Gadhouse เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์คนไทยที่ใช้เวลาเพียง 5 ปีคนก็รู้จักไปทั่วโลก

‘Gadhouse คือแบรนด์ไทยเหรอ’ เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยมีโมเมนต์เดียวกันกับเราและเพื่อนเมื่อพบว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงรูปทรงวินเทจหน้าตาเก๋ ที่พบทุกครั้งเมื่อเดินเข้าไลฟ์สไตล์ช้อป หรือเห็นทุกทีที่ไถฟีดอินสตาแกรมราวกับเป็นของที่มีทุกบ้านแบรนด์นี้จะมีคนไทยอยู่เบื้องหลัง 

ถึงแม้หน้าตาโปรดักต์และเพจของ Gadhouse จะดูอินเตอร์ แต่ขอยืนยันอีกทีว่านี่ไม่ใช่แบรนด์ต่างประเทศที่ไหน หากคือแบรนด์มิวสิกไลฟ์สไตล์โปรดักต์อายุกว่า 5 ปี ที่ก่อนหน้านี้ เพชร–วัชรพล เตียวสุวรรณ์ เคยพาไปตีตลาดอเมริกา บุกตลาดต่างประเทศ และตอนนี้เขาหวังกลับมาสร้างคอมมิวนิตี้แผ่นเสียงไทยให้แข็งแรง เติบโตไปพร้อมๆ กัน

โชว์รูมขนาดกะทัดรัดอันเป็นทั้งสถานที่ตั้งโชว์สินค้า ให้ข้อมูล และบริการหลังการขายเปิดแล้ว เลือกแผ่นเสียงแผ่นที่ชอบ ยกโทนอาร์มแล้ววางบนแผ่น นั่งลงฟังเพลงเคล้าเสียงพูดคุย ตามไปทำความรู้จักแบรนด์ที่ว่าให้มากขึ้นกว่านี้กัน

เริ่มธุรกิจผลิตเสียงเพลง

หากจะย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เราอาจต้องย้อนไปไกลถึงสมัยที่เขายังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย เพราะความชอบในแผ่นเสียงของเขาเริ่มต้นตั้งแต่นั้นมา ด้วยชื่นชอบในความแอนะล็อก ชอบสิ่งที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ และรักในเสียงดนตรี หลังจากศึกษาเกี่ยวกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง สั่งซื้อและสะสมแผ่นเสียงมานานหลายปี ความคิดอยากทำธุรกิจจากสิ่งที่ตัวเองสนใจจึงปะทุขึ้นในใจ Gadhouse จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นด้วยการเป็นไซด์โปรเจกต์ที่เขาทำควบคู่กันไปกับการทำงานประจำ

“เราคิดอยากทำโปรเจกต์นี้กับเพื่อนมาสักพักแล้ว อยากมีโปรดักต์เป็นของตัวเอง เป็นของที่เราชอบและสามารถทำกำไรได้ด้วย พอดูตลาดแล้วเห็นว่าของพวกนี้ยังไม่มีในแถบนี้ มีแต่ตลาดใหญ่ที่อเมริกา ซึ่งทั้งหมดก็น่าจะมีไม่เกิน 10 แบรนด์ เลยคิดว่าน่าจะลองทำดู เทรนด์พวกนี้ก็ดูน่าจะกลับมาพร้อมๆ กับสตรีมมิงที่กำลังโตด้วย น่าจะมีคนชอบอะไรที่ช้าๆ เหมือนเราอยู่

“อีกอย่างที่ทำให้เราตัดสินใจเริ่มทำเพราะแพลตฟอร์มที่ขายก็น่าจะมีประสิทธิภาพด้วย เรามองตลาดเมืองนอกตั้งแต่แรก เพราะตอนนั้นที่ไทยตลาดยังเล็กมาก และเราเองก็ไม่มีเวลาจะหาดีลเลอร์ขนาดนั้น เลยเริ่มจากสิ่งที่ทำได้เอง คือขายในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Amazon ซึ่งพอคำนวณทุกอย่างแล้ว บวกลบราคาขาย ราคาต้นทุนที่ได้มาจากโรงงานก็พบว่ายังมีกำไร คนที่ซื้อแผ่นเสียงที่นู่น ช่วงนั้นน่าจะประมาณล้านแผ่นต่อปี เห็นแล้วก็คิดว่าถ้าเราเป็นสัก 1 เปอร์เซ็นต์ในนั้นก็น่าจะเป็นไปได้ และสินค้าเราก็ไม่ใช่อาหาร มันไม่มีวันบูด ไม่มีวันหมดอายุ อย่างน้อยถ้าลดราคามากสุดก็อาจจะแค่เจ๊า เหมาะกับการทำเป็นไซด์โปรเจกต์ เป็นธุรกิจหนึ่งนอกเหนือจากงานประจำ” เพชรย้อนเล่าให้ฟังถึงตอนที่คิดตัดสินใจสร้างแบรนด์

แต่ถึงอย่างนั้นความยากของธุรกิจก็เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นแรก เพราะถึงเพชรจะมีเพื่อนชาวจีนให้ความช่วยเหลือในเรื่องการหาโรงงาน แต่การต้องสื่อสารกันในยุคที่อุปกรณ์ทรานสเลตยังไม่แพร่หลายก็เป็นเรื่องยากที่ต้องจัดการ ยังไม่นับรวมความยากในขั้นตอนการออกแบบและผลิตจริงที่กว่าจะได้อย่างที่ถูกใจก็ใช้เวลานาน 

“บางอย่างที่เราต้องการตอนนั้นโรงงานก็ยังทำไม่ได้ อย่างปุ่มต่างๆ บนตัวเครื่อง จริงๆ เราอยากได้อะไรที่เรียวกว่านี้ ให้ดูเป็นยุค 50 เป็นสไตล์สแกนดิเนเวียน แต่สิ่งที่ได้มาก็จะใหญ่ๆ หน่อย องค์ประกอบหรือสีต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นตามที่ต้องการ ไม่ได้อย่างใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เรียกว่าได้มาแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ด้วยการผลิต ด้วยต้นทุนต่างๆ ต้องปรับคุณภาพอยู่หลายรอบเหมือนกันกว่าจะนิ่ง

“กว่าตัวแรกจะออกมาใช้เวลาเกือบปี เราต้องทำแบบให้เขาดูอย่างละเอียด ให้สามารถเอาไปทำต่อได้ง่ายที่สุด จะวางโลโก้ในองศาไหน ทำแบบ ทำไดเมนชั่นให้ทั้งหมด คอยปรับจูนกัน” เพชรบอกพร้อมลุกขึ้นจากที่นั่งเดินไปยังชั้นวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงชี้ให้เราเห็นทีละจุดของความยากเหล่านั้น 

“ตอนนั้นไม่ได้มั่นใจกับการทำธุรกิจของตัวเองนะ” หนุ่มตรงหน้าเราหัวเราะแล้วค่อยๆ อธิบายต่อ

“เราพยายามไม่ถามคนอื่นมาก คุยกับพาร์ตเนอร์เอา เพราะถ้าถามคนอื่น คนอื่นก็ไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรอยู่ ความมั่นใจเราอาจจะยิ่งลดลง เลยพยายามหาข้อมูลและคิดว่าถ้าอยากทำแล้วก็ต้องลุย ซึ่งก็ยากนะ กลัวพังเหมือนกัน แต่ก็พยายามศึกษาว่ามีวิธีการยังไงบ้างที่จะทำให้เราไม่พัง และถ้าพังเราจะรับได้ไหม ต้องมีแผนสำรองว่าถ้าไม่รุ่งเราจะเอายังไงกับสินค้าตัวนี้ต่อ จะเอามาขายที่ไหน ลดราคาจนสุดแล้วเราจะเจ็บตัวไหม” 

โชคดีที่การออกขายล็อตแรกไม่พัง ถึงเพชรจะออกตัวว่ากว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงของเขาจะได้รับการยอมรับก็ต้องใช้เวลา ใช่ว่าทำปุ๊บแล้วจะขายดีขนาดนั้น แบรนด์ของเขาค่อยๆ โตขึ้นเป็น step by step มากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นล็อตแรกที่เขาทำขึ้นเพื่อขายในอเมริกาก็หมดภายใน 3-4 เดือน นำไปสู่การผลิตล็อตที่สอง สาม และสี่ จนหลายคนเข้าใจผิดว่านี่คือแบรนด์จากต่างประเทศ หรือกระทั่งคิดว่ามีฐานการผลิตอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย 

“พอแบรนด์เริ่มอยู่ในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาด ดีลเลอร์จากที่ต่างๆ ก็เริ่มให้ความสนใจ มีร้านรีเทลอย่าง urban outfitters ติดต่อให้วางขายหน้าร้าน มีลูกค้าอเมริกาและญี่ปุ่นเข้ามามากขึ้น และเราเองก็พยายามเอาไปขายเองในประเทศอื่นๆ อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดียด้วย แต่ก็ยังใช้วิธีการรีออร์เดอร์เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นแรกของเรามาเรื่อยๆ ปล่อยให้มันรันไป ทำมาร์เก็ตติ้ง ถ่ายรูปใหม่ เพราะตอนนั้นยังไม่มีเวลาผลิตสินค้ารุ่นใหม่ๆ ออกมา 

เพชรทำเช่นนี้อยู่ประมาณ 2-3 ปี จึงเริ่มรู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรให้มากขึ้น แบรนด์ก็คงไปได้ไม่ไกลไปกว่านี้ เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วก้าวมาดูแลแบรนด์อย่างเต็มตัว เต็มเวลา พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาและหันมาจับตลาดเอเชียมากขึ้น พร้อมทั้งยังพยายามสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วยการนำจุดแข็งที่ตัวเองมีมารับผลิตสินค้าแบบ B2B และสร้างแบรนด์ใหม่อย่าง SUNDAY มาจับตลาดที่แมสขึ้น เพื่อนำรายรับในส่วนนั้นกลับมาพัฒนาแบรนด์

“ตอนที่เราตัดสินใจจะทำเต็มตัวเป็นช่วงที่คนไทยเริ่มเล่นแผ่นเสียงเยอะขึ้นด้วย คนทั่วไปเริ่มรู้จักมากขึ้นไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่ม ตลาดก็เริ่มโต เราส่งดีลเลอร์ มีพาร์ตเนอร์ในไทยเยอะขึ้น แต่จริงๆ ในเรื่องของการทำตลาดไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่นะ เพลงเป็นภาษาของโลกอยู่แล้ว พฤติกรรมคนเล่นแผ่นเสียง คนฟังเพลงมันเหมือนกันหมด เป็นสินค้าที่ไม่ต้องทำการตลาดเยอะ รู้ว่ากลุ่มคนที่เราต้องการในแต่ละประเทศอยู่ตรงไหน เราก็จะไปตรงนั้น แล้วเน้นที่การสื่อสาร การทำแบรนด์ดิ้งแทน

“อย่างตลาดต่างประเทศ โมเดลที่เราใช้ หรือแบ็กกราวด์ต่างๆ ก็ต้องไม่ดูเป็นเอเชียหรือตะวันตกเกินไป ในอินสตาแกรมบางครั้งก็ใช้นางแบบที่ดูเป็นกลางๆ จะไม่มีนางแบบที่เป็นฝรั่งจ๋า ทำให้ทุกประเทศมองเราแล้วดูกลางๆ จะเป็นใคร จะอยู่ประเทศไหนก็สามารถใช้ได้ และเราก็จะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด หรือในประเทศที่มีภาษาของตัวเองอย่างญี่ปุ่น ก็ต้องใช้เป็นภาษาของเขา” เพชรอธิบาย

ให้แบรนด์เป็นเหมือนบ้านที่รวมความสุข

หลังฟังเรื่องราว เราโยนคำถามต่อว่าอะไรทำให้ Gadhouse ได้รับความนิยม และมีคนหันมาสนใจมากมายขนาดนี้ แทบไม่ต้องคิด เพชรตอบเราทันทีด้วยท่าทีมั่นใจว่า “น่าจะเพราะ brand identity เราค่อนข้างชัดเจน เอาเรโทรมาผสมโมเดิร์น เป็นแบรนด์ผลิตสินค้าที่ย้อนยุคแต่ดูทันสมัย ทำสินค้าจากยุคเก่า เติมสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียงของเราสามารถเชื่อมต่อบลูทูธเพื่อฟังเพลงจากสตรีมมิงได้ หรือใครที่เป็นดีเจก็สามารถนำไปสแครชแผ่นได้เช่นกัน เราอยากให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่ทำให้เขารู้สึกว่าไลฟ์สไตล์ตัวเองดีขึ้น มีของพวกนี้แล้วทำให้ชีวิตได้ผ่อนคลาย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างแฮปปี้มากขึ้น

“Gadhouse ย่อมาจาก ‘house of  gadget’ หรือบ้านที่รวม gadget การคิดสินค้าของเราคอนเซปต์เหมือนคนเลย ชื่อสินค้าก็ตั้งเป็นชื่อคน วางคาแร็กเตอร์ชัดเจน สิ่งที่เราออกแบบก็จะตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ อย่างรุ่นแรกคือ Brad เป็นวัยรุ่นที่แบดๆ หน่อย ตามชื่อ คิดว่าเขาจะฟังเพลงประมาณไหน ฟัง Arctic Monkeys ฟัง Coldplay ฟัง Oasis พอวางคาแร็กเตอร์ได้ปุ๊บโปรดักต์ที่ออกมาต้องมีสีอะไรบ้าง ก็จะคิดให้ลิงก์กับคาแร็กเตอร์ของคนจริงๆ เพลงหรือราคาก็จะลิงก์กับกลุ่มคนที่เป็นคาแร็กเตอร์นั้นๆ เพื่อให้ลูกค้าหรือโพสิชันนิ่งของเราชัดเจน ในคลิปโปรโมตต่างๆ เราก็จะใช้เพลงที่ Brad ฟัง ถ้ารุ่น Oliver ก็จะเป็นเพลงที่แจ๊สขึ้นมาหน่อย รุ่น Dean ก็เป็นเพลงเครื่องเป่าไปเลย ฟอนต์ก็จะเปลี่ยนไปตามคาแร็กเตอร์นั้นๆ ด้วย

“เราให้ความสำคัญในเรื่องดีไซน์ แบรนด์ดิ้ง คุณภาพควบคู่กันไป ไม่ใช่ว่าคุณภาพที่หนึ่ง ดีไซน์ที่สอง หรือดีไซน์ที่หนึ่ง คุณภาพที่สอง แต่ทุกอย่างต้องไปด้วยกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ราคาก็ต้องสมเหตุสมผล ถ้าวางไว้ว่าเป็นโปรดักต์ของวัยรุ่น เราก็ต้องกำหนดราคาที่เขารับได้ด้วย”

เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้คนที่รักในเสียงเพลงไปด้วยกัน 

“ตอนนี้มันเกินฝันไปมากเหมือนกัน แต่ในตอนแรกเราไม่ได้ฝันไกลด้วย ฝันแค่ปีต่อปี ค่อยๆ ฝัน ค่อยๆ ทำ รู้สึกว่าขั้นแรกที่เราได้เข้ามาทำธุรกิจ เราได้ก้าวมาขั้นหนึ่งแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเราจะทำยังไงให้มันเป็นไปตามไดเรกชั่นที่เราวางไว้ต่อไปเรื่อยๆ” 

แผนของเพชรคือพยายามจะจัดอีเวนต์ให้บ่อยมากขึ้น ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ Gadhouse เตรียมจัดงานให้คนรักแผ่นเสียงได้มาพบปะ พยายามรวบรวมร้านแผ่นเสียงมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนที่ชอบงานอาร์ต ดนตรี ได้พบเจอกัน ให้ร้านค้าต่างๆ ร่วมงานได้ฟรี เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้คนที่รักในเสียงเพลงไปด้วยกัน 

“ก่อนหน้าก็เคยจัดที่ Marchwood นี่แหละ แต่ยังเป็นงานเล็กๆ จัดเพื่อเปิดร้าน มีเครื่องดื่ม มีดีเจ มีดนตรี ตอนนั้นมี 5-6 ร้านเอง แต่ตอนนี้เริ่มมีคนรู้จักแผ่นเสียงมากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ก็เยอะขึ้น มีร้านแผ่นเสียงเกิดใหม่ ร้านแผ่นเสียงรายย่อยเพิ่มมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลดีกับเรา ที่เราสำเร็จได้มันมาจากหลายๆ อย่างประกอบกัน ถ้าตลาดไม่เป็นอย่างนี้เราก็คงไม่คิดที่จะลงมาทำเต็มตัว อีกอย่างที่อยากจะจัดงานคือเราอยากรู้จักลูกค้าด้วย อยากจะรู้ว่าลูกค้าที่สนใจเป็นแบบไหน อยากให้มารวมกัน พูดคุย พบปะ เพื่อที่จะเป็นคอมมิวนิตี้หนึ่งที่เราเคยมองภาพไว้ว่าอยากจะให้เป็นบ้านที่คนซึ่งมีเทสต์ใกล้ๆ กันได้มาเจอกัน ไม่ได้แค่ขายสินค้า ไม่ได้แค่จะสร้างแบรนด์อย่างเดียว แต่เราอยากสร้างคอมมิวนิตี้ด้วย” 

ตอนนี้คิดว่าคอมมิวนิตี้แผ่นเสียงในไทยเข้มแข็งมากแค่ไหน เราถาม

เขานิ่งคิดไปเพียงครู่แล้วตอบว่า “ยังไม่แน่ใจ มันอาจจะมีวันที่เทรนด์ตกลงไปตามยุคสมัย แต่อย่างน้อยมันก็คงไม่หายไป เหมือนแต่ก่อนที่ก็ยังไม่ได้หายไปไหน มันคงมีตลาดของมันต่อ เพราะยังไงแผ่นเสียงก็เป็นแพลตฟอร์มที่เก็บไว้ได้ตลอด ถ้าใครเก็บดีๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นปู่ก็ยังฟังได้ เชื่อว่ามันจะไม่หายไปไหน อยู่ที่ว่าเขาอยากจะหยิบมันขึ้นมาฟังต่อหรือเปล่าแค่นั้นเอง”

เพื่อเป็นแบรนด์คนไทยที่นำครีเอทีฟมาทำให้วิถีชีวิตดีขึ้น

“การทำ Gadhouse ขึ้นมาทำให้เราได้เรียนรู้ทุกด้าน ทุกองค์ประกอบในการทำธุรกิจ ตั้งแต่แพ็กของ ยันบริหาร เรื่องธุรกิจ เรื่องเงิน เรื่องคน การมองตลาด การมองอนาคต การวางเป้าหมายของเรา ที่บอกแบบนั้นเพราะเราเจอปัญหามาแล้วทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องคน เรื่องยอดขาย เรื่องอะไรต่างๆ มันเลยทำให้เราต้องขวนขวายที่จะหาความรู้เพิ่มเติมและเรียนรู้ว่าจะทำยังไงให้มันดีขึ้น

“ที่ผ่านมามันคือการเดินทางไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย สิ่งที่เราเรียนมาจากมหาวิทยาลัยเอามาประยุกต์ได้น้อยนิด ใช้ได้แค่ในเรื่องโปรดักต์ดีไซน์เบื้องต้นเท่านั้น แต่ชีวิตจริงมันมีเรื่องจุกจิกกว่านั้นเยอะมาก ออกสินค้าไปก็ไม่ได้สำเร็จทุกตัว อย่างลำโพง Oliver ก็ค่อนข้างทำการตลาดยาก บางตัวก็ไม่ได้ถูกรีออร์เดอร์ หรืออย่างการขายสินค้ากับต่างประเทศ เราก็ต้องขวนขวายเอาเองทั้งหมด การสต็อกของไว้ที่ประเทศจีน ก็ทำให้เราต้องคอยมอนิเตอร์รายสัปดาห์ ต้องบริหารสต็อกให้ดี

“การทำแบรนด์นี้ทำให้เรารู้ว่าการจะเป็นเจ้าของธุรกิจ หนึ่งคือต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน ต้องคิดว่าเราจะทำอะไร ทำเพื่อใคร ทำเพราะอะไร เราต้องตอบโจทย์ตรงนั้นให้ได้ แล้วจึงเดินไปอย่างไม่ต้องสนใจใคร ตั้งใจทำมันให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง เมื่อเราเชื่อมั่นในสิ่งที่วางไว้ พยายามพัฒนา ปรับปรุงมันไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งมันก็คงเติบโตตามที่เราคิดเข้าสักวัน”

“แต่ตอนนี้ก็ยังไม่คิดว่าสำเร็จนะ” เขาเอ่ยอย่างถ่อมตัว พร้อมเสียงหัวเราะ 

“เรียกว่ากำลังเดินไปตามทางที่เราวางไว้ก็แล้วกัน เป็นก้าวแรกๆ เท่านั้นเอง เรากำลังขยายทีม ขยายกำลังให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ให้ทั้งเราและลูกค้าเติบโตไปด้วยกัน มีคอมมิวนิตี้ มีอีเวนต์มากขึ้น อยากจะทำโปรดักต์หรือเซอร์วิสที่ใช้แล้วรู้สึกว่าทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนดีขึ้น เป้าหมายแรกของเราอาจจะอยู่ที่แบรนด์ Gadhouse อย่างเดียว แต่ตอนนี้ก็มีแบรนด์อื่นๆ ที่เราอยากจะทำเพิ่มเติม

“เรามองความสำเร็จเป็นปี ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้เราอยากจะบรรลุอะไรบ้าง ถ้ามันบรรลุได้ทั้งสามข้อก็ถือว่าเราทำสำเร็จในปีนั้นๆ แต่ถ้าไม่ ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเราตั้งใจทำแล้ว แล้วตั้งเป้าปีต่อไป แต่ด้วยวิชั่นปลายทางแล้ว เราก็ยังอยากจะเป็นแบรนด์คนไทยที่จะนำครีเอทีฟมาใส่ในสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อทำให้ชีวิตคนที่ได้ใช้งานดีขึ้น”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!