จากรุ่นสู่ลูก เพจที่เล่าความรักการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของแม่โดย เฟิร์ส-ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

เสื้อและกางเกงโทนชมพูนม กระเป๋าไม้ฮ่องกง แจ็กเก็ตโคร่งๆ สีเขียวน้ำทะเลกับผ้าผูกคอลายสกอต
เดินมาไกลๆ ก็รู้ว่านี่คือ เฟิร์ส-ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์ ช่างภาพอิสระผู้สนุกสนานกับการแต่งตัว หลงใหลไปกับการแมตช์เสื้อผ้าตัวเองเข้ากับเสื้อผ้าของแม่มาตั้งแต่มัธยมปลาย จนกลายมาเป็นเพจ “จากรุ่นสู่ลูก” ในวันนี้

เนื้อหาของ จากรุ่นสู่ลูก พูดถึงเรื่องราวในเสื้อผ้า โพสต์ที่ทำให้เพจเป็นที่รู้จัก คือการนำภาพถ่ายของเฟิร์สในปัจจุบันและคุณแม่ในอดีตมาวางคู่ในเสื้อผ้าชุดเดียวกัน ถ่ายภาพมุมเดียวกัน แคปชั่นเขียนถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับเสื้อผ้าในอดีต เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจและน่าระลึกถึง เป็นการมองเสื้อผ้ารุ่นแม่จากสายตารุ่นลูก

“ปกติเป็นคนชอบของมือสองอยู่แล้ว เพราะรู้สึกพิเศษ และอาจมีชิ้นเดียวในโลกก็ได้ ถ้าพูดถึงเสื้อผ้า ที่ชอบที่สุดคือวิธีตัดเย็บของคนสมัยก่อนที่ประณีตมาก อย่างเสื้อตะเข็บคู่ หรือเสื้อลายปัก ที่สมัยนี้กลายเป็นเสื้อสกรีนเกือบหมดแล้ว”

เฟิร์สเล่าให้เราฟังต่อว่า เมื่อก่อนชอบออกไปตามหาเสื้อผ้ากับรองเท้ามือสองหายากที่สวนจตุจักร แต่พอเวลาผ่านไป ความสนุกที่อัพเกรดจากการซื้อของมือสอง คือวันที่แม่หยิบกองเสื้อผ้าสมัยวัยรุ่นมาหนึ่งกองให้เฟิร์สลองใส่ครั้งแรก ยังจำเสื้อผ้าเซ็ตแรกกับความรู้สึกในวันนั้นได้ดี เฟิร์สค่อยๆ คลี่ออกมาดูทีละชิ้นแล้วพบว่าหลายตัวเป็นเนื้อผ้าและคัตติ้งที่ช่างยุคนี้ไม่ค่อยได้ผลิตแล้ว ด้วยความที่เฟิร์สกับแม่สัดส่วนเท่ากัน เลยใส่ได้พอดีทั้งหมด

กางเกงชิ้นแรกๆ ที่เฟิร์สได้ลองสวมคือยีนส์ของ Mac ทรงบอลลูน ในช่วงนั้นแทบไม่มีใครใส่ทรงพองๆ แบบนี้เลย ถึงจะไม่ใช่เทรนด์ แต่ถ้าใส่แล้วชอบ ถ้าสามารถแมตช์กับเสื้อที่มีอยู่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปตามใคร

“การออกไปหาของมือสองข้างนอกก็ยังสนุกอยู่นะ แต่เหมือนวัดดวง เสื้อผ้าแม่ต่างหากที่เกิดมาเพื่อเรา ไม่ต้องเหนื่อยวิ่งตามแฟชั่นด้วย”

ทั้งที่ผ่านมาแล้ว 40 ปี แต่เสื้อผ้าของแม่ใหม่เหมือนวางขายอยู่ในห้าง แม่ห่อเสื้อผ้าทั้งหมดเก็บไว้ในตู้เป็นอย่างดี 

“เก็บไว้เพราะหวังว่าวันหนึ่งถ้ามีลูกสาวก็อยากให้เขาได้ใส่ กับคงเป็นความเสียดายเนื้อผ้า เสียดายที่เคยออกแบบเอง สั่งตัดเอง มันทิ้งไม่ลง”

แม่ใหญ่-ธวัลรัตน์ ลี้สัจจะกูล เจ้าของร้านขายผ้าไทย Yai Silk & Sarong ย่านพระโขนง ผู้หลงใหลในแฟชั่นยุค 70-80 เล่าให้เราฟังถึงวิธีการตัดเย็บในสมัยนั้น ว่ากว่าจะได้ออกมาเป็นชุดหนึ่งชุดต้องเริ่มจากการรีเสิร์ชแพตเทิร์นที่ถูกใจในนิตยสารผู้หญิง อย่าง ขวัญเรือน สกุลไทย หรือ บางกอก แล้วถือเล่มขึ้นรถเมล์ไปร้านตัดเสื้อไชโยเจ้าประจำย่านสำโรงเพื่ออธิบายให้ช่างฟัง พร้อมทั้งลงมือออกแบบเองในส่วนที่อยากเพิ่มเติม

ใส่เสื้อผ้าวินเทจของแม่ตั้งแต่มัธยมปลาย จนจบมหาวิทยาลัย จนทำงาน ในแต่ละช่วงเวลา เสื้อผ้าแม่ให้ความหมายกับเฟิร์สในแง่มุมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากในช่วงแรกที่ทำให้รู้สึกรักในการมิกซ์เสื้อผ้าแบบไม่ตามกระแส ช่วงต่อมาที่ทำให้รู้สึกว่าการไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่คือการใจดีกับสิ่งแวดล้อม และในช่วงล่าสุดที่เสื้อผ้าแม่ทำให้เฟิร์สเห็นตัวตนของตัวเอง และอยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบตัวผ่านเพจ “จากรุ่นสู่ลูก”


“ตั้งใจว่าอยากให้เพจทำหน้าที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการส่งต่อและการรักษาของเก่าของครอบครัว เริ่มจากเสื้อผ้าของแม่ที่ใกล้ตัวเราที่สุด อยากให้คนที่เข้ามาดูมีแรงบันดาลใจในการแมตช์เสื้อผ้าแบบไม่พึ่ง Fast Fashion เพราะจะได้ช่วยลดขยะด้วย และในอนาคตก็อาจมีเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวอื่นๆ ที่ส่งต่อสิ่งของชนิดอื่นๆ จะเป็นรถ เครื่องดนตรี หรืออะไรก็ได้ เราว่ามันน่าหยิบมาเล่า”

แต่ความกระชุ่มกระชวยที่งอกเงยออกมาจากความตั้งใจแรกของเฟิร์สก็คือ การที่มีแม่กับลูกมาคอมเมนต์สนุกๆ กันในโพสต์

ลูก : ก็ได้มาหลายชิ้นอยู่นะแม่ แต่ตอนนี้มันเกินไซส์แม่สมัยนั้นไปแล้วสิ

แม่ : เดี๋ยวแก้ไซส์ให้ใหม่จ้า

บ้างก็โชว์รูปที่ตัวเองใส่ชุดเจ้าสาวของแม่แล้วแชร์เรื่องราว

‘เรากับน้องสาว ใช้ชุดแต่งงานชุดเดิมของคุณแม่ทั้งคู่ค่ะ ชุดนี้อายุ 44 ปีแล้ว และยังคงเก็บรักษาไว้เผื่อรุ่นต่อไป’

“พอได้อ่านคอมเมนต์เลยนึกออกว่า จริงๆ การใส่เสื้อผ้าของแม่ก็เหมือนได้กระชับความสัมพันธ์ เพราะเราได้ใช้เวลาพูดคุยกับแม่มากขึ้น แม่จะชอบเล่าให้ฟังว่าได้ตัวนี้มายังไง ซื้อช่วงลดราคา หรือสั่งตัด เป็นอะไรที่คุยสนุก แล้วแม่จะดีใจทุกครั้งเวลาเห็นเราหยิบเสื้อผ้าของเขามาแมตช์กับเสื้อผ้าของเราแล้วดูดี”

“จากรุ่น” ที่ฝากความทรงจำมากมายไว้ในเสื้อผ้า “สู่ลูก” ผู้รับฝากความทรงจำ ช่างเป็นการรับช่วงต่อที่พิเศษและอบอุ่นมากๆ ในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถซื้อเสื้อผ้าได้ด้วยปลายนิ้ว

“พ่อแม่บางคนอาจเก็บสมบัติเป็นเงินทอง แต่บ้านนี้เก็บเป็นเสื้อผ้า สิ่งที่อยู่กับเรามานานไม่ว่าจะเป็นอะไรก็มีค่าเสมอ” เฟิร์สบอกกับเราด้วยประโยคที่จริงใจที่สุด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย