Games Done Quick : เล่นเกมให้ Quick เพื่อช่วยคนนับล้าน

Highlights

  • Games Done Quick คืองานการกุศลที่ชวนคนมาเล่นเกม ถ่ายทอดสดติดต่อกันถึง 1 สัปดาห์ ไม่มีหยุดพัก เริ่มมาตั้งแต่ปี 2010
  • ปัจจุบัน Games Done Quick ทำยอดบริจาคได้สูงถึงครั้งละ 2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ มีผู้เล่นเกมเข้าร่วมกว่า 150 ชีวิต
  • นี่คืองานเกมการกุศลที่เป็นแรงบันดาลใจให้งานเกมการกุศลอื่นๆ ต่อไป และเป็นพื้นที่ปล่อยของของเหล่านักเล่นเกม ให้พวกเขาได้เปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นหนทางช่วยเหลือคนอื่น

เวลาเราอยากช่วยคนอื่น เราจะทำอะไร?

การบริจาคเงินคือหนทางง่ายที่สุดเท่าที่ผมจะนึกออก โดยเฉพาะงานการกุศลที่รวมเงินบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ต่างประเทศใช้ทำการกุศล และผมชอบวิธีนี้มาก

พวกเขาเล่นเกม

คุณอ่านไม่ผิด พวกเขาเล่นเกมเพื่อการกุศล งานการกุศลนี้ชื่อว่า Games Done Quick หรือเรียกย่อๆ ว่า GDQ

Games Done Quick คืองานที่เชิญคนเล่นเกมเก่งๆ มาเล่นเกมให้ดู มีพิธีกรบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นและชวนผู้ชมพูดคุย ถ่ายทอดสดบนโลกอินเตอร์เน็ตติดต่อกันหลายวันหลายคืน อย่างปีนี้ก็ถ่ายทอดสดติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ไม่ให้พัก ไม่ให้นอน ถ้ามีปัญหาทางเทคนิคก็แก้ไขตรงนั้นขณะถ่ายทอดสด แล้วให้ผู้ชมบริจาคเงินเข้ามา รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปบริจาคให้องค์กรหรือกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้เป็นมะเร็ง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 หรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเฮอร์ริเคน เป็นต้น

ตัวอย่างตารางเกมข้ามวันข้ามคืนของปีนี้

ถ้าใครสงสัยว่าแค่เล่นเกมจะได้เงินเยอะพอบริจาคเหรอ สารภาพว่าตอนแรกผมเองก็สงสัย เพราะการเล่นเกมฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ ใครๆ ก็เล่นได้ แต่งาน GDQ ไม่ใช่แค่เล่นเกมให้ดู

คนที่จะมาโชว์ฝีมือใน GDQ ได้ต้องสมัครเข้ามา และต้องเล่นเกมโดยมีเป้าหมายหรือเส้นชัยที่เหลือเชื่อ ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นเกมให้จบเร็วที่สุดภายในเวลาที่ไม่น่าเป็นไปได้ (เรียกว่า speedrun ทำให้บางครั้งผู้เล่นก็ถูกเรียกว่า ‘นักวิ่ง’ หรือ ‘runner’) เช่น บางเกมที่ปกติใช้เวลาเล่นไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง พวกเขาอาจเล่นจบได้ภายใน 3 ชั่วโมง บางคนก็ปิดตาเล่นเกม ใช้เพียงเสียงจากเกมและการจดจำว่าต้องกดปุ่มไหนตอนไหน บ้างก็ปิดตาฆ่าบอสในเกมที่คนปกติ (แถมเปิดตา) อาจต้องเล่นซ้ำไม่ต่ำกว่า 10 รอบกว่าจะชนะ

เหล่าผู้เล่นที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดา บางคนไม่ได้เป็นนักเล่นเกมมืออาชีพ พวกเขาแค่เล่น speedrun เพื่อหาเป้าหมายใหม่ๆ ในการเล่นเกม ขณะที่บางคนเป็น streamer ซึ่งมีช่องของตัวเองใน Twitch หรือ YouTube ก็จะได้เผยแพร่ช่องและฝีมือของตัวเองผ่านงานนี้

ปกติแล้วเหล่าผู้เล่นที่เป็น streamer จะรับบริจาคเงินเป็นรายได้จากการเล่นเกมให้ดูบนช่องของตัวเอง ผู้ชมบางคนก็บริจาคเข้ามาเพราะชื่นชอบสไตล์การเล่นเกมของ streamer คนนั้น และอยากสนับสนุนให้เขาเล่นเกมให้ดูอีก เหมือนจ่ายเงินดูโชว์บางอย่างนั่นเอง การได้ร่วมเล่นในงาน GDQ จึงเหมือนได้โฆษณาช่องและฝีมือตัวเองไปด้วย

ตัวงาน GDQ เองก็ใช้กลไกบริจาคเงินของเหล่า streamer เป็นต้นแบบ เพียงแต่งานนี้เปิดรับบริจาคเงินสำหรับการกุศลและเพิ่มเติมกลไกการบริจาคเข้าไป เช่น ผู้บริจาคสามารถตกลงกับผู้เล่นได้ว่าอยากให้สร้างตัวละครยังไง อยากให้ใช้ชื่อตัวละครว่าอะไร หรืออยากเพิ่มโจทย์อะไรให้ผู้เล่น ขณะเดียวกัน ผู้บริจาคคนอื่นยังสามารถบริจาคเงินจำนวนมากขึ้นเพื่อเกทับข้อตกลงเก่าก็ได้ (เรียกว่า Bid War) ทำให้งาน GDQ กลายเป็นสนามเกมทั้งของเหล่าผู้เล่นและผู้บริจาค

ด้านผู้ชม ทั้งแบบสดและออนไลน์ที่ตั้งใจรอชมงานนี้โดยเฉพาะ พวกเขาจะจับตารอดูเทคนิคแปลกๆ จากผู้เล่น รอชื่นชมความเพียรพยายามและความเหนือมนุษย์ของพวกเขา อย่างที่ Chris Grant หนึ่งในทีมงาน GDQ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“บางคนในคอมมูนิตี้ของเราแค่มาดูว่าพวกผู้เล่นใช้ glitch (ข้อผิดพลาดในเกม) ช่วยทำ speedrun กันยังไง คล้ายเป็นงานอดิเรกของพวกเขาน่ะ แต่ก็มีคนที่สนุกกับการชมและพูดคุยเกี่ยวกับ speedrun ด้วย ทั้งที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องสนใจหรือทำ speedrun เองก็ได้”

จริงๆ แล้ว งาน GDQ อาจไม่มีวันเกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีคอมมูนิตี้ชาว speedrun ที่เข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว และเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1998

คอมมูนิตี้ของชาว speedrun เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะของเว็บไซต์ที่ชื่อว่า speeddemosarchive.com ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1998 เป็นแหล่งรวมกระทู้และคลิปเกี่ยวกับ speedrun จนกระทั่งเวลาผ่านไป จำนวนผู้ใช้เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนมาสนับสนุนและช่วยดูแลเพิ่มขึ้น

เมื่อผ่านไป 12 ปี ทีมงานเว็บไซต์ speeddemosarchive.com จึงตัดสินใจจัดงานการกุศลที่ใช้การเล่นเกมแบบ speedrun เป็นเครื่องมือเชิญชวนคนมาบริจาคเงิน จนเกิดงาน Games Done Quick ครั้งแรกขึ้น

Games Done Quick ในครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2010 จัดแบบง่ายๆ ในห้องใต้ดินที่บ้านของทีมงานคนหนึ่ง นั่งจับจอยเล่นเกมกันบนโซฟา ดูเผินๆ ไม่ต่างจากเหล่าเนิร์ดที่มารวมตัวเล่นเกมข้ามคืนด้วยซ้ำ เพียงแต่พวกเขาเล่นเกมและถ่ายทอดสดติดต่อกันยาวนาน 3 วัน 3 คืน ต่างอวดฝีมือที่ทำให้ผู้ชมต้องอ้าปากค้าง และนำเงินบริจาคกว่า 1 หมื่นดอลล่าร์สหรัฐหักค่าใช้จ่ายไปบริจาคให้มูลนิธิ CARE

ปัจจุบัน Games Done Quick จัดปีละ 2 ครั้ง มีผู้เล่นกว่า 150 ชีวิตเข้าร่วมมาราธอนเกม และผู้ชมในงานอีกถึง 850 ชีวิต รวมตัวเฮฮากับ speedrun กันในห้องโถงโอ่อ่า ล่าสุดทำยอดบริจาคสูงถึงกว่า 2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนใหญ่บริจาคเงินให้มูลนิธิ Prevent Cancer Foundation, Doctors Without BordersOrganization for Autism Research และ CARE (ทั้ง 4 แห่งนี้ต่างเป็นองค์กรระดับประเทศ) นอกจากนี้ยังมีเซคชั่นอื่นๆ มากขึ้น เช่น การแข่งเล่นเกมเร็วระหว่างผู้เล่นด้วยกัน ช่วงทอล์คโชว์ ช่วงควิซเกม เป็นต้น ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมและเป็นมิตรกับคนนอกคอมมูนิตี้ speedrun มากยิ่งขึ้นอีก

ในแง่หนึ่ง ผมมองว่า GDQ คืองานเกมการกุศลที่เป็นต้นแบบของงานเกมการกุศลต่อๆ มา อีกแง่หนึ่ง GDQ กลายเป็นอีกงานเกมที่ควรปูเสื่อรอ เพราะนี่คืองานรวมตัวนักทำ speedrun มือฉมัง เป็นพื้นที่ปล่อยของที่ผู้เล่นต่างใส่ฝีมือกันเต็มอัตราเพื่อจุดหมายเดียวกัน คือเรียกยอดบริจาคให้ได้เยอะที่สุด

ความคลั่งไคล้ในเกมของทุกคนในงานนี้คือของจริง พวกเขาคือคอมมูนิตี้ที่บ้า บ้าพอที่จะวิ่งไปหาเส้นชัยที่ไกลเกินเอื้อม แล้วเปลี่ยนเส้นชัยนั้นให้กลายเป็นประโยชน์ต่อสังคม

เปลี่ยนเกมจากเพียงงานอดิเรกให้กลายเป็นหนทางช่วยเหลือคนอื่น

References

Games Done Quick
Gamers Are Speedrunning Classic Titles for Charity at Summer Games Done Quick
FAQ of Speed Demos Archive
Summer Games Done Quick 2018 sets another fund-raising record
Summer Games Done Quick Raises Over $2.12 Million for Doctors Without Borders

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา