“เมื่อใดสื่อสยบต่อรัฐ เมื่อนั้นรัฐจะข่มเหงประชาชน” – Collective สารคดีโรมาเนียที่ชวนนึกถึงไทย

ตะขิดตะขวงใจนิดหน่อย แต่ก็ต้องขอบคุณกระแสออสการ์ที่มีส่วนช่วยพา Collective มาถึงโรงหนังเมืองไทย เพราะในสถานการณ์ปกติ ถ้าไม่ใช่เทศกาลภาพยนตร์หรืออีเวนต์พิเศษเป็นครั้งคราว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผู้จัดจำหน่ายซื้อหนังสัญชาติโรมาเนียมาฉายในโรงขายตั๋ว คูณความยากเพิ่มไปอีกเมื่อเป็นหนังสารคดี

Collective สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังโรมาเนียเรื่องแรกที่ข้ามฟากไปถึงเวทีออสการ์ได้สำเร็จ (และเป็นเรื่องที่ 2 ถัดจากสารคดีนอร์ทมาซิโดเนีย Honeyland (2019) ที่ได้เข้าชิงควบทั้งสาขาหนังสารคดีกับหนังต่างประเทศ) ตีแผ่ความฉ้อฉลบิดเบี้ยวชวนสิ้นหวังของประเทศที่มีสถานะเสมือนฐานเหยียบยืนของสหภาพยุโรป สานต่อสิ่งที่คนทำหนังรุ่น Romanian New Wave เริ่มถางทางไว้ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 (ทั้งสำรวจโรมาเนียปัจจุบัน สมัยคอมมิวนิสต์ใต้อำนาจ Nicolae Ceaușescu ไปจนถึงตอนที่ประเทศกลายเป็นมือตีนให้นาซี) ด้วยเรื่องจริงที่เหลือเชื่อราวกับหนังฮอลลีวูด ซึ่งเพิ่งถูกเปิดแผลออกเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว

ความรู้สึกแรกของผมหลังเครดิตจบก็คงคล้ายคนส่วนใหญ่ที่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ (ซึ่งฉายจำกัดโรง) ประมวลจากน้ำเสียงในเนื้อความของบรรดาสเตตัส ทวีต แคปชั่น บทความต่อยอดประเด็น หรือบทวิจารณ์ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงที่หนังเข้าฉายใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่คำถามของหนังคือคำถามเดียวกับที่คนกลุ่มใหญ่ในหมู่ผู้ชมกำลังมองหาคำตอบหรือคำอธิบายอยู่เช่นกัน

หนังอะไรวะ คุ้นฉิบหาย โคตรไทยเลย

กระจกสะท้อนต่อสื่อมวลชนกระแสหลัก

Documentary Club เองก็ทราบความจริงข้อนี้ไม่แพ้ใคร สื่อประชาสัมพันธ์ของหนังเลยตีแสกหน้าความคุ้นที่โคตรไทยด้วยพาดหัวตัวไม้ แถมเปิดตัวหนังด้วยเวทีเสวนาหัวข้อการทำข่าวสืบสวนและการตีแผ่ความจริงของสื่อมวลชน เพื่อเชื่อมสะพานระหว่างโรมาเนียกับประเทศไทยสมัย คสช.-พลังประชารัฐ ประโยค “เมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมต่อรัฐ เมื่อนั้นรัฐจะข่มเหงประชาชน” (ซึ่งตัดมาจากบทสนทนาจริงในหนัง) ไม่เพียงเป็นตัวกระตุ้นความสนใจที่เห็นผลได้ชัด ต่อมายังกลายเป็นข้อถกเถียงหลักในบทวิจารณ์ภาพยนตร์ บทความต่อยอดประเด็น หรือบทสัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยที่เผยแพร่หลังหนังฉายจำนวนมาก

เสมือนว่า Collective รับหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความคับข้องใจที่คนไทยมีต่อนักข่าวหรือสื่อมวลชน “กระแสหลัก” ในภาพรวม และความอึดอัดใจของสื่อมวลชนไทยกลุ่มที่ไม่ได้อยากเป็นไมโครโฟนเชื่องๆ ดังข้อกล่าวหา แต่กำลังเผชิญข้อจำกัดมากมายในช่วงเวลาที่ท้าทาย เพราะคำถามที่ถูกต้องของสื่อมวลชนและการยืนหยัดสืบสวนทำข่าวเพื่อให้ความจริงปรากฏ คือจุดเปลี่ยนของเรื่องราวทั้งหมดในช่วงปี 2015-2016 ของโรมาเนีย

คืนวันที่ 30 ตุลาคม 2015 เกิดเพลิงไหม้ระหว่างฟรีคอนเสิร์ตที่ไนต์คลับ Colectiv ในกรุงบูคาเรสต์ ซึ่งกลายเป็นอัคคีภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โรมาเนีย ด้วยความแออัดชุลมุนบวกกับตัวอาคารดัดแปลงที่ขาดระบบป้องกันกับทางหนีไฟที่เพียงพอ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 28 คน บาดเจ็บอีกร่วม 200 วันที่ 3 พฤศจิกายน ประชาชนเรือนหมื่นจึงออกมาประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล (ภายใต้ชื่อ #Colectiv Revolution) เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทย และนายกเทศมนตรี เพราะเห็นว่าทั้งสามมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อความสูญเสีย หลังปล่อยใบอนุญาตให้ Colectiv ทั้งที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานดับเพลิง เช้าวันถัดมาคณะรัฐมนตรีประกาศลาออกทั้งชุดเพื่อลดแรงกดดัน (นอกจากกรณีไฟไหม้ นายกยังมีคดีเลี่ยงภาษีจนเสียตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเป็นนายกโรมาเนียคนแรกที่ขึ้นศาลคดีคอร์รัปชั่นขณะดำรงตำแหน่ง) แต่จำนวนผู้ชุมนุมยังคงเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกประเทศ เรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่กับปฏิรูปเพื่อสลายชนชั้นอำนาจการเมืองเดิม ก่อนได้ ครม.ใหม่เป็นกลุ่มเทคโนแครตที่จะบริหารประเทศให้ครบวาระที่เหลืออยู่ปีเศษแทน

ในขณะที่ผู้บาดเจ็บบางส่วนได้ย้ายไปรักษาตัวต่างแดน รัฐบาลก็เรียกความมั่นใจออกสื่อว่าโรงพยาบาลในประเทศมีความพร้อมและได้มาตรฐานยุโรป แต่ฝีหนองเชื้อโรคใต้ผ้าพันแผลลุ่ยๆ ก็ผุพอง เมื่อคนไข้จากไนต์คลับตายคาเตียงโรมาเนียมากกว่า 30 คนตลอดเดือนพฤศจิกายน หลายรายไม่ได้เจ็บสาหัสหรือโคม่า บางรายขอใบส่งตัวคนไข้ข้ามประเทศแล้วกลับถูกดึงเรื่องไว้–Cătălin Tolontan จากหนังสือพิมพ์กีฬา Gazeta Sporturilor (หรือ The Sports Gazette) ผู้เคยสืบสวนเปิดโปงเครือข่ายทุจริตจนรัฐมนตรีกีฬากับประธานสโมสรฟุตบอลต้องตกเก้าอี้พร้อมขึ้นศาล จึงตั้งทีมข่าวเพื่อสืบประเด็นนี้ เมื่อไม่มีนักข่าวสายตรงหัวไหนตั้งคำถามที่ถูกต้องกับความไม่ชอบมาพากลตรงหน้า

น้ำยาฆ่าเชื้อที่โรงพยาบาลรัฐผูกปิ่นโตสั่งซื้อถูกเจือจางส่วนผสมจนไม่สามารถฆ่าแบคทีเรียได้จริง สืบความย้อนอดีตก็พบว่าหน่วยข่าวกรองระดับชาติรู้เรื่องมาหลายปีแต่นิ่งเฉย ปล่อยให้ชีวิตคนไข้ต้องเสี่ยงกับสภาพแวดล้อมอย่างจานเพาะเชื้อ ซึ่งแทบไม่ต่างจากสมัยที่หมอ พยาบาลยังไม่เคร่งครัดเรื่องล้างมือฟอกสบู่ บริษัทยาปลอมแปลงเอกสารเพื่อค้ากำไรจากเวชภัณฑ์ไร้คุณภาพ ในขณะที่รัฐก็ล้มเหลวหรือจงใจปล่อยผ่านการตรวจสอบ สถานการณ์ยิ่งเหมือนแล่เนื้อเอาเกลือทา เมื่อรัฐมนตรีสาธารณสุข (อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง) แถลงรับรองว่ายาฆ่าเชื้อตัวนี้มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 95 หลังเผชิญแรงกดดันให้สอบสวนข้อเท็จจริง ขัดแย้งกับสิ่งที่ทีมข่าวค้นพบอย่างสิ้นเชิง

ทีมข่าวของโตลอนตันกัดเรื่องนี้ไม่ปล่อย ยิ่งสืบสวนจนพบหรือได้ข้อมูลเพิ่มจากแหล่งข่าวในโรงพยาบาลกับบริษัทยา ยิ่งชวนเคลือบแคลงถึงสายพานการทุจริตในระบบสาธารณสุขที่ทอดยาว (ทำไม “หมอ” ที่เป็นรัฐมนตรีถึงช่วยออกหน้ารับรอง) เมื่อข่าวตีพิมพ์ความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องประชาชนยิ่งออกมาชุมนุมประท้วง จนในที่สุดรัฐมนตรีต้องลาออกและขึ้นศาลพร้อม CEO บริษัทยา รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบยาฆ่าเชื้อตัวปัญหาอีกรอบ คราวนี้พบว่าเจือจางส่วนผสมจริง แต่ไม่ตอบว่าทำไมครั้งก่อนถึงกล้ารับรอง และก่อนคนในคดีจะได้ซัดทอดใครเพิ่ม CEO บริษัทยาก็รถคว่ำตายไปก่อน (คว่ำจริงหรือฆ่าปิดปาก นักข่าวกับประชาชนก็คงสงสัยคล้ายๆ กัน)

ชัดแล้วว่าที่ผ่านมาเราคือแรงหนุนของคำลวง

ผู้กำกับ Alexander Nanau (Toto and His Sisters, 2014) ฟอร์มทีมลงสนามจริงแทบทันทีที่เกิดคำถาม (ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2015) คำถามถึงความบิดเบี้ยวที่ผู้ชุมนุมซึ่งตะโกนชื่อโตลอนตันเป็นการสดุดี หรือกระทั่งตัวโตลอนตันกับเพื่อนสื่อในทีมก็คงเคยคิดอยู่บ้างว่าพวกนักข่าวมัวแต่ทำอะไร ทำไมเรื่องใหญ่ระดับนี้ต้องรอให้หนังสือพิมพ์กีฬาเป็นตัวเปิดเรื่อง? ยืนยันด้วยประโยคที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อภาษาอังกฤษหลายครั้ง ใจความเคียงบ่าเคียงไหล่กับคำที่หนังเลือกเน้นเป็นแรงขับเคลื่อนของทีมข่าวสืบสวน “ชัดแล้วว่าที่ผ่านมา เราคือแรงหนุนของคำลวง”

ไม่แปลกที่คำถามนี้ทำงานกับผู้ชมและสื่อมวลชนไทยอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเราต่างได้เห็นการสร้าง (และทำลาย) ไอดอลจากข่าวคดีฆาตกรรมเด็ก เห็นความเงียบของสมาคมวิชาชีพหลังถูกปาเปลือกกล้วย ฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้า หรือขึ้นบัญชีดำเพราะนั่งไขว่ห้าง เห็นเสื้อกล้ามเอวลอยถูกป้ายยาหม่องเมื่อต้องขึ้นจอโทรทัศน์ เห็นสิ่งที่สื่อก็รู้ว่าช่วยผลิตซ้ำคำลวงให้อำนาจแต่ก็เค้นเขียนออกมาเป็นเนื้อข่าว เห็นวิดีโอถ่ายทอดการปราศรัยของผู้ชุมนุมถูกลบทันควันเมื่อเนื้อหาทำท่าจะสุ่มเสี่ยง (หรืออาจไม่นำเสนอข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น) ในขณะที่การเขียนข่าวบิดเบือนให้ร้ายด้วยข้อมูลเท็จกลับทำได้อย่างเสรี–ข้อเรียกร้องถึงองค์กรสื่อของฐปณีย์ เอียดศรีไชย หลังปรากฏ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง คำวิจารณ์ตรงๆ ถึงสถานะไมโครโฟนเชื่องๆ ที่ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อเก่าในบทสัมภาษณ์ของสุชาดา จักรพิสุทธิ์ และเสียงจากสองนักข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามซึ่งยืนยันว่าสื่อไทยเซนเซอร์ตัวเองจริง พร้อมตัวอย่างข่าวที่บรรณาธิการปัดตกเพื่อรักษา “ความเป็นกลาง” หรือป้องกันการตีความเชื่อมโยงที่ “อ่อนไหว” คือส่วนหนึ่งของตัวอย่างรูปธรรมว่าคำถามนี้รบกวนจิตใจแค่ไหน

ภาพสื่อผู้ไม่สยบยอมอาจฉายแสงกลบมิติอื่นของหนังด้วยบริบทของผู้รับสาร แต่เป้าหมายที่แท้จริงของ Collective คือเหรียญอีกด้านของหนังนักข่าวร่วมสมัยอย่าง Spotlight (Tom McCarthy, 2015), The Post (Steven Spielberg, 2017) หรือ Official Secrets (Gavin Hood, 2019) ซึ่งมีน้ำเสียงเชิดชูสื่อเก่าน้ำดีในอดีตเพื่อสนทนากับอิทธิพลของสื่อใหม่และเฟคนิวส์ นาเนาบอกว่าเขาต้องการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในโรมาเนีย (มากกว่าบันทึกวีรกรรม) จึงเลือกเล่าผ่านสายตานักข่าวสืบสวนที่สอดส่องเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก กล้องของหนังไม่ได้มุ่งตามล่าหาความจริงอย่างสารคดี true crime ทั้งหลาย หากฝังตัวเฝ้าสังเกตคนทำหน้าที่นั้นอีกต่อหนึ่ง ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางครั้งสำคัญเมื่อถ่ายทำไปได้ราว 6 เดือน หลังรัฐมนตรีผู้รับรองยาฆ่าเชื้อต้องลาออก และข่าวลือเริ่มสะพัดเรื่องตัวละครใหม่ที่เซอร์ไพรส์คนทำหนังพอๆ กับคนดู

Vlad Voiculescu อายุแค่ 32 ปลายๆ ในวันแถลงข่าวเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข ก่อนหน้านี้เขาใช้ชีวิตทำงานส่วนใหญ่ในออสเตรีย พอเป็นที่รู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้ป่วย (patients’ rights) และไม่มีบุคลิกแบบ “นักการเมือง” หรือผู้บริหารที่ฝากผีฝากไข้ได้ (โตลอนตันเขียนข่าวสับแหลกว่าตอบคำถามได้พังมาก) แต่การปรากฏตัวของเขาเปิดช่องให้กล้องได้ซอกซอนเข้าถึงระบบผ่านมุมมองผู้มีอำนาจตัดสินใจ (เขาตกลงให้หนังถ่ายได้โดยไม่มีข้อห้าม แต่ถ้าต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สาม โดยเฉพาะข้าราชการในกระทรวง ให้ถามความสมัครใจและประเมินความเสี่ยงเอง) สารคดีครึ่งหลังจึงเลือกเน้นภารกิจรื้อระบบสาธารณสุขโรมาเนียภายในเวลาครึ่งปีที่เหลือก่อนเลือกตั้งเป็นเส้นเรื่องหลัก

Collective ส่งผ่านตัวละครจากนักข่าวสืบสวนสู่รัฐมนตรีหน้าใหม่อย่างแยบยล ด้วยภาพชวนช็อกที่สุดของเรื่อง เมื่อแพทย์หญิงแฉคลิปวิดีโอผู้ป่วยที่มีหนอนขึ้นแผลคาเตียงคนไข้ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่าต่อให้รัฐบาลลาออก คุณภาพชีวิตผู้ป่วยในโรมาเนียก็ย่ำแย่เลวร้ายเหมือนเดิม หนังใช้ประโยชน์จากพลวัตของสถานการณ์มาลำดับการเล่าเรื่องให้ซ้อนความหมายอีกชั้น เปลี่ยนผ่านจากข่าวใหญ่ในมือโตลอนตันสู่ภารกิจใหญ่ของวอยคูเลสคูที่พาเรื่องไปไกลกว่าเปลวเพลิงเมื่อเดือนตุลาคม เพราะถัดจากนี้ไม่ใช่แค่บันทึกผลลัพธ์ของคลับ Colectiv แต่คือเรื่องส่วนรวม (collective)

แผลเน่าที่หนอนชอนไชวางไข่กัดกินเลือดหนอง ก็เป็นแผลบนเนื้อตัวร่างกายคุณเหมือนกัน

ความบ่ายเบี่ยงกลับกลอกและคำตอบที่ไม่เคยตอบอะไร

วิธีจบของ Collective ชวนให้ผมนึกถึงสารคดี The Truth Be Told (พิมพกา โตวิระ, 2007) ซึ่งการชนะคดีหมิ่นประมาทที่ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องสื่อมวลชนขณะนั่งเก้าอี้นายก และเข้าร่วมประท้วงขับไล่รัฐบาลกับกลุ่มพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง) ของสุภิญญา กลางณรงค์ จบลงด้วยรัฐประหาร 19 กันยายน 2006–สิ้นหวังใกล้เคียงกับตอนที่ผลการเลือกตั้งปลายปี 2016 ทำให้พ่อของรัฐมนตรีหนุ่มถึงกับปลงตกว่าย้ายประเทศเถอะลูก

คุณมีสิทธิต้องจ่ายใต้โต๊ะตั้งแต่ยามไปจนถึงห้องพักแพทย์เพื่อให้ได้เตียงคนไข้ ข้อนี้คนโรมาเนียทราบดีอยู่ แต่คงไม่ใช่การฉ้อฉลอวดอำนาจอย่างเปิดเผยของหมอระดับผู้บริหารที่ทยอยถูกเปิดโปงหลังคลิปแผลเน่า หรือศักยภาพที่แท้จริงของระบบสาธารณสุข ซึ่งผู้ป่วยแผลไฟไหม้อาการสาหัส 5 คนพร้อมกันถือว่าเกินกำลังรักษาของทั้งประเทศ และไม่มีโรงพยาบาลที่ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายปอดด้วยมาตรฐานสากลได้แม้แต่แห่งเดียว ข้อหลังสุดเป็นเหตุให้วอยคูเลสคูไม่เซ็นใบอนุญาตให้โรงพยาบาลในโรมาเนียเปลี่ยนถ่ายปอด (ต้องส่งตัวข้ามประเทศเท่านั้น) และกลายเป็นประเด็นใหญ่ช่วงใกล้เลือกตั้ง เมื่อพรรคที่เพิ่งลาออกหลังไฟไหม้ใช้เรื่องนี้ปลุกกระแสชาตินิยม

นาเนาออกแบบความสิ้นหวังในซีเควนซ์จบด้วย 2 ฉากนั่งรถที่เล่าคู่ขนานกัน วอยคูเลสคูไม่ได้ลงสมัครพรรคไหนแต่ก็ลุ้นผลเลือกตั้งอยู่บนรถ เมื่ออำนาจเก่าชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เท่ากับว่า 6 เดือนในตำแหน่งที่พยายามเปลี่ยนแปลงระบบจากภายในอาจต้องสูญเปล่า ส่วนรถอีกคันเป็นของครอบครัวที่สูญเสียลูกชายวัยรุ่น ผู้รอดชีวิตจากเหตุไฟไหม้แต่ต้องตายเพราะแผลติดเชื้อเมื่อโรงพยาบาลไม่อนุมัติใบส่งตัวข้ามประเทศ พวกเขากำลังเดินทางไปเยี่ยมหลุมศพ–ปลายทางเดียวกับที่ประเทศกำลังมุ่งหน้าไป หลังการเปิดโปงกลุ่มอำนาจที่รักษาหน้าตาศักดิ์ศรีผลประโยชน์มากกว่าชีวิตคน คล้ายถูกช่วงชิงไปตะล่อมให้ประชาชนช่วยรักษาหน้าให้ใครก็ตามที่อ้างชาติแบบฉาบฉวย

ความพลิกผันตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเศษใน Collective คงทำงานกับผู้ชมในโลกตะวันตกต่างจากในไทยอยู่พอสมควร เพราะเมื่อหนังเริ่มตระเวนฉายตลอดปี 2020 ความล้มเหลวพังพินาศที่เห็นในเรื่องย่อมสร้างบทสนทนากับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตโควิด-19 ในยุโรปกับอเมริกาก่อนโลกจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรก ในขณะที่หนังเข้าฉายในไทยช่วงโควิดระลอกสอง หลังประเทศผ่านระลอกแรกมาแบบพอถูไถ (แต่เศรษฐกิจพังยับ) และต่อให้สภาพแวดล้อมจะดีชั่วยังไง ภาพลักษณ์ของระบบสาธารณสุขไทยก็ไม่เคยตกต่ำเทียบเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในโรมาเนีย (ส่วนใครจะให้เครดิตหมอไทยหรือนโยบาย 30 บาทฯ ก็แล้วแต่ประเมินกันเอง) ถึงตอนนี้จะยังไม่มีใครพร้อม ไม่มีใครชนะ

จนกระทั่งโควิดระลอกสามที่เริ่มสั่นคลอนหรืออาจถึงขั้นทุบรื้อทำลายภาพลักษณ์ที่ว่า ประเทศกลายเป็นแหล่งรวมโควิดทุกสายพันธุ์เท่าที่โลกรู้จัก แอพพลิเคชั่นจองคิววัคซีนมีให้เลือกมากกว่ายี่ห้อวัคซีน บางยี่ห้อขาดส่งกลางคันจนต้องเลื่อนนัด ผู้สูงอายุกับผู้ป่วยโรคกลุ่มเสี่ยงที่จองคิวตั้งแต่แรกกลุ่มใหญ่ยังไม่ได้ฉีด แต่ดาราไทยได้ลัดคิวเพื่อหาเสียงให้วัคซีนที่โลกไม่รับรอง บุคลากรทางการแพทย์หน้างานเจอผลข้างเคียงจากวัคซีนตัวนั้น ส่วนคนในรัฐบาลวิ่งหนีไปฉีดวัคซีนตัวอื่น เกิดกรณีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตหลายรายเพราะเข้าไม่ถึงเตียงคนไข้ เกิดคลัสเตอร์หลักหมื่นในคุกที่กรมราชทัณฑ์ปิดบังข้อมูล หลายเดือนก่อนบอกวัคซีนไม่จำเป็น วันนี้บอกมีอะไรก็ฉีดไปเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐก็มัวแต่ฟาดกันไปมา ไปจนถึงปริศนาของการจัดสรรวัคซีน การเลือกวัคซีน และข้อยกเว้นการสั่งซื้อที่เอื้อประโยชน์ให้ “เอกชน” บางรายได้เครดิต ทั้งหมดเกิดขึ้นดำเนินไปภายใต้คำแถลงปกป้องรัฐบาลแต่โทษประชาชนการ์ดตกของเหล่าแพทย์ระดับบริหารที่ถือเป็นใบหน้าของสถานการณ์โควิดในประเทศ

ไม่ต้องเสียเวลานับย้อนไปถึงเรื่องสืบเนื่องจากระลอกแรกทั้งล็อกดาวน์เลี่ยงบาลี ค่าชดเชยที่สุดท้ายธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ให้รายเล็ก สื่อมวลชนกับประชาชนกลุ่มใหญ่ก็เกิดคำถามในใจแล้วว่าระบบสาธารณสุขไทยทำหน้าที่อย่างแพทย์หรือแพทยบริกร ผู้คอยเลือกศัพท์แสงตัวเลขผลวิจัยให้เป็นคุณต่อความล้มเหลวของรัฐ และทั้งหมดนี้เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่ารักษาชีวิตคนหรือกำลังจมตัวเองไปในจานเพาะเชื้อเพื่อเอาหน้าให้ใครเป็นพิเศษ

เมื่อหลายคำถามที่ถูกต้องของสื่อมวลชนไม่ได้อะไรมากกว่าการบ่ายเบี่ยงหรือชุดประโยคลำเลิกบุญคุณ และไม่เคยมีใครรับผิดชอบความกลับกลอกหรือคำตอบที่ไม่เคยตอบอะไร ก็คงได้เวลา (สักทีเถอะ) มองลึกๆ ให้เห็นชัดๆ ว่าหนอนแมลงหรือปรสิตตัวไหนกันแน่ที่รุมกินแผลเราอยู่

Collective เข้าฉายในไทยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2020 / ปัจจุบันดูได้ที่ documentaryclubthailand.com/doc-club-on-demand

AUTHOR