Business of Remake : ธุรกิจทำซ้ำ

Highlights

  • เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เผยเหตุผลของหนังรีเมคและรีบูตที่ออกมาติดๆ กันเต็มไปหมดทั้งปี โดยเมื่อลองหาเหตุผลแล้วเขาพบว่าวัฒนธรรมการรีเมคและรีบูตนั้นมันเฟื่องฟูได้ด้วยปัจจัยง่ายๆ คือ ชัวร์ และ cheap

ปีนี้เป็นปีที่มีหนังรีเมคและรีบูตออกมาติดๆ กันเต็มไปหมดทั้งปี ตั้งแต่ Spider-Man, Aladdin, The Lion King, Charlie’s Angels, Jumanji หรือ The Craft ยังไม่นับหนังภาคต่อที่ยังขุดมาทำกันอย่าง Top Gun: Maverick หรือ Star Wars: The Rise of Skywalker มันหนักมากจนทำให้เราเองรู้สึกว่าเราตกอยู่ในยุคแห่งการดูหนังเรื่องเดิมๆ ไปแล้วโดยแท้จริง

อันที่จริงประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปีนี้คิดว่าเราคงต้องอยู่กับมันไปอีกนาน เลยลองมาหาเหตุผลและที่มาของมันนอกเหนือจากความเล่นง่ายของสตูดิโอผู้ผลิต จะได้เข้าใจกัน และจากการศึกษา เราพบว่าวัฒนธรรมการรีเมคและรีบูตนั้นมันเฟื่องฟูได้ด้วยปัจจัยง่ายๆ คือ ชัวร์ และ cheap

  1. ชัวร์

มันแน่อยู่แล้ว คือชัวร์ อะไรที่เคยได้รับความนิยมมาแล้ว ดังอยู่แล้ว คอนเซ็ปต์หนังดีอยู่แล้ว ก็ไม่น่าแปลกหากทำมันอีกครั้ง ก็น่าจะมีเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับความนิยม (คือเปอร์เซ็นต์พังมันก็มีแต่เมื่อเทียบกับหนังสร้างใหม่เขียนใหม่แล้ว ความเสี่ยงในการพังของหนังรีเมคหรือรีบูตย่อมมีน้อยกว่า) ลองคิดง่ายๆ เทียบกับเพลงคัฟเวอร์ต่างๆ อยากให้คนเฮ มันก็จะมีเพลงเก่าคลาสสิกซูเปอร์ฮิตประเภทที่ร้องเพลงนี้คนเฮชัวร์ ซึ่งอาจด้วยเนื้อหาที่มันดีอยู่แล้ว หรืออาจเป็นเพราะบางเพลงเราไม่ได้ฟังนาน แถมยังถูกคัฟเวอร์ด้วยศิลปินรุ่นใหม่ที่เราชอบ เพลงเก่าที่ว่าก็อาจจะกลายเป็นเพลงใหม่ได้อีกครั้ง (ทั้งๆ ที่มันเป็นเพลงเก่านะ)

หนังก็เช่นกัน การสร้างใหม่อีกครั้งก็อาจสร้างความตื่นเต้นได้ (เช่น Batman ฉบับคริสโตเฟอร์ โนแลน) หรือกระทั่ง The Lion King ที่กระทำการเรียลลิสติกให้กับการ์ตูนพร้อมด้วยการสร้างความตื่นตาทางเทคโนโลยีซีจี หนังรีเมคหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นหนังแห่งปีได้อย่างไม่มีใครกังขา โดยที่เนื้อเรื่องเหมือนเดิมแค่เปลี่ยนวิธีเล่าหน่อย ไม่ต้องคิดใหม่หมด

นั่นจึงเป็นที่มาของการสร้างหนังรีเมคกันออกมาอีกเรื่อยๆ ความชัวร์ทางธุรกิจของมันอยู่เหนือการพยายามรังสรรค์และสร้างสิ่งใหม่ๆ คำถามมีอยู่ว่า คนดูที่เบื่อและอยากดูอะไรใหม่ๆ จะทำอย่างไร คำตอบคือไม่ต้องทำอย่างไร เพราะทางผู้สร้างคิดว่ายังมีคนดูบางประเทศหรือคนดูเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่พร้อมจะดูหนังรีเมคเหล่านี้อยู่ตลอด นักวิเคราะห์กล่าวไว้ว่าทุกวันนี้สัดส่วนของรายได้ทั่วโลกของหนังนั้น โซนอเมริกาเหนือมีผลเพียงแค่ 1/3 ของรายได้ทั้งหมด ที่เหลือคือประเทศจีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ หนังเก่าๆ ดังๆ หลายๆ เรื่องนั้นจริงๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสฉายในประเทศอื่นๆ เหล่านั้นเลยในสมัยก่อน เช่น Independence Day ในปี 1996 ดังนั้นหนังรีเมคจึงเป็นหนังใหม่สำหรับพวกเขาเสมอ

หากคิดกันเฉพาะในแง่ธุรกิจนั้น เสียงรีวิวความเบื่อหน่ายจากคนดูเรื่องการทำหนังซ้ำๆ ในโซนอเมริกานั้นไม่ได้มีผลต่อการสร้างแต่อย่างใด และถ้าลองสำรวจดูที่อื่นบนโลก เช่นที่ญี่ปุ่นเอง หลักการนี้ก็ถูกนำมาใช้กับการสร้างหนังจากการ์ตูนดัง เพราะมันค่อนข้างชัวร์ว่าเหล่าบรรดาแฟนการ์ตูนทั้งหลาย (ซึ่งถือว่าเป็นมาร์เก็ตที่ใหญ่มากในญี่ปุ่น) น่าจะตามมาดูและทำให้หนังประสบความสำเร็จ ในทางฝรั่งก็หันมารีเมคหนังจากวิดีโอเกมมากขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน

  1. cheap

เราเคยมีโอกาสได้คุยกับผู้สร้างหนังชาวต่างประเทศ พวกบอกว่าการสร้างหนังรีเมค รีบูต หรือการดัดแปลงจากนวนิยายนั้นง่ายต่อการผลิตมากๆ เพราะเนื้อเรื่องของหนังทั้งหมด พวกเขาจะมีอยู่ในมือแล้ว เริ่มต้นอย่างไร จบอย่างไร รู้หมดแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือแค่จ้างคนเขียนบทมาช่วยขัดเกลาให้กลายเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งการที่พวกเขามีโครงสร้าง มีคอนเซปต์ต่างๆ อยู่แล้วทำให้พวกเขาสามารถจ้างคนเขียนบทจำนวนน้อยลง ไม่ต้องไปแสวงหาหรือระดมคนมาสร้างหนังเนื้อเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน จุดนี้ทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณการสร้างไปได้อีก แถมทำให้สร้างหนังเรื่องใหม่ๆ ออกมาได้รวดเร็วขึ้น อาจจะทำให้บริษัททำเงินต่อปีได้มากขึ้น

นอกจากนี้ หลักการนี้ยังถูกนำมาใช้ในการสร้างหนังรีเมคประเภท trilogy เช่นกัน (เช่น Jurassic World หรือ Star Wars) การวางแผนทำหนัง 3 ภาคตั้งแต่แรกนั้นช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย มันเหมือนการทำหนังหนึ่งเรื่องแล้วจะได้ออกมาถึง 3 เรื่องในครั้งเดียว เพราะถ้าภาคแรกประสบความสำเร็จมากๆ ภาค 2 และ 3 ก็จะสำเร็จไปด้วยโดยง่ายเช่นกัน ไม่ต้องลงแรงมากมายในช่วงทำการโปรโมตภาคต่อๆ มา แต่สมมติรีเมคภาคแรกออกมาแล้วพัง ก็แค่หยุดแผนการสร้างภาคต่อๆ มาเท่านั้นเอง

แม้ว่าทั้งหมดนี้จะถูกดำเนินไปด้วยธุรกิจ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าแม้โอกาสสำเร็จของหนังรีเมคจะมีเยอะ แต่โอกาสโดนด่าก็มีเยอะพอๆ กัน เพราะคนทำต้องต่อสู้กับภาพจำที่งดงามของคนที่ดูหนังเวอร์ชั่นก่อน ถ้าวางแผนหรือหาไดเรกชั่นน่าสนใจให้กับหนังไม่ได้ก็มีสิทธิตายไวมากเมื่อออกฉาย

ในเชิงผู้ผลิตนั้น ทุกวันนี้ก็มีความยากเย็นของพวกเขาเองเพราะคนออกมาดูหนังที่โรงน้อยกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ความเสี่ยงในการทำหนังออกมาเรื่องหนึ่งมีมากขึ้น พวกเขาเลยย้อนกลับไปหาอะไรเดิมๆ ที่เคยเวิร์กอีกครั้ง แต่แน่นอนว่าวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะถึงทางตันและมันจะบังคับให้พวกเขาสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกมาอยู่ดี เพราะคงไม่มีใครอยากดูหนังที่ว่าด้วยเรื่องเดิมๆ ไปตลอด เมื่อถึงเวลานั้นหากผู้สร้างไม่สร้างของใหม่ขึ้นมา ภาพยนตร์ก็จะตายอยู่ดีนั่นแล

แต่ถ้าใครไม่ชอบอะไรแบบนี้ ช่วงนี้ก็ทนเอาหน่อย แต่ก็ไม่แน่ว่าหนังรีเมคก็อาจสร้างสิ่งใหม่ได้เช่นกัน แม้มันจะไม่ได้ปรากฏออกมาบ่อยนักก็ตาม

AUTHOR