ขวดเบียร์ อะลูมิเนียมออกไซด์จากจอโทรศัพท์ กระจกพังที่ถูกทิ้ง สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างขยะจากแก้วรอบตัวเรา
การผลิตแก้วเคยเป็นอุตสาหกรรมหลักในหลายประเทศ ไต้หวันเป็นหนึ่งในนั้น ในอดีตผลิตภัณฑ์แก้วร้อยละ 40 จากทั่วโลกส่งออกจากไต้หวัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป โรงงานผลิตย้ายไปที่ประเทศจีนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุตสาหกรรมการผลิตแก้วในไต้หวันกลายเป็นธุรกิจที่ซบเซา จนกระทั่งมีโรงงานหนึ่งชื่อว่า Spring Pool Glass นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาวัสดุแก้ว
หลายปีที่ผ่านมา โรงงานยึดหลักการผลิตที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกปีจะมีการรีไซเคิลแก้วที่ถูกทิ้งร่วมแสนตัน ผ่านการจัดแยกหมวดหมู่และแปรรูปเป็นวัสดุที่นำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์ธุรกิจ นำหลักการ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ มาใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์จากแก้วที่ถูกทิ้ง มอบคุณค่าจากการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่
T.A Wu ผู้บริหาร Spring Pool Glass บอกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่แค่การรีไซเคิล แต่คือการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าขึ้นมาใหม่ ด้วยแนวคิดนี้บริษัทจึงทำโครงการชื่อว่า W Glass Project นำกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลมาจัดการขยะแก้ว แปรรูปเป็นสินค้าใหม่โดยทำงานร่วมกับนักออกแบบแก้ว สร้างสินค้ารูปลักษณ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังร่วมงานกับ W Hotel นำขยะแก้วของบาร์ในโรงแรม แปรรูปเป็นหินแก้วนาโนที่มีความแปลกใหม่ แล้วนำสินค้านี้กลับไปใช้งานในโรงแรมตามเดิม สุดท้ายโรงงานพัฒนาแก้วรีไซเคิลที่เรียกว่า WOWMOON นำมาจำหน่ายคู่กับขนมไหว้พระจันทร์ กลายเป็นการเพิ่มมูลค่าที่ดูน่าสนใจ


หลังจบ W Project โรงงานก็เริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่ชื่อ W Loop Action เชิญชวนร้านค้าให้มาใช้ภาชนะแก้วของ Spring Pool Glass เมื่อทำแก้วแตกระหว่างใช้งาน ร้านค้าสามารถนำเศษแก้วกลับมารีไซเคิลที่โรงงานแล้วรับแก้วใบใหม่กลับไปใช้ได้ วิธีการแปรรูปจะอิงตามรูปแบบการรีไซเคิลของ W Loop โดยเฉพาะ กิจกรรมนี้เชิญชวนให้ลูกค้าหันมาเริ่มรีไซเคิล ทำให้ร้านอื่นเห็นเป็นแบบอย่าง เป็นการโปรโมตและเชิญชวนคนทั่วไปให้รู้จักเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเข้าใจง่าย รวมถึงให้กลุ่มลูกค้าออกมาเคลื่อนไหวแนวทางการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกัน

นอกจากการออกแบบสินค้า นำเอาหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นแนวคิดในแบบจำลองธุรกิจแล้ว ล่าสุดโรงงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่านการแสดงนิทรรศการชื่อว่า The Loop Circular Design Exhibition ทำให้ช่องว่างระหว่างคนทั่วไปกับประเด็นที่น่าเบื่ออย่างเศรษฐกิจหมุนเวียนใกล้กันมากขึ้น
นิทรรศการนี้ Spring Pool Glass ร่วมกับ Joe Fang Studio สร้างงานเกี่ยวกับแก้วรีไซเคิลและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้เสียงของแก้วมาเป็นเครื่องมือหลัก งานชิ้นแรกทีมงานนำขยะแก้วจำนวนนับพันใบมาจัดแสดงเป็นรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ บริเวณใกล้ชิ้นงานจะมีหูฟังให้ผู้เข้าชมได้ฟังเสียงแบบ noise ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการรีไซเคิลแก้ว
ห้องต่อไปจะเรียกว่า ‘ระเบียงลมพัดแก้ว’ เป็นทางเดินที่เมื่อมีคนเดินผ่าน เราจะได้ยินเสียงที่เหมือนเสียงระฆังซึ่งเกิดจากลมที่พัดแก้วใบที่แขวนอยู่ ส่วนสุดท้ายเป็นพื้นที่แสดงข้อมูลแผนการเกี่ยวกับการออกแบบและเศรษฐกิจหมุนเวียน ทีมงานเล่าเรื่องนี้โดยสร้างห้องที่บนพื้นเต็มไปด้วยลูกแก้ว เราสามารถเหยียบบนพื้นแก้วนี้พร้อมกับฟังข้อมูลเศรษฐกิจหมุนเวียนบนโดมด้านบนได้




การทำงานออกแบบที่พูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีล้ำเลิศ สิ่งสำคัญคือนักออกแบบต้องคิดถึงการเลือกใช้วัสดุ คำนึงถึงเรื่องธุรกิจ จนถึงการใช้งานของผู้บริโภค ให้คนที่ซื้อไปได้รับรู้ถึงประเด็นนี้ผ่านการใช้งานจริง เป็นการนำประเด็นเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนได้
ขอบคุณ Facebook page 雖然媽媽說那裡太危險 การออกแบบไต้หวันและไทย สำหรับการเอื้อเฟื้อข้อมูล