รู้จัก ‘ฟิเดล คาสโตร’ ผู้นำคิวบาที่คน love ก็เยอะ คน hate ก็มาก

“I began the
revolution with 82 men. If I had to do it again, I would do it with 10 or 15
and absolute
faith. It does not matter how small you are if
you have faith and a plan of action”

– Fidel
Castro, 1959

“ผมเริ่มการปฏิวัติพร้อมกับคนอีก 82 คน
ถ้าผมจะก่อการอีกครั้ง ผมคงร่วมมือกับคนสัก 10 หรือ 15
คนพร้อมกับแรงศรัทธาแน่วแน่
มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะมีจำนวนน้อยแค่ไหน
ตราบที่คุณมีความศรัทธาและมีแผนปฏิบัติการ”

– ฟิเดล คาสโตร, 1959

ในปี
2016
นี้ โลกสูญเสียผู้นำคนสำคัญไปอีกคนหนึ่งแล้ว เมื่อค่ำวันที่ 25 พ.ย. 2016 ฟิเดล คาสโตร
อดีตประธานาธิบดีคิวบา จากไปขณะอายุ 90 ปี

ภาพจำที่ผู้คนมีต่อฟิเดล
คาสโตร แตกต่างขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง หากไม่ชื่นชมในฐานะผู้นำคนจน ก็เกลียดชังเขาเข้าเส้นเลือด
คนจำนวนหนึ่งในประเทศคิวบาโศกสลดกับการจากไป แต่ผู้ลี้ภัยชาวคิวบาที่หนีไปอยู่ในสหรัฐอเมริกากลับออกมาฉลองกันอย่างรื่นเริง

การจากไปของเขากระตุ้นให้คนต้องตั้งคำถามสำคัญว่า
โลกควรจะจดจำเขาแบบไหน คำถามนี้ไม่ใช่คำถามต่อตัวบุคคล แต่มันมาคู่กับความเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองที่อาจเป็นได้หลากหลาย คาสโตรมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวแทนคนยากจนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเจ้าของที่ดินอันร่ำรวยเพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น เขายังร่วมมือกับสหายคนสำคัญ ‘เช กูวารา’ ร่วมกันปฏิวัติคิวบาเพื่อโค่นล้ม
ฟุลเคนเซียว บาติสตา ผู้นำเผด็จการที่สหรัฐฯ หนุนหลังได้สำเร็จในปี 1959

ในเวลานั้น
ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เลยหากจะบอกว่า เขายืนอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์

เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง
ฟิเดล คาสโตร ดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยมเต็มรูปแบบ
เขาเริ่มใช้มาตรการการปฏิรูปที่ดิน ที่กระจายที่ดินไปให้อยู่ในมือคนจน
เรียกเก็บภาษีรถหรูถึงร้อยละ 80 และกระตุ้นรายจ่ายรัฐบาลเพื่อลดอัตราการว่างงาน
เขายังเป็นผู้นำที่พัฒนาระบอบการศึกษา การแพทย์
และสาธารณสุข จนทำให้คิวบาโดดเด่นไม่แพ้ใคร

ขณะที่ภาพจำของสหายคู่คิดของเขา
เช กูวารา คือคุณหมอนักปฏิวัติที่ช่วยเหลือคนจน แต่กับฟิเดล คาสโตร นั้นต่างออกไป คาสโตรมีชีวิตที่ยาวนานและอยู่ในอำนาจนานครึ่งศตวรรษ
นานจนระบบที่เขาเชื่อมั่นถูกตั้งคำถาม
ความทรงจำที่ผู้คนมีต่อเขาจึงไม่ได้หยุดแค่ผู้นำที่นำชัยชนะโค่นเผด็จการช่วยคนจน
แต่ตลอดเวลาในอำนาจ โลกก็หมุนเปลี่ยนไป ทุนนิยมและโลกาภิวัตน์แทรกซึมไปทั่วโลก
และหนีไม่พ้นส่งผลกระทบต่อคุณค่าของอุดมการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
อุดมการณ์ที่เฟื่องฟูสำหรับคนรุ่นหนึ่งก็เปลี่ยนไปแล้วสำหรับคนอีกรุ่นหนึ่ง

การเป็นประเทศสังคมนิยมในดินแดนละตินอเมริกาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
สหรัฐอเมริกาแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจแทรกซึมไปทั่วภูมิภาค
แต่ไม่ใช่กับคิวบา คาสโตรเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด เรียกได้ว่า
ผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยนตัวไปสิบคน ทุกคนล้วนต้องเผชิญหน้ากับฟิเดล คาสโตร ช่วงแรกคิวบายังพอไปไหวเพราะมีสหภาพโซเวียตเป็นเพื่อน ความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้คิวบาเป็นตัวเล่นสำคัญในสงครามเย็นและยังเป็นตัวกลางสำคัญในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา
ที่ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียดต่างขู่จะระเบิดนิวเคลียร์ใส่กันจนหวาดผวาไปทั่วโลก

ความสัมพันธ์ที่ไม่เคยลงรอยระหว่างคิวบาและสหรัฐฯ
ทำให้มีข้อมูลที่พูดกันมากแต่ยากจะอ้างอิงว่า สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ หรือซีไอเอ พยายามหลายร้อยครั้งเพื่อจะลอบสังหารคาสโตร แต่ก็ไม่สำเร็จ

ชาวคิวบาจำนวนหนึ่งที่เกิดในยุคปฏิวัติย่อมมองคาสโตรว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
เพราะการเมืองทำให้ชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด จากวิถีคนจนก็เปลี่ยนมามีโอกาสได้เรียนหนังสือและเข้าถึงโอกาสต่างๆ
ในชีวิต แต่คนที่เกิดยุคถัดมา
โดยเฉพาะที่เกิดหลังยุคการล่มสลายของสหภาพโซเวียตอาจคิดต่าง
เพราะชีวิตโตมากับอุปสรรคที่ด้านหนึ่งก็ถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
ส่วนสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญก็ล่มสลายไป
ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศคิวบาตกต่ำลง ทรัพยากรสำคัญก็ขาดแคลน จนในช่วงปี 1990 รัฐบาลคิวบาเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษ ที่ทำให้คาสโตรเริ่มมีนโยบายแง้มประตูให้กับทุนนิยม
หันมายอมให้ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และยอมให้ชาวคิวบาทำธุรกิจได้เองในอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่ง
โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยว

มีเรื่องเล่าของชาวคิวบาคนหนึ่ง
ชื่อว่า ฮวน คาร์ลอส (Juan Carlos) ที่เผยแพร่ในนิวยอร์กไทมส์ เขาเล่าว่า เมื่อคาสโตรมีนโยบายให้คนทำธุรกิจบางประเภท
รวมถึงร้านอาหารขนาดเล็กได้ เขาและภรรยาก็ตัดสินใจจะลองเปิดร้าน แต่ก็เจออุปสรรค
เพราะก่อนเปิดร้านต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการในท้องถิ่นเสียก่อน
เขาจึงตัดสินใจเสนอชื่อตัวเองเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว
เพียงเพื่อตัวเองจะได้เปิดร้านอาหารได้ อย่างไรก็ดี ในระบอบสังคมนิยมคิวบา
ธุรกิจจะขยายตัวไม่ได้เพราะมีกฎควบคุมจำนวนพนักงาน วัตถุดิบต่างๆ
ก็ต้องซื้อจากรัฐบาล และการสั่งปิดธุรกิจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ

สังคมคิวบาที่ผลักดันโอกาสทางการศึกษา
วัฒนธรรม และสาธารณสุข ล้วนเกิดขึ้นในกรอบของสังคมนิยม
แต่สำหรับวัยรุ่นคิวบายุคนี้ที่ไม่ได้ผ่านความทุกข์และการต่อสู้มาแบบคนรุ่นปู่ย่าตายาย
ย่อมมองหาโอกาสในชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ขณะที่เพื่อนฝูง
ญาติมิตรอาศัยอยู่ในประเทศละแวกเดียวกันสามารถเข้าถึงความเจริญทางวัตถุ ได้ไปห้างใหญ่
อยู่กับเทคโนโลยีอันทันสมัย แต่คนรุ่นใหม่ในคิวบายังต่ออินเทอร์เน็ตลำบาก
และถูกคุมกำเนิดด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบที่เคยมีความสำคัญในยุคปฏิวัติ

ฟิเดล
คาสโตรเคยเป็นตัวแทนของขบวนการลุกฮือของคนจน แต่เมื่อเป็นผู้นำ
เขาก็มีประวัติคร่าชีวิตผู้คนนับร้อยที่อยู่ตรงข้ามกับเขา
เขาถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ทำลายระบบยุติธรรมของประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ฮวนนิตา
คาสโตร
(Juanita Castro) น้องสาวของฟิเดล
คาสโตร ผู้ซึ่งลี้ภัยจากคิวบาและไม่ได้ติดต่อกับพี่ชายมาแล้วกว่า 50 ปี

ฮวนนิตาสนับสนุนแนวคิดของพี่ชายในช่วงแรกที่มุ่งเน้นเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม
แต่ก็เหมือนกับคนอีกนับแสนที่สุดท้ายแล้วก็ตัดสินใจหนีออกจากบ้านเกิดตัวเองไปอยู่ที่เมืองไมอามี
รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพราะไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่คิวบาจับกุมลงโทษคนเห็นต่างในช่วงหลังปฏิรูป

อย่างไรก็ดี การลุกไม่ขึ้นและยืนลำบากของเศรษฐกิจคิวบานั้น
จะโทษว่าเป็นจุดอ่อนของสังคมนิยมก็คงพูดได้ไม่เต็มที่
เพราะความยากลำบากส่วนหนึ่งก็มาจากแรงกดดันและคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา
และมาซ้ำหนักขึ้นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่คาสโตรยังยืนยันที่จะต่อต้านทุนนิยม
ต้านทานการแทรกแซงและรุกล้ำของสหรัฐอเมริกา
ทำให้คิวบาเป็นประเทศสังคมนิยมจำนวนน้อยที่อุดมการณ์เกี่ยวกับการปฏิวัติยังแข็งแกร่งและฝ่ายซ้ายยังมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ
ขณะที่ประเทศอื่นๆ
ในแถบละตินอเมริกาก็กำลังเจอสถานการณ์ไม่ดีนักกับปัญหาคอร์รัปชันและรัฐประหารในบราซิล
และภาวะเศรษฐกิจที่พังทลายในเวเนซูเอลา

“เส้นทางของการปฏิวัติไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ”
ชีวิตของฟิเดล คาสโตรเองก็ไม่ได้ถูกตราตรึงแบบฮีโร่ตลอดกาล
แต่สิ่งที่ทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้คือ เขาเป็นผู้นำของประเทศเล็กๆ
ที่สร้างดุลอำนาจสำคัญและกล้าคัดง้างมหาอำนาจของโลก
แม้มีรอยด่างพร้อยที่ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แต่การต่อสู้ของเขาก็มาจากความเชื่อมั่นและศรัทธาในอุดมการณ์ ไม่ได้ถูกครหาว่าทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง


เครดิตภาพ: abcnews.go.com, jmalvarezblog.blogspot.com,mashable.com,normgregory.com,www.latimes.com,www.nbcnews.com,

อ้างอิง: www.rolexmagazine.com

Cave
Damien. One Family. Six Decades. Myriad Views of Fidel Castro’s Revolution. The
New York Times. 27 November 2016.

http://www.nytimes.com/2016/11/27/world/americas/…

Robles
Frances. Fidel Castro’s Sister, an Outspoken Critic, Takes No Joy in His Death.
The New York Times. 28 November 2016.

http://www.nytimes.com/2016/11/28/world/americas/…

Beeson
Mark. Fidel Castro: How will the Cuban leader be remembered?. ABC. 27 November
2016. http://www.abc.net.au/news/2016-11-27/fidel-castro-debate-still-surrounds-cuban-leaders-legacy/8061464

AUTHOR