Carolina Sandretto ช่างภาพผู้สำรวจการทิ้งและไม่ทิ้งในคิวบาและเมืองร้างของรัสเซีย

Highlights

  • All Things Left Behind คือนิทรรศการของ Carolina Sandretto ศิลปินภาพถ่ายชาวอิตาเลียนผู้เคยแสดงผลงานมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก
  • ในนิทรรศการครั้งนี้ แคโรไลนาพาผู้ชมเดินทางไปยังประเทศคิวบาและ Svalbard แอนตาร์กติกา เพื่อสำรวจร่องรอยแห่งกาลเวลาที่ปรากฏอยู่บนสิ่งของต่างๆ อย่างชัดแจ้ง เช่น บนข้าวของและบ้านเรือนของชาวคิวบา หรือบนสิ่งของที่ถูกทิ้งไว้ที่สฟาลบาร์
  • หนึ่งในเหตุผลที่แคโรไลนาเริ่มถ่ายภาพในคิวบาคือการเกิดขึ้นของโลกออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับโลกแห่งความจริงน้อยลง เธอจึงอยากบันทึกภาพโลกที่เคยเป็นเอาไว้เพื่อให้คนในอนาคตได้เห็นสิ่งเหล่านี้

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายที่น่าสนใจที่มีชื่อว่า All Things Left Behind นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของ Carolina Sandretto​ ศิลปินภาพถ่ายชาวอิตาเลียนผู้เคยแสดงผลงานมาแล้วในหลายประเทศ มีหนังสือรวมภาพถ่าย Cines de Cuba และ Cuba. Vivir Con และยังได้ตีพิมพ์ผลงานในนิตยสารทั่วโลก เช่น Vogue Italy, Elle Decor, L.A. Times, Glamour, The Guardian และอื่นๆ อีกมากมาย

แคโรไลนา แซนเดรตโต อาศัยและทำงานอยู่ที่มิลานและปารีส เธอทำงานภาพถ่ายที่สำรวจประเด็นเกี่ยวกับห้วงเวลาที่ผันผ่านกับความทรงจำและการละทิ้งด้วยการใช้กล้องฟิล์มและเทคนิคการถ่ายภาพแบบดั้งเดิมราวกับเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ทางจิตใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ที่เธอประสบพบเจอ

Carolina Sandretto

ในนิทรรศการ All Things Left Behind ครั้งนี้ แคโรไลนาพาผู้ชมเดินทางไปยังดินแดนอันไกลโพ้นอย่างคิวบาและ Svalbard แอนตาร์กติกา เพื่อสำรวจความคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนผ่านของห้วงเวลาที่ส่งอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ อย่างชัดแจ้ง ทั้งพื้นผิวและมุมมองภายนอกที่ถูกกาลเวลากัดกร่อนและเปลี่ยนความหมายไป เหลือทิ้งไว้แต่ร่องรอยเอาไว้ว่าเราเป็นใครในอดีต และความทรงจำของสิ่งที่หลงเหลืออยู่ สะท้อนภาพอดีตที่สั่งสมบนพื้นผิวของภูมิทัศน์ ข้าวของ หรือสถานที่ต่างๆ ที่ถูกละทิ้งหรือยังคงถูกใช้สอยอยู่

ที่สฟาลบาร์ แคโรไลนาสำรวจเมืองเหมืองเก่าในยุค 80s อดีตที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานของผู้คนกว่า 3,000 ชีวิต แต่ต่อมากลับถูกทิ้งร้างหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในช่วงทศวรรษ 1980 คนเหล่านั้นละทิ้งของใช้ส่วนตัวรวมถึงความทรงจำและร่องรอยการอยู่อาศัยเอาไว้เบื้องหลัง จนกลายเป็นดั่งพิพิธภัณฑ์แห่งเวลาอันเป็นนิรันดร์ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง สิ่งเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานแห่งชีวิตและเรื่องราวของพวกเขาที่เวลาได้สงวนรักษาเอาไว้และแปรเปลี่ยนความหมายไปอย่างช้าๆ

ส่วนคิวบาเป็นสถานที่ที่เวลาดำเนินไปอย่างเนิบช้าและทิวทัศน์แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง ที่นั่น แคโรไลนาฉายภาพห้องที่เต็มไปด้วยข้าวของซึ่งแม้จะเก่าและชำรุดทรุดโทรมแต่ยังคงถูกใช้งานอยู่ เพราะความอัตคัดขาดแคลนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และแม้เวลาจะแปรเปลี่ยนพื้นผิวของข้าวของต่างๆ เหล่านั้นให้เก่าคร่ำคร่า แต่พวกมันก็ยังคงถูกผู้คนที่ครอบครองอยู่ใช้งานอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อไป

ที่น่าสนใจก็คือ แคโรไลนาแสดงภาพถ่ายจากสถานที่สองแห่งนี้แบบคละเคล้าปนเปกันโดยไม่แยกแยะ จำแนก หรือระบุว่าเป็นที่ไหน เธอเชื้อเชิญให้ผู้ชมอย่างเราสังเกตและคาดเดาเอาเองว่าภาพที่เราเห็นเป็นภาพของสถานที่ที่ถูกทอดทิ้ง หรือเป็นสถานที่ที่ยังคงมีผู้อยู่อาศัยใช้งานอยู่กันแน่

ในวันที่แคโรไลนาเดินทางมาร่วมงานเปิดนิทรรศการครั้งนี้เราจึงได้พูดคุยกับเธอเกี่ยวกับที่มาของ All Things Left Behind และสิ่งที่พวกเขาอยากละทิ้งไว้เบื้องหลัง

 

ทำไมคุณถึงสนใจแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกละทิ้งไว้เบื้องหลัง

สำหรับฉัน สิ่งที่ถูกละทิ้งไว้เบื้องหลังนั้นสำคัญมากเพราะมันเป็นตัวแทนความทรงจำของเรา มันบ่งบอกว่าเราเคยเป็นใคร และเป็นสิ่งที่กำหนดว่าเราจะเป็นยังไงในอนาคต ในฐานะศิลปิน ฉันรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับความทรงจำเพราะมันเป็นสิ่งย้ำเตือนให้รำลึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเราต่างถือกำเนิดเกิดมาบนโลกนี้ในเวลาอันสั้น เป็นเพียงชั่วเศษเสี้ยวอึดใจหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ เราต่างก็เป็นสิ่งที่ถูกละทิ้งเอาไว้ ในขณะเดียวกัน เราก็ทิ้งเรื่องราวของเราในฐานะมนุษย์เอาไว้เบื้องหลัง และแน่นอนว่าในฐานะช่างภาพ ยิ่งเราทิ้งวัตถุทางภาพเอาไว้เท่าไหร่ วัตถุเหล่านั้นก็ยิ่งสะท้อนร่องรอยของกาลเวลาเอาไว้เท่านั้น

 

สถานที่ที่คุณไปถ่ายภาพชุดนี้มีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับคุณไหม

แน่นอน หลักๆ ฉันถ่ายภาพชุดนี้จากสองสถานที่ หนึ่งคือคิวบา ซึ่งฉันใช้เวลามากกว่า 4 ปี เพื่อพัฒนาโครงการถ่ายภาพ 3 โครงการ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือผลงานในนิทรรศการนี้ อีกสองโครงการคือ Cines de Cuba ที่เป็นภาพถ่ายโรงภาพยนตร์ในคิวบา โครงการที่สองคือ Cuba. Vivir Con เป็นชุดภาพถ่ายภายในบ้านต่างๆ ของผู้คนในคิวบา ซึ่งคุณจะเห็นบางส่วนของผลงานชุดนี้แสดงอยู่ในนิทรรศการนี้ด้วย ในภาพถ่ายภายในบ้านที่คิวบาเหล่านี้ วัตถุข้าวของทุกอย่างที่เห็นในภาพถ่ายนั้นดูเก่าแก่มาก และดูเหมือนมันถูกทิ้งร้างเอาไว้นานแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันยังถูกใช้งานอยู่ เหมือนภาพถ่ายรูปจักรเย็บผ้าที่แสดงอยู่ในนิทรรศการ ดูเผินๆ อาจเหมือนถูกทิ้งเอาไว้ แต่จริงๆ แล้วมันยังถูกใช้อยู่ทุกวัน

นั่นกลายเป็นแนวคิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า การที่วัตถุข้าวของต่างๆ ดูเก่าแก่อาจจะหมายความว่ามันถูกทิ้งเอาไว้ หรือในทางกลับกัน มันอาจจะยังถูกใช้งานอยู่ก็เป็นได้ ดังตัวอย่างเช่นในคิวบา เพราะสถานการณ์ในคิวบาเอื้อให้เกิดสภาวะแบบนั้น คนในคิวบาไม่มีโอกาสซื้อหาวัตถุข้าวของใหม่มาเปลี่ยนแบบเดียวกับที่เราทำ เวลาคุณต้องการเก้าอี้ใหม่ คุณก็ไปร้านขายเฟอร์นิเจอร์ซื้อเก้าอี้ตัวใหม่มา แต่คนในคิวบาทำแบบนั้นไม่ได้ ถึงแม้คุณจะมีเงินพอซื้อเก้าอี้ตัวใหม่ แต่คุณก็อาจจะหาซื้อเก้าอี้ตัวใหม่ที่คุณต้องการในร้านค้าไม่ได้ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศค่อนข้างซับซ้อน และคิวบาก็ไม่ใช่ประเทศในเขตการค้าเสรีด้วย ดังนั้นบางทีวัตถุที่เห็นในภาพถ่ายของฉันก็อาจจะถูกละทิ้งเอาไว้ แต่ในบางกรณีมันก็ยังถูกใช้อยู่ และยังเป็นสิ่งของที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผู้เป็นเจ้าของมัน

ฉันไปเยือนคิวบาเป็นเวลาหลายปี ฉันได้พบกับผู้คนที่นั่น และปรับตัวเองให้เคยชินกับแนวคิดที่เรียกว่า Invento Cubano หรือนวัตกรรมแบบคิวบา ซึ่งหมายถึงการซ่อมแซมของบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน (คล้ายๆ กับข้าวของเครื่องใช้แบบ DIY : ผู้เขียน) หมายความว่า ข้าวของจะถูกซ่อมแซมไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรถูกทิ้งขว้าง เพราะมันยังมีประโยชน์อยู่เสมอ

ส่วนอีกสถานที่หนึ่งของโครงการนี้  ฉันไปถ่ายภาพในเมืองชื่อ Pyramiden ทางตอนเหนือของนอร์เวย์ซึ่งเคยเป็นเมืองทำเหมือง ในยุค 70s มีคนกว่า 1,500 คนอาศัยอยู่ที่นั่น มีโรงเรียน สนามกีฬา ระบบสาธารณูปโภค แต่ในช่วงปลายยุค 90s ผู้คนก็ละทิ้งเมืองออกไปจนหมด ด้วยสองสาเหตุคือทรัพยากรในเมืองหมดสิ้น ไม่มีอะไรให้ขุดอีกต่อไปแล้ว อีกสาเหตุคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมเหมือง ไม่มีเงินทุนหล่อเลี้ยงเมืองอีกต่อไป ผู้คนจึงอพยพออกจากเมืองไปจนหมด 

ที่น่าสนใจก็คือถ้าดูในภาพถ่ายคุณจะเห็นว่าพวกเขาไม่แม้แต่จะเอาข้าวของติดตัวไปด้วยซ้ำ ตอนอยู่ที่นั่น ฉันพบแผ่นเสียง หนังสือ ไดอารี อุปกรณ์การเรียนซึ่งเป็นของส่วนตัวมากๆ ทำให้ฉันพบว่าพฤติกรรมการทิ้งสิ่งของของคนที่พิรามิเดนช่างตรงกันข้ามกับผู้คนในคิวบาที่เก็บข้าวของทุกอย่างไว้ใช้ ขณะเดียวกันฉันก็พบคุณลักษณะร่วมของสองสถานที่ซึ่งเป็นเมืองคอมมิวนิสต์กับสังคมนิยม ในบางแง่ ภาพลักษณ์ของสถานที่ทั้งสองก็มีความคล้ายคลึงกันจนทำให้เวลาคุณดูภาพถ่ายที่แสดงในนิทรรศการนี้แล้วคุณอาจจะแยกไม่ออกว่าที่ไหนเป็นที่ไหน นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ฉันไม่เขียนชื่อสถานที่เอาไว้ใต้ภาพ

และคุณก็แสดงภาพถ่ายสถานที่ทั้งสองแห่งแบบคละปะปนกันด้วย

ถูกต้อง ฉันแสดงภาพแบบปะปนกันเพราะฉันไม่อยากให้ผู้ชมรู้แน่ชัดว่าแต่ละภาพคือที่ไหน ฉันอยากให้ผู้คนหลงทางอยู่ในแนวคิดเกี่ยวกับความทรงจำ ในความฝันและความเป็นจริง ในสิ่งที่ถูกใช้งานและสิ่งที่ถูกทอดทิ้ง ฉันอยากสร้างความสับสนและอยากให้ผู้คนเพลิดเพลินกับความงามของภาพถ่ายมากกว่าจะมัวแต่หมกมุ่นว่าภาพนี้ถ่ายมาจากที่ไหน 

 

ตอนแรกที่ดูรูป เรานึกไปถึงสถานที่ประสบภัยพิบัติอย่างเชอร์โนบิลเลย

เชอร์โนบิลเป็นสถานที่อันน่าเหลือเชื่อซึ่งสภาพแวดล้อมที่เห็นนั้นเกิดจากภัยพิบัติ แต่ที่นี่ไม่ได้ประสบภัยพิบัติอะไร มันอาจจะสะเทือนอารมณ์น้อยกว่าแต่ก็น่าเหลือเชื่อมากกว่าว่าทำไมผู้คนเหล่านี้ถึงทิ้งที่อยู่อาศัยที่ยังสภาพดีอยู่ไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดภัยพิบัติอะไร ถ้าคุณสังเกตบางภาพ ในบางที่เขาละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับเกิดภัยพิบัติ ราวกับเป็นสภาพแวดล้อมหลังเกิดระเบิดนิวเคลียร์ยังไงยังงั้น

 

คุณใช้เวลาอยู่ที่เมืองพิรามิเดนนานเท่าไหร่

ฉันใช้เวลาอยู่ที่นั่น 4 วัน เพราะมันเป็นสถานที่ที่เข้าถึงยาก คุณต้องบินไปที่เกาะสฟาลบาร์แล้วหาเรือเข้าไปที่พิรามิเดน ตอนนี้ที่นั่นมีโรงแรมแล้ว แต่ตอนที่ฉันไปถึงโรงแรมยังไม่เปิด ฉันคิดว่าฉันเป็นลูกค้าคนแรกเลยนะ โรงแรมก็มีแค่ชั้นเดียวที่ซ่อมแซมให้พักอาศัยได้ มีไฟฟ้าใช้แต่ไม่มีน้ำอุ่น ฉันต้องอาบน้ำเย็นทุกวันเลย (หัวเราะ) นอกจากโรงแรมที่ถูกซ่อมแซม สถานที่อื่นๆ ก็ยังคงถูกทิ้งร้างอย่างที่เห็น ไม่มีการมีซ่อมแซมหรือแตะต้องสัมผัสอะไรอย่างสิ้นเชิง ฉันโชคดีมากที่ได้พบผู้ชายคนหนึ่งที่พาฉันไปในสถานที่ที่ไม่มีใครมีโอกาสได้เข้าไปเป็นเวลา 30 ปี เพราะฉะนั้นภาพเหล่านี้จึงเป็นภาพถ่ายของสถานที่เหล่านั้นที่ถูกถ่ายเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

Carolina Sandretto

ทำไมคุณถึงถ่ายภาพออกมาในรูปแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั้งหมด

ภาพเหล่านี้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพราะฉันใช้กล้องฟิล์มมีเดียมฟอร์แมตในการถ่ายภาพและฉันใช้ฟิล์มเนกาทีฟไม่ใช่ดิจิทัล ฉันชอบรูปแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะมันเปิดโอกาสให้ฉันจัดองค์ประกอบในภาพได้อย่างแม่นยำ ฉันตัดสินใจได้ว่าอะไรจะอยู่หรือไม่อยู่ในกรอบของภาพที่ฉันถ่าย เหตุผลอีกอย่างที่ฉันตัดสินใจใช้กล้องแบบนี้เพราะมันใช้งานได้ยากเลยทำให้ฉันต้องพูดคุยกับผู้คนก่อนถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคิวบา เพราะฉันชอบที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก่อนที่จะถ่ายภาพพวกเขา

 

ตอนถ่ายภาพด้วยกล้องมีเดียมฟอร์แมต คุณถือกล้องเอาไว้ระดับอกแล้วพูดคุยกับพวกเขาไปด้วยแล้วถ่ายหรือเปล่า

ไม่ๆๆ ฉันถ่ายโดยใช้ขาตั้งกล้อง แต่คนที่ฉันถ่ายทุกคนต้องเซย์เยสก่อนฉันถึงจะถ่ายภาพพวกเขาได้ โดยปกติฉันจะถูกเชิญให้เข้าไปบ้านของพวกเขา และบางครั้งฉันต้องใช้เวลาพูดคุยกับพวกเขาเป็นชั่วโมง ซึ่งถ้าคุณคุยกับฉันแล้วก็คงรู้แล้วว่ามันไม่ใช่ปัญหาสำหรับฉันเลย (หัวเราะ) เพราะฉันต้องการรู้เรื่องราวของพวกเขา ต้องการรู้ว่าพวกเขาคิดอะไร และหลังจากนั้นฉันถึงถ่ายรูปพอร์เทรตและบ้านของพวกเขา 

 

คุณกล่าวในบทนำของนิทรรศการว่าการมาถึงของยุคดิจิทัลทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกอัพโหลดขึ้นไปในโลกออนไลน์จนทำให้พื้นที่ทางกายภาพในโลกแห่งความเป็นจริงถูกละทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง คุณรู้สึกยังไงกับโลกออนไลน์

สิ่งนี้เป็นหัวข้อหลักที่ฉันสำรวจมาตลอดอาชีพการทำงานของฉัน หนังสือรวมภาพถ่ายเล่มแรกของฉันเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ในคิวบา พื้นที่ทางกายภาพของโรงภาพยนตร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการเปลี่ยนแปลงของประสบการณ์ในการเสพสื่อของเราทุกคน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราเข้าไปดูหนังในโรงหนังแต่ทุกวันนี้เรามีจอส่วนตัว ทั้งโทรทัศน์จอแบนหรือจอมือถือที่เล็กลงเรื่อยๆ ฉันคิดว่ายิ่งจอเล็กลงเท่าไหร่ เราก็โดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เราสื่อสารกันน้อยลง เราไม่ได้เพลิดเพลินกับหนังหรือเกมร่วมกัน สิ่งนี้คือประเด็นที่ฉันสำรวจในโปรเจกต์ศิลปะต่างๆ ของฉันในฐานะศิลปิน 

Carolina Sandretto

แล้วคุณคิดยังไงกับการเปลี่ยนแปลงที่ว่า

ฉันว่ามันเป็นเรื่องปกติที่พวกเราทุกคนต้องโอบรับความเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเก็บความทรงจำเอาไว้ว่าเราเคยเป็นยังไงมาก่อน ฉันอยากให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าเราเคยไปดูหนังกันในโรงหนังและไม่ลืมว่าเราเคยมีสถานที่ที่เราเคยใช้เป็นที่ออกเดต หางาน หาอพาร์ตเมนต์ตามประกาศในโรงหนัง นี่คือสถานที่ที่เรามารวมตัวและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนในอนาคตที่จะไม่ลืมและได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้

แน่นอนทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ถึงฉันจะทำงานด้วยกล้องแอนะล็อก แต่ภาพของฉันทุกภาพก็ถูกสแกนและพิมพ์ออกมาในระบบดิจิทัลอยู่ดี ไม่อย่างงั้นฉันก็คงทำหนังสือหรือนิทรรศการไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามดิจิทัลก็ต้องมาถึงตัวฉัน ถึงแม้ฉันจะถ่ายภาพด้วยเทคนิคที่แตกต่างจากดิจิทัล เพราะเป็นกระบวนการหนึ่งในการทำงานของฉัน แต่ภาพถ่ายในชุด Cuba. Vivir Con มีอยู่ 1,500 รูป คุณลองคิดดูว่าฉันจะคัดเลือกภาพมาให้มิเชลาได้ยังไง ถ้าฉันไม่มีคอมพิวเตอร์ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดิจิทัลเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก แต่ฉันพยายามที่จะไม่ลืมว่าเรามาจากไหน และพยายามอย่างมากที่จะสำรวจความทรงจำว่าเราเคยเป็นอะไรมาก่อน

แคโรไลนา และ Michela Negrini ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ

โดยปกติแล้ว การถ่ายภาพเป็นการเก็บห้วงเวลาในอดีตเอาไว้ คุณคิดว่าภาพถ่ายสามารถพูดถึงอนาคตได้ไหม

ฉันคิดว่าจริงๆ แล้วภาพถ่ายเป็นสื่อแห่งอนาคตนะ ประการแรกสุด ตอนนี้มันเป็นสื่อที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของได้ หนึ่งในกล้องถ่ายภาพที่ทรงพลังที่สุดที่ฉันมีก็อยู่ในโทรศัพท์ของฉัน มันดีมากที่ทำให้ทุกคนสามารถเป็นช่างภาพได้ คุณต้องรู้ความแตกต่างระหว่างภาพที่ใช้ในการโฆษณาและการพาณิชย์กับภาพที่เป็นศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถึงอย่างนั้นฉันก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่ทุกคนสามารถมีกล้องถ่ายรูปในกระเป๋ากางเกงได้ มันทำให้โลกการถ่ายภาพเกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถแยกแยะระหว่างภาพที่ดีกับภาพที่ไม่ดีได้ เพราะพวกเขาได้ฝึกฝนในการดูภาพมาอย่างมากมายในโลกออนไลน์

 

แต่ในขณะเดียวกันเราก็โดนเทคโนโลยีเหล่านี้แทรกแซงได้เช่นเดียวกัน

ก็เป็นไปได้เพราะมีภาพมากมายมหาศาลในโลกปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันพวกเราทุกคนก็ตัดแต่งโลกของตัวเอง เราเลือกฟอลโลว์บางคนในอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดีย นั่นหมายความว่าเราก็ได้ตัดแต่งและคัดเลือกในสิ่งที่เราอยากเห็น ดังนั้นเราต่างก็มีจิตวิญญาณ สายตา และความคิดในเชิงวิพากษ์ที่จะเลือกเสพสิ่งรอบตัวได้


นิทรรศการ All Things Left Behind โดย แคโรไลนา แซนเดร็ตโต คิวเรตโดย Michela Negrini นำเสนอโดย [dip] contemporary art หอศิลป์ร่วมสมัยแห่งเมืองลูกาโน สวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับ RCB Galleria จัดแสดงที่ห้อง 240 ชั้น 2 ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 30 มีนาคม 2020

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม