miNATURE_c ต้นไม้สายย่อ : ต้นไม้จิ๋วของนักทดลองสายเขียวที่ท้าทายว่าใครๆ ก็ปลูกต้นไม้ได้

Highlights

  • miNATURE_c คือต้นไม้สายย่อที่ปลูกปั้นโดยคู่รักนักปลูกต้นไม้ บอส–ชัยพร เวชไพรัตน์ และ เฟรม–รัตมา เกล้านพรัตน์ จนเกิดเป็นแบรนด์ต้นไม้ที่กระตุ้นให้ผู้คนเห็นว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องสนุก และชวนให้หันมาสร้างพื้นที่สีเขียวง่ายๆ รอบตัว ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองที่ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติภายใต้พื้นที่จำกัด
  • เฟรมเล่าต่อไปว่า พวกเขาทั้งสองลองผิดลองถูกกับต้นไม้มาหลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจคือ “เราเน้นความคิดสร้างสรรค์ให้คนรู้สึกว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องสนุก"

เมื่อพูดถึง ‘บอนไซ’ คุณนึกถึงอะไร?

บางคนอาจนึกถึงฉากพระราชวังหลวงในหนังจีนและญี่ปุ่นที่มักมีต้นไม้รูปทรงแปลกตาถูกดัดให้กิ่งคดโค้งวางเรียงกันเป็นตับ หรือบางคนอาจนึกไปถึงกิจกรรมของผู้สูงอายุที่ใช้เวลาว่างตัดเล็มต้นไม้ให้เป็นทรงนั้นทรงนี้

ไม่แปลกที่หากพูดถึงบอนไซ หลายคนจะจับมัดกับเรื่องที่โบราณคร่ำครึและไกลตัว ไม่ต่างจากการมองผ่านเลนส์สีซีเปียที่ดูเก่าๆ เบลอๆ ไม่น่าหยิบจับและทดลองทำเท่าไหร่นัก

คำว่า ‘ต้นไม้สายย่อ’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเรียกบอนไซให้ฟังดูฮิปและวัยรุ่นขึ้น ในขณะที่แก่นของศิลปะการดัดและตัดแต่งต้นไม้แบบเดิมยังคงอยู่

miNATURE_c คือต้นไม้สายย่อที่ปลูกปั้นโดยคู่รักนักปลูกต้นไม้ บอส–ชัยพร เวชไพรัตน์ และ เฟรม–รัตมา เกล้านพรัตน์ จนเกิดเป็นแบรนด์ต้นไม้ที่กระตุ้นให้ผู้คนเห็นว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องสนุก และชวนให้หันมาสร้างพื้นที่สีเขียวง่ายๆ รอบตัว ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองที่ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติภายใต้พื้นที่จำกัด

แทนที่จะติดอยู่ในกรอบความงามแบบเดิม กฎเกณฑ์เดิมๆ ของบอนไซราชสำนักที่ต้องใช้ไม้ยืนต้นมาทำเท่านั้น พวกเขาดึงบอนไซออกมาตีความใหม่และใส่ความสร้างสรรค์ลงไป ภายใต้คำถามที่ท้าทายตัวเองว่า “ทำไมจะใช้ต้นไม้อื่นๆ ทำไม่ได้” บอสและเฟรมใช้ความเป็นนักทดลองที่มีอยู่ในตัวและความหลงใหลในการลองผิดลองถูกกับการปลูกต้นไม้ เอาตัวเองลงไปล้มลุกคลุกฝุ่นอยู่ในสวน ทดลองเอาวัชพืชที่คนทั่วไปถอนทิ้งมาจัดเลย์เอาต์ใหม่ในกระถางสวยๆ และทดลองปลูกต้นไม้ใหญ่ยักษ์ให้ได้ในพื้นที่เล็กจิ๋ว

ไม้ยืนต้นที่เราเคยเห็นว่าโตสูงชะลูดเลยกำแพงบ้าน หรือลำต้นใหญ่ขนาดหลายคนโอบ ถูกนำมาย่อให้เหลือแค่คืบและเติบโตในกระถางที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กสุดประมาณนิ้วหัวแม่มือเท่านั้น!

ต้นไม้สายพันธุ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะปลูกให้งอกงามในไซส์เล็กได้อย่างต้นโพธิ์ หูกระจง มะม่วง พิกุล แอปเปิล พวกเขาก็ย่อลงกระถางจิ๋วมาแล้วทั้งนั้น ที่สำคัญคือมันเป็นต้นไม้ที่โตเต็มที่แล้ว ไม่ใช่แค่ต้นกล้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ

กว่าจะมาเป็นต้นไม้สายย่อที่น่ารักน่าปลูกขนาดนี้ เราไปลองสำรวจมุมมองความเป็นนักทดลองของเฟรมและบอสที่พยายามผลักดันให้การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องสนุกที่ใครๆ ก็ทดลองปลูก ดัด และตัดแต่งได้ด้วยมือของตัวเอง

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

บ้านสวนที่เราไปเยือนและสนทนากับเฟรมและบอสนั้น แทบจะเรียกได้ว่าแน่นขนัดไปด้วยต้นไม้เกือบทุกตารางเมตร ไล่ไปตั้งแต่บอนไซรุ่นเก๋าของคุณพ่อ บอนไซรุ่นใหม่ของลูกๆ ไปจนถึงมอสและพืชเล็กๆ ที่แทรกตัวขึ้นมาตามซอกอิฐ ทุกพื้นที่อัดแน่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่รายล้อม หากเพ่งดูให้ดีจะสังเกตเห็นละอองน้ำเล็กๆ เกาะอยู่ที่ปลายใบไม้แทบทุกต้น บ่งบอกถึงการดูแลรดน้ำสม่ำเสมอและสะท้อนถึงการเอาใจใส่เป็นอย่างดีของเจ้าของบ้าน

ในบรรยากาศบ้านสวนที่บอสเติบโตมาและด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นนักเล่นบอนไซตัวยง จะเรียกว่าตัวเขาเป็น ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ ก็ไม่ผิดนัก บอสเล่าว่าในวัยเด็กเขามักจะไปยืนเกาะดูความยิ่งใหญ่ของบอนไซที่พ่อบรรจงตัดแต่งอย่างประณีตเสมอๆ บรรยากาศบ้านสวนทำให้รู้สึกว่าการอยู่ร่วมกับต้นไม้เป็นเรื่องปกติสามัญ บอสชอบก้มมองต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่ขึ้นตามพื้น และสังเกตว่าแอ่งน้ำขังเล็กๆ ก็มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ระบบนิเวศใต้ฝ่าเท้าจึงเป็นอีกโลกหนึ่งที่บอสสนใจ สวนจึงกลายเป็นห้องทดลองของเขานับแต่นั้น

ในฐานะนักเรียนมีเดียอาร์ต เขาเริ่มเข้าวงการปลูกต้นไม้ด้วยการเป็นคนทำกระถางก่อนจะเริ่มปลูกต้นไม้เสียอีก จากนั้นจึงขยับจากกระถาง มาทำสิ่งที่อยู่ในกระถางดูบ้าง นั่นก็คือการทดลองปลูกต้นไม้อย่างจริงๆ จังๆ หลังเรียนจบ

บอสเริ่มจากการปลูกกระบองเพชร ต้นไม้ยอดฮิตที่ใครๆ ก็บอกว่าเลี้ยงแสนง่าย แต่เขากลับทำมันตายไปไม่น้อย เขาจึงเริ่มมองหาอะไรที่แปลกใหม่และมีเสน่ห์ด้วย “เลยเริ่มจากบอนไซ เพราะเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เราสามารถดัดและตัดแต่งเป็นทรงอะไรก็ได้ตามจินตนาการ ไม่มีกรอบจำกัด เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองปลูกต้นไม้ เริ่มเรียนรู้ว่าต้นไม้ทุกต้นไม่ใช่ว่าแค่มีน้ำ มีแดด แล้วจะอยู่รอด เพราะทุกต้นมีคาแร็กเตอร์แตกต่างกัน เลยเกิดเป็นการทดลองและสังเกตว่าต้นนี้ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร”

สำหรับสำนวน ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ ที่เราเคยได้ยินกัน บอสอธิบายว่าคอนเซปต์ทางนิเวศวิทยาของมันก็คล้ายกับศาสตร์การย่อต้นไม้ลงกระถางเล็กๆ ที่เขากำลังทำอยู่

“ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นแม่ จะไม่สามารถสูงใหญ่ได้เท่าต้นแม่มัน เราต้องขุดออกมาเพื่อไปปลูกอีกที่หนึ่ง ถ้าไม่มีพื้นที่พอจะย้ายไปปลูกใหม่ คนปลูกต้นไม้ควรจะรู้ว่าจะทำยังไงให้ต้นไม้รอดในพื้นที่เท่านั้น นี่แหละเป็นศาสตร์ของการทำต้นไม้ในกระถางเล็กๆ”

พูดมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วต้นไม้สายย่อที่เห็นว่าเล็กจิ๋วขนาดนั้น กระบวนการปลูกต้องทำยังไง เป็นการตกแต่งทางพันธุกรรมหรือเปล่า ทำไมมันถึงเล็กได้ขนาดนั้น ทำแบบนี้ถือเป็นการทรมานต้นไม้หรือเปล่า

บอสอธิบายว่าหัวใจของการปลูกต้นไม้ให้ได้เล็กจิ๋ว คือ “การจำกัดพื้นที่กระถาง จำกัดพื้นที่ปลูกให้เล็กมากๆ คือเราจำกัดพื้นที่กระถางเพื่อจำกัดพื้นที่รากในการหากิน เหมือนเป็นการจำกัดการเติบโตของต้นไม้โดยกระถาง อาหาร และการตัดเล็มบ่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ต้นไม้ลดขนาดลำต้น ลดขนาดใบ ลดขนาดดอกไปโดยธรรมชาติ เหมือนต้นไม้อั้นการเติบโตของตัวเองอยู่ แต่เราเลี้ยงในกระถางเล็กๆ เพื่อให้แข็งแรงปลอดภัย แต่ถ้าเอาไปลงดินและมีพื้นที่ปลูกมากๆ ก็จะกลายเป็นต้นไม้ต้นใหญ่ได้”

บอนไซสายแมส

บอสเล่าว่าในช่วงที่เริ่มทำต้นไม้ขายแรกๆ และใช้ชื่อว่าบอนไซ ก็มักจะมีนักเล่นบอนไซสายแข็งมาตั้งคำถามในทำนองสงสัยว่า “ต้นแค่นี้เหรอ กล้าเรียกว่าบอนไซ” เขาจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ต้นไม้สายย่อ

“พอพูดถึงบอนไซ คนจะติดภาพว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพื่อจะสื่อสารว่าบอนไซของเราไม่จำเป็นต้องเป็นต้นไม้ใหญ่นะ ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ยืนต้นก็ได้ อีกอย่างคือคนจะชอบนึกว่าบอนไซเป็นกิจกรรมของผู้สูงอายุ แล้วทำไมเราไม่ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ในตัวคนรุ่นใหม่ เพราะสุดท้ายคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ทำให้การปลูกต้นไม้ขยายไปสู่วงกว้าง เราน่าจะทำสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณก็สามารถปลูกต้นไม้ได้ เราเลยใช้คำว่าต้นไม้สายย่อให้ฟังดูน่ารักและเข้าถึงง่าย”

พอใช้คำว่าต้นไม้สายย่อที่ดูสนุกขึ้น ก็ดูเหมือนว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นด้วย บอนไซถูกนำมาตีความใหม่ให้น่ารักน่าเอ็นดูและเป็นมิตร กลายเป็นบอนไซที่ทำให้อ่อนเยาว์ลงและน่าคบหามากขึ้น ลูกค้าเริ่มเข้ามาถามหาและอยากทำความรู้จักแบรนด์บอนไซน้องใหม่แบรนด์นี้

บอสและเฟรมมีความเชื่อว่าความเล็กของมันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครหลายคนขยับไปปลูกต้นไม้ต้นที่ใหญ่กว่า ที่สำคัญคือแก่นของความเป็นศิลปะบอนไซก็ยังไม่ได้หายไปไหน

เฟรมเล่าการทำบอนไซในมุมมองของเธอว่า “จริงๆ สำหรับคนที่อยากปลูกต้นไม้ ก็สามารถเพาะในถุงดำหรือกระถางทั่วไปได้เหมือนกัน แต่เราอยากเพิ่มความสนุกให้การปลูกต้นไม้ คือแทนที่จะปลูกทิ้งไว้ในกระถางเฉยๆ เราก็ให้เวลามากขึ้นในการดัด ตัดเล็ม และตกแต่งต้นไม้ด้วย”

เฟรมเสริมว่าเมื่อเปลี่ยนมาใช้คำว่าต้นไม้สายย่อ กลุ่มคนรุ่นใหม่ดูจะให้ความสนใจมากขึ้น และทั้งคู่ก็ได้ให้คำจำกัดความต้นไม้ของพวกเขาว่า ‘miniMORE Plant’ ซึ่งหมายถึง “ต้นไม้ขนาดเล็กที่ให้อะไรมากกว่าที่คุณเห็น การตัดเล็มต้นไม้ต้นเล็กๆ มีข้อดีคือความเล็กของมันทำให้เราสามารถมองเห็นกิ่ง ก้าน ใบ ยอด ได้ชัดเจนมาก เห็นทิศทางว่าจะแตกไปทางไหน และใช้ความสร้างสรรค์ว่าอยากตัดแต่งออกมาให้เป็นแบบไหน การทำต้นไม้เล็กทำให้เรามองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น คือยิ่งเล็กยิ่งเห็น”

สวมวิญญาณนักทดลองสายเขียว

ภารกิจของแบรนด์ miNATURE_c ที่อยากทำให้บอนไซกลับมาเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักปลูกต้นไม้หน้าใหม่ดูจะประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น บอนไซซึ่งเป็นศิลปะในรั้วในวังได้คลี่คลายลงมาอยู่ในกระถางต้นไม้ของคนธรรมดาได้อย่างไม่ขัดตาและเป็นมิตร

เฟรมเล่าต่อไปว่า พวกเขาทั้งสองลองผิดลองถูกกับต้นไม้มาหลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจคือ “เราเน้นความคิดสร้างสรรค์ให้คนรู้สึกว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องสนุก สิ่งที่เกิดขึ้นมาในสวนนี้ก็เกิดจากการทดลองและตั้งคำถามว่าบอนไซจะต้องเป็นไม้ยืนต้นเท่านั้นเหรอ ทำไมเราไม่ลองใช้ต้นไม้ล้มลุก ไม้ดอกไม้ประดับมาทำบ้าง เราทดลองทำมาเรื่อยๆ จนได้คำตอบว่าไม่ต้องจำกัดอยู่แค่ไม้ยืนต้นก็ได้ และคนทุกคนสามารถปลูกต้นไม้ได้ทั้งนั้น เราจะทำยังไงให้มีพื้นที่สีเขียวแทรกเข้าไปได้ทุกมุม ก็เริ่มจากต้นไม้เล็กๆ นี่แหละ”

ต้นไม้ต้นแรกๆ ที่เดบิวต์เป็นต้นไม้สายย่อ ก็ไม่ใช่ต้นไม้อื่นไกล แต่เป็นต้อยติ่งที่ให้เมล็ดเป๊าะแป๊ะและให้ดอกสีม่วงๆ ที่เราเห็นกันตามข้างทาง ด้วยเสน่ห์ของรากต้อยติ่งที่แผ่และเป็นทรงโก่งโค้งคล้ายรากโกงกาง บอสจึงลองนำมาปลูกลงกระถางเล็กๆ ดู เขาเล่าการทดลองปลูกต้อยติ่งครั้งนั้นว่า “ลองตัดยอดต้อยติ่งข้างทางมาปลูกลงกระถาง สักพักมันก็เริ่มแตกรากไปหากิน แถมยังออกดอกสวยๆ ให้ด้วย นี่ก็เป็นการเรียนรู้ผ่านการทดลองว่าต้อยติ่งหากินเก่งมาก จากนั้นเราก็ลองปลูกต้นอื่นมาเรื่อยๆ

“ต้นล่าสุดที่เราทดลองคือ กาหลง ตอนนี้ให้ดอกสีขาวและให้ฝักคล้ายๆ ถั่วลันเตา กาหลงดัดได้เยอะเพราะกิ่งเหนียว ตอนออกใบจะสวยมาก ใบของมันจะคล้ายผีเสื้อตัวเล็กๆ เต็มต้น เราทดลองทำแล้วก็มีกระแสตอบรับดีมาก ทำให้คนทั่วไปเห็นว่ายังมีต้นไม้อีกหลายต้นที่คุณเองก็ลองเอามาปลูกได้ ต้นไม้ที่เราเห็นอยู่ริมทาง ใครจะไปรู้ว่าถ้าลองเอามาปลูกในกระถางแล้วจะสวยขนาดนี้” บอสยิ้มอย่างภูมิใจและชี้ให้เราดูกาหลงที่ตั้งอยู่ด้านหน้า

จากการกำจัดวัชพืช สู่การ ‘จัด’ วัชพืช

เฟรมเล่าถึงศิลปะการเลี้ยงวัชพืชในกระถางว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่แตกออกมาจากบอนไซ หรือที่เรียกว่า ‘คุซาโมโนะ’

“คุซาโมโนะคือการเลี้ยงต้นไม้ในกระถางที่มีรู ส่วนใหญ่ที่เราทำจะใช้ต้นไม้ที่คนทั่วไปเรียกว่าวัชพืช และที่เรียกว่าวัชพืช อาจเป็นเพราะเราไม่รู้จักชื่อต้นไม้นั้นเฉยๆ” เฟรมชี้หญ้ากาบหอยที่ตั้งอยู่ด้านหน้าให้เราดูและบอกว่าต้นไม้ที่เราถอนทิ้งและเรียกมันว่าวัชพืช อาจจะเป็นพืชสมุนไพรด้วยซ้ำถ้าเราได้ลองทำความรู้จักและศึกษาดู

การนำเอาพืชที่ขึ้นอยู่รายทางมาจัดเลย์เอาต์ใหม่ในกระถางสวยๆ นอกจะเป็นกิจกรรมยามว่าง และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ต้นไม้ต้นนั้นแล้ว “ยังอยากปลูกฝังให้คนมองสิ่งรอบข้างอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่เห็นวัชพืชไม่มีคุณค่า ถ้าเราได้ลองคิดว่าต้นไม้พวกนี้ถ้าได้อยู่ถูกที่ถูกทางก็มีความสวยงามและมีเสน่ห์ในตัวเองเหมือนกัน” บอสเสริม

เฟรมชวนให้เราดูต้นกาบหอยที่อยู่กับต้นหญ้าและมอสในกระถางจิ๋ว ทำให้รู้สึกว่าพอต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยมาอยู่รวมกันแล้วดูน่ารัก กลายเป็นของแต่งบ้านที่เอาไปวางตรงไหนก็ไม่อาย และไม่ได้ถูกมองในฐานะวัชพืชอีกต่อไป เป็นการตอกย้ำว่าถ้าได้ลองจัดวางต้นไม้ให้อยู่ถูกที่ถูกทางที่มันควรจะอยู่ ไม่ว่าต้นไหนๆ ก็มีความสวยงามในตัวเองทั้งนั้น

ล้มลุก-คลุกดิน

นอกจากจะต้องศึกษานิสัยต้นไม้แต่ละต้นให้ลึกซึ้งและให้เวลาในการดูแลเอาใจใส่แล้ว ยังมีสิ่งที่ทั้งคู่ลองผิดลองถูกด้วยกันมานานหลายปีกว่าจะลงตัว นั่นคือการเลือกดินซึ่งเป็นวัสดุหลักในการปลูกให้เหมาะกับต้นไม้จิ๋วของพวกเขา บอสเล่าว่าเขาใช้เวลาถึงสี่ปีกว่าจะพัฒนาดินสูตรเฉพาะสำหรับต้นไม้ขนาดเล็กจิ๋ว ทั้งคู่ลงมือคลุกและผสมดินด้วยตัวเอง ออกแบบมาเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก ที่ปลูกได้ทั้งกระบองเพชร ไม้อวบน้ำ และบอนไซ

“เราทดลองดินมาหลายแบบและพบว่าควรใช้ดินเม็ด ข้อดีของดินที่เป็นเม็ดคือเราสามารถเคาะให้ลงไปตามซอกรากโดยง่าย อากาศถ่ายเทสะดวก ทำให้ต้นไม้เติบโตดี หลักๆ จะมีส่วนผสมคือดิน หินภูเขาไฟที่มีธาตุอาหาร และสารอาหารเสริมจากธรรมชาติ ตอนแรกเราใช้ดินที่เป็นผงละเอียดๆ ต้องใช้ไม้ปลายแหลมเสียบเข้าไปตามซอกรากต้นไม้ บางทีรากก็ขาด ดินผงมีข้อเสียคือถ้ากดแน่นไป น้ำที่รดไปก็จะไม่ซึม ต้นไม้ก็ตาย”

เมื่อแก้ปัญหาเรื่องดินได้แล้ว ทั้งคู่ได้ทดลองทำกระถางจิ๋วเอง บอสเล่าบทเรียนสำคัญให้เราฟังว่า การเลือกกระถางสำหรับปลูกก็เป็นส่วนสำคัญที่สามารถดูได้ว่าต้นไม้นั้นจะรอดหรือไม่รอด “เราเรียนรู้ว่ากระถางต้นไม้ที่ดีควรมีขายกขึ้นมา เพราะเวลารดน้ำจะได้ระบายออกด้านข้างและอากาศถ่ายเทดี ถ้าไม่มีขาให้ระบายน้ำออก น้ำจะขังอยู่ด้านบนเหมือนน้ำท่วม และเป็นสุญญากาศอยู่ด้านล่าง รากจะหายใจไม่ออกและทำให้ต้นไม้ตายได้”

เฟรมเล่าต่อว่ากระถางที่ใช้ปลูกไม่ใช้กระถางปูนซีเมนต์ทั่วไป เพราะคำนึงถึงความทนทานในการใช้งานเป็นหลัก “เราเลือกใช้เซรามิกผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูงเพราะอายุการใช้งานทนกว่าปูน ปูนซีเมนต์ทั่วไปจะเปราะง่าย เพราะไม่ได้ผ่านการเผาให้เนื้อแกร่ง เราเลยสั่งทำกระถางพิเศษ เพราะไซส์เล็กมากๆ ไม่มีร้านทั่วไปทำขาย และเราอยากสนับสนุนงานเซรามิกของคนไทยด้วย” จึงเกิดเป็นคอลเลกชั่นกระถางจิ๋วสุดน่ารักหลากๆ ไซส์ ที่มองผ่านๆ บางคนอาจจะคิดว่านี่ไม่ใช่กระถางสำหรับต้นไม้จำลอง ไม่ใช่ของจริง แต่ขอบอกเลยว่าเห็นกระถางเล็กแค่นี้ ก็ปลูกต้นไม้ได้จริงและออกดอกออกผลมาแล้ว

นอกจากดินและกระถางซึ่งเป็นวัสดุปลูกที่สำคัญแล้ว อุปกรณ์ดัด ตัดแต่งกิ่งใบก็สำคัญและเป็นเหมือนหัวใจของการทำบอนไซ เมื่อบอนไซของทั้งคู่ย่อส่วนลง อุปกรณ์ที่ใช้ก็ต้องย่อลงด้วย

เฟรมเล่าว่าอุปกรณ์ที่ใช้ตัดแต่งต้นไม้นั้น “ขอแค่ให้มีขนาดเหมาะกับต้นไม้ ถ้าเป็นกรรไกรตัดแต่งปากต้องแหลมเพื่อจะเข้าซอกเข้ามุมได้ ถ้าใช้กรรไกรผิดอาจทำให้กิ่งและใบช้ำ หรือจะตัดรากแต่กรรไกรไม่คม ก็อาจทำให้รากช้ำและทำให้ต้นไม้ตายได้ อย่างที่คีบเราจะใช้ปลายเรียวพิเศษเพราะต้นไม้เราเล็กมาก ทุกอย่างมีที่มาที่ไปและเหตุผล เราพยายามหาอุปกรณ์ที่ทดลองใช้แล้วเวิร์ก ที่สำคัญคือต้องเหมาะกับต้นไม้ที่เราปลูกด้วย”

อุปกรณ์อีกอย่างที่คนเล่นบอนไซมักจะมีติดบ้านคือ ลวด แต่ลวดสำหรับดัดต้นไม้นั้นจะมีความพิเศษคือเป็นลวดอะลูมิเนียมเคลือบสีน้ำตาลเพื่อให้กลมกลืนกับกิ่งเวลาพันเข้ากับต้นไม้ ลวดที่ใช้ดัดต้นไม้จะออกแบบมาให้รับกับกิ่งต้นไม้หลายๆ ขนาด สามารถบิดดัดได้ง่ายและไม่ทำให้ต้นไม้ช้ำ

เฟรมเล่าว่าเมื่อก่อนทั้งคู่ก็เคยใช้ลวดอะลูมิเนียมสีเงินธรรมดา และพบว่าเวลามีแสงมากระทบต้นไม้จะสะท้อนแสงสีเงินวิบวับแยงตา ทั้งหมดนี้เป็นการลองผิดลองถูกที่ทั้งคู่เรียนรู้และทดลองทำกันมา

เติบโตด้วยความเข้าใจ

แบรนด์ miNATURE_c เติบโตมาเรื่อยๆ และกำลังเข้าสู่ปีที่ 5 เฟรมและบอสเริ่มขยายฐายจากคนทำต้นไม้สองคนไปสู่กับจัดเวิร์กช็อปให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การปลูกต้นไม้และตัดแต่งอย่างถูกวิธี

เฟรมเล่าถึงการจัดเวิร์กช็อปว่ามีคนหลากหลายช่วงอายุมาก จึงต้องเขียนหลักสูตรไปเลยว่ามาเรียนแล้วจะได้ความรู้อะไรกลับไปบ้าง “เราจะมอบสิ่งที่คุณมาสามารถนำไปต่อยอดเป็นไอเดียของคุณเองในอนาคตได้ เรามาค้นพบในการทำเวิร์กช็อปสอนปลูกต้นไม้ว่า ปลายทางของการเรียนไม่ใช่การทำให้ต้นไม้รอดทุกต้น แต่ระหว่างทางคุณเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ที่ถูกต้องมากพอหรือยัง ถ้าสุดท้ายต้นไม้ตาย แต่คุณปลูกต้นไม้เป็น คุณจะกล้าลงมือปลูกต้นใหม่”

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไม่ค่อยอยากลงมือปลูกต้นไม้อาจเป็นเพราะความทรงจำร้ายๆ ที่ลองปลูกต้นไม้สักต้นแล้วมันตาย เขาจะไม่กล้าลองปลูกต้นไม้อีกแล้ว แต่เมื่อมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว เขาจะกล้าปลูกมันอีกครั้ง สำหรับต้นที่ซื้อไปแล้วมีปัญหา เรามีการรับเลี้ยงดูต้นไม้จนกว่าจะแข็งแรงให้ด้วย” เฟรมเล่าเสริมว่าต้นไม้ทุกต้นที่ออกจากมือไป พวกเขารักต้นไม้ทุกต้นเหมือนลูก และยินดีให้คำปรึกษาเรื่องต้นไม้สำหรับลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว เป็นบริการหลังการขายที่ไม่เสียเงินเพิ่ม

เมื่อพูดถึงเรื่อง ‘มือร้อน-มือเย็น’ คำนี้ดูจะวนเวียนและติดอยู่ในใจของคนที่คิดอยากปลูกต้นไม้ หรือถึงขนาดฝังลึกจนทำให้บางคนไม่กล้าลงมือปลูก

สำหรับบอส เขารู้สึกว่ามันเป็นเพียงแค่สิ่งที่คนอุปาทานกันไปเอง “ผมคิดว่าใครปลูกต้นไม้ก็รอดได้เหมือนกัน มันอยู่ที่ว่าคุณต้องเข้าใจเรื่องวัสดุปลูก ปริมาณน้ำ อากาศ คุณเข้าใจมันมากแค่ไหน ให้เวลามันมากแค่ไหน ก่อนที่คุณจะตัดสินว่าตัวเองเป็นคนมือร้อน คุณเข้าใจมันมากพอหรือยัง”

ในมุมมองของคนที่คลุกคลีอยู่กับต้นไม้มาทั้งชีวิตอย่างบอส มือร้อน-มือเย็น อาจจะหมายถึง ความใจร้อน-ใจเย็น “สิ่งที่เราทำได้คือ สนับสนุนให้แต่ละคนทดลองปลูกต้นไม้ดู อย่าเอาความเชื่อมาเป็นข้อจำกัดที่มาหยุดเราให้ไม่ลองทำ”

สิ่งที่ miNATURE_c พยายามทำจึงไม่ใช่แค่การขายต้นไม้ หรือพยายามทำให้ต้นไม้เป็นแฟชั่นประดับบ้านเท่านั้น แต่เป็นการพยายามทำให้เห็นว่าต้นไม้เล็กสามารถจัดการง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก และน่าปลูก ต้นไม้สายย่อของพวกเขาจึงเป็นสะพานที่โยงไปถึงการสร้างสังคมของการเรียนรู้ร่วมกันเรื่องต้นไม้

เมื่อต้นไม้ดูน่ารักและเข้าถึงง่าย คนรุ่นใหม่ก็จะอยากปลูกต้นไม้กันมากขึ้นๆ เฟรมกล่าวปิดท้ายว่า “ถ้าคนรู้สึกว่าต้นไม้เล็กๆ มันน่ารัก พอเขาเริ่มหลงรักมัน เขาจะรู้สึกดีกับต้นไม้ใหญ่ที่เขาจะปลูกในวันข้างหน้าด้วย”

 

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]