ทำไมหนังที่เราว่าดีอาจจะไม่ได้ออสการ์?

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่าร่างกายของคนเรานั้นรับสื่อได้อย่างจำกัด
จดจำอะไรได้อย่างจำเขี่ย
อะไรที่ไม่เคยผ่านตาผ่านหูอาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีงามก็ตาม ดังนั้นการมีอยู่ของสิ่งสิ่งหนึ่ง
แค่ความดีของมันอาจจะไม่พอ (แม้ว่าการทำดีสุดท้ายก็จะมีคนเห็นนะ
แต่อาจจะใช้เวลานาน หรือเห็นเมื่อสายเกินไป) การทำให้ความดีเป็นที่ประจักษ์นั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในสมรภูมิที่ของดีจำนวนมากมาอยู่รวมกัน คือถ้าดีอยู่แล้ว ก็ต้องทำตัวให้ดูดียิ่งกว่าของดีอันอื่น

#หนังออสการ์ก็เช่นกัน

การที่หนังเรื่องหนึ่งจะเข้ามาเป็นผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์
หรือหนทางสู่การได้รางวัลออสการ์นั้น มีเทคนิควิธีการมากมายร้อยเล่มเกวียน
แน่นอนว่าหนังดีน่ะมันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหนังดีแล้วคนไม่รู้จักก็ตกรอบได้เหมือนกัน
และอย่างที่อาจจะเคยกล่าวไปบ้างว่า การได้รางวัลออสการ์นั้นไม่ใช่แค่รางวัลเกียรติยศ
แต่หมายถึงรายได้ของการจำหน่ายดีวีดีและบลูเรย์ของหนังเรื่องนั้นในอนาคต
หมายถึงเครดิตของนักแสดง ผู้กำกับ และทีมงานคนอื่นๆ (ซึ่งอาจใช้อัพค่าตัวได้อีก 2 เท่าในงานถัดไป) ดังนั้นเส้นทางสู่ออสการ์ถือเป็นเส้นทางที่ผู้สร้างภาพยนตร์จำเป็นต้องลงทุนเพื่อเบียดตัวแข่งกับผู้สร้างหนังดีเรื่องอื่นๆในการที่จะไปถึงปลายทาง
มันจริงจังจนถึงขั้นมีตำแหน่งงานที่ชื่อว่า Award Consultant ขึ้นมา
เขาคือคนที่จะวางแผนการให้ทั้งหมดว่าจะได้รางวัลได้ยังไงบ้าง

2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการลงคะแนนให้รางวัลนั้น
ถือเป็นสมรภูมิแห่งการพีอาร์ หนังทุกเรื่องจะงัดทุกวิธีและทุกกลยุทธ์มาใช้ขอคะแนนจากผู้มีสิทธิ์โหวตด้วยวิธีการต่างๆ ที่น่าสนใจ
เช่น

Elle
: ต้องอย่าลืมว่าอิซาเบล
อูแปร์ แม้ว่าเธอจะดังสุดๆ ในยุโรป แต่เธอก็ไม่ใช่คนอเมริกัน คนอาจจะเคยได้ยินชื่อ
แต่ไม่เคยรู้จักเธอมาก่อน (ก็คงคล้ายๆ ว่า
อยู่ๆ มีดาราสิงคโปร์มาเข้าชิงรางวัลหนังไทย
ก็จะดูเป็นสายรองทันที ดูเป็นคนแปลกหน้า) ดังนั้นทีมพีอาร์ต้องทำงานหนักมากเพื่อที่จะดันเธอไปให้ถึงฝั่ง
(ซึ่งมีสิทธิ์เป็นไปได้อยู่
ถ้าพีอาร์ดีๆ)
ดังนั้นทีมงานก็พาเธอไปออกงานมากมายในฮอลลีวู้ด
พาไปขึ้นปกนิตยสารอย่าง Vanity Fair (ซึ่งสามารถซื้อการขึ้นปกได้ในราคาประมาณ
80,000
ดอลลาร์ฯ) ซื้อสื่อต่างๆ
บิลบอร์ดอีกมากมาย เปิดรอบพิเศษ ส่งแผ่นตัวอย่างหนังเรื่อง Elle ให้ทั่วถึงทุกคน
หรือกระทั่งให้คุณป้าเปิดอินสตาแกรมเป็นของตัวเอง ว่าง่ายๆ คือกูเล่นทุกสื่อจริงๆ
แต่คิดว่าการทำอะไรแบบนี้น่าจะใช้เงินอยู่ไม่น้อย (ประมาณการณ์กันว่าใช้ไปประมาณ
2
ล้านดอลลาร์ฯ) แต่ถ้าอูแบร์ได้รางวัลขึ้นมาจริงๆ
นี่ก็จะคุ้มมากนะ

La
La Land
: เรื่องนี้แม้ว่าจะนอนมา
แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะช่วงหลังมีกระแสตีกลับเยอะกว่าหนังนั้นโอเวอร์เรท
หนังไม่เห็นจะดีแบบที่ทุกคนอวย เวอร์ไปเปล่า? อันนี้ทีม La La Land คงทำอะไรไม่ได้
นอกจากตั้งใจโชว์กระบวนการการทำงานไปเรื่อยๆ ใช้แผนเป็นคนดีไปเลย
ช่วงหลังๆ นี่ก็เริ่มปล่อยเบื้องหลังการถ่ายทำออกมาแบบกระจายแหลก
หรือไม่ก็ข่าวที่แสดงถึงความเพียรของทีมงาน เช่น ปล่อยคลิปไอโฟนที่ เดเมียน
ชาเซลล์ ใช้อัดบันทึกการซ้อมเต้นฉากทางด่วนก่อนที่จะไปถ่ายจริง (แสดงถึงความเพียร 1) เบื้องหลังไรอัน
กอสลิ่งซ้อมเปียโน (แสดงถึงความเพียร 2) จัสติน
เฮอร์วิทซ์ ออกมาเผยว่าการทำเพลงประกอบของหนังมีเดโมมากกว่า 1,900
ร่าง
เพราะว่าโปรเจกต์เริ่มนานแล้ว ไม่ได้ทำสักที ก็ทำเพลงรอเงินไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นบทเพลงในภาพยนตร์ที่ทุกคนรัก
(แสดงถึงความเพียร 3)

Moonlight
: ทีมนี้มาสายดราม่าเพื่อชีวิต
คือพอวีคท้ายๆ นี่ มีข่าวออกมาทันทีว่า อเล็กซ์ อาร์ ฮิบเบิร์ต นักแสดงวัย 12 ปีในหนังเรื่องนี้ตั้งใจจะเอาค่าตัวจากการเล่นหนังไปลงให้กับการวิจัยโรคมะเร็งเพื่อจะได้จ้างหมอและสร้างแล็บดีๆ ได้
นอกจากนั้นน้องยังกล่าวว่า ผมรู้ว่าชื่อเสียงมีพลังแค่ไหน
แต่ผมจะใช้พลังนั้นเพื่อช่วยแม่และคนอื่นๆ โหน้อง
เหมือนมาแข่งร้องเพลงที่เมืองไทยเลย แบ็กกราวนด์แน่น
เอาเป็นว่านี่ก็อาจจะทำให้น้องได้รับการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิ์โหวตเพื่ออนาคตที่สดใสของน้อง

The
Salesman
: หนังอิหร่านเข้าชิงสาขารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ
ของผู้กำกับอัสการ์ ฟาร์ฮาดี ผู้กำกับ A Separation ที่ตอนนี้มีสิทธิ์ได้รางวัลออสการ์สูงมาก เนื่องจากผู้กำกับประกาศไม่มาร่วมงานออสการ์เพื่อต่อต้านนโยบายกีดกันไม่ให้มุสลิมเข้าประเทศของประธานาธิบดี โดนัลด์
ทรัมป์ (ซึ่งจริงๆ ตัวเขาเองได้รับวีซ่าพิเศษให้เดินทางเข้าอเมริกาเพื่อมาร่วมงานออสการ์ได้เรียบร้อยแล้ว) แม้ว่าเจตนาของคุณอัสการ์อาจจะจริงใจและอยากจะประท้วงจริงๆ
เคสนี้อาจจะไม่ใช่แผนพีอาร์ แต่ทันทีที่เรื่องเชื้อชาติและการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
ก็อาจทำให้คนโหวตลงคะแนนให้หนังเรื่องนี้เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนในการต่อต้านทรัมป์ไปในตัว แม้ว่าหนังตัวเต็งตอนนี้จะเป็นเรื่อง Toni Erdmann แต่ว่าบางทีออสการ์ก็อาจจะอยากให้ในงานเกิดซีนมอบรางวัลแล้วชาวมุสลิมไม่มารับรางวัลเพราะนโยบายทรัมป์มากกว่า,
คิดเล่นๆ ว่า
ถ้าพี่เขายอมบินมานี่ อาจจะไม่ได้รางวัลก็ได้นะ
บางทีผลรางวัลก็แกว่งได้ง่ายๆ แบบนี้เลย

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่าการเป็นหนังดีแต่เพียงอย่างเดียวนั้นเกิดขึ้นได้
หากผู้สร้างหนังตั้งใจทำมันอย่างดี แต่การเป็นหนังดีเพื่อมวลชนนั้น มีเพียงผู้สร้างแต่เพียงลำพังอาจจะไม่พอจริงๆ (คือต่อให้คุณจะคิดว่าคุณพอ
แต่คนอื่นก็จะเล่นใหญ่และทำให้คุณรู้สึกว่ามันไม่พอจนได้)

AUTHOR