จากเคย ‘อยู่สบาย’ ก็กลายเป็น ‘อยู่ไม่ง่าย’ : จับตามองความเคลื่อนไหวธนาคารในยุค 4.0

ถ้าว่ากันตามความเคลื่อนไหวในหน้าข่าวแล้ว เดือนที่ผ่านมาน่าจะเป็นเดือนที่เราเห็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจธนาคารกันพอสมควร ไม่ว่าจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนถึงการแถลงข่าวว่าคนไทยจะชำระเงินผ่าน QR Code กันได้แล้ว เรียกได้ว่าอัพเดตกันเยอะจนหนาตาเป็นพิเศษ

และถ้าใครสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารต่างๆ เริ่มตื่นตัวมากขึ้นกับเรื่องเทคโนโลยี ดังที่จะเห็นมีการพูดถึงการตั้งกองทุนเพื่อไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพสายการเงิน หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า FinTech เช่นเดียวกับการที่ผู้บริหารออกมาพูดถึงวิสัยทัศน์ว่าวันนี้ธนาคารไม่สามารถ ‘อยู่เฉย’ ได้เหมือนแต่ก่อน แต่ต้อง ‘วิ่ง’ ก่อนที่จะโดน digital disruption เอาได้

สาเหตุที่ความตื่นตัวเหล่านี้จะดูจริงจังมากในวงการธนาคาร เนื่องจากธุรกิจในกลุ่ม financial service (บริการด้านการเงิน) นั้นถูกยกให้เป็นเต็งอันดับต้นๆ ที่จะโดน digital disruption รองจากธุรกิจสื่อและโทรคมนาคมดังที่เราเห็นข่าวคราวของ Bitcoin ที่มีมูลค่าพุ่งสูงสุดๆ ในครึ่งปีที่ผ่านมา รวมทั้งมุมมองที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Blockchain จะเข้ามาปฏิวัติระบบธนาคารรวมถึงบริการด้านการเงินในไม่ช้า

ก็คงไม่แปลกอะไรที่วงการธนาคารจะต้องรีบปรับตัวกันเสียแต่วันนี้

แต่เราอาจไม่ต้องมองไกลถึงเรื่องที่ธนาคารจะปฏิวัติรูปแบบการทำธุรกรรมหรือการใช้เทคโนโลยีระดับสูงอะไรหรอกนะครับ จริงๆ ตอนนี้ในแง่การใช้ชีวิตทุกๆ วันนั้น เราพบว่าความต้องการด้านการเงินและการทำธุรกิจกรรมต่างๆ นั้นเจอ ‘ความคาดหวัง’ ที่สูงขึ้นกว่าเดิมแล้ว เช่น คนเริ่มซื้อของออนไลน์มากขึ้น หลายคนเริ่มพกเงินสดน้อยลงและหันไปชำระเงินผ่านช่องทางที่สะดวกและปลอดภัยกว่า อย่างเช่น PromptPay หรือการที่หลายคนเริ่มใช้บริการ internet banking และ mobile banking มากขึ้น นั่นเลยทำให้ธนาคารเองต้องเข็นบริการใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่นับวันจะมีชีวิตเป็น digital lifestyle มากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะถ้าใครทำไม่ได้ก็คงจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลูกค้าไม่ประทับใจและเบือนหน้าหนีไปใช้บริการคู่แข่งเอาได้ง่ายๆ เหมือนอย่างผู้เขียนเองก็เลือกใช้ธนาคารประจำตัวจากบริการออนไลน์ที่สะดวกและแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก เพราะส่วนตัวเน้นการโอนเงิน เติมเงินผ่านทางสมาร์ตโฟนเป็นหลักไปแล้ว

จะเห็นว่าโจทย์ของธุรกิจธนาคารนั้นเรียกว่าเจอ ‘สองต่อ’ ไปพร้อมกัน นอกจากจะต้องหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาให้บริการเดิมของตัวเองดีขึ้นกว่าเดิม พัฒนากว่าเดิม สะดวกกว่าเดิม เพื่อให้บริการเหล่านี้ยั่งยืนและตอบโจทย์ลูกค้าได้ต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องหาเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างรูปแบบบริการต่างไปจากเดิม (หรือที่หลายคนชอบเรียกว่า breakthrough technology อย่างพวก Blockchain นั่นแหละฮะ) ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าวันนี้มีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินบนโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่พวกเขาอาจจะไม่ใช่ธนาคาร เช่นบริการ eWallet อย่าง mPay TrueMoney หรือบริการชำระเงินออนไลน์อย่าง PayPal หรือ Alipay ซึ่งนับวันจะแพร่หลายมากกว่าตัวธนาคารเสียอีก

เรียกว่าจากแบงก์ที่เคย ‘อยู่สบาย’ ก็กลายเป็น ‘อยู่ไม่ง่าย’ กันตอนสมัยนี้เนี่ยแหละ

อย่างไรก็ดี ถ้าเรามองในแง่มุมผู้บริโภค การพัฒนาเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์กับเรามาก หลายคนที่เคยแซะกันว่าประเทศเราจะ 4.0 ไหมก็จะเห็นว่าตอนนี้ธนาคารและผู้ให้บริการหลายรายในไทยก็เข็นบริการใหม่ๆ มากมายเข้ามา การใช้ QR Payment ที่จะเริ่มในวงกว้างช่วงปลายปีน่าจะเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ทำให้คนไทยเข้าใกล้ cashless society กันมากขึ้น นอกจากนี้แล้วด้วยทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ตหรือการใช้สมาร์ตโฟนของคนไทยก็แพร่หลายมากพอควรอยู่แล้ว เราก็คงจะเข้ายุค Banking 4.0 ไม่ยากอะไร

แต่ท้ายที่สุดแล้วต่อให้เทคโนโลยีมีเครื่องมือ แต่ถ้าเราไม่ใช้มันก็เท่านั้น

แล้วถึงตอนนั้นอย่าบ่นกันนะครับว่าประเทศเราไม่ 4.0 น่ะ

AUTHOR