“บวน โปรเบ๊โช (Buen Provecho) กิ้น กิ้น กิ้น”
ลุงโตโน่เจ้าของบ้านชาวท้องถิ่น ออกเสียงดังลั่นกลางโต๊ะอาหารชวนรับประทานอาหารมื้อแรกของผมในจังหวัดริเบร่า แคว้นกาลิเซีย ควันโขมงพวยพุ่งจากปากหม้อต้ม ลอยตามไปเป็นเมฆหมอกแห่งความอร่อยอยู่เหนือจานของกุ้ง ‘ซีการ์ราส’ (Cigarras) หอย ‘เทฆิญย่อน’ (Mejillón) ปู ‘เน้โกหระ’ (Nécora) ที่เพิ่งถูกนำมาวางบนโต๊ะ ลุงโตโน่หยิบร่างไร้วิญญาณที่ต้มจนสุกกลายร่างเป็นอาหารทะเลคุณภาพดีเข้าปากคนแรก เคี้ยวเสียงดัง สูดความเอร็ดอร่อยเข้าปากนำไปก่อน 1-0
สายตาของผมกำลังมองหาน้ำจิ้ม แต่คุณน้ามาเรีย (ชื่อเดิมคือมาลัย) ภรรยาคนไทยของคุณลุง รีบกระซิบบอกผมว่าที่นี่พวกเขาจะกินอาหารทะเลแบบสดๆ เท่านั้น ไม่จิ้มน้ำจิ้มใดๆ เด็ดขาด หากมี นั่นหมายถึงการดูถูกคุณภาพอาหารของพวกเขา ทำให้เสียรสชาติที่แท้จริงของอาหารทะเลที่ชาวเมืองริเบร่าต่างภาคภูมิใจ
ผมมีโอกาสได้มาที่กาลีเซียด้วยคำเชิญของน้ามาเรีย เขาเป็นลูกของเพื่อนแม่ ย้ายตามสามีมาอยู่ที่เมืองนี้กว่า 15 ปีแล้ว ในเดือนพฤษภาคมของแคว้นกาลิเซียนั้นอากาศดีที่สุดในรอบปี เพราะเป็นช่วงที่มีแดดแรง แต่ลมเย็นจากทะเลเข้าปะทะชายฝั่งตลอดทั้งวันทำให้มองเห็นท้องฟ้าใส ค่าอากาศตามมาตรฐาน AQI ระบุตัวเลข 30 บนพื้นสีเขียว ผมถือโอกาสหนีปัญหาฝุ่น PM2.5 จากเมืองหลวงของประเทศไทยมา พื้นที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นป่าสีเขียวสดไปทั่ว อาจจะไม่ถึงฝนแปด แต่ก็บ่อยประมาณฝนสี่แดดสี่ มากพอที่จะระบายสีเขียวให้ริเบร่าชอุ่มไปทั้งเมืองตลอดทั้งปี
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ระบุในหนังสือ By-Line สารคดี 29 ชิ้นแรก แบบฝึกหัดทางวรรณกรรมของนักเขียนหนุ่มว่า “แหล่งตกปลาเทราต์ที่ดีที่สุดของยุโรปนั้นอยู่ที่สเปน เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนสเปนนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีแหล่งตกปลาที่ดีที่สุดอยู่ในกาลิเซีย…” ผมถามน้ามาเรียว่าข้อความข้างต้นจริงไหม น้าตอบว่าแหล่งตก ‘ตรูชา’ (Trucha) หรือปลาเทราต์มีอยู่เหลือบ้างในธรรมชาติ โดยเฉพาะในจังหวัดลูโก (Lugo) แต่ปัจจุบันแหล่งธรรมชาติจริงๆ ค่อนข้างหาได้ยากแล้ว บ่อเลี้ยงที่สร้างขึ้นใหม่จึงมีคนนิยมไปตกมากกว่า
ว่ากันตามจริง กาลิเซียเป็นอีกแหล่งที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในยุโรป นั่นทำให้ริเบร่ามีท่าเรือ ‘ปอร์โต เด ริเบร่า’ (Porto de Ribeira) เป็นต้นทางของการนำเข้าสุดยอดวัตถุดิบอาหารทางทะเลที่เป็นกำลังหลักแห่งหนึ่งสำหรับประเทศสเปน ลุงโตโน่แอบกระซิบว่า “อาหารทะเลที่บาร์เซโลน่านั้นส่งออกให้ชาวยุโรป แต่ไม่อร่อยเท่ากับของริเบร่าหรอก ซึ่งมีไว้แค่สำหรับคนสเปนเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือคนกาลิเซียได้กินก่อน” เขาหัวเราะเสียงดังหลังจบประโยค
เสียงหวูดเรือสินค้าอาหารทะเลส่งเสียงมาจากเรือในระยะสายตาอย่างผมพอจะสังเกตได้ว่ามีฝูงนกสีขาวชาวทะเลมากมายบินตามเรือตั้งแต่เข้าเขตท่าเรือแห่งนี้ แวะเวียนเปลี่ยนกันชมอาหารทะเลอันโอชะ แม้พวกมันจะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอย่างจุใจอย่างคนที่นี่
คุณน้ามาเรียพาเราไปดูแหล่งตลาดปลาที่ ‘ลา ลองช่า’ (La Lonxa) การเขียนแบบนี้เป็นเฉพาะภาษากาเยโก (Gallego) หรือเรียกว่าภาษากาลิเซียที่ใช้กันเฉพาะในแคว้นตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน เป็นอีกภาษาหนึ่งไม่ใช่สำเนียงภาคต่างๆ เหมือนในไทย การสะกดและการออกเสียงจะต่างจากสเปนกลางบ้าง และหยิบยืมตัวอักษรจากภาษาโปรตุเกสด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ที่เพียงขับรถไปทางใต้แค่หนึ่งชั่วโมงครึ่งก็จะข้ามสะพานแม่น้ำ ‘มิญโย’ (Minho) เส้นแบ่งพรมแดนธรรมชาติระหว่างทั้งสองประเทศ
หากพูดถึงกาลิเซีย นักท่องเที่ยวและนักอ่านรีวิวท่องเที่ยวคงไม่ค่อยคุ้นเคยนัก ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวที่เป็น dream destination อย่างมาดริดหรือบาร์เซโลน่า แต่ที่นี่มีสถานที่สำคัญทางศาสนาที่ชาวคริสต์ทั่วยุโรปผู้รักการแสวงบุญต้องมาที่นี่ มหาวิหาร ‘ซานติอาโก เด กอมโปสเตลา’ (Santiago de Compostela) อันเป็นที่ฝังศพของนักบุญเจมส์ผู้เป็น 1 ใน 12 สาวกของพระเยซู ผู้เคยแสวงบุญมายังที่นี่จนวาระสุดท้ายของชีวิต
ผมนึกถึงภูมิศาสตร์ของแคว้นกาลิเซียขึ้นมาว่า หากเราได้ขึ้นไปจุดชมวิวแห่งหนึ่งของเมืองนี้ มองไปทิศตะวันออก แน่นอนเราคงจะมองไปยังแผ่นดินฝั่งภาคกลางของประเทศสเปน แต่หากมองออกไปทางทิศตะวันตก เราจะต้องได้เห็นทะเลแอตแลนติก เส้นทางที่ครั้งหนึ่งมีเรื่องราวการค้นพบทวีปใหม่ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชื่อดังผู้ออกเดินทางไปทางทิศตะวันตกตามการแบ่งสันปันส่วนพื้นที่ในโลกระหว่างสเปนกับโปรตุเกส สองมหาอำนาจทางเรือในสมัยก่อน สเปนจะมุ่งไปทางซ้ายของโลก นั่นคือมุ่งหน้าสู่ทวีปอเมริกา แต่เขาเข้าใจว่าเป็นอินเดีย จึงเรียกชื่อคนพื้นเมืองในพื้นที่นั้นว่าชาวอินเดียน ตรงข้ามกับโปรตุเกสที่จะไปทางขวาของโลก ทำให้เศษเสี้ยววัฒนธรรมของพวกเขายังคงเหลือไว้ในประเทศเราบ้างตามที่เราคุ้นเคยอย่างในละคร บุพเพสันนิวาส หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อย่างหมู่บ้านโปรตุเกส ในจังหวัดอยุธยา
หลังการตื่นจากช่วงนอนกลางวันที่เรียกว่า ‘เซียสต้า’ (siesta) ของลุงโตโน่ในบ่ายวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาชวนน้า
มาเรียพาผมไปนั่งรถเล่นชมจุดชมวิวของที่นี่ ทำให้ผมได้ไปชมวิวอย่างที่ตั้งใจ จุดแรกที่พวกเขาพาไป คือ ‘โปบรา โด คารามิญยัล’ (Pobra do Caramiñal) พื้นที่เนินเขาสุดลูกหูลูกตา ยอดบนสุดของจุดนี้มีจุดชมวิวชื่อ ‘มิราดอร์ ลา กูโรตา’ (Mirador la Curota) เป็นห้องทำงานเล็กๆ ที่ทำด้วยหินก้อนใหญ่
ติดกับห้องมีเสาส่งสัญญาณสูงเป็นจุดเด่น นักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปถ่ายรูปแสดงท่ากอดจูบกันใกล้ชิด เป็นปกติของชาวสเปน โดยมีฉากหลังไม่ว่าจะมองไปทิศทางไหนก็เต็มไปด้วยเนินเขาตกแต่งด้วยพุ่มไม้หนาสีเหลืองแทรกแซมระหว่างหินก้อนใหญ่ไปตลอดทาง และกังหันลมที่ปักอยู่แนวเส้นขอบฟ้าอยู่รอบด้านที่เรามองออกไป พร้อมกับอ่าว ‘อะราวซา’ (Arousa) ที่กำลัง สะท้อนแสงอาทิตย์เก๊กท่าอยู่ไกลๆ
อาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำฉาบให้บรรยากาศแคว้นกาลิเซียเปลี่ยนสีไปและน่าหลงใหลขึ้นไปอีก คุณลุงโตโน่พาผมขับรถไปอีกฝั่งของเมืองไปยังจุดชมวิวยอดฮิตอีกแห่งหนึ่งคือ ฟาโร เด กอร์รูเบโด (Faro de Corrubedo) ซึ่งเป็นศูนย์รับข้อมูลการเดินเรือเพื่อสื่อสารกับชาวประมง มีประภาคารตั้งอยู่ ซึ่งตอนนี้ทำเป็นร้านกาแฟและร้านอาหารที่มีคนมานั่งกินข้าว พบปะพูดคุยกันเสียงดังลั่นร้านแข่งกับเสียงลมทะเลและต่างรอเวลาให้แสงอาทิตย์ค่อยๆ หมดลงเพื่อพบภาพที่สวยงามที่สุดของวัน
นอกร้านโดยรอบเป็นบริเวณโขดหินสูง-ต่ำในระดับที่พอปีนขึ้น-ลงได้ ปูด้วยหญ้าธรรมชาติลักษณะเหมือนขนมจีนสีเขียวสูงประมาณข้อเท้า ปลิวไสวและปกคลุมบริเวณที่ไม่มีหินก้อนใหญ่ทับอยู่ ลาดลงไปมีห้องเล็กๆ ตรงปลายแหลมฝั่งหนึ่งในละแวก ก่ออิฐถือปูนแน่นหนา มีเพียงช่องหน้าต่างเล็กๆ เท่านั้นเพื่อกันลมท่ามกลางสถานที่รับลมที่ยังพัดอย่างไม่เคยลดกำลัง
ผมเดินลงไปรับลมปะทะหน้าที่แรงขึ้นบริเวณหินก้อนที่เคยใหญ่ แปรสภาพกลายเป็นก้อนเล็กกระจัดกระจายปูทางไปยังชายหาดหินลาดเอียงลงทะเล บังเอิญสบตากับทุ่งดอกไม้สีขาวเล็กๆ น่ารักสะดุดตากระซิบให้ผมมาเก็บภาพ หยิบมือถือออกมาและกดถ่ายแบบเงียบๆ เหมือนมันกลัวว่าใครจะรู้ว่าเราเคยมีประสบการณ์ร่วมกัน จนเมื่อภายหลังผมเปิดภาพย้อนหลังให้น้ามาเรียดู เธอบอกว่านี่มันดอก ‘นาโมราเดร่า’ (Namoradeira) ซึ่งคำว่า namora ในภาษากาเยโกมีความหมายเชิงความรัก ความมีเสน่ห์ เลยคิดเอาเองว่ามันน่าจะเป็นดอกหญ้าเจ้าชู้ เสียดายไม่ได้เดินผ่านเลยไม่แน่ใจว่ามันจะเกาะขากางเกงตามกลับบ้านมาด้วยหรือเปล่า เหมาะแล้วแหละที่พวกมันอยู่กันที่นี่ ในสถานที่สวยงามและบรรยากาศโรแมนติกแบบนี้
เป็นไปได้ไหมว่าจุดชมวิว หอประภาคาร คือการถ่ายทอดลักษณะนิสัยความเป็นคนช่างสังเกตอันเป็นเบื้องหลังของคุณสมบัติของการต่อสู้เพื่อความยิ่งใหญ่ของชนชาติสเปน การมองโลกออกไปในมุมมองไกลๆ ฝากความหวังไว้ในดินแดนที่ไม่รู้จัก วันนี้ผมได้อยู่ในมุมมองและระดับสายตาเดียวกันกับที่เขายืนอยู่ตรงนี้เพื่อสังเกตการณ์
แม้วันนี้ผมจะห่างไกลกับเรื่องราวเหล่านั้นมากมายหลายร้อยปี ไม่เข้าใจระบบภาษาการเดินเรือ หรือแผนที่ทางทะเลอันเป็นความรู้อันยิ่งใหญ่ของยุคสมัยก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่ผมสังเกตได้เสมอและมั่นใจมากๆ คือ ชาวสเปนที่ผมได้เจอในช่วงเวลานี้ ความสุขของพวกเขาอยู่กับการพบเจอกัน พูดคุยกัน และที่สำคัญคือการกิน
“เตงโก อัมเบร (Tengo Hambre) ฮิวว แลวว” ลุงโตโน่บอกภรรยาของเขาว่าถึงเวลาอาหารเย็นแล้ว พวกเรามุ่งหน้ากลับบ้านพร้อมแผนการอาหารเย็นที่เขาเลือกแล้วว่าจะให้น้ามาเรียทำอะไรเป็นอาหารเย็น เพราะเรายังมีปลาอีกมากมายที่ได้ซื้อมาไว้ในวันที่ผมได้ไปตลาดปลาที่ท่าเรือวันก่อน และเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงเท่านั้น ผมก็อยู่บนโต๊ะอาหาร ที่เต็มไปด้วยอาหารทะเลอีกครั้ง แน่นอนว่าไม่มีน้ำจิ้มซีฟู้ด
มื้อส่งท้ายก่อนอำลาผมได้เจอกับเมนู ‘เปสกาดิญยา อะ ลา กาเยกา’ (Pescadilla a la Gallega) เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวกาลิเซีย ทำมาจากปลา ‘เมร์ลูซา’ (Merluza) ที่หั่นเป็นท่อนๆ ต้มกับมันฝรั่งและหอมหัวใหญ่ราดผงปาปริก้าหรือพริก ‘ปิเมนตอน’ (Pimenton) ที่แช่ในน้ำมันมะกอกไว้สองชั่วโมง ข้างๆ กันมีขนมปังก้อนใหญ่พร้อมมีดหั่นด้ามยาวในตะกร้าที่มากับเนยและไวน์ขาวในแก้วไวน์ทรงสูง แหล่งกำเนิดเสียงกระทบ กิ๊ง! เป็นสัญญาณว่าเราเริ่มกินมื้อนี้กันเถอะ