้าผมบอกว่าประเทศไทยเราที่ทุ่มงบประมาณสำหรับเด็กจำนวนมาก มีข้อมูลมากมายกรอกหูเราทุกวันว่าจงให้ความสำคัญเรื่องการอ่านกับลูกๆ
แต่กลับมีร้านหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนจริงๆ เพียงร้านเดียวเท่านั้นคือ ร้านแว่นแก้ว
เป็นร้านหนังสือเดียวในประเทศไทยที่เด็กเป็นใหญ่ที่สุด เด็กสามารถนอน นั่ง อ่าน
ท่ามกลางส่วนประกอบที่กระตุ้นจินตนาการและมีอารมณ์ร่วมเป็นที่สุด

ส่วนในต่างประเทศ ร้านหนังสือที่ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ Best Independent Bookshops หรือการประกวด window display คือร้านหนังสือเด็ก Octavia’s Bookshop ในอังกฤษ เรียกได้ว่าเมื่อจินตนาการเจอสูตรผสมที่ลงตัว ผลของมันย่อมน่าดูชมเสมอ Octavia’s Bookshop แซงหน้าร้านรุ่นใหญ่ไฟกะพริบหลายๆ
ร้าน เข้าวินแบบมีอันดับทุกปี

นอกจากพื้นที่ร้านหนังสือและเนื้อหา สิ่งที่ไม่อาจละเลยไปได้ก็คือคุณภาพของหนังสือเด็ก
ทำไมปกต้องพิถีพิถันมากขึ้น ทำไมรูปเล่มต้องแปลกและรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
แต่สิ่งนี้กลับไม่ได้รับการเน้นย้ำและกระตุ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราจึงได้เห็นแต่หนังสือเด็กที่มีภาพหน้าปกแปลกๆ
หรือเนื้อหาภาษางงๆ บางทีการสรรหารางวัลและมอบให้อาจเป็นคำตอบทางหนึ่งก็ได้

รัฐบาลกำลังคิดจะออกแนวทางกระตุ้นให้มีบุตรมากขึ้นเพื่อช่วยชาติ บางทีการสร้างร้านหนังสือเด็กขึ้นมาจริงๆ
อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับปัจจุบันก็ได้ เราร้านมีหนังสือเท่ๆ มากมายแล้ว
ถ้าเพิ่มร้านหนังสือเด็ก มีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ไปใช้เวลาแทนที่จะเข้าห้างสรรพสินค้า
เริ่มสร้างนิสัยและความสนุกให้เกิดขึ้นจากการเข้าร้านหนังสือ

การได้เดินจากบ้านไปร้านหนังสืออาจเป็นทริปที่น่าตื่นเต้นกับเด็กมากกว่านั่งรถไปห้างก็ได้

AUTHOR