อยากจะบอกไปถึงนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่กำลังสนใจหรือเรียนด้านสื่อข่าวและมีความตั้งใจอยากทำงานเกี่ยวกับสังคมการเมืองหรือประเทศ ในฐานะคนที่เคยนั่งอยู่ในจุดเดียวกันเมื่อ 15 ปีก่อนผ่านการทำงานโทรทัศน์และผันมาทำงานออนไลน์เต็มตัวแล้ว ว่าทุกครั้งที่มีคนบอกว่า “งานออนไลน์มันตื้น มักง่าย มันหยาบ มันอายุสั้น” โปรดรับฟังเอาไว้แต่อย่าเพิ่งรีบหลงเชื่อดูแคลนหรือผลักไสทางเลือกในการทำสื่อออนไลน์ออกไปจากชีวิต
2 ปีที่ผ่านมาในฐานะบรรณาธิการข่าว Workpoint News แม้จะเหนื่อย ยาก เครียด และกดดันกับยอดไลก์ยอดแชร์ที่พวกเราถูกโซเชียลมีเดียหล่อหลอมให้ต้องทำตามกติกาของมัน แต่โลกออนไลน์ยังมีอีกหลายแง่มุมให้เป็นโอกาสในการทำงานสื่อในอนาคต โอกาสในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ผู้เขียนทำงานด้านโทรทัศน์มานาน 6 ปีก่อนจะผันตัวมาทำงานออนไลน์เต็มตัวได้ 2 ปีกว่า เรามองเห็นว่างานออนไลน์เป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์กับสังคมจริงๆ
จากร้อยกว่าคลิปที่เรารับผิดชอบในฐานะบรรณาธิการ คลิปสั้นที่มีคนดูและแชร์เยอะที่สุดคือสกู๊ปข่าวเรื่อง ‘ยาชุดซองยามรณะยิ่งกินยิ่งใกล้ตาย‘ ที่จัดทำโดย พริสม์ จิตเป็นธม อดีตผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ (ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าว BBC Thai) โดยนับถึงวันที่ 1 กันยายน 2562 มีคนดูแล้ว 10 ล้านวิว ยอดแชร์ 180,000 กว่าครั้ง
ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญว่าออนไลน์เต็มไปด้วยสื่อขยะ ตื้น สั้น มักง่าย แต่ตัวเลขและสถิติกลับบอกอีกอย่าง
สกู๊ปที่คนดูเยอะที่สุดของเราก็ยังเป็นเรื่องที่มีเนื้อหา มีความลึก มีแหล่งอ้างอิงที่ตรวจสอบได้ และยังสร้างประโยชน์กับสังคม โดยจากกว่า 16,000 ความเห็นที่คนมาหย่อนเอาไว้ในหน้าเฟซบุ๊กกว่าครึ่ง เป็นการแท็กไปถึงคนรู้จักญาติผู้ใหญ่คนใกล้ตัว
จาก 16,000 ความเห็น สมมติขอแค่ร้อยละ 10 หรือเท่ากับ 1,600 คนที่ตัดสินใจเลิกใช้ยาชุดจริงๆ สำหรับเรา เท่านี้มันก็เป็นผลพลอยได้มหาศาลที่เบิกบานในจิตใจของคนทำสื่อแล้ว
ในทางกลับกัน สกู๊ปเรื่องยาชุดนี้ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่เรายังทำงานทีวี ต่อให้ผลิตสารคดียาวสักครึ่งชั่วโมงก็ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าผลจะเป็นอย่างไร เอาแค่เรื่องตัวเลขก็ต่างกันมากแล้ว สกู๊ปออนไลน์ชิ้นนี้มีคนดูหลัก 10 ล้านวิว เรตติ้งนั้นมากกว่ายุคที่ผู้เขียนทำข่าวทีวีเป็นร้อยเท่าตัวได้
และแม้ว่ามันจะสั้น แต่ถ้ามันมีประโยชน์และสนองจุดประสงค์ที่ต้องการนำเสนอ ขนาดความยาว รูปแบบ และพื้นที่ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงไป
ให้โอกาสในการทำเรื่องที่ชอบ
ออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้ได้ทำในสิ่งที่คุณสนใจด้วย K-pop วงไอดอล เซ็กซ์ โรคซึมเศร้า สิ่งแวดล้อม คนพิการ เรื่องพวกนี้ต่อให้ niche แค่ไหนแต่ขอให้ประเด็นแหลมคมและสัมผัสกับผู้คนได้มันจะทำงานในแบบของมัน
ในยุคโทรทัศน์ผู้เขียนเจอกับอุปสรรคในเรื่องนี้ด้วยความที่ทีวีมีค่าแอร์ไทม์ การจะนำเสนอเรื่องอะไรสักเรื่องต้องคุ้นหูคุ้นตาคนดูสักระดับหนึ่งก่อนเพื่อการันตีเรื่องเรตติ้ง แต่ออนไลน์มันไม่มีค่าแอร์ไทม์ เราจะโพสต์วันละกี่ครั้งก็ได้
เคสนี้ขอยกตัวอย่างออนไลน์ของ a day magazine ที่ทำได้ดีมาก คลิป ‘เด็กเซาะกราว เด็กสระแก้วเต้นสู่ฝัน‘ สัมภาษณ์โปรดิวเซอร์ของวง คลิปนี้พูดถึงน้องๆ จากต่างจังหวัดที่คัฟเวอร์เพลงของวง BLACKPINK พูดถึงความพยายามทำในสิ่งที่รัก ทำอะไรทำจริง และมีความสุขไปกับมัน
คลิปนี้มีคนดูนับถึงวันนี้มากถึง 3.5 ล้านครั้ง และมีคนแชร์กว่าสามหมื่นครั้ง (นับเฉพาะโพสต์เดียว) และเป็นคลิปที่เนื้อหาดี มีประโยชน์ ดูแล้วสร้างแรงบันดาลใจ ได้ชื่นอกชื่นใจชื่นชมน้องๆ ที่มีความอุตสาหะ
ถ้าดูคลิปนี้อย่างน้อยที่สุดก็ได้เบิกบาน ได้ฟังเพลงและดูท่าเต้นที่น่ารักๆ ของน้องๆ ซึ่งคนดูแต่ละคนจะกอบโกยประโยชน์จากคลิปนี้ไปได้มากน้อยแค่ไหน จะเห็นมันเป็นอะไรก็แล้วแต่มุมมอง แต่ที่แน่ๆ งานพวกนี้ไม่ใช่ขยะตื้นและกลวงแน่นอน
ความทะเยอทะยานในวิชาชีพ
ในประเทศไทยมีคนเก่งและจิตใจดีที่อยากช่วยกันส่งเสริมทำงานสื่อคุณภาพมากพอที่จะเกื้อหนุนกันผลิตงานใหม่ๆ ที่เกิดประโยชน์
ในช่วงการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 Workpoint News ทำเว็บไซต์รายงานแผนที่ผลการเลือกตั้งแบบอินเทอร์แร็กทีฟ งานนี้เราได้รับความช่วยเหลือจาก Cleverse ที่เชี่ยวชาญด้านการนำเสนอโดยมีคนเข้าไปดูมากถึง 13 ล้านครั้ง (นอกจาก Workpoint News แล้ว The Momentum, iLaw และ Opendream, Voice TV และอีกหลายที่ก็จัดทำเว็บไซต์คล้ายๆ กันนี้ด้วยความสำเร็จในรูปแบบของแต่ละเจ้า)
สิ่งที่อยากจะบอกคือออนไลน์เป็นสนามฝึกที่เปิดโอกาสให้คนเรียนสื่อ อยากทำสื่อ ได้ลองทำงานในระดับที่ไม่น้อยหน้านานาชาติ ถ้าเราเห็นงานต่างประเทศที่สวยๆ มีวิธีคิดที่แปลกใหม่ เราอยากลองทำ อยากคิดในแบบของเรา มันทำได้จริง
สกู๊ปข่าวเรื่อง ‘ปลาทูไทย กำลังจะหายไปจากโลก’ ที่จัดทำโดยไทยรัฐนั่นก็เป็นอีกหลักฐานความทะเยอทะยานทางวิชาชีพ ซึ่งคำนี้สำคัญมาก ‘ความทะเยอทะยานทางวิชาชีพ’ สิ่งนี้อาจไม่ได้ตอบแทนคุณด้วยเม็ดเงินและความร่ำรวยได้เสมอไป แต่มันตอบจิตวิญญาณ มันตอบหัวใจของคุณได้ และยังควบคุมให้คุณทำงานด้วยสัมมาอาชีพ ด้วยจรรยาบรรณที่เข้มแข็งเกิดประโยชน์กับสังคม
‘ความทะเยอทะยานทางวิชาชีพ’ จะยังช่วยผลักดันให้คุณพัฒนาศักยภาพของคุณเอง
เปิดใจให้คุณได้มองโลกขยับไปให้เท่าทันว่าสื่อทั่วโลกทำงานกันแบบไหน แล้วบอกให้เราถ่อมตน เรียนรู้ และอดทนทำงานจนกว่าจะถึงผลสำเร็จ
จุดหมายปลายทางของเราคือการทำประโยชน์กับคนรอบข้างผ่านสื่อที่เราผลิต และไม่ว่าคนจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ตรงไหน เขาจะเปลี่ยนจากวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือ ไปเป็นสื่อออนไลน์ มันก็เป็นหน้าที่ของเราในการศึกษาและเรียนรู้ปรับเปลี่ยนเพื่อทำงานตอบโจทย์ความต้องการในการสร้างพลังบวกให้กับสังคม