Gift Makers House : สตูดิโอคราฟต์ที่ชวนทุกคนทำของขวัญแทนใจด้วยมือตัวเอง

Highlights

  • Gift Makers House คือสตูดิโอศิลปะที่ก่อตั้งขึ้นโดยคนทำงานคราฟต์จากรั้วศิลปากร 3 คน เปิดโอกาสให้ใครต่อใครมาทำของขวัญด้วยตัวเองโดยมีอุปกรณ์เตรียมไว้ให้ครบครัน
  • สตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้ เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายที่อยากให้คนเข้าใกล้ศิลปะได้ง่ายขึ้น และมีพื้นที่ให้คนทำงานคราฟต์และคนรักงานคราฟต์ได้มาเจอกัน

วัฒนธรรมการให้ของขวัญนั้นแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ตั้งแต่เด็กเราเติบโตมากับการได้เห็นกองของขวัญพูนพะเนินใต้ต้นคริสมาสต์ในฉากหนังฮอลลีวูด ได้รู้ว่าชาวญี่ปุ่นจริงจังกับการคัดเลือกของขวัญที่มอบให้แก่กัน คนที่ได้รับก็ต้องมอบของขวัญที่เท่าเทียมกันกลับไปให้ และได้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวาเลนไทน์ที่ดอกกุหลาบและหัวใจสีแดงละลานตาไปทุกแห่งหน

คนไทยอย่างเรานั้น นอกจากจะอินไปกับทุกเทศกาลแล้ว เราก็จริงจังกับการให้ไม่แพ้ใครเช่นกัน ไม่ว่าจะวันปีใหม่ วันเด็ก วันสงกรานต์ วันแม่ วันพ่อ วันรับปริญญา วันเกิด วันเลี้ยงส่ง และอีกสารพัดโอกาสที่เราไม่ลังเลที่จะมอบของขวัญให้กัน หลายคนอาจเคยคิดอยากลองประดิดประดอยของทำมือสักชิ้นให้คนที่รัก แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ไม่รู้จะปรึกษาใครดี ไม่รู้ว่าซื้ออุปกรณ์มามากมายแล้วจะได้ใช้อีกเมื่อไหร่ หากคุณคือคนนั้นที่เรากำลังพูดถึง แสดงว่าคุณเลือกอ่านถูกบทความแล้ว

เพราะเราจะชวนไปคุยกับ ก้อง–พิชชากร มีเดช, ออน–ทักษภรณ์ เสริมทรัพย์ และ เตย–ฐิติวัลคุ์ เฉลิมแสงสกุล นักสร้างสรรค์งานคราฟต์รุ่นใหม่ที่เปิดสตูดิโอศิลปะให้ใครต่อใครมาทำของขวัญด้วยตัวเองได้ที่ Gift Makers House ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวชั้นสาม ข้างกำแพงเมืองเก่าบนถนนพระสุเมรุ

ความคราฟต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ละคนตั้งแต่เมื่อไหร่

ก้อง: เรา 3 คนเรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรกันหมดเลย แต่ผมเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนอีก 2 คนเรียนภาคประยุกต์ศิลป์ ส่วนตัวผมชอบทำของใหม่ๆ ขึ้นมาเองตั้งแต่สมัยเรียน เคยลองทำปากกาคอแร้งอย่างง่ายๆ ไปขาย ปรากฏว่าผลตอบรับมันดีเกินกว่าที่คิดไว้มากเลย เป็นสิ่งที่ทำให้ประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก คิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่เรารัก ก็เลยทำมาเรื่อยๆ เรียนจบก็ยังทำต่อ ทำเป็นแบรนด์ปากกา Pica ที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ มีผลิตภัณฑ์ใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ

ออน: เราเริ่มต้นจากการทำงานปักที่บ้านที่ราชบุรี ​(ติดตามอ่านเรื่องของออนได้ใน a day 208 ฉบับกลับบ้าน) ส่งต่อมาถึงตรงนี้ด้วย อุปกรณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานปักมาตลอดก็คือสะดึง เราอยู่กับมันจนรู้สึกว่ามันเป็นได้มากกว่าสะดึง จึงลองสั่งตัดอะคริลิกมาเป็นเฟรมกรอบรูปขาย ผลตอบรับค่อนข้างดีในต่างประเทศ แต่อาจจะไม่ได้สร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปได้ง่ายนัก ก็เลยชวนเตยที่เป็นนักวาดภาพประกอบอยู่แล้วมาทำด้วยกัน

เตย: ก่อนหน้านี้เตยทำงานวาดสีน้ำมาตลอด รับงานวาดภาพประกอบปกติ แต่พอมีกรอบของออนเข้ามา ก็เลย co-brand กันมาตลอดจนถึงตอนนี้

จากที่ต่างคนต่างมีแบรนด์ มารวมตัวเป็น Gift Makers House ได้ยังไง

ออน: คิดว่าพื้นที่ชั้น 1 ซึ่งเป็นคาเฟ่ Head in the Clouds ค่อนข้างมีผลกับเราทั้ง 3 คนมากๆ ด้วยความที่เตยเป็นหุ้นส่วนของร้านข้างล่างอยู่แล้วด้วย สำหรับออน เวลาเดินทางมาจากราชบุรี ที่นี่ก็เป็นเหมือนที่พักพิง จุดแวะเปลี่ยนในกรุงเทพฯ ก้องก็แวะมาที่นี่บ่อยๆ ได้เจอกัน ช่วยงานกันบ้าง ก็เลยเริ่มคุยกันว่าอยากให้มันมีพื้นที่ที่มีจุดประสงค์อะไรคล้ายๆ กัน

จุดที่ทำให้คิดว่าต้องมีพื้นที่นั้นจริงๆ แล้วล่ะ ก็คือตอนที่ออนกับเตยได้ไปออกบูทขายของที่สิงคโปร์ ผลตอบรับมันดีมาก แล้วเขาถามว่ามีสตูดิโอที่ไทยไหม เราก็เลยให้ที่อยู่ที่นี่ไป (หัวเราะ) แล้วก็เริ่มมาคุยกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่เป็นหุ้นส่วนของ Head in the Clouds ว่าอยากจะขอเปลี่ยนจากพื้นที่จัดแสดงแกลเลอรีชั้น 3 มาทำเป็นสตูดิโอร่วมกันแทน

เตย: เราอยากมีที่ที่เราได้คุยกับลูกค้าด้วย จะได้เหมือนเราออกอีเวนต์ทุกวัน (หัวเราะ) แล้วก็มีพื้นที่ทำงานของเรา

ก้อง: ส่วนไอเดียเรื่องการเป็นพื้นที่ทำของขวัญ มาจากตัวตนของเราทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นคนทำของขวัญกันอยู่แล้ว ผมทำเครื่องเขียน สองคนนี้ทำงานภาพประกอบและกรอบรูป ก็เลยคิดว่าอันนี้น่าจะลงตัว ทุกคนมีความคิดตรงกัน อยากจะมีพื้นที่ให้คนทำของขวัญแบบที่ไม่ต้องไปจ่ายเงินทำเวิร์กช็อปที่เฉพาะทางมากๆ 2,000-3,000 บาท มาที่นี่อยากทำอะไร ทำเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่เรามีอุปกรณ์ซัพพอร์ตไว้อยู่แล้ว

หากมองในภาพกว้าง วงการคราฟต์ในเมืองไทยนอกจากในห้องเรียนเวิร์กช็อปเป็นอย่างไรบ้าง

ก้อง: ผมเองไปออกบูทในงานต่างๆ อยู่บ่อยๆ ได้เห็นงานคราฟต์ของคนรุ่นใหม่เยอะขึ้นเรื่อยๆ คนมาทำเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นว่างานคราฟต์มันก็เป็นตัวเลือกให้คนได้เยอะขึ้น

ออน: คนที่พาเราไปออกบูทที่สิงคโปร์เป็นชาวสิงคโปร์ เขารวบรวมดีไซเนอร์ไทยและผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคนไทยมาขายบนเว็บไซต์ ทุกวันนี้นักออกแบบไทยเยอะมาก และงานดีๆ ก็เยอะมาก เรารู้สึกว่าการได้มีคอมมิวนิตี้ที่คนออกแบบได้คุยกันเอง และได้สื่อสารกับคนซื้อเป็นเรื่องสำคัญมาก

บางทีงานคราฟต์ที่ต้นทุนสูง คนซื้อในประเทศเราอาจจะยังสู้ราคาไม่ไหว ซึ่งค่อนข้างจะเป็นกำแพง และเป็นสาเหตุที่เราทำการตลาดพุ่งเป้าไปที่ชาวต่างชาติก่อน แต่เราอยากให้คนไทยได้ใช้ของที่ดีในราคาที่จ่ายไหว เราตั้งใจทำที่นี่เพื่อคนไทยด้วยกัน และเราไม่ได้อยากให้มีแค่เราที่เดียว อยากให้พื้นที่แบบนี้กระจายไปอีกเยอะๆ เพื่อให้คนเข้าถึงงานคราฟต์ง่ายขึ้น

เหตุผลที่เลือกทำพื้นที่ให้คนมาทำของขวัญ เป็นไอเดียที่ได้มาจากการที่คณะมัณฑณศิลป์ ศิลปากร มีวัฒนธรรมการทำงานคราฟต์มอบให้กันอยู่แล้วหรือเปล่า

ก้อง: เราเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ เวลามีงานคณะเราจะเป็นคนรับหน้าที่ทำของขวัญ ของที่ระลึก ทำพร็อพ เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมันตลอด ทุกปีก็จะต้องเป็นคนคิดของขวัญแจกรุ่นน้องในคณะ งานกิ๊ฟต์ งานรับน้อง เรารู้สึกตื่นเต้นที่เขาได้รับสิ่งนั้นไป

เตย: เราเองเคยทำเปเปอร์มาเช่ให้รุ่นน้องในคณะที่สนิทกันมาก รักกันมาก เอากระดาษมาปั้นเป็นจานบิน เพนต์เป็นรูปดอกไม้ เสียบดินสอเอาไปให้รุ่นน้องวันแสดงงานทีสิส ทำเองก็ยังชอบเอง งานฝีมือจากเพื่อนในกลุ่มที่ทำให้กันเอง ก็เป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจเรามากๆ ทำไมเพื่อนตั้งใจจังเลย เวลาเราจะให้อะไรใคร เราอยากจะคิดมากกว่าแค่จะไปหาซื้อของ บางทีไม่รู้ว่าเพื่อนจะชอบไหม แต่ของที่เราตั้งใจทำให้ อันนี้แหละต้องเป็นของคนนี้ ให้คนนี้เท่านั้น

ออน: มีเรื่องหนึ่งที่อยากเล่า ตั้งแต่เรียนปีหนึ่งปีสองเพื่อนในกลุ่มจะมีการนัดให้ของกันในวันสำคัญ ด้วยความที่เราไม่ได้ทำงานมือตั้งแต่แรก ที่บ้านทำงานปักอยู่แล้วก็จริง แต่ก็ใช้เครื่องจักร ใช้คอมพิวเตอร์ทำอยู่ดี เราเตรียมของขวัญให้เพื่อนๆ ด้วยการไปซื้อของโหลที่สำเพ็ง แต่เราได้กระดาษประทับตราที่เพื่อนในกลุ่มแกะยางลบเองมาแจกให้เพื่อนทั้ง 10 คน เราชอบของขวัญชิ้นนั้นมาก กระดาษใบเดียวถ้านับต้นทุนอาจจะไม่เท่ากับของที่เราซื้อมาหรอก แต่ดูน่าเก็บจังเลย ทำให้รู้สึกอินกับของทำมือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ใครคือคนนั้นที่เราเชื่อว่ากำลังมองหาสถานที่แบบ Gift Makers House อยู่

ออน: ตอนนี้กลุ่มเป้าหมายของเราจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มที่ค่อนข้างแตกต่างกัน กลุ่มแรกคือชาวต่างชาติหรือคนไทยในพื้นที่ บริบทของพวกเขาคือใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้ เดินไปเดินมาแถวนี้ หรือมากินกาแฟข้างล่างแล้วลองขึ้นมาดูที่นี่ เรามีโอกาสได้คุยกับคนที่ทำโฮสเทลแถวนี้อยู่บ้าง พบว่าจริงๆ แล้วมันมีช่วงเวลาที่ลูกค้ารอขึ้นเครื่อง แต่ไม่มีที่นั่งเล่น เดินข้างนอกก็ร้อน เราเสนอกิจกรรมที่ทำอะไรได้มากกว่ากินกาแฟในคาเฟ่ ด้วยการมาทำกิจกรรมอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่นี่

ส่วนอีกกลุ่มคือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่มองหากิจกรรมทำในวันหยุด หรือมีเวลาว่างก็มาเริ่มต้นทำของขวัญ ไม่ต้องมีพื้นฐานศิลปะก็ทำได้ เราจะมีอุปกรณ์จัดเตรียมไว้ให้ มีพวกเราคอยให้คำแนะนำอยู่ตลอดทั้งวัน จะวอล์กอินเข้ามาก็ได้ หรือถ้ามากันเป็นกลุ่มก็โทรมาจอง เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน

ของขวัญแบบไหนบ้างที่มาลองทำเองที่นี่ได้

ก้อง: ทุกกิจกรรมจะมาจากสิ่งที่เราทุกคนทำอยู่แล้ว มาจากที่เราทำได้ก่อน ทุกอย่างมันมาจากพื้นฐานศิลปะ อย่างแรกเป็นงานเพนต์บนกระดาษเพื่อทำเป็นการ์ด มีตัวปั๊ม สีไม้ สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีอะคริลิก เตรียมไว้ให้หมด มีราคาที่แตกต่างกันไปตามอุปกรณ์ที่เราจะเตรียมไว้ให้ ต่อมาเป็นตุ๊กตาไม้ ได้ไอเดียมาจากการที่เราอยากทำอะไรเหมือนเป็นตัวแทนของคนรับ มีส่วนประกอบของตัวที่แยกกัน ให้เขามาเลือกได้เอง จะเพ้นต์ที่นี่เลย หรือว่าส่งรูปถ่ายมาให้เราเพนต์ให้ก็ได้ อยากเพนต์เองแต่นึกไม่ออกว่าจะใช้สีอะไรเราก็มีไกด์ชุดสีแบบต่างๆ ไว้ให้

ออน: เราพยายามลดทอนขั้นตอนให้ง่ายต่อทุกคน มีตัวอย่างงานหนังสือศิลปะที่เราเตรียมไว้ให้บ้าง หรือเราสามคนก็ช่วยกันแนะนำบ้าง

ก้อง: มีงานสกรีนที่แยกเป็นส่วนต่างๆ ด้วยเหมือนกัน มีหน้า ผม ตัวให้เลือกประกอบกัน แล้วแต่จะเลือกแบบไหน เท่าที่ผ่านมางานสกรีนเสื้อ สกรีนกระเป๋าเป็นที่นิยมมากที่สุด คิดว่าเพราะเป็นงานที่มีฟังก์ชั่น ใช้ได้ตลอด ให้ใครไปก็ได้เห็นว่าเขาใส่ด้วย นอกจากนี้ก็จะมีกระดาษห่อของขวัญที่ให้เขาปั๊มลายเอง แล้วก็วางแผนว่าจะมีเวิร์กช็อปพิเศษเดือนละครั้งให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละเทคนิคมาสอน เพื่อจะดึงคนเข้ามาด้วย

1 เดือนที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นใน Gift Makers House บ้าง

ออน: 1-2 เดือนแรกเราตั้งใจให้เป็นช่วงเวลาของการเก็บปัญหาทุกอย่าง เพราะมันใหม่มาก เราก็จะเริ่มรู้ว่าทันไม่ทัน ลูกค้ากี่คน ควรมีสตาฟคอยดูแลกี่คน คนที่เข้ามานี่แหละที่จะช่วยให้เราปรับต่อไปได้ เพราะไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าต้องปรับอะไรบ้าง บางทีเราประเมินเขาสูงไปต่ำไป การใช้เทคนิคอะไรอย่างนี้ก็ต้องปรับในเรื่องนั้น เขารู้อยู่แล้วนิดหนึ่ง แต่เราคิดว่าเขาไม่รู้ หรือเขาไม่รู้แต่เราคิดว่าเขารู้ (หัวเราะ)

ก้อง: อย่างงานสกรีน ตอนแรกเราก็คิดว่ามันน่าจะไม่ยากมาก แต่พอมาทำจริงๆ แล้วขั้นตอนการทำมันจุกจิก ปาดสีแล้วต้องล้างบล็อก แล้วกลับมาทำใหม่อีก

มองว่าก้าวต่อไปของ Gift Makers House จะเป็นอย่างไร

ออน: เรามองว่าที่นี่เป็นคอมมิวนิตี้คนทำงานศิลปะ เราอยากชวนคนข้างนอกเข้ามา ไม่ว่าจะมาทำกิจกรรมหรือมานั่งคุยกัน เราชอบบรรยากาศที่ลูกค้าได้มาแลกเปลี่ยนกันกับเรา คนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนก็มารู้จักกันที่นี่ อยากให้เป็นคอมมิวนิตี้ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จุดประสงค์ของเราเองอยากให้คนได้ทำกิจกรรมศิลปะโดยไม่รู้สึกกลัว มีเพื่อนช่วยทำ ช่วยสอน ให้เห็นว่าศิลปะมันไม่ได้ยากขนาดนั้น อยากให้ลองเปิดใจดูนะ จะได้มีความภูมิใจในชิ้นงานของตัวเอง

ก้อง: อยากให้คนเข้ามาที่นี่มองเห็นการให้อีกรูปแบบหนึ่งที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน คิดว่ามีคนที่ชอบทำของขวัญให้คนอื่นอยู่แล้ว เราอาจจะลืมไปว่าตอนเด็กๆ เราเคยทำของขวัญให้เพื่อน ให้พ่อแม่พี่น้องมาก่อน ความรู้สึกดีๆ แบบนั้นมันน่าจะเก็บไว้ จากที่เคยซื้อของให้กัน อยากให้ได้ลองเปลี่ยนมาเป็นการทำของขวัญให้กันดูบ้าง

เตย: จากที่เคยทำงานเฉพาะทางของเรา ตอนนี้ได้ทำกับคนกลุ่มใหญ่ขึ้น ได้ทำงานกับเพื่อนๆ ของเรา หวังว่าตัวเองจะเติบโตไปกับที่นี่ด้วยเหมือนกัน อยากรู้ว่างานของเราจะไปได้ถึงไหน แล้วก็ไอเดียที่เรามีกันอยู่เรื่อยๆ เมื่อเรามีพื้นที่ที่ทำได้จริงๆ แล้วมันทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องลองดู ติดตามตอนต่อไป

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!