เมื่อ A.I. เริ่มเข้าใกล้เรากว่าที่คิด

ความสามารถด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันเรียกว่าก้าวกระโดดจนน่ากลัว และทำให้หลายๆ คนแอบกังวลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในอนาคตเสียไม่ได้ ทั้งนี้เพราะคอมพิวเตอร์ในวันนี้ (และอนาคต) ก็ฉลาดเสียอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

และหนึ่งในสิ่งที่หลายๆ คนพูดถึงกันมากในช่วงเดือนที่ผ่านมาคือความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ A.I. (Artificial Intelligence) ซึ่งก็เรียกว่าจุดพลุกันมาตั้งแต่งานประจำปีของ Facebook อย่าง F8 และของ Google อย่าง Google I/O ที่มีการยกช่วงหนึ่งในเรื่องการพัฒนาระบบ A.I. ที่ฉลาดมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโต้ตอบกับมนุษย์ ความสามารถในการเรียนรู้การสั่งงานด้วยเสียงและทำงานที่สลับซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม

ความน่าสนใจคือระบบแบบใหม่นั้นไม่ใช่การที่เครื่องจักรทำงานตามที่มนุษย์ได้โปรแกรมไว้ หากแต่มันสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ตามกาลเวลาเหมือนกับที่มนุษย์เราค่อยๆ เรียนรู้และเสริมความสามารถด้าน ‘ปัญญา’ ของเราไปได้เรื่อยๆ แถมเจ้าคอมพิวเตอร์ที่ว่านี้ก็เรียนรู้ได้รวดเร็วไม่น่าเชื่อด้วย

ตอนที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความอยู่นี้ก็เพิ่งได้ฟังการบรรยายจาก Tencent ในงาน Advertising Week Asia 2017 ซึ่งมีตอนหนึ่งเล่าว่าได้มีการใช้ A.I. ในการเขียนข่าวมากกว่าพันบทความในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งก็มีคนเข้ามาอ่านมากมายโดยที่พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือข่าวที่ถูกเขียนขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์

แถมถ้าจะเอาข่าวที่สร้างเสียงฮือฮาบนโลกออนไลน์ล่าสุดคือการที่ AlphaGo ซึ่งเป็น A.I. ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาเล่นหมากล้อมนั้นสามารถเอาชนะมือหนึ่งของโลกไปได้ 3 กระดานรวดชนิดทำเอาหลายๆ คนพูดกันติดตลก (หรือเปล่า) ว่า “สิ้นหวังกันแล้วชาวมนุษย์”

ต้องยอมรับว่าเรื่องของ A.I. นั้นถูกพูดถึงในแบบ ‘จินตนาการ’ เมื่อหลายปีก่อน ดังที่เรามักเห็นจากหนัง Sci-Fi อย่าง A.I. ที่เป็นหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์อย่าง Jarvis ในหนัง Iron Man ซึ่งเราก็มักคิดว่ามันไกลเกินกว่าจะเป็นจริงกันได้ แต่กลับกลายเป็นว่าด้วยความสามารถของเทคโนโลยีในปัจจุบันแถมความล้ำของนวัตกรรมยุคใหม่ ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราได้เห็นความสามารถของคอมพิวเตอร์ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะการเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมของผู้ใช้งาน การเรียนรู้ภาษาพูดของมนุษย์ทั้งในรูปแบบตัวอักษรและเสียง เช่นเดียวกับที่เหล่าผู้พัฒนาสินค้าต่างๆ ที่หันมาผลิตอุปกรณ์เหล่านี้กันอย่างจริงจังจนกลายเป็นสินค้าแพร่หลายกันแล้วในหลายๆ ประเทศ ซึ่งก็คาดว่าน่าจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่แพร่หลายในอนาคตเหมือนกับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน

และแม้ว่าทุกวันนี้มันอาจจะดูประหลาดๆ กับการที่เรา ‘พูด’ หรือ ‘คุย’ กับคอมพิวเตอร์ แต่ก็คงเชื่อได้ว่ามันจะกลายเป็นเรื่องปกติในอีกไม่นานนัก

ถ้ามองในแง่ดี การพัฒนา A.I. ก็ย่อมทำให้มนุษย์อย่างเราๆ สะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม เพราะเราก็คงได้เอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้อะไรได้อีกมากโข

แต่ที่น่ากลัวพอๆ กันคือ ถ้า A.I. มันฉลาดกันมากๆ แล้วจะเหลืองานอะไรให้มนุษย์ทำกันบ้าง เพราะถ้า A.I. ผนวกเข้ากับเครื่องจักรอย่างหุ่นยนต์ต่างๆ ก็สามารถจะทำงานใหญ่ๆ ยากๆ เยอะๆ แทนมนุษย์ได้ แถมไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมีดราม่าอะไรแบบแรงงานชาวมนุษย์เป็นแน่ จนนั่นกลายเป็นคำเตือนของนักคิดหลายๆ คนว่าจะมีงานจำนวนมากหายไปในอนาคต เพราะเราสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนเราได้แล้ว

นั่นก็อาจจะทำให้หลายๆ คนแอบกังวลอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังโชคดีที่วันนี้ A.I. ยังไม่ได้ล้ำขนาดที่ว่า และมนุษย์ก็ยังเป็นคนควบคุมและสั่งงาน A.I. อยู่ดี

ก็เอาเป็นว่าตอนนี้เราคงยังสบายใจได้อยู่บ้าง และก็คงดูว่าเมื่อรายใหญ่ๆ ของโลกหันมาทำ A.I. กันอย่างจริงจังแล้ว เราจะเห็นอะไรดีๆ ในอนาคตต่อจากนี้กัน

AUTHOR