เมื่อสปีลเบิร์กลงมาลุย ศึกระหว่างโรงหนังและเน็ตฟลิกซ์ครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนัก

Highlights

  • หรือจะเป็นจริงตามทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า Roma ไม่ชนะรางวัลออสการ์สาขา Best Picture เพราะเป็นหนังเน็ตฟลิกซ์ ในเมื่อเพิ่งประกาศผลออสการ์ไปไม่ทันไร ผู้กำกับบิ๊กเนมอย่าง Steven Spielberg ก็ออกมาสั่งลุยร่าง พ.ร.บ.ออสการ์ห้ามหนังเน็ตฟลิกซ์เข้าชิงออสการ์
  • แล้วทำไมเน็ตฟลิกซ์ที่ตั้งตัวว่าจะสร้างพื้นที่ทางเลือกให้กับวงการภาพยนตร์ ถึงต้องพยายามพาตัวเองมายืนอยู่ในพื้นที่เดิม แถมเป็นจุดสูงสุดของพื้นที่เดิมอย่างยอดเขาออสการ์ ดูท่าความรักในภาพยนตร์จะไม่ใช่เหตุผลเดียวซะแล้ว

เรื่องมันเริ่มต้นที่ Roma ไม่ได้รับรางวัลออสการ์สาขา Best Picture

อันที่จริงหลายคนกล่าวว่าการที่หนังอย่าง Roma พ่ายแพ้สาขาหนังยอดเยี่ยมให้แก่ Green Book นั้นมีสาเหตุเดียวเลยคือ เพราะมันเป็นหนังที่เน็ตฟลิกซ์แบ็กอัพ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบรรดาสตูดิโอและโรงหนังหวาดกลัวว่าบริษัทสตรีมมิ่งนี้จะมายึดวงการหนังที่ตัวเองครอบครองอยู่เพียงใด ตอนแรกที่ผมได้ยินสาเหตุนี้ ในใจก็คิดว่าไม่จริงหรอกน่า มันคงฟันธงแบบนั้นไม่ได้เสียทีเดียว เพราะตัวหนังอย่าง Roma เองก็เป็นหนังคนละสไตล์กับ Green Book โดยสิ้นเชิง คงไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงทุกคนที่อยากจะดูชีวิตประจำของสาวใช้ชาวเม็กซิโก และตัวสปีดหนังก็ไม่ได้ดีไซน์มาสำหรับผู้ชมทั่วไปเท่าไหร่นัก ผมเลยคิดว่าในเรื่องสไตล์หนังที่ค่อนข้างเป็นศิลปะประมาณหนึ่งนั้นอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้หนังไม่ได้รางวัลมากกว่าเรื่องความเป็นเน็ตฟลิกซ์ พวกนายคิดเรื่องแผนสมคบคิดมากไปหรือเปล่า

hollywoodreporter.com

แต่แล้วผมก็คิดว่าผมอาจมองโลกในแง่ดีไป เมื่อเจอข่าวว่า สตีเวน สปีลเบิร์ก ประกาศกร้าวร่าง พ.ร.บ.ออสการ์เพื่อป้องกันไม่ให้หนังจากเน็ตฟลิกซ์เข้ามาแข่งในเวทีนี้ได้อีก

การเปิดตัวของหัวหน้าใหญ่คนนี้เหมือนเป็นการกึ่งยืนยันเล็กๆ ว่า ไอ้ข่าวลือที่ว่า Roma โดนกีดกันทางการค้าโดยมือที่มองไม่เห็นนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน (ตอนโหวตเขาไม่ได้มาหยอดบัตรใส่กล่องให้เห็นแบบต่อหน้าต่อตา จริงไหม ดังนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้อยู่นะ) สปีลเบิร์กกล่าวว่าทางบอร์ดออสการ์รุ่นใหญ่ทั้งหลายจะมีการประชุมภายในเร็ววันนี้และเรื่องที่จะหารือกันคือ หนังเน็ตฟลิกซ์ไม่ควรจะได้รับสิทธิ์ให้เข้าประกวดในออสการ์อีกต่อไป โดยจะออกกฎว่าหนังที่มีสิทธิ์ชิงออสการ์จะต้องไม่เปิดตัวครั้งแรกในระบบสตรีมมิ่ง รวมถึงหนังจะต้องฉายโรงอย่างน้อย 4 อาทิตย์ (ซึ่งกฎเดิมจะประมาณแค่ฉายติดต่อกัน 7 วัน ซึ่งเน็ตฟลิกซ์สามารถเอาหนังจับยัดใส่โรงฉายเพื่อส่งประกวดได้ง่ายๆเลย) ทั้งหมดนี้เพื่อไม่ให้หนังแบบเน็ตฟลิกซ์มาทำลายวัฒนธรรม (และธุรกิจ) การดูหนังในโรงภาพยนตร์ สปีลเบิร์กทิ้งท้ายว่า จริงๆ หนังแบบเน็ตฟลิกซ์ได้ชิงแค่รางวัล Emmy ก็พอแล้วนะครับ

vanityfair.com

ลุงกำนันถึงขั้นออกตัวขนาดนี้ แต่บรรดาผู้กำกับอนาคตใหม่หลายคนก็ไม่เห็นด้วย Ava DuVernay ผู้กำกับหญิงผิวสี (จากเรื่อง Selma) ออกมาทวีตตอบโต้สปีลเบิร์กว่า ฟังฉันบ้างค่ะ

เอวารักเน็ตฟลิกซ์ เธอกล่าวว่าเน็ตฟลิกซ์คือที่ที่ให้โอกาสในการทำหนังหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังที่มีเนื้อหาว่าด้วยผู้หญิงหรือคนผิวสี ก็มีอยู่ในแผนงานสร้างของเน็ตฟลิกซ์มากมาย เอวายังแนบท้ายไว้เล็กน้อย ไอ้งานประชุมภายในที่ลุงสปีลเบิร์กจะไปเข้าร่วมเนี่ย บรรดาสมาชิกออสการ์ทั่วไปอย่างตัวเธอเองนั้นไม่มีสิทธิ์ได้เข้าร่วม เธออยากจะไปถกเถียงเรื่องนี้ในที่ประชุมมาก แต่ก็เข้าไปไม่ได้ ดังนั้นก็ได้แต่ฝากไว้ในทวิตเตอร์นี่แหละค่ะ

ฟังดูมีเหตุผล เป็นเส้นทางของคนรุ่นใหม่ แต่ว่า : หนังเรื่องใหม่ล่าสุดของเอวา ดูเวอร์เนย์ ชื่อเรือง When They See Us อำนวยการสร้างโดยเน็ตฟลิกซ์

‘อ้าว เพิ่งได้เงินจากเขามาทำหนัง ก็ต้องเชียร์เขาล่ะซี่’ มันจะต้องมีใครสักคนคิดแบบนี้แน่ๆ แน่นอนว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์ก็ทำตัวเป็นเสี่ย ให้เงินผู้กำกับหน้าเก่าหน้าใหม่มากมายได้ไปทำหนังที่มีความแตกต่างจากหนังสตูดิโอทั้งหลาย ดังนั้นจะเรียกว่าเน็ตฟลิกซ์ได้ซื้อใจคนในวงการมากมายเอาไว้แล้วก็ไม่น่าจะผิด ล่าสุด Ben Affleck ก็ยังให้สัมภาษณ์แบ็กอัพเน็ตฟลิกซ์ในช่วงทัวร์โปรโมตหนังใหม่ Triple Frontier (แน่นอนว่า เป็นหนังที่อำนวยการสร้างโดยเน็ตฟลิกซ์) โอ้โห ตอนนี้คือพวกเยอะเลย แต่มานั่งดูกันจริงๆ หนังที่เน็ตฟลิกซ์ให้ผู้กำกับเหล่านี้ไปทำมาหรือที่เน็ตฟลิกซ์ซื้อมาจัดจำหน่าย มันก็เป็นหนังหรือซีรีส์ที่มีเนื้อหาแตกต่างจากหนังฮอลลีวูดปกติจริงๆ คุณจะเห็นได้จาก Roma, The Ballad of Buster Scruggs, Maniac, Black Mirror: Bandersnatch มันพิเศษกว่าจริงๆ (ปนๆ กับหนังแมสๆ แบบ Bird Box)

ดูเหมือนระบบสตรีมมิ่งนี้จะมีพรรคพวกเป็นมนุษย์เจนใหม่ พวกเยอะแบบนี้ จะไปกลัวอะไร เน็ตฟลิกซ์ทวีตตอบโต้สปีลเบิร์ก เสมือนเป็นการประกาศสงครามกลายๆ

เน็ตฟลิกซ์ทวีตเถียงคุณลุงว่า พวกเรารักหนังนะครับ การมีอยู่ของพวกเราทำให้คนดูหนังในถิ่นทุรกันดาร หรือโซนที่โรงหนังน้อยหรืออาจจะไม่มีโรงหนังเลย ได้มีโอกาสเข้าถึงหนังดีๆ มากมาย และสนับสนุนให้คนทำหนังได้เล่าหนังที่หลากหลาย แม้ว่าคำตอบจะดูปรัชญาและเทิดทูนภาพยนตร์ขนาดนี้ แต่ว่ามันก็ อืม

ความรักแบบไหนที่ทำให้เกิดการใช้เงินทุ่มโปรโมตออสการ์แคมเปญแบบมหาศาล 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐคือจำนวนเงินที่เน็ตฟลิกซ์ทุ่มเทโปรโมตออสการ์แคมเปญให้กับ Roma

ความรักก็คือความรัก แต่ธุรกิจก็ยังต้องเป็นธุรกิจ การที่เน็ตฟลิกซ์ทุ่มเงินโปรโมตมหาศาลเพื่อให้ Roma ชนะ Best Picture เราอาจจะไม่เรียกว่านี่คือความรักเพียวๆ แต่มันคือเส้นทางธุรกิจที่คุณต้องลงทุน เพราะถ้า Roma ชนะ Best Picture นั้น เกมธุรกิจจะเปลี่ยนหมด เน็ตฟลิกซ์จะดูยึดครองโลกได้แล้วจริงๆ เพราะพวกเขาพาหนังตัวเองที่มาจากแพลตฟอร์มเล็กบินไปถึงจุดสูงสุดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้สักที และเน็ตฟลิกซ์จะสร้างที่ทางมากมายให้กับบริษัทตัวเองได้ในที่สุด ดังนั้นความรักที่มีต่อหนังและธุรกิจพันล้านจึงเหมือนจะเบลอเลือนและรวมเข้าด้วยกัน จนหลายๆ ครั้งเราก็แยกไม่อออกเช่นกันว่านี่มันความรักหรือเงินตรา

อันที่จริงแล้วคอนฟลิกต์เหล่านี้เกิดขึ้นมาก็เพราะเน็ตฟลิกซ์เริ่มจะเดินออกจากกฎที่ตัวเองสร้างไว้ในช่วงแรกเช่นกัน การที่บริษัทสตรีมมิ่งที่เกิดมาเพื่อ disrupt อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ระบบที่พยายามบอกทุกคนว่าเราดูหนังที่บ้านก็ได้นะ ไม่ต้องไปโรงหนัง กลับจะเดินทางย้อนกลับไปหาโมเดลเก่าของการฉายภาพยนตร์เสียเอง หรือพยายามกลับไปเล่นชิงรางวัลบนเวทีของโลกเก่า พยายามจะเข้าฉายในเทศกาลหนังต่างๆ แบบระบบเดิมๆ ทั้งหมดนี้มันทำให้ดูย้อนแย้งในตัวเอง หากเน็ตฟลิกซ์สร้างหนังเองแล้วฉายในแพลตฟอร์มตัวเองอย่างเดียวเหมือนเป็นประเทศที่ปกครองตัวเองเบ็ดเสร็จตั้งแต่แรก ผมคิดว่าในวงการก็ไม่น่าจะมีสงครามกลางเมืองแบบที่เป็นอยู่อย่างนี้ แต่เน็ตฟลิกซ์ก็อาจจะไม่โตได้กว่านี้เช่นกัน

เหตุมันก็เกิดมาจากว่าเน็ตฟลิกซ์ต้องการ ‘ใหญ่กว่านั้น’ ต้องการให้ชื่อของเน็ตฟลิกซ์กระจายเข้าสู่ระบบเก่าที่เป็นแมส ยังต้องการใช้ชื่อรางวัลออสการ์ที่เป็นแมสเช่นกันมาผนึกรวมกับหนังของตัวเอง เพื่อให้หนังเรื่องนั้นดูเป็นหนังที่ใหญ่ขึ้น อลังการขึ้นในสายตาของคนทั่วไป และจะได้ดึงคนทั่วไปเข้ามาอยู่ในระบบแพลตฟอร์มตัวเองได้มากขึ้น ว่าง่ายๆ คือ เน็ตฟลิกซ์ไม่สามารถผลิตคุณค่าแห่งความใหญ่นั้นด้วยตัวเองได้ เพราะตัวเองก็เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการระบบสตรีมมิ่งเท่านั้น หากหนังเน็ตฟลิกซ์ไม่ได้รับการประดับออสการ์หรือเข้าร่วมเทศกาลเมืองคานส์ แถมไม่ได้ฉายในโรงหนังทั่วไป มันก็จะเป็นเพียงแค่หนังทีวีในสายตาของคนทั่วไปอยู่ดี

ทุกแผนที่ทำออกมาในช่วง 2-3 ปีนี้จึงกลายเป็นความพยายามอย่างหนักของเน็ตฟลิกซ์เพื่อขยายร่าง และแน่นอนว่าเมื่อขยายร่างใหญ่แล้ว มันก็อาจจะต้องไปเบียดกับยักษ์อีกหลายตนที่เขาอยู่มาก่อน ว่าง่ายๆ คือ รักจะเปรี้ยวก็ต้องเหนื่อยหน่อย

สุดท้าย เรื่องน่าลุ้นในปีนี้ The Irishman ปล่อยทีเซอร์ในงานประกาศออสการ์

The Irishman คือหนังเน็ตฟลิกซ์ที่พวกเขาภูมิใจเสนอ เขาโปรยงบร้อยล้านให้ Martin Scorsese กำกับ โดยมีดารารุ่นเก๋าสุดอย่าง Robert De Niro, Al Pacino และ Joe Pesci กลับมารวมตัวอีกครั้งพร้อมคุยไว้ว่าหนังเรื่องนี้จะเนรมิตให้ทั้งสามคนกลับมาเป็นหนุ่มได้อีกครั้งด้วยซีจีขั้นเทพ กลายเป็นหนังใหญ่มากๆ ที่ผู้คนคาดหวัง และคิดว่าเน็ตฟลิกซ์เองก็คงคาดหวังกับมันมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคาดหวังให้ได้เข้าเทศกาลหนัง ให้ได้ฉายโรงทั่วไปเหมือนหนังปกติ (อาจจะเป็นหนังเรื่องแรกที่เน็ตฟลิกซ์แพลนจะฉายโรงก่อนเข้าระบบแพลตฟอร์มตัวเองตามปกติ) และที่สุดก็คือคาดหวังให้มันได้รางวัลออสการ์สาขา Best Picture และเห็นมาร์ติน สกอร์เซซี เดินขึ้นบนเวทีอย่างสง่างาม

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น รอดูสปีลเบิร์กเดินเข้าห้องประชุมก่อนดีกว่า  

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา