Game of Thrones: The Long Night : หนังมืดไป จอมืดไป หรือเรามืดเอง

Highlights

  • ปัญหาเรื่องความมืดความสว่างของตัวหนังนั้นเป็นปัญหาคลาสสิกที่คนทำหนังต้องเจอ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนถูกคิดมาหมดแล้วในการสื่อสาร หลายๆ ครั้ง ผู้สร้างหนังก็อยากให้คนดูเห็นฉากนั้นๆ แบบเรียลลิสติก ซึ่งการทำให้เกิดความสมจริงทางภาพสามารถสร้างความรู้สึกพิเศษบางอย่างให้กับคนดูได้ แต่การนำเสนอแบบนอกมาตรฐานปกติแบบนี้เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำให้เกิดผลกับคนดูได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
  • ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสว่างและความมืดที่กล่าวมานี้คือความมืดและสว่างของจอที่ฉาย รวมถึงบิตเรตและคุณภาพไฟล์ ดังนั้นสุดท้ายแล้วผู้สร้างต้องตัดสินใจเองว่าจะไปด้านมืดหรือด้านสว่าง ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ๆ สำหรับการทำหนังหรือฉายซีรีส์ในยุคสมัยนี้ต่อไป

แม้จะยังไม่ได้ดู Game of Thrones ซีซั่น 8 อันเป็นซีซั่นสุดท้ายของหนังชุดนี้ แต่ข่าวคราวของแต่ละ EP. ที่ออกอากาศในแต่ละวีคนั้นก็ลอยทะลุมาถึงหูผมได้ด้วยความโด่งดังของมัน

ปกติแล้วสิ่งที่ลอยมาจะเป็นความมันของเนื้อเรื่อง มีมฮาๆ เกี่ยวกับตัวละครในซีรีส์ แต่เมื่อมาถึง EP.3 ที่มีชื่อตอนว่า The Long Night สิ่งที่คนพูดถึงกันอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องของบทหรือตอนจบใดๆ แต่เป็นเรื่องความมืดของหนังที่ว่ากันว่ามืดจนกูมองอะไรไม่เห็นเลย จึงลองไปกดเช็กสักหน่อยว่ามืดขนาดไหน พอเห็นแล้วก็ร้องอ๋อขึ้นมา แต่เป็นการร้องอ๋อแบบที่เข้าอกเข้าใจทั้งสองผ่าย ทั้งคนทำและคนดู

Game of Thrones: The Long Night

ความจริงแล้วปัญหาเรื่องความมืดความสว่างของตัวหนังนั้นเป็นปัญหาคลาสสิกที่คนทำหนังต้องเจอ เรื่องของเรื่องนั้นเราตั้งต้นก่อนว่า ไม่มีใครอยากจะทำให้หนังตัวเองมืดจนดูไม่รู้เรื่อง หรือมืดเพื่อทรมานคนดู ความสว่างและความมืดนั้นล้วนถูกคิดมาหมดแล้วในการสื่อสาร

สมมติอย่างความมืดเกือบจะสนิทของ The Long Night นั้นก็พอทำความเข้าใจได้ หลายๆ ครั้ง ผู้สร้างหนังก็อยากให้คนดูเห็นฉากนั้นๆ แบบเรียลลิสติก เวลาเราเข้าป่าหรือไปในที่ที่ไร้แสงตกถึง เราก็จะตกอยู่ในสภาพกึ่งตาบอดเล็กน้อย คือ เห็นรางๆ เห็นเหมือนไม่เห็น นั่นแหละคือบรรยากาศที่ผู้สร้างอาจจะต้องการให้คนรู้สึกกับหนังตัวเองในฉากนั้น ไม่ใช่แสงจากดวงจันทร์สว่างโร่ทั้งป่าในตอนกลางคืนแบบที่หนังทั่วๆ ไปทำกัน ซึ่งการทำให้เกิดความสมจริงทางภาพสามารถสร้างความรู้สึกพิเศษบางอย่างให้กับคนดูได้ เช่น มันอาจจะทำให้คนดูนอยด์ขึ้น กลัวขึ้นเพราะมองอะไรไม่ค่อยเห็น ไม่รู้อะไรจะโผล่มาทางไหน กระตุ้นให้คนดูเกิดการต้องเพ่งมอง สังเกตมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเทคนิคทางภาพยนตร์แบบหนึ่ง (ถ้าให้นึกง่ายๆ กว่านั้นอีกนิดหนึ่งคือ เราอาจจะยกตัวอย่างเรื่องไซส์จอ เช่น การที่เราดู Dunkirk ในจอเล็กกับจอ IMAX นั้นก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันจริงๆ ดูจอใหญ่มากเราอาจจะต้องหันซ้ายหันขวาตามเครื่องบินรบที่วิ่งไปวิ่งมา เหมือนเราตกเข้าไปอยู่ในโลกของหนังเรื่องนั้นจริงๆ ในขณะที่ดูจอเล็กก็คือมองทีเดียวเห็นทั้งหมด รวมไปถึงบรรยากาศรอบๆ จอหนังด้วย เช่น แม่ซักผ้า น้องเล่นเกม ฯลฯ)

แต่การนำเสนอแบบนอกมาตรฐานปกติแบบนี้เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำให้เกิดผลกับคนดูได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างที่คนทำต้องการ เพราะมันต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ รอบตัวด้วย ตัวอย่างเช่น

Game of Thrones: The Long Night

1. ความมืดและสว่างของจอที่ฉาย : อันนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะทำสีดีแค่ไหน ทำหนังให้ภาพสว่างๆ ไปเพียงใด ถ้าจอทีวีนั้นปรับ brightness ไว้แค่ 3 ยังไงหนังก็มืดแน่นอน ทีวีของแต่ละคนหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ของแต่ละคนนั้นมีค่าความสว่างที่ไม่เท่ากัน และเราก็ไม่มีการล็อกค่าสากลให้ทีวีทุกเครื่องสว่างตรงกันหรือโทนสีตรงกัน ต่างคนต่างปรับกันตามใจชอบ แม้จะมีคู่มือกับโปรแกรมช่วยปรับจอให้เป็นค่ามาตรฐานสากล แต่คนทั่วๆ ไปก็ไม่ได้ทำตามเท่าไหร่

ดังนั้นผู้สร้างหนังที่ทำหนังด้วยความมืดอันพิสดาร ก็อาจจะต้องลุ้นๆ เอาว่า ทีวีของผู้ชมนั้นปรับค่ากันเอาไว้ที่เท่าไหร่ หรือวันนั้นไฟในห้องดูทีวีนั้นมันสว่างหรือเปล่า เพราะถ้าห้องสว่างโร่ พอหนังมืดๆ ก็มองไม่เห็นอยู่ดี ต้องปิดไฟห้องให้หมดถึงจะดูได้อย่างเต็มที่

Game of Thrones: The Long Night

ในกรณีเป็นหนังโรงก็เช่นกัน จอหนังของโรงภาพยนตร์แต่ละโรงนั้นสว่างมืดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหลอดฉาย บางครั้งเรารู้ว่าประเทศที่จะฉายหนังเรานั้น โรงส่วนใหญ่จอไม่สว่างจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โรงอีกประเทศหนึ่งมีหลอดภาพได้คุณภาพและฉายได้ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์แบบที่เราปรับไป

ถ้ามีโอกาสทำต้นฉบับหนังเราได้เพียงครั้งเดียว เราจะปรับแสงหนังของเราเผื่อสำหรับที่ไหน เราจะยอมทำหนังให้สว่างขึ้นเพื่อจะเอาไว้ฉายโรงจอมืดๆ หรือเราจะปรับให้มืดตามที่เราต้องการเพื่อสร้างต้นฉบับที่ถูกต้องและถูกใจเราที่สุด ถ้าวันไหนต้องไปฉายโรงมืดๆ ก็ถือว่าเป็นความผิดของโรงไปที่ไม่ยอมทำให้โรงตัวเองได้มาตรฐานความสว่างที่ถูกต้องสากล แต่เคราะห์กรรมก็จะตกที่คนดู ซึ่งจริงๆ คนดูเขาก็ไม่รู้หรอกว่าแสงสว่างที่ถูกต้องของเรื่องนั้นมันควรจะเป็นอย่างไร และก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมหนังเรื่องนี้มันมืดจังวะ คนทำหนังมันกะจะไม่ให้คนดูใช่ไหม โดยที่ไม่รู้เลยว่าเป็นเรื่องอุปกรณ์การฉายที่ไม่ได้มาตรฐาน

ไม่มีคนดูทั่วๆ ไปคนไหนเข้าไปดูหนังเรื่องเดิมสองรอบสองโรงเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพสีและความสว่างแน่ๆ

Game of Thrones: The Long Night

2. บิตเรตและคุณภาพไฟล์ : ในยุคที่การส่งหนังไปฉายสามารถไหลไปได้ทางอินเทอร์เน็ต เรื่องของขนาดไฟล์และบิตเรตความละเอียดของไฟล์เป็นสิ่งที่กุมชะตาชีวิตคนทำงานประเภทนี้ คราวนี้ต่อให้จอฉายได้มาตรฐาน ความสว่างตรงเป๊ะ แต่ถ้าไฟล์ที่ฉายนั้นไม่ละเอียด หรืออินเทอร์เน็ตช้าเลยเล่นได้แค่ 480p นั่นก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ทุกอย่างหายไปให้ความมืด มองไม่ชัดอยู่ดี บางคนดูหนังในสมาร์ตโฟนนี่แทบจะไม่ได้อะไรไปเลย เพราะบิตเรตต่ำและจอก็เล็ก สองเด้งเลย

บางคนอาจบอกว่างั้นทำไมไม่ทำหนังให้มันสว่างๆ ไว้ล่ะ ดวงจันทร์สว่างจ้าทั่วป่าก็ได้ไม่มีใครติดหรอก จะมืดให้ลำบากชีวิตไปทำไม เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องพูดยาก เพราะมันคือเรื่องการนำเสนอภาพยนตร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็ควรมีสิทธิทำออกมาได้และควรได้รับสิทธิฉายแบบถูกต้องตามคุณภาพที่ทำมา แต่คนทำหนังหรือซีรีส์ก็ต้องยอมรับว่า เราอยู่ในยุคที่เราควบคุมปลายทางแทบจะไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนอาง่ายกว่านี้มาก

เราอาจมีโรงหนังที่มีมาตรฐานการฉายดีเท่าๆ กัน เราอาจจะมีทีวีไม่กี่แบบ และงานก็ออกอากาศมาจากที่ช่องเดียวกัน แต่ตอนนี้การแพร่กระจายของงานมันกระจายไปอยู่ในฟอร์แมตต่างๆ มากมาย และในอุปกรณ์การฉายหลายๆ แบบ ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่ได้จบแค่ห้องนั่งเล่นหรือโรงหนังอีกต่อไป

ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่คนสร้างต้องตัดสินใจเองว่าจะไปด้านมืดหรือด้านสว่าง ก็เป็นโจทย์ใหม่ๆ สำหรับการทำหนังหรือฉายซีรีส์ในยุคสมัยนี้

AUTHOR