เกมสร้างฝันและตัวตนของ บี-พลากร เตชะไทยเจริญ แชมป์เกมเพลงระดับท็อปของไทย

เมื่อเราถึงบ้านย่านบางแคของ บี-พลากร เตชะไทยเจริญ หนุ่มวัย 24 ปี เขาเปิดห้องรับแขกให้นั่งพูดคุยถึงวีรกรรมการเล่นเกมเพลงที่พลิกชีวิต เกมมอบประสบการณ์พาเขาก้าวจากโลกความจริง สู่โลกความฝันที่ทำด้วยความสุข ถ้า 13 ปีก่อน เขาไม่ได้เล่นเกมที่ชอบในวันนั้น จะไม่มีรูปแบบชีวิตที่เขาภาคภูมิใจอย่างวันนี้

“ผมหลงใหลการเล่นเกมเพลง” บีเกริ่น แล้วโชว์ถ้วยรางวัลที่สะท้อนความคลั่งไคล้เกมเกี่ยวกับเพลงและเกมเต้นระดับดีเด่นให้เราดู เช่น การเล่นเกมเพลงตู้ MaiMai ระดับยากสุดได้แบบ All Combo เล่นไม่พลาดคนแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังควบถ้วยรางวัลจากเกมอีกหลายเกม เช่น Neon FM อันดับ 2 ของประเทศ (2016), Pump It Up อันดับ 3 ของประเทศ (2015), DJMAX Technika อันดับ 2 ของประเทศ (2013) และ Danz
Base อันดับ 4 ของประเทศ (2015) เป็นต้น

หลายคนพูดว่าเกมไร้สาระ คนติดเกมถูกมอมเมาทำให้เสียอนาคต ถ้าคิดแบบนั้น บีจะใช้เกมพิสูจน์ให้คุณเห็นมุมใหม่ มุมที่เกมหยิบยื่นโอกาสดีหลายครั้งให้ชีวิตเขา

เกมคือความคลั่งไคล้

เมื่ออายุ 10 ปี บีเหมือนเด็กติดเกมออนไลน์ทั่วไป จนวันหนึ่งเริ่มเล่นเกมเพลงออนไลน์ชื่อ โอทูแจม (O2Jam) เกมที่มีตัวโน้ตไหลลงมา 7 ช่อง ต้องใช้นิ้วมือ 7 นิ้ว กดให้ทันโน้ต เกมนี้ช่างท้าทายเขา เพราะเล่นได้ไร้ขีดจำกัด จากระดับง่ายจนถึงยากสุดในแบบที่มนุษย์ไม่อาจเล่น แต่เอาสิ บีเล่นผ่านทุกเพลงของเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยจนได้

“เกมเพลงไม่มีลิมิต ไม่มีกำแพงความยาก ผมอยู่กับเกมแบบนี้ได้ทั้งชีวิต ถ้ามีเพลงใหม่ โน้ตใหม่ก็มา ที่สำคัญมันไม่ไร้สาระ เพราะเกมนี้ให้ทักษะด้านดนตรี ทุกวันนี้เล่นกลอง กีตาร์และเปียโนได้ กล้าพูดเลยว่าเพราะเล่นเกม”

เกมคือบทพิสูจน์

คุณว่าเด็กบ้าเกมคนหนึ่งจะพิสูจน์ตัวเองยังไงให้คนรอบข้างยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่า

บีเล่นเกมทุกวันจนติดงอมแงม การที่เขาเล่นเกมอย่างหนักทำให้พ่อแม่เป็นห่วงมาก

“ตอน ป.4 พ่อถามผมว่าอยากลาออกจากโรงเรียนมาใช้ชีวิตไหม ซึ่งผมเบื่อโรงเรียนอยู่แล้ว ผมตอบเลยว่าอยาก” บีตอบเสียงเข้ม สายตาแน่วแน่

ถ้ามองจากมุมคนทั่วไป ภาพของบีหลังจบชั้น ป.4 แล้วลาออกมาอยู่บ้าน อาจเหมือนเด็กคุณสมบัติต่ำต้อย แต่ช่วงชีวิตหลังจากนั้นกลับเป็นการเปิดโลกทัศน์ และได้คิดต่างจากการเรียนในระบบทั่วไป “พ่อผมพาออกมาทำงานขายของ เรียนวิชาชีพ ทำอาหาร งานช่าง เรียนกีฬา เรียนทุกอย่างที่โรงเรียนไม่มีให้เราเป็นเวลา 3 ปี แต่มีเป้าเลยว่าต้องสอบเข้ามหา’ลัยให้ได้ เลยตัดสินใจเรียน กศน. (การศึกษานอกระบบ) เรียนได้วุฒิ ป.6 และ ม.3 ตามลำดับ”

“แล้วต่อมาต้องเรียนพิเศษด้วย ตอนนั้นผมเสี่ยงเดิมพันสูงมาก เพราะมีแค่วุฒิ ม.3 เดินไปหาติวเตอร์บอกว่าอยากสอบตรงเข้าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยทำยังไงก็ได้ให้สอบเข้าได้ที หลังจากนั้นต้องติวอย่างหนักจนครบ จากนั้นไปสอบจนติด แต่ปัญหาคือผมมีแค่วุฒิ ม.3”

น่าเหลือเชื่อ จนผมเลิกคิ้วสูง แล้วถามเขาว่า บีทำยังไงต่อ

“ผมบอกเขาเลยว่ารอก่อนนะ ก่อนเปิดเทอมผมจะเอาวุฒิ ม.6 มาให้แน่นอน ผมดึงเอาความรู้ทั้งหมดที่มีในตัวไปสอบวัดระดับ GED หลักสูตรการเรียนนอกโรงเรียนระดับ ม.ปลาย ของประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามทีเดียวจนสอบผ่าน”

จากนั้นเสียงปรามาสจากคนรอบตัวที่คอยว่าเด็กติดเกมคนนี้จึงเบาลงเรื่อยๆ เบาพอๆ กับเสียงบีที่แอบบอกเราว่า “คิดดูว่าตอนติว เรียนหนักขนาดไหน แต่พอเลิกเรียน ผมต้องมาคลายเครียดด้วยการเล่นเกมเพลงหยอดเหรียญทุกวันอยู่ดี” บีเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ

เกมคือเพื่อนและประตูสู่มิตรภาพ

ไม่ใช่แค่ได้รับความสนุก เกมที่ว่านั้นพาเขาไปเจอสังคมเพื่อนที่ขาดหายไปนานตั้งแต่ช่วงลาออกมาจากโรงเรียน

“การเล่นเกมตู้นี้พาผมเข้ากลุ่มเพื่อนครั้งแรก หลังจากตัดขาดสังคมเพื่อนตั้งแต่ลาออกตอน ป.4 มันทำให้ผมเจอกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกันไปจนถึงรุ่นใหญ่อย่างอาจารย์มหาวิทยาลัย เจอคนแทบทุกแบบ บางคนกลายเป็นเพื่อนซี้กันถึงทุกวันนี้” นั่นคือการเติมเต็มเรื่องสังคมเพื่อนที่เคยขาด สายตาเขาตอนพูดจบประโยคบอกเราแบบนั้น

นี่คือการลบคำสบประมาท

ในเมื่อเด็กชายเล่นเกมจนคลั่งไคล้ เขาตัดสินใจเอาจริงเอาจัง ขึ้นเวทีการประกวดให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นอีกบทอีกก้าวของการเล่นเกมแบบไม่ให้เสียเปล่า แม้เริ่มจากเพื่อนชวนให้เขาสมัครแข่งขันเกมบนเวทีประกวดเล่นๆ
แต่เพราะเป็นคนมีความมุ่งมั่นสูง การแข่งขันต่างๆ จึงกลายเป็นประตูสู่หมุดหมายสำคัญแห่งชีวิตในเวลาต่อมา

“เมื่อมีเวทีแข่งขัน เราอยากลองเข้าร่วมเพื่อพัฒนาทักษะ การได้เจอคนเก่งมารวมกันทำให้ได้เปิดหูเปิดตา ได้เห็นเทคนิคว่าเขาเล่นกันยังไง ทักษะตรงไหนที่ด้อย ผมรีบไปถามวิธีจากเขา ทุกอย่างไม่ง่ายอย่างที่คิด ครั้งแรกผมอ่อนหัด โอ้โห สู้ใครไม่ได้เลย เราขาดอะไรวะ เราต้องฝึกอะไรเพิ่ม ผมขอคำแนะนำทุกคน กลับมาฝึก ฝึก ฝึก เอามันทุกทางจนเป็นทุกอย่าง ผมภูมิใจมาก”

เป็นเพราะการฝึกฝน ทำให้เกิดการเรียนรู้ จนกระทั่งบีตระหนักว่าเกมคือบทเรียนยิ่งใหญ่แห่งชีวิต

เกมทุกเกมคือบทเรียน ถ้าไม่ผ่านด่าน ต้องเล่นให้ผ่านจนได้ ถ้าปลดล็อกทีละด่าน เราจะเรียนรู้ทักษะจากเกมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกมก็เหมือนชีวิต เราจะหยุดอยู่แค่นั้นเหรอ อยากอยู่ในชีวิตจังหวะเดิมๆ แล้วไม่พัฒนาเพิ่มหรือไง เป็นผมจะไม่ยอมหรอก

“มีญาติผู้ใหญ่เห็นผมเล่นเกม แล้วมาบอกพ่อว่าลูกคุณไปเล่นเกมในห้าง พ่อต้องแบกรับความรู้สึกทุกอย่าง ผมจะพิสูจน์ให้ดูเลย อย่ามองแง่เดียว คนเล่นแล้วดีมีตั้งเยอะ บางคนเล่นแล้วแข่งระดับโลก มีรายได้พัฒนาตัวเอง
คุณเปิดใจมองหรือยัง ผมไม่เล่นเฉยๆ ต้องดูด้วยว่ามีลู่ทางไปต่อไหม อยากจะทำงานด้านเกม นอกจากเล่น ผมต้องฝึกฝนตัวเองด้านอื่นด้วย”

“สุดท้ายผมทำงานเกี่ยวกับเกมจนมีเงินเก็บ แล้วตอนนี้ก็มีธุรกิจของตัวเอง ผมตั้งตัวได้เพราะเรื่องเกม แถมเกมทำให้ตั้งใจเรียนกว่าเดิม เพราะต้องแบ่งเวลาให้เป็น ตอนนี้ผมไม่ขอเงินพ่อแม่ใช้เลย เพราะฉะนั้นเรื่องเกมมันยิ่งใหญ่สำหรับผมมาก” บีพูดอย่างภาคภูมิ


5 สิ่งสำคัญขับเคลื่อนชีวิต

นอกจากบทสนทนาเรื่องตัวตนคนเล่นเกมที่บีเล่าให้เราฟังเข้มข้น เขายังเลือก 5 สิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กับชีวิตการเล่นเกมที่รัก จนหล่อหลอมให้เขากลายเป็นบีที่แข็งแกร่งในปัจจุบันให้เราฟังด้วย

01 ไอแพดสำหรับฝึกปรือการเล่นเกม
การลงมือทำอะไรให้เชี่ยวชาญต้องอาศัยการฝึกซ้อม ไอแพด โปร เครื่องนี้ผมต้องพกติดตัวเอาไว้ฝึกซ้อมซ้ำๆ ให้เก่งจนได้ และที่ผมภูมิใจมากเพราะเอาเงินส่วนตัวจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงด้านเกมมาซื้อ

02 ตู้เกมที่ต้องเล่นเป็นชีวิตจิตใจ
กล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าถ้าไม่มีตู้เกม ผมจะสอบเข้ามหา’ลัยไม่ได้ สมัยที่ผมเรียนพิเศษ ตอนนั้นเครียดมาก ผมใช้ตู้เกมระบายความเครียด มันช่วยเติมพลังชีวิตที่ขาดหาย ทำให้วันต่อไปมีแรงและพลังฮึดลุกขึ้นมาเรียนต่อ จนทำให้มีวันนี้จนได้

03 รองเท้าเพื่อนคู่ใจ
‘ไอ้ตีนกบ’ ส่วนใหญ่เวลาใส่รองเท้าคู่นี้ คนจะเรียกผมแบบนี้ เพราะมันถูกออกแบบมาเป็นรูปทรงนิ้วเท้า พูดเลยว่าตีนกบคู่นี้แหละ ที่ผมใส่จนได้รางวัลจากเวทีการแข่งขันเกมต่างๆ

04 โน้ตบุ๊กที่ใช้สร้างสรรค์งานด้านเกม
โน้ตบุ๊กตัวนี้ใช้ทำงานทุกอย่าง สร้างรายได้มากมาย มีคุณค่าทางใจสูง ผมเคยทำเกมเพลงมากมา นอกจากนี้ยังใช้โน้ตบุ๊กเครื่องนี้เล่นเกม ใช้ทำเพจเกมส่วนตัวชื่อ bmusicgame ในเฟซบุ๊กและมีชาแนลยูทูบที่แบ่งปันเรื่องราวการเล่นเกมกับคนที่รักการเล่นเกมอีกหลายหมื่นหลายพันคนด้วย

05 แบงก์ร้อย สื่อแทนกำลังใจ
มีครั้งหนึ่งเคยเล่นเกมตู้ในห้าง แล้วคนมามุงดู ฝรั่งคนหนึ่งเดินมายื่นแบงก์ร้อยให้ แล้วบอกผมว่า “เราชอบดูคุณเล่นมาก ช่วยเล่นให้ดูอีกครั้งทีเถอะ” ผมดีใจสุดๆ สำหรับผมแบงก์ร้อยนั่นมูลค่าไม่น้อยเลยนะ แล้วมีคนให้แสดงว่าการเล่นเกมของเราสร้างความสุขให้คนอื่นได้ มันยืนยันว่าคุณค่าของเกมมีอยู่จริง

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR