การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกผ่านไปแล้ว เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ผู้สมัครอิสระที่อายุน้อยที่สุด และ มารีน เลอเพน (Marine Le Pen) จากพรรคการเมืองขวาจัดเป็นสองคนที่ได้คะแนนสูงสุดที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งรอบสองในเดือนพฤษภาคมนี้
การลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่คาดเดาผลได้ยากที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
เพราะแม้ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครจากตัวเลือก
11 คน อีกทั้งยังเป็นการเลือกตั้งในบรรยากาศไม่สู้ดีนัก
เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน หรือเพียงแค่ 3 วันก่อนลงคะแนน
เกิดเหตุจลาจลที่มีมือปืนกราดยิงใส่รถตำรวจที่ย่านฌองเซลิเซ่ ใจกลางกรุงปารีส จนทำให้มีตำรวจหนึ่งนายเสียชีวิต
กลุ่มก่อการร้ายไอเอสก็ฉวยโอกาสนี้อ้างว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ
ซึ่งยิ่งเคี่ยวให้บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่มีประเด็นว่าด้วยการก่อการร้ายและคนเข้าเมืองร้อนแรงขึ้นไปอีก
แม้เดาล่วงหน้ายากว่าใครจะได้ชนะในเกมนี้
แต่สิ่งแน่นอนที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ถูกต้องคือ
ไม่มีผู้สมัครคนใดเลยที่ได้คะแนนเกินครึ่ง
นั่นหมายความว่าจะต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง
โดยคัดเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองคนมาชิงชัยกันอีกครั้งในอีก 14 วันข้างหน้า คือวันที่ 7 พฤษภาคม
จากกระแสโลกตั้งแต่เรื่องประชามติ
Brexit ที่ทำให้สหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในกระบวนการพาตัวเองออกจากสหภาพยุโรป
และการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนักธุรกิจผู้แสดงท่าทีรังเกียจคนต่างชาติอย่างเปิดเผยอย่าง
โดนัลด์ ทรัมป์ บรรยากาศเหล่านี้มีผลต่อการเมืองฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน
ผู้สมัครแต่ละคนต่างประกาศจุดยืนที่มีต่อเรื่องสหภาพยุโรป
นโยบายว่าด้วยคนเข้าเมืองและการรับผู้ลี้ภัย การฟื้นระบบเศรษฐกิจ
และรวมถึงเรื่องอย่างอัตลักษณ์แห่งความเป็นฝรั่งเศส
เมื่อผลการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ 23 เมษายนออกมาแล้วว่าผู้สมัครหญิงที่โดดเด่นและมาแรงที่สุดอย่าง
มารีน เลอเพน จากพรรคแนวหน้าแห่งชาติ (France’s
National Front – FN) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด
และนักการเมืองหนุ่มทางสายกลางอย่าง เอมมานูเอล มาครง คือสองผู้สมัครที่เข้ารอบสุดท้าย
ซึ่งสองฝ่ายมีขั้วคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้การเมืองฝรั่งเศสในสองสัปดาห์ถัดจากนี้
คือการเดิมพันว่าประชาชนจะเลือกกำหนดทิศทางประเทศให้หันไปทางใด
‘มารีน เลอเพน’ นักการเมืองหญิงผู้ประกาศกร้าวเอาฝรั่งเศสออกจากอียู
มารีน เลอเพน
เกิดมาในครอบครัวผู้ก่อกำเนิดพรรคแนวหน้าแห่งชาติ (FN) การเติบโตมาเป็นลูกสาวที่ใช้นามสกุลร่วมกับ
ฌอง มารี เลอเพน (Jean-Marie Le Pen) พ่อของเธอ ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะใครต่างก็จำเขาได้จากการที่เขาออกมาพูดว่า
ห้องรมแก๊สของนาซีเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง
ซึ่งคนรอบตัว ทั้งครู พระ และพ่อแม่ของเพื่อน ต่างก็แสดงออกว่าไม่ชอบพ่อของเธอ
มารีนเป็นทนายความ
แต่ก็เช่นกัน นามสกุล Le Pen ที่ติดตัวไปตลอดทำให้ง่ายที่จะถูกปฏิเสธงาน
แรงกดดันเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกไม่เป็นธรรม
สุดท้ายก็เลิกงานทนายความแล้วไปทำงานให้แก่พรรค FN แทน
แต่การที่เธอเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำพรรคที่พ่อสร้างขึ้นมา
ได้ทำให้ช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อห่างกันออกไปอีก โอลิวิเย่ โบมงต์ (Olivier
Beaumont) นักข่าวที่เขียนอัตชีวประวัติของมารีนเผยว่า มารีนกับพ่ออยู่โดยไม่คุยกันมามากกว่า 2 ปีแล้ว
เพราะพ่อเองก็ดูจะรับไม่ได้ที่คนอื่น แม้จะเป็นลูกสาวในสายเลือด
มามีอำนาจในพรรคที่เขาสร้างและฟูมฟักมานานกว่า 40 ปี
แต่มารีน เลอเพน
ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรค FN จากเดิมที่ดูเป็นพวกขวาสุดโต่งที่ไม่คิดปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่
มาเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมที่อยู่ในสายตาของคนมากขึ้น ในวันนี้ เลอเพนคือชาตินิยมตัวแม่ที่ประกาศอย่างไม่อายว่าต่อต้านผู้อพยพ
มีนโยบายหลักจะดำเนินการถอนสมาชิกภาพของฝรั่งเศสในสหภาพยุโรป เพิ่มจำนวนตำรวจ
สร้างคุกเพิ่ม ลดจำนวนแรงงานข้ามชาติให้เหลือแค่ปีละ 10,000 คน
และจะไล่ผู้อพยพที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายออกไปโดยทันที
ชัยชนะของ Brexit ในสหราชอาณาจักร และโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา
ช่วยเสริมความมั่นใจให้มารีนว่า กลยุทธ์ของเธอน่าจะมาถูกทาง จากนี้ไปก็อยู่ที่ว่าชาวฝรั่งเศสจะตีความเรื่อง ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’
อันเป็นอุดมการณ์พื้นฐานของประเทศ
ให้หลงเหลือเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนมนุษย์มากน้อยแค่ไหน
‘เอมมานูเอล มาครง’ อดีตนายธนาคารผู้เชื่อมั่นในตลาดเสรี
ด้วยวัยเพียง
39 ปี หากเขาชนะการเลือกตั้ง เอมมานูเอล มาครง
จะเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
มาครง
อดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ อดีตนักการธนาคาร
เพิ่งตัดสินใจออกจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้วเพื่อมาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามผู้สมัครอิสระ โดยเน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
และยังคงสนับสนุนให้ฝรั่งเศสเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป
ในเวลาไม่ถึงปี
ผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจในสื่อ ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่หนุนหลัง
กลับค่อยๆ เพิ่มคะแนนความนิยม จนกลายเป็นตัวเต็งว่า
เขานี่แหละที่อาจเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้
การเป็นนักการเมืองอาจไม่ได้อยู่ในแผนการชีวิตของมาครงมาก่อน
ตรงกันข้าม สมัยเรียนเขาเคยคิดอยากเป็นนักเขียนนิยาย
คนที่เป็นแรงบันดาลใจและมองเห็นพรสวรรค์นี้ในตัวเขา ก็คือ บริจิตต์ โทรเญอ (Brigitte
Trogneux) ครูสมัยมัธยมผู้สอนภาษาฝรั่งเศสและการละคร
มาครงตกหลุมรักเธอขณะเขาอายุ 16 ปี ตอนนั้นเธอแก่กว่าเขา 24
ปี แต่งงานแล้วและมีลูก 3 คน แต่ด้วยความจริงจังในความสัมพันธ์
ทำให้เธอตัดสินใจจบชีวิตสมรสเดิม หันมาคบหากับมาครงและแต่งงานกันในปี 2007
ชีวิตรักที่ไม่ธรรมดาก็น่าจะบอกถึงความมุ่งมั่นในแบบที่มาครงมี แอนน์ ฟุลดา (Anne Fulda) ผู้เขียนชีวประวัติของมาครงบอกว่า
เขามีความคิดที่ว่า ถ้าเขาสามารถชนะใจผู้หญิงที่อายุมากกว่า 24 ปีแถมยังเป็นแม่ของลูก 3 คนที่อาศัยในเมืองเล็กๆ ได้
ท่ามกลางการสบประมาทและเย้ยหยัน
เขาก็สามารถควัาชัยชนะในฝรั่งเศสด้วยวิธีการไม่ต่างกัน
ตอนที่มาครงประกาศจะลงเลือกตั้ง
พร้อมเดินหน้าแคมเปญ En Marche (On the Move) ในเดือนเมษายน 2016
ก็มีคนสบประมาทเขาไว้ว่ามันเป็นแนวคิดที่ไร้เดียงสาและไม่น่าจะประสบความสำเร็จ
แต่การณ์กลับตรงกันข้าม En Marche มีคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ
แรงผลักหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกหันมาชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดี
ก็มาจากประสบการณ์การทำงานในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลฟรองซัวส์ โอลองด์ (François Hollande) ซึ่งเขาอยากจะเสนอแนวทางปฏิรูประบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ภายใต้ชื่อ Macron Law แต่แนวคิดไปด้วยกันไม่ได้กับจุดยืนแบบสังคมนิยม
มาครงมักจะย้ำเสมอว่าเขาต้องการสร้างการเมืองแบบใหม่
ที่ไม่ต้องอาศัยโครงสร้างแบบดั้งเดิม
แผนการหาเสียงของเขาพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานการทำวิจัยตลาดที่เขาถนัด อาสาสมัครของ En
Marche ค้นคว้าความต้องการของคนลงคะแนนเสียงด้วยการลงพื้นที่ไปเคาะตามประตูเพื่อพูดคุยขอสัมภาษณ์คนกว่า
25,000 คน แล้วนำผลที่ได้มาพัฒนาเป็นข้อเสนอทางการเมืองในแบบที่ไม่ซ้ายไม่ขวา
มาครงแถลงนโยบายจะช่วยชาวนา
ช่วยอุตสาหกรรม ช่วยผู้ประกอบการและแรงงาน
โดยมีมาตรการลดภาษีเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระคนมีรายได้น้อย ทุ่มงบลงทุน 50 พันล้านยูโร เพื่อสร้างทักษะงาน ส่งเสริมพลังงานทางเลือก
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และจะเสนอให้โรงเรียนสั่งแบนไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15
ปีใช้มือถือในโรงเรียน
แต่แนวทางแบบมาครงก็ถูกวิจารณ์ว่ากว้างเกินไปและไร้ประเด็น
หากไม่นับจุดยืนเสรีนิยมที่เชื่อมั่นใน ‘ตลาด’
และเรื่องที่ยังยืนยันจะให้ฝรั่งเศสเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป
เรื่องอื่นๆ เขาถูกวิจารณ์ว่าเขาพูดจาทั้งสนับสนุนและคัดค้านไปพร้อมกันได้ในทุกเรื่อง
ส่วนเลอเพนเคยหัวเราะเยาะเขาว่าฟังเขาอภิปรายจนจบแล้วแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเสนออะไร
แถมเขายังเคยถูกตั้งฉายาว่า Bla-Bla-Land เพราะพูดได้เยอะแยะแต่ไม่มีนโยบายเด่น
สิ่งที่พอบอกได้ในการเลือกตั้งรอบแรก
คือความพ่ายแพ้ของสองพรรคการเมืองดั้งเดิมอย่างพรรคสังคมนิยมและพรรครีพับลิกัน
ที่ทำผลงานไม่เข้าตาและทำให้คนเบื่อหน่ายการเมือง
แถมยังสวิงกลับมากลายเป็นโอกาสให้พรรคเล็กและผู้สมัครอิสระเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองระดับชาติได้
ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ตัวเลือกของชาวฝรั่งเศสถูกบีบเข้ามาแล้ว จากตัวเลือกที่ต่างกันชัดเจนนั้น
ประชาชนจะไปลงคะแนนเสียงให้ทางไหน
ระหว่างแนวทางเศรษฐกิจแบบรัฐมีบทบาทควบคุมแทรกแซงหรือแบบปล่อยตลาดเสรี
ระหว่างการปิดพรมแดนหรือเปิดพรมแดน
ระหว่างการออกจาก EU หรือคงสภาพสมาชิกไว้แบบเดิม ทั้งหมดนี้จะมีผลระยะยาวไม่เพียงแต่ฝรั่งเศส
แต่ยังส่งผลกระทบต่อระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย
อ้างอิง: theguardian.com, washingtonpost.com, bbc.co.uk (1), bbc.co.uk (2)