เราจะรอดชีวิตอย่างไรในช่วงเวลาที่หนังการ์ตูนกลับมามีชีวิต?

ความสำเร็จของหนังอย่าง The
Jungle Book
คล้ายเป็นชนวนระเบิดสำคัญที่เปิดศักราชการรีเมกครั้งใหญ่ของดิสนีย์
(รีเมกอีกแล้วจ้า) จริงๆ การรีเมกหนังเก่าจากยุค
90 นั้นกลายเป็นเทรนด์สำคัญของหนังยุคนี้
(ซึ่งตอนนี้เริ่มลามมารีเมกหนังในปี
2000
ต้นๆ อย่าง
The Matrix ที่มีข่าวว่าจะรีบูตให้คล้ายๆ กับการทำหนังอย่าง
Rogue
one
ของซีรีส์ Star Wars) เราจะเห็นหนังที่เราคุ้นๆ ในช่วงเวลานั้นกลับมาใหม่อีกครั้ง ล่าสุดกับ Power Rangers ก็ยังอุตส่าห์กลับมา
สาเหตุหนึ่งก็คือว่าถ้ารีเมกสำเร็จ บรรดาสินค้าคาแรกเตอร์ที่มีอยู่แล้วก็จะกลับมาขายได้อีกครั้ง ว่าง่ายๆ คือไม่ต้องดีไซน์ใหม่เลย
ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพี่ๆ เขาจึงขยันรีเมกกันใหญ่

หนังน่ะรีเมกได้ง่าย
แต่เมื่อมองไปที่การ์ตูนหรือแอนิเมะ เราจะรีเมกกันยังไงได้บ้าง วาดใหม่ก็คงไม่ใช่
ทำแบบ 3D
ก็ไม่ค่อยจะน่าสนใจ
ดังนั้นการหนังเวอร์ชัน Live Action จึงดูน่าสนใจที่สุด
เพราะยุคนี้เราก็มีเทคโนโลยีที่เพียบพร้อมพอที่จะทำอะไรก็ได้ และดีพอที่น่าจะทำให้คนเชื่อได้

แต่นั่นมันพอสำหรับการรีเมกการ์ตูนและแอนิเมะจริงหรือเปล่า?

การแปลงร่างจากหนังการ์ตูนมาเป็นคนแสดง
ต้องอาศัย ‘การทำให้เชื่อ’ เป็นอย่างมาก
ลองคิดง่ายๆ ว่าการทำหนังจากหนังสือหรือวรรณกรรมยังยากเลย
เพราะคนมีจินตนาการในหัวตัวเองขณะที่อ่านหนังสือเล่มนั้นๆ
กลายเป็นว่าผู้สร้างจะต้องทำฉบับหนังให้วิจิตรกว่าที่คนอ่านคิดในหัว
หรืออย่างน้อยก็เป็นไปตามที่คนอ่านจิ้นเอาไว้ (ซึ่งมักจะจิ้นกันเอาไว้เยอะซะด้วยสิ) จึงไม่น่าแปลกที่มักจะมีคอมเมนต์ประมาณว่า
‘สู้หนังสือไม่ได้’ ออกมาอยู่เสมอๆ,
ทีนี้ว่ากันด้วยการ์ตูน
คนทำหนังก็ต้องต่อสู้กับสิ่งที่การ์ตูนวาดไว้แล้ว เพราะสื่อการ์ตูนนั้นยืดหยุ่นและไร้รูปแบบมากกว่าภาพยนตร์มากนัก

การ์ตูนเป็นสื่อภาพวาดที่คนวาดสามารถวาดให้เป็นอะไรก็ได้
และคนดูก็ยอมรับและโอเคกับมันด้วย ในขณะที่ภาพยนตร์นั้นเป็นเหมือนภาพถ่าย
ต่อให้เป็นหนังแฟนตาชี มันก็ถูกกรอบของภาพความจริงล็อกเอาไว้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น
การสร้างการ์ตูน
Dragon Ball
ให้กลายเป็นหนังนั้นก็ยังไม่เห็นมีใครทำได้สำเร็จ
เพราะไม่มีใครสามารถจำลองผมฟูๆ ของหงอคงแบบฉบับเรียลิสติกได้ (ซึ่งถ้าคิดตามจริง
ผมทรงหงอคงแม่งประหลาดมากเลยนะ เหมือนไม่ใช่ทรงผมของมนุษย์
แต่พอเป็นการ์ตูนแล้วเรากลับโอเคและคิดว่ามันสมจริง) หรือสมมติว่าร่างซูเปอร์ไซย่ากลายเป็นผมทอง ถ้าถ่ายจริงออกมา
เราก็จะเห็นชาวญี่ปุ่นย้อมผมสีทองเฉยๆ มันไม่ใช่ทองของร่างซูเปอร์ไซย่าจริงๆ
บางทีทำออกมาแล้วฮาอีกต่างหาก ตัวอย่างก็มีให้เห็นในหนัง
Dragonball: Evolution (2009) ที่เจ๊งและโดนด่ากระจาย

ดังนั้นการจะแหยมกับโลกการ์ตูนนั้นค่อนข้างยาก
เพราะโลกการ์ตูนมีเหมือนกฎเกณฑ์และไวยากรณ์ทางภาพที่ผู้คนคุ้นตาและยอมรับไปแล้ว
มีเหตุมีผลในโลกการ์ตูนเป็นของตัวเอง
เรื่องเหนือจริงบางอย่างในการ์ตูนไม่ถูกตั้งคำถามอะไรมากมายนัก (เหมือนทุกคนเข้าใจว่าเพราะมันเป็นการ์ตูน) ค่อนข้างยากมากที่หนังจะเลียนแบบออกมาได้เทียบเท่า
เอาเป็นว่ายังไงคนก็ยังเห็นโดราเอมอนเป็นสองมิติอยู่ดี
น่าคิดเหมือนกันว่าถ้าทำโดราเอมอนออกมาเป็นหุ่นจริงๆ มันจะออกมาเป็นยังไง
แล้วเราจะรับได้ไหม

เหนือจากลายเส้นคือเรื่องการข้ามวัฒนธรรมและหัวใจของมัน,
ผมมีโอกาสได้ดู
The Jungle Book ฉบับภาพยนตร์
ซึ่งดูแล้วก็ไม่ติดขัดอะไรนัก
อาจเป็นเพราะโดยปกติแอนิเมชันฝรั่งนั้นไม่ได้เว่อวังด้านวิชวลมากเท่าแอนิเมะของญี่ปุ่น
(การ์ตูนอเมริกันจะดูค่อนข้างเรียลิสติกกว่า
เหมือนพวกมาร์เวลที่เรียลิสติกทั้งเรื่องลายเส้นและเนื้อเรื่อง
เลยทำออกมาเป็นหนังได้ง่าย) หรือจริงๆ อย่าง
20th Century Boys ก็ไม่ได้ออกมาแย่มากมายเพราะการ์ตูนดูเป็นภาพยนตร์อยู่แล้ว
เลยคิดว่ากับบรรดาการ์ตูนเรียลิสติกนั้นอาจจะพอมีหนทางที่จะแปลงร่างมา

จนมาถึงล่าสุดกับหนังอย่าง Beauty
and The Beast
ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยและน่าจะเยอะเพียงพอที่ดิสนีย์จะวางแผนรีเมกหนังการ์ตูนเก่าๆ อีกหลายเรื่อง
เช่น
Aladdin, Mulan, Lion King ฯลฯ แต่เมื่อหันไปมองอีกฟากหนึ่ง หนังอย่าง Ghost
in the Shell
ที่ออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน เราดันเห็นได้ว่าหนังที่ทำมาจากแอนิเมะญี่ปุ่นยากลำบากกว่าและมีข้อจำกัดมากมายที่ยังมีแค่น้อยคนจะเอาชนะได้
อย่างหนึ่งคือการทำการ์ตูนแอนิเมะให้กลายเป็น Live Action คุณจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการสร้าง
ซึ่งการทำหนัง Live Action เน้นพึ่งพา CG อย่างแรงสูง
และฮอลลีวู้ดก็ยังคงทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าทางญี่ปุ่นเอง
ดังนั้นมันจะต้องกลายเป็นหนังสัญชาติฝรั่ง ซึ่งนั่นแปลว่า
คุณต้องใช้นักแสดงฝรั่งแสดงเป็นคนญี่ปุ่น สุดท้ายเราก็ได้ สการ์เลตต์
โจแฮนส์สัน มา ซึ่งเอาเข้าจริง เราก็ทำใจคิดไม่ได้หรอกว่า สการ์เลตต์จะเป็นตัวละครเดียวกับไซบอร์กสาวญี่ปุ่นในฉบับเก่าได้ นอกจากนั้น บรรยากาศแบบการ์ตูนไซไฟญี่ปุ่นมันเป็นอะไรที่ญี่ปุ่นมากๆ จริงๆ
พวกงานโปรดักชันดีไซน์ต่างๆ ก็ค่อนข้างเป็นเอเชียมากกว่า
วิธีคิดของบทภาพยนตร์ก็แตกต่างเช่นกัน จนเราแอบคิดว่าฝรั่งอาจจะต้องเอาเงินมาให้คนญี่ปุ่นทำเป็นหนังญี่ปุ่นจะดีที่สุด

เมื่อช่องว่างห่างขนาดนี้ เลยเป็นเรื่องยากที่จะแปลงร่างการ์ตูนญี่ปุ่นเหล่านี้ให้เป็นหนังคนแสดง
ผู้กำกับหลายคนเลยใช้วิธีสร้างมันขึ้นมาใหม่ไปเลย
The Matrix ก็ได้อิทธิพลมาจาก Ghost
in the Shell
หรือหนังอย่าง Inception
ก็เหมือนได้ไอเดียมาจากหนังเรื่อง Paprika
อยู่พอสมควร
ว่าง่ายๆ คือไปสร้างเมืองใหม่แบบอเมริกันเอาเองไปเลย ไม่ต้องรีเมก
หรือไม่ต้องพยายามทำให้เป็นญี่ปุ่นแต่อย่างใด

เอาเป็นว่าเรื่องไหนตีเนียนไปกับต้นฉบับได้แล้วคนดูไม่เหวอขณะดู ก็คาดว่าจะมีสิทธิ์รอดไป

แต่ที่ไม่รอดเนี่ยคือพวกเราคนดูนี่แหละครับ ต้องดูหนังรีเมกจากการ์ตูนไปอีกหลายปีแน่นอน

ภาพ letterboxd.com

AUTHOR