สื่อใหม่ใช้แพลตฟอร์มไหนดี? โลกในยุคที่สื่อดิจิทัลหลากหลายเกินกว่าเฟซบุ๊ก

Highlights

  • ในยุคที่สื่อดิจิทัลเปิดทางเลือกอันหลากหลายให้กับผู้ใช้งาน จะทำอย่างไรให้อยู่บนเฟซบุ๊กได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารด้วยนั้นใช้งานแพลตฟอร์มไหนมากกว่ากัน นี่คือความท้าทายของผู้คนที่อยู่ในแวดวง 'สื่อใหม่'

“เฟซบุ๊กจะอยู่อีกนานไหมครับ?”

ตอนนี้คนย้ายไปเล่นทวิตเตอร์เยอะหรือยัง?”

เห็นเขาว่าตอนอินสตาแกรมฮิตกว่าเหรอ?”

เขาว่าตอนนี้เราต้องทำพอดแคสต์กันใช่ไหม?”

นี่คือตัวอย่างที่ผมมักได้รับบ่อยๆ หลังจากที่มีคนไปฟังสัมมนาอัพเดตเทรนด์ดิจิทัลที่มีกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งในอัพเดตนั้นก็มักพูดถึงตัวเลขผู้ใช้งานของแต่ละแพลตฟอร์มต่างๆ โดยมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจทำนองข้างต้นเช่นจำนวนผู้ใช้งานทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมที่เพิ่มขึ้น หรือการเกิดความนิยมกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างพอดแคสต์ที่ทำให้นักการตลาดที่พยายามเข้าถึงผู้บริโภคยุคปัจจุบันตื่นตัวกันอยู่เรื่อยๆ

และคำถามที่หลายๆ คนมักจะถามคือ แพลตฟอร์มใหญ่ๆ อย่างเฟซบุ๊กนั้นกำลังหมดเสน่ห์หรือเปล่า เพราะมีการพูดกันทำนองว่าวัยรุ่นเบื่อเฟซบุ๊กแล้วไปเล่นทวิตเตอร์แทน บางคนก็ว่าเลิกเล่นแล้วไปใช้อินสตาแกรมดีกว่า ฯลฯ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก เพราะกระแสข่าวว่าด้วยเรื่องการเสื่อมความนิยมของเฟซบุ๊กนั้นมีอยู่เรื่อยๆ ในต่างประเทศจากการสำรวจของสื่อต่างๆ ว่าคนรุ่นใหม่รู้สึกอย่างไร ซึ่งเราก็มักจะเห็นว่าวัยรุ่นเริ่มหันไปใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างอื่นมากขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ยิ่งพอเริ่มเห็นตัวเลขของแพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ที่โตมากขึ้นเช่นเดียวกับการเป็นกระแสข่าว (โดยเฉพาะช่วงการเมืองร้อนแรง) จึงทำให้หลายคนคิดกันว่าคนคงเลิกเล่นเฟซบุ๊กแล้วล่ะมั้ง

แต่จากข้อมูลของเฟซบุ๊กนั้นพบว่าจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในไทยยังคงโตขึ้นเป็น 53 ล้านบัญชี เช่นเดียวกับจำนวนผู้ใช้งานต่อวันก็ยังคงสูงโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งนั่นก็คงพอจะบอกได้ว่าเฟซบุ๊กเองก็ยังคงเป็น ‘แพลตฟอร์มหลัก’ ของคนดิจิทัลในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือเกมของการแย่งชิงเวลาการใช้งานที่ตอนนี้เฟซบุ๊กต้องเจอโจทย์ใหญ่ เพราะตัวเฟซบุ๊กเองก็ไม่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้งานได้ แม้ว่าระบบเครือข่ายของเฟซบุ๊กจะทำให้เราสามารถเชื่อมกับคนมากมาย แต่บางครั้งเราก็อยากเลือกควบคุมความสัมพันธ์ในแบบ Following / Follower มากกว่า Friend เช่นเดียวกับการไม่ต้องใช้ชื่อจริงในการเปิดเผยตัวตน ซึ่งนั่นทำให้แพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างอินสตาแกรมหรือทวิตเตอร์ตอบโจทย์ตรงนี้มากกว่าเฟซบุ๊ก

นั่นยังไม่นับประเภทของคอนเทนต์ที่เป็นคนละภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาภาพ (Instagram) ข้อความสั้นๆ (Twitter) เสียง (Podcast) วิดีโอ (YouTube) ซึ่งแต่ละแบบก็เหมาะกับนิสัยหรือรสนิยมของแต่ละคน

เมื่อก่อนเฟซบุ๊กอาจเป็นตัวเลือกเพียงไม่กี่ตัวเลือก จึงฮิตและโตวัย และคนใช้เวลากับมันเยอะกว่าช่องทางอื่นๆ แต่มาวันนี้เมื่อคนเริ่มคุ้นเคยกับดิจิทัลมากขึ้น เรียนรู้ที่จะใช้งานแพลตฟอร์มใหม่ๆ ได้ไม่ยาก ก็ทำให้หลายๆ คนหันไปใช้เวลากับสิ่งที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการตัวเองได้ดีขึ้น

และนั่นก็เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการตลาดตลอดจนวงการสื่อด้วยเหมือนกัน เพราะเฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางหลักเวลาพูดถึงสื่อออนไลน์ในยุคโซเชียลมีเดีย และใครๆ ก็ต้องหาวิธีให้ตัวเองอยู่บนเฟซบุ๊กได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอมา คอนเทนต์จำนวนมากถูกผลิตและปรับให้เหมาะกับเฟซบุ๊ก รวมทั้งสารพัดเทคนิคที่หาวิธีเอาชนะอัลกอริทึมของมัน

แต่ต่อจากนี้ เฟซบุ๊กอาจไม่ใช่ช่องทางหลักประเภทต้องทุ่มหมดหนัาตักเพียงอย่างเดียว หากแต่คนทำสื่อต้องคิดแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองจะสื่อไปและกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารด้วยนั้น เหมาะกับช่องทางไหนมากกว่ากัน เช่นเดียวกับหากจะใช้ช่องทางนั้นแล้ว ภาษา และวิธีการเล่า ก็คงต้องแตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมักบอกหลายๆ คนที่มาถามว่าควรเลือกแพลตฟอร์มไหนดี ว่ามันไม่มีสูตรหรือคำตอบสุดท้ายสำหรับทุกคน เพราะนี่คือยุคที่แม้แต่สื่อดิจิทัลก็เปิดทางเลือกอันมากมายให้กับคนยุคปัจจุบัน วัยรุ่นบางคนก็ยังใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก ส่วนผู้ใหญ่บางคนก็หันไปเล่นไลน์และอินสตาแกรมแทนเพราะดูจะปวดหัวน้อยกว่า ฯลฯ และนั่นคงเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงว่าวัยไหนเล่นอะไร ไม่เล่นอะไร

และเป็นความท้าทายของทุกคนที่วนเวียนอยู่ใน ‘สื่อใหม่’ ในวันนี้นั่นแหละครับ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

22mm.t

Illustrator with fun and colorful style.