5 คำและวลีเด็ดที่จะช่วยให้คุณหายงงเรื่องโดนัลด์ ทรัมป์!

เข้ามารับตำแหน่งเพียงแค่เดือนเดียว โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ครองพื้นที่ข่าวและสร้างกระแสใหม่ๆ ได้ไม่เว้นแต่ละวัน

ในฐานะประเทศมหาอำนาจ นอกจากนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกแล้ว อิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งจากตัวทรัมป์และปฏิกิริยาต่อทรัมป์มันคืบคลานมาอยู่ใกล้ๆ ปลายจมูกเรานี่เอง Global Review ตอนนี้จึงประมวล 5 วลีสำคัญเพื่อให้ผู้อ่านใช้ตั้งหลักรับมือข่าวเกี่ยวกับทรัมป์ที่มาใหม่ทุกวัน

ที่มาภาพ:
Gage Skidmore

1. “Make America Great Again”

การตามข่าวทรัมป์อาจต้องเริ่มจากรู้จัก ‘ลายเซ็น’ หรือเอกลักษณ์ของเขา นอกจากวิธีพูดจาตรงๆ เสียดแทงใจคนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขาขายของตลอดเวลาคือแพ็กเกจ Make America Great Again ที่เป็นนโยบายหาเสียง เช่น การประกาศจะลดภาษีรายได้ครั้งมโหฬาร คำสัญญาที่จะสร้างงานให้คนอเมริกันด้วยการทวงงานคืนมาจากคนต่างชาติ สิ่งนี้จะทำควบคู่ไปกับการสร้างกำแพงยาวสองพันกว่าไมล์กั้นพรมแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโกเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามพรมแดน ทรัมป์ยังเข้ามารื้อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี เพราะสนใจจะทำการค้าที่ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ซึ่งก็เริ่มไปแล้วด้วยการเซ็นคำสั่งให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

ภาพจาก The Conversation

ทรัมป์ไม่ใช่คนโลกสวย เขาแสดงออกว่าเหม็นหน้านักรณรงค์ด้านโลกร้อน โดยมองว่านักเคลื่อนไหวชอบพูดเกินจริง เขายังประกาศจะเดินหน้าเปลี่ยนโฉมนโยบายโอบามาแคร์ซึ่งเป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ริเริ่มไว้ เพราะมองว่ามันกินเงินรัฐไปมหาศาล

ไม่ใช่แค่โอบามาแคร์ที่ทรัมป์กำลังจะคว่ำทิ้งแล้วรื้อใหม่ ยังมีเรื่องการครอบครองปืน จากยุคของโอบามาที่พยายามแก้ไขกฎ โดยเพิ่มกติกาให้การครอบครองปืนทำได้ยากและซับซ้อนมากขึ้นเพื่อจะลดความรุนแรง แต่ทรัมป์เชื่อในทางตรงกันข้าม เขาคิดว่าถ้าคนพกปืนก็จะเข้าขวางเหตุการณ์ต่างๆ และจะช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่เขาสัญญากับกองเชียร์ของเขาว่า สิทธิในการพกปืนของชาวอเมริกันจะไม่หายไป

อีกเรื่องที่สำคัญในแผนการของทรัมป์ คือเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่ตัดสินประเด็นอ่อนไหวทั้งหลาย ซึ่งบัลลังก์ทั้งหมดมี 9 ที่นั่งดำรงตำแหน่งไปตลอดชีพ ตอนนี้มีตัวแทนสายเสรีนิยมและสายอนุรักษ์นิยมไว้แล้วอย่างละ 4 ที่นั่งเท่ากัน ดังนั้นถ้าตำแหน่งที่ว่างนี้ตกเป็นของฝ่ายใด ก็จะทำให้เสียงข้างมากเอียงไปอีกซีกหนึ่งทันที

2. “The First 100 Days of Donald Trump”

ตามธรรมเนียมการเมืองสหรัฐฯ จะมีคำว่า ‘The First Hundred Days’ หมายถึง 100 วันแรกของการทำงานในฐานะประธานาธิบดี คำนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1933 ในสมัยของแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ซึ่งเอาไว้ชี้ชะตาและวัดระดับอำนาจและความสำเร็จของประธานาธิบดีคนนั้นๆ

ทรัมป์ก็เช่นกัน สื่อต่างประเทศแทบทุกเจ้าเกาะติดการทำงาน และจะต้องมีหมวด ‘First 100 Days of Donald Trump’ โดยเริ่มนับวันแรกจากวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ของประเทศ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มกราคม 2017 จะครบร้อยวันก็คือวันที่ 29 เมษายน 2017 นี้ สื่อส่วนใหญ่จะรายงานเหตุการณ์สำคัญๆ ของแต่ละวัน บางสำนักแถมด้วยข้อมูลกวนๆ เช่น ความคืบหน้าด้านความสูงของกำแพงกั้นเม็กซิโกที่ทรัมป์จะสร้าง

ลูกเล่นนี้ยังลามไปถึงกลุ่มนักดนตรีอินดี้ที่ปล่อยเพลงออกมาวันละเพลง เช่น เพลงประกอบสำหรับวันแรกมีชื่อเพลงว่า Fly on Your Wall แล้วเปิดให้คนดาวน์โหลดทั้งอัลบั้มด้วยราคาตั้งต้นที่ $30 ศิลปินกลุ่มนี้จะนำรายได้ไปให้องค์กรที่ทำงานด้านโลกร้อน สิทธิผู้หญิง และผู้ลี้ภัย ซึ่งล้วนเป็นงานที่ต้องรับมือกับนโยบายของทรัมป์นั่นเอง

ภาพจาก Forbes

3. กระแสต้าน #MuslimBan

#MuslimBan รวมถึง #TravelBan กลายเป็นแฮชแท็กที่เห็นบ่อย และเป็นอีกหนึ่งเรื่องสุดโต่งที่ทรัมป์ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียง คือเขาบอกว่าถ้าเขาเป็นประธานาธิบดี เขาจะปิดกั้นไม่ให้คนมุสลิมเข้าประเทศ แล้วเขาก็แสดงออกว่าทำจริงด้วยการเซ็นคำสั่งระงับการรับผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 120 วัน และปิดกั้นไม่ให้คนจาก 7 ประเทศ คืออิหร่าน อิรัก ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน เดินทางเข้าสู่สหรัฐฯ เป็นเวลา 90วัน

การแบนคนจาก 7 ประเทศนี้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมถูกวิจารณ์หนักว่าขัดกับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทำให้มีกลุ่มทนายความ นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อให้คว่ำคำสั่งนี้ ต่อมาทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มีมติยกเลิกคำสั่งโดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีหลักฐานว่าชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาก่อการร้ายในประเทศ

การใช้กลไกของศาลดูจะเป็นส่วนหนึ่งของการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร แต่เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ เพราะฝ่ายทรัมป์สู้กลับว่า ลำพังแค่ความเห็นของผู้พิพากษาแขวงจะมาล้มคำสั่งประธานาธิบดีได้อย่างไร ที่แน่ๆ เขายังไม่ยอมแพ้ ยังยืนยันจะทำตามเดิม โดยบอกว่าจะกลับไปคิดใหม่ อาจแก้ไขคำสั่งนิดหน่อย ปรึกษานักกฎหมายเพิ่ม แล้วออกคำสั่งใหม่ใจความคล้ายเดิมในเร็วๆ นี้

4. รู้จัก Fact Check และ Pinocchio Test

ทรัมป์เป็นอีกหนึ่งผู้นำโลกที่ก่นด่าสื่อเสมอว่าชอบบิดเบือนข้อมูล ขณะที่สื่อก็จับไต๋ได้ว่านักการเมืองทั้งหลายชอบพูดจาเวอร์วัง ทำให้ยุคนี้นอกจากจะมีกระแส Fake News แล้ว สื่อสำนักต่างๆ หันมาให้เน้นทำ ‘Fact Check’ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่สื่อหลายสำนักจะมีหมวดหมู่นี้ไว้ในเกมการเมืองครั้งสำคัญ

ภาพจาก Washington Post

การไล่หาข้อเท็จจริงนี้ไม่จำกัดเจาะจงไปที่นักการเมืองคนใดคนหนึ่ง แต่ในยุคที่ทรัมป์เป็นพาดหัวข่าวได้ทุกวันก็ทำให้คนเห็นคำนี้มากขึ้น บางสำนักข่าวก็จะเล่นกับสัญลักษณ์ เช่นมิเตอร์วัดระดับการโกหก หรือใช้สัญลักษณ์รูปพินอคคิโอเพื่อบอกความรุนแรงของความลวง

ตัวอย่างเช่น หลังทรัมป์เซ็นคำสั่งกีดกันไม่ให้คนจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ จนคำว่า #MuslimBan ถูกหยิบขึ้นมาเรียก ทำให้ฝ่ายสนับสนุนทรัมป์โต้ว่า นี่ไม่ใช่การแบนมุสลิมแต่ที่ต้องแบนเพราะมันเกี่ยวกับการก่อการร้าย ที่ต้องแย้งเช่นนี้เพราะหากเป็นการกีดกันด้วยเหตุผลเรื่องเชื้อชาติและศาสนามันจะถูกตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญได้ สิ่งนี้ก็ทำให้นักข่าวไปตามค้น จนพบว่า ที่จริงแล้ว กว่าครึ่งของคนที่มีคดี ‘ก่อการร้าย’ ก็คือคนที่เกิดในสหรัฐฯ นั่นเอง

Terrorist in America After 9/11 โดย New America

ที่มา: http://www.bbc.com/news/world-us-canada-38766364

5. ความจริงอินดี้ ต้อง Alternative Facts

ท่ามกลางกระแสที่ท่วมท้นไปด้วยคำว่า Fake News หรือข่าวปลอมเยอะ เรื่องหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องขำขันไป คือเมื่อสื่อไปขุดภาพจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อคราวของบารัค โอบามา มาเทียบกับคราวของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งภาพชี้ชัดว่าผู้เข้าร่วมในพิธีของทรัมป์มีจำนวนน้อยกว่าอย่างชัดเจน จนต่อมาโฆษกทำเนียบขาวต้องออกมาแก้ต่างว่า ที่จริงแล้วคนที่มาเข้าร่วมพิธีของทรัมป์มีจำนวนมากที่สุดต่างหาก ถ้านับรวมทั้งคนที่มาเข้าร่วมในพิธี กับคนที่ติดตามข่าวจากทั่วโลก

คำอธิบายแบบนี้ ยิ่งทำให้เรื่องนี้ถูกล้อเลียนไปกันใหญ่ และดูจะเข้ากันดีกับคำว่า post-truth ที่ใช้แทนภาวะที่ไม่สนใจความจริง ต่อมา เคลลีแอน คอนเวย์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดี ก็ออกมาช่วยพูดปกป้อง โดยบอกว่าข้อมูลนั้นมันไม่ได้ผิด แต่มันคือ Alternative Facts หรือความจริงทางเลือก (ที่ผู้เขียนแอบอยากเรียกว่าความจริงตามเลือกมากกว่า)

มองในแง่ดี ปรากฏการณ์ทรัมป์อาจกำลังปลุกสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น มีคำและมีวลีมาใหม่ทุกวัน และอย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้ทุกๆ ฝ่ายไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่พยายามหาข้อมูลเพิ่ม ซึ่งก็เหลือแค่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นความจริงตามเลือกหรือเปล่าเท่านั้นเอง

อ้างอิง:

https://www.washingtonpost.com/news/fact-checker/wp/2017/02/13/stephen-millers-claim-that-72-from-banned-countries-were-implicated-in-terroristic-activity/?tid=pm_pop&utm_term=.5d9e5dc271dc

https://www.theatlantic.com/politics/archive/2017/01/is-president-trumps-immigration-order-a-muslim-ban/514989/

http://www.bbc.com/news/election-us-2016-37468751

http://www.bbc.com/news/world-

https://www.yahoo.com/news/ap-fact-check-immigration-raids-182000887.html

http://factcheck.org/

http://www.politifact.com/

https://www.washingtonpost.com/news/fact-checker/

AUTHOR