เด่นไปจะเป็นภัย : เมื่อสตูดิโอฮอลลีวู้ดอาจไม่ได้ต้องการผู้กำกับลายเซ็นชัดเจน

ช่วงนี้ข่าวผู้กำกับโดนสตูดิโอไล่ออกจากโปรเจกต์มีให้ได้ยินบ่อยมากพร้อมๆ กับการที่ค่าย Warners Bros. ออกมาให้ข่าวว่าจริงๆ แล้วทางสตูดิโอก็ไม่ได้ต้องการทำงานกับผู้กำกับที่มีลายเซ็นชัดเจนมาก ยกเว้นไว้เพียงแต่ผู้กำกับบางคน เช่น คริสโตเฟอร์ โนแลน

อย่าเพิ่งด่าสตูดิโอ อย่าเพิ่งเศร้าแทนผู้กำกับ เรื่องนี้มองได้หลายแบบ แล้วแต่คนคิดอย่างไร เอาเป็นว่ามาดูโครงสร้างและเหตุผลของระบบนี้กันก่อน

โดยเบสิก, ภาพยนตร์ไม่ว่าจะทำออกมาเพื่อเน้นค้าขายหรือไม่ค้าขาย สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคือเงิน และเป็นเงินจำนวนมากเสียด้วย เดิมพันความเสี่ยงมันอยู่ตรงจุดนี้ เป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่างให้หมุนไป โดยเงื่อนไขรวมๆ คร่าวๆ มีหลายแบบ ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เช่น

1. เจ้าของเงินรักผู้กำกับมาก, ผมอยากดูพี่ทำงานออกมา อยากมีชื่อว่าเป็นผู้ลงทุนสร้างงานชิ้นนี้ เอาเงินไปพี่ ไปสร้างอะไรมาก็ได้

2. เจ้าของเงินต้องการสร้างหนังเพื่อทำเงิน, ทำไงก็ได้ให้คนมาดูเยอะที่สุด, แต่ยังไม่มีไอเดีย ไปคิดมา แล้วมาบอกด้วย

3. เจ้าของเงินต้องการสร้างหนังเพื่อทำเงิน, ทำไงก็ได้ให้คนมาดูเยอะที่สุด, มีไอเดีย มีหนังภาคก่อนหน้านั้น มีทุกอย่างแล้ว บทก็มี แพลนสร้างสวนสนุกก็มี แพลนขายของก็มี มีหมดเลย, เอาเงินไป ทำตามนี้มา

เคสที่ 1 ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร รักใคร่ชอบพอกันก็เอาเงินไป ในกรณีของเคสที่2 เมื่อสตูดิโอค้นพบช้างเผือกหรือผู้กำกับที่จะนำความรุ่งเรืองมาสู่บริษัท การเจรจาก็จะเกิดขึ้น บางครั้งสตูดิโอไม่มีไอเดียนัก ก็จะถามผู้กำกับว่านายมีเรื่องมาเสนอไหม ถ้ามี ก็ลองเอามาคุยกัน สตูดิโอจะฟังว่ามันน่าสนใจไหม ควรใช้เงินสร้างเท่าไหร่ และจะคิดว่ามันจะขาดทุนหรือไม่เวลาฉาย

เคสที่ 3 นี่แหละของจริง, สตูดิโอมีแพลนชัดเจนที่จะพิชิตโลกมากมายหลายแบบ เช่น การสร้างหนังเพื่อจะนำไปสู่การจะเอาเนื้อเรื่องในหนังไปแตกยอดแล้วสร้างเป็นเครื่องเล่นในธีมปาร์ค การเดเวลอปหนังโดยคิดมาแล้วว่าคาแรกเตอร์นี้จะกลายเป็นตุ๊กตาขายได้ในท้องตลาด การทำหนังเพื่อไปพิชิตตลาดเมืองจีนเลยต้องมีฉากที่พระเอกผู้ร้ายไปสู้กันที่เมืองจีน ฯลฯ แบบนี้คือการทำหนังเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า (ค้ามากค้าน้อยว่ากันไป) ที่ชัดเจน, เคสนี้นี่แหละที่ทำให้เกิดเรื่องราวมากมายที่ผมเขียนถึงต้นบทความ

หนังแฟรนไชส์แบบ Star Wars หรือแก๊งมาร์เวลทั้งหลายจึงมีการควบคุมการผลิตอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ดำเนินไปตามแผนระยะยาวหลายปีที่พวกเขาวางไว้ (โดยเฉพาะแก๊งมาร์เวลที่ต้องวางแผนยาวมาก เพื่อให้บรรดาซูเปอร์ฮีโร่ของพวกเขามีโอกาสวนไปเวียนมาตามหนังเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังของตัวเอง) ดังนั้นสตูดิโอจะมีแผนแน่ชัดว่าพวกเขากำลังจะสร้างอะไร ทำอะไร มู้ดโทนควรไปในทางไหน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือผู้กำกับที่มีความสามารถมากพอที่จะมากำกับงานชิ้นนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง และค้นหาคนเขียนบทภาพยนตร์ที่จะเขียนหนังให้สนุก แปลกใหม่ เท่ หรือได้ชิงออสการ์ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ของบริษัทที่วางไว้, ว่าง่ายๆ นี่คือการว่าจ้างทำของโดยแท้จริง

จ้างถูกคนก็ดีไป จ้างผิดคนนี่เกิด conflict ยาว

ในส่วนของคนเขียนบทภาพยนตร์ที่โลดแล่นอยู่ในฮอลลีวู้ดนั้น การเปลี่ยนตัวคนเขียนนั้นแทบจะเป็นเรื่องธรรมดามาก ในฮอลลีวู้ดมีคนเขียนบทเป็นร้อยๆ พันๆ ให้ได้เลือกสรร หนังบางเรื่องต้องเปลี่ยนคนเขียนถึง 4 – 5 คนกว่าโปรเจกต์จะผ่าน (คนเขียนคนสุดท้ายมักได้เครดิตเป็นคนเขียนบทไป คนเขียนดราฟต์แรกก็หายไปในอากาศ) การโยกย้ายคนเข้าออกถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการจ้างงาน ไม่มีการคำนึงถึงหัวอกคนเขียนแต่อย่างใด ใครเขียนไม่ดีหรือไม่ค่อยถูกใจ ก็จ่ายเงินแล้วเอาออกไป

ด้านผู้กำกับก็เช่นกัน เอ็ดการ์ ไรต์ แฮงค์อยู่กับโปรเจกต์ Ant-Man อยู่หลายปี สุดท้ายเขาก็ไม่ได้กำกับหนังเรื่องนี้ด้วยเหตุผลเรื่อง creative difference หรือล่าสุดสองผู้กำกับจาก 21 Jump Street ที่ได้รับการวางตัวว่าจะได้มากำกับหนังเรื่อง Han Solo อันเป็นภาคสปินออฟของ Star Wars นั้น ก็ถูกไล่ออกจากโปรเจกต์ สองผู้กำกับพูดติดตลกว่า “พวกเรานึกว่าเขาจะจ้างเรามาทำหนังแอ็กชั่นตลกอย่างที่พวกเราเคยทำเสียอีก” และสตูดิโอก็เปลี่ยนตัวไปใช้ผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง รอน ฮาเวิร์ด ที่อาจจะตรงกับไดเรกชันที่สตูดิโอต้องการมากกว่า

โดยปกติ หนังสตูดิโอทั่วไปนั้นก็มีการควบคุมระดับหนึ่งแล้ว แต่หนังแฟรนไชส์นั้นน่าจะเคร่งครัดมากกว่านั้นมากมาย สถานะของสตูดิโอคล้ายกับการเป็น showrunner มากกว่า คือเป็นคนควบคุมจักรวาลของหนังในแฟรนไชส์ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งหมด คล้ายๆ กับเป็นโปรดิวเซอร์ของบรรดาซีรีส์ที่คิดมาหมดแล้วว่าซีรีส์ทั้งหมดจะต้องเป็นอย่างไร ผู้กำกับที่มาทำแต่ละตอนนั้นก็เพียงแค่เดินตามไกด์ไลน์ที่วางมาให้ทั้งหมด (ก็แน่ล่ะ จะกำกับตอน 2 ให้แตกต่างจากตอน 1 ได้อย่างไร ตัวละครมันก็ตัวเดียวกัน สตอรี่ก็ต่อกัน) ดังนั้นผู้กำกับจะเป็นเหมือนคนที่ทำให้บทภาพยนตร์กลายเป็นภาพอย่างแท้จริง อาจแทรกความคิดเห็นแตกต่างของตัวเองได้เล็กน้อย แต่ภาพรวมของซีรีส์ก็จะต้องสำคัญกว่าอยู่ดี เช่นเดียวกับหนังสตูดิโอที่พ่วงมากับจุดประสงค์อื่นๆ เช่น ไปบุกตลาดจีน สตูดิโอจะมีโจทย์สำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในหนังอยู่แล้ว ผู้กำกับเพียงแค่ทำตามไป หรือเสนอไอเดียใหม่ๆที่ส่งเสริมโจทย์นั้นเท่านั้นเอง

แน่นอนว่าสิ่งนี้อาจจะเข้าได้กับผู้กำกับบางคนเป๊ะก็เป็นได้ คนอย่างจอน ฟาฟโรว์ อาจจะมีความสุขกับการทำ Iron Man ไปเรื่อยๆ เพราะเขามีวิสัยทัศน์ตรงกับสตูดิโอ ก็รอดไป สบายเลย แต่หลายครั้งผู้กำกับบางคนก็ไม่ได้มีไดเรกชันที่ตรงกัน บางทีพยายามลองปรับกันดูแล้ว แต่สุดท้ายไม่ตรงกันจริงๆ ก็ต้องโบกมือลากันไป เหมือนคู่แฟนคบกันมาหลายปีแต่สุดท้ายเลิกรากันไป ไม่มีใครผิดใครถูก เราแค่เข้ากันไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ ของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดคือ หนังที่ออกมาหลักๆ ในแต่ละปีจะเป็นหนังแฟรนไชส์ที่อาจจะไม่ได้ต่างกันมาก Star Wars ก็จะรสชาติประมาณนี้ทั้งหมด มาร์เวลจะตลกประมาณนี้ทั้งหมด กวนตีนประมาณนี้ทั้งหมด ซึ่งก็คงเพียงพอสำหรับคนดูทั่วไป เพราะหนังเหล่านี้ยังสามารถทำเงินไปได้เรื่อยๆ ก็แสดงว่ายังมีคนพึงพอใจหนังเหล่านี้อยู่ในระดับที่ดีถึงดีมาก ซึ่งนี่ไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่เราจะมีรสชาติอาหารอื่นๆ ให้กินน้อยลง หรืออาจจะหากินยากขึ้น (เอ๊ะ นี่เป็นปัญหาไหมนะ)

หลายคนเฝ้าคิดถึงถึงยุค new hollywood ช่วงปลาย 1960s ถึงต้น 1980s ยุคที่สตูดิโอใจดีมากๆ ถึงขนาดยอมให้เงินสแตนลีย์ คูบริค ไปสร้างหนังซูเปอร์เซอร์อย่าง 2001 : A Space Odyssey อันเป็นหนังศิลปะที่ใช้เงินสร้างจำนวนมหาศาล รวมถึงบรรดาหนังเล็กหนังน้อยที่ปล่อยให้ผู้กำกับหน้าใหม่โชว์ลายเซ็นอย่างเต็มที่อย่างเช่น Bonnie and Clyde, Easy Rider, Taxi Driver, The Graduate สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เพราะในเวลานั้นสตูดิโอมึนงงว่าควรจะสร้างหนังอะไรต่อไปดีในยุคที่โรงหนังเสื่อมความนิยมเพราะทีวีเริ่มเข้ามาแทนที่ สตูดิโอจึงยอมให้ผู้กำกับหน้าใหม่เข้ามาปล่อยของในระบบสตูดิโอ หนังสตูดิโอในยุคนั้นจึงหลากหลายมาก อย่างที่ยุคนี้หาไม่ค่อยได้อีกแล้ว และมันมาสิ้นสุดเอาตอนที่ Jaws และ Star Wars ของผู้กำกับหน้าใหม่สองคนที่ชื่อสตีเวน สปีลเบิร์ก และ จอร์จ ลูคัส ทำเงินมหาศาล หลังจากนั้นสตูดิโอก็ค้นพบสูตรหนังที่เรียกว่า ‘บล็อกบัสเตอร์’ กลายเป็นมาบรรทัดฐานจนถึงทุกวันนี้

หนังสตูดิโอในยุค 2010 นี้อาจจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อีกหลายสิบปี หรืออาจจะถึงจุดสิ้นสุดในอีกไม่ช้า ไม่มีใครคาดเดาได้ มันคือความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา หมุนไปตามสตูดิโอ ผู้ชม เทคโนโลยี และสังคมของโลกใบนี้ การมาถึงของหนังที่สร้างโดย Netflix เพื่อให้คนดูอยู่ที่บ้านไปเลยก็อาจจะทำให้เกิดอะไรใหม่ หรืออาจไม่ทำให้เกิดอะไรเลยก็ได้

การสร้างหนังเรื่องหนึ่งออกมาได้ก็เหมือนกับการได้พบเจอเนื้อคู่ของสตูดิโอกับผู้กำกับ มันอาศัยจังหวะ เวลา และนิสัยใจคอที่พอดีกัน เราคนดูก็ได้แต่เฝ้าคอยว่างานแต่งงานครั้งต่อไปจะออกมาแบบไหนเท่านั้นเอง

AUTHOR