วัดกึ๋นมิสยูเอสเอ – ประกันสุขภาพเป็น ‘อภิสิทธิ์’ หรือ ‘สิทธิ’ กันแน่?

กลายเป็นดราม่าไปเสียอย่างนั้น เมื่อ Kára
McCullough ผู้เข้าชิงตำแหน่งนางงามสหรัฐอเมริกาตอบคำถามรอบสุดท้ายบนเวทีประกวดว่า การประกันสุขภาพเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษ
ไม่ใช่สิทธิ

เป็นธรรมเนียมทั่วไปของการประกวดนางงามทั่วโลก ที่การแข่งขันรอบท้ายสุดจะต้องวัดกึ๋นและไหวพริบของสาวงามโดยการตอบคำถามสดออกอากาศ
ซึ่งมักมีเวลาแค่ราวๆ 30 วินาทีเท่านั้น

อย่างที่รู้กันว่าคำถามบนเวทีนางงามมักไม่มีคำตอบถูกผิด แต่ต้องใช้ไหวพริบตอบ
บางครั้งคำถามก็ก้ำกึ่งระหว่างคำถามแนวปรัชญา ปัญหาเชาว์ ปัญหาโลกแตก เช่น
ถ้าเปลี่ยนอะไรได้สักอย่างอยากจะเปลี่ยนอะไร?
หรือเรื่องที่เป็นประเด็นร่วมสมัย เช่น จะแก้ปัญหาการก่อการร้ายได้อย่างไร? เรากำลังเผชิญกับปัญหาผู้อพยพอยู่หรือเปล่า?
สาวงามผู้เข้าแข่งขันก็ต้องหาวิธีตอบคำถามสดให้จบใน 30 วินาทีด้วยคำตอบที่รักษาคะแนนนิยมจากทุกฝ่าย

เวทีประชันความงามระดับประเทศของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14
พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา คาร่า แมคคัลลัฟ นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์สหรัฐฯ วัย 25 ปี
ได้ชัยชนะสวมมงกุฎนางงามสหรัฐอเมริกาไปแล้ว


แต่ประเด็นที่อึงอลตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องราวประวัติว่าเธอเป็นใครมาจากไหน
ทั้งที่พื้นเพชีวิตมีมุมน่าสนใจให้ค้นหาไม่น้อย แต่เธอกลับถูกวิจารณ์เยอะมากโดยเฉพาะทางทวิตเตอร์
ที่เทความสนใจไปกับคำตอบบนเวทีนางงามที่เธอถูกถามในเรื่องที่อเมริกันชนโต้เถียงมาตลอดหลายปีมานี้ว่า
“คุณคิดว่า ‘ระบบประกันสุขภาพที่คนจ่ายไหว
(Affordable Health Care)’ สำหรับชาวสหรัฐฯ เป็น สิทธิพิเศษ
(privilege) หรือเป็น สิทธิ (right)?”

เมื่อสิ้นเสียงคำถาม แมคคัลลัฟก็ตอบทันทีด้วยท่าทีมั่นใจ
เธอมองว่ามันคือสิทธิพิเศษ
ยกตัวอย่างจากตัวเธอเองที่เป็นลูกจ้างของรัฐจึงทำให้มีประกันสุขภาพ
และเธอก็เห็นว่าคนคนหนึ่งจะมีประกันสุขภาพได้ก็ต้องมีงานทำก่อน ดังนั้น
จึงจำเป็นต้องช่วยกันพัฒนาสังคมที่จะสร้างโอกาสให้คนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกันทั่วโลก

แมคคัลลัฟยังถูกถามด้วยว่า
เธอนิยามคำว่า feminism ว่าอะไร และตัวเธอเองเป็น feminist ไหม เธอตอบว่า
เธออยากจะเปลี่ยนคำจากคำว่า feminism เป็นคำว่า equalism แทน
ซึ่งพอตอบแบบนี้ก็ทำให้เธองานเข้าเข้าไปอีกดอกที่ไปตอบคำถามทำนองว่าสนใจเรื่องความเท่าเทียมมากกว่าเพ่งที่คำว่าสิทธิสตรีอย่างเดียว

ฟังเผินๆ ก็ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่คำตอบนี้ทำให้แมคคัลลัฟถูกวิจารณ์รอบด้าน คนส่วนหนึ่งหงุดหงิดทันทีเมื่อเธอพูดว่า
‘ประกันสุขภาพที่คนจ่ายไหวจัดเป็นสิทธิพิเศษ’ ถึงขั้นโจมตีเลยเชียวว่าเธอช่างไร้การศึกษา ขณะที่คนอีกส่วนบอกว่า
เธอเจ๋งต่างหากที่ยอมรับว่าสุดท้ายแล้วระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่ตอนนี้ก็ยังไม่ใช่
‘สิทธิ’ เพราะยังมีปัญหาในระบบอีกมากมาย
ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้จริง

ปัญหาก็คือ ทั้งคำถามและคำตอบมันกำกวม
สิ่งที่แมคคัลลัฟตอบจึงถูกตีความไปได้สองทาง คนอาจจะตีความว่ามันเป็นความเห็นของเธอ
มากกว่าจะเป็นการอธิบายระบบประกันสุขภาพในปัจจุบัน

สำหรับสังคมอเมริกัน การต้องไปโรงพยาบาลจ่ายค่าหมอ
ถือเป็นรายจ่ายราคาแพงที่อาจทำให้คนคนหนึ่งล้มละลายได้
ทำนองว่ารักษาตัวจนหายป่วยไข้แล้วแต่ถ้าเห็นบิลค่ารักษาก็อาจจะอยากเปลี่ยนใจไปตายดีกว่า
วิธีป้องกันความเสี่ยงก็คือ การซื้อประกันสุขภาพของเอกชน
แต่ประกันเหล่านี้มีราคาแพง
หากไม่ได้ทำงานในองค์กรใหญ่หรือองค์กรของรัฐซึ่งจะมีสวัสดิการส่วนนี้ให้
คนทั่วไปหรือคนที่ทำงานในบริษัทขนาดเล็กก็ต้องจ่ายเองในราคาที่สูงกว่า ชาวสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งจึงไม่มีประกันสุขภาพเลย

สมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า
ก็พยายามแก้ปัญหาคนไร้หลักประกันด้วยการออกกฎหมายระบบประกันสุขภาพที่คนจ่ายไหว (Affordable
Health Care) หรือที่รู้จักกันว่า โอบาม่าแคร์
เพื่อพยายามบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพเอกชน มีแรงจูงใจนิดหน่อยด้วยการลดภาษี

แต่โอบาม่าแคร์ก็ใช่ว่าจะทำได้ราบรื่น แม้ธงของมันคือการทำให้ทุกคนมีประกันสุขภาพ
แต่ด้วยกลไกตลาด พอมีคนซื้อมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ประกันราคาแพงขึ้น
และความขี้เหนียวของบริษัทประกันก็ฉวยโอกาสนี้ลดสิทธิประโยชน์และความครอบคลุม
ภายใต้ระบบนี้ คุณภาพของตัวประกันสุขภาพย่อมแตกต่างกันไปตามฐานะและขนาดขององค์กรที่ทำงาน
ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือทำงานบริษัทใหญ่
ก็ต้องจ่ายเบี้ยแพงกว่าหรือเจอคุณภาพประกันสุขภาพที่ลดน้อยลงไปตามสภาพ

ระบบทั้งหมดที่ว่ามานี้ขึ้นกับบริษัทประกันเอกชนล้วนๆ นอกจากนี้
สหรัฐฯ ยังมีระบบสวัสดิการสุขภาพของรัฐ
แต่มีข้อจำกัดว่าคนที่เข้าถึงได้ต้องเป็นกลุ่มคนชราและคนจน ซึ่งสมัยที่เบอร์นี
แซนเดอร์ส หาเสียงประธานาธิบดี
จุดเด่นหนึ่งของนโยบายแซนเดอร์สคือการประกาศจะขยายสวัสดิการสุขภาพของรัฐให้ใช้ได้สำหรับคนทุกกลุ่มคล้ายรัฐสวัสดิการในหลายประเทศ

จากคำถามคำตอบบนเวทีนางงาม คนก็ตีความไปมากมาย
ลดทอนความหมายกลายเป็นว่า แมคคัลลัฟมีความเห็นว่า ประกันสุขภาพ (ควร) เป็นอภิสิทธิ์ ไม่ใช่สิทธิ ทั้งทีวี
หนังสือพิมพ์ ต่างพุ่งเป้าเพื่อถามเธอเรื่องนี้ แมคคัลลัฟย้ำว่า
เธอยืนยันในสิ่งที่เธอได้พูดไป เธอเชื่อว่า แนวคิดเรื่องระบบประกันสุขภาพที่คนจ่ายไหวเป็นแนวคิดที่ดี
แต่เธอก็พบว่า กรณีของเธอ มันไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยปริยายในฐานะพลเมือง
แต่ได้มาเพราะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไงเล่า ดังนั้น เธอจึงมองตามสภาพปัจจุบันว่ามันเป็นเรื่องสิทธิพิเศษต่างหาก

แม้วิธีตอบคำถามของแมคคัลลัฟจะฉีกตำราโลกสวย เธอก็มองว่า การถกเถียงแบบนี้มันเป็นเรื่องปกติในสังคมอเมริกา

ส่วนคำถามเดียวกันนี้ ถ้ามาถามในบริบทประเทศไทย
คำตอบและวิวาทะก็คงยาวและมีประโยชน์มากไม่ต่างกัน ดังนั้น
รอลุ้นเวทีประกวดนางงามไทยก็แล้วกัน หากมีคำถามแนวนี้ออกมาบ้างก็คงสนุกไม่น้อย

ภาพ missosology.org

AUTHOR