a day experience : From Monet to Kandinsky เบื้องหลังงานศิลปะระดับโลก และวาดรูปบนรูฟท็อปกับโอ๊ต–มณเฑียร

a day experience : From Monet to Kandinsky เบื้องหลังงานศิลปะระดับโลก และวาดรูปบนรูฟท็อปกับโอ๊ต–มณเฑียร

Highlights

  • เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา a day จัดกิจกรรม From Monet to Kandinsky – See Art, Draw Art with Oat Montien ร่วมกับศูนย์การค้า River City Bangkok พาผู้อ่านไปชมนิทรรศการ From Monet to Kandinsky โดยมี โอ๊ต-มณเฑียร ศิลปินผู้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ผ่านศิลปะและถ่ายทอดโลกของศิลปะในลอนดอนผ่านคอลัมน์ London Scene และ London Museum เป็นผู้นำชมและเล่าเรื่องชีวิตทั้ง 16 ศิลปินพร้อมสอดแทรกเทคนิคศิลปะ บริบทสังคมในยุคนั้นที่ส่งผลต่องานศิลปะชิ้นนั้นๆ
  • หลังจากที่เราเดินชมนิทรรศการกันอย่างเต็มอิ่มแล้ว โอ๊ตบอกว่าการที่เราจะเรียนรู้งานศิลปะได้ดี เราจะต้องลองถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาเป็นงานศิลปะเสียก่อน เราจึงพาผู้อ่านขึ้นไปวาดรูปบนรูฟท็อป River City Bangkok

ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพศิลปะชื่อดังในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เรามักสงสัยว่าอะไรคือแรงบันดาลใจรอบตัวของศิลปินผู้สร้างสรรค์ สังคมรอบตัวของพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ทำไมถึงมีอิทธิพลต่อการตวัดฝีแปรงให้ออกมาเป็นภาพวาดที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกได้เช่นนี้

และถึงแม้ว่าวิชาเรียนจะมีคำตอบให้เราเข้าใจได้ไม่มากนัก แต่เมื่อมีกิจกรรม a day experience: From Monet to Kandinsky – See Art, Draw Art with Oat Montien ขึ้นมา เราก็ไม่รีรอที่จะขอเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเรียนรู้และหาคำตอบเพื่อไขข้อสงสัย

กิจกรรมที่ว่าคือการเดินดูงานศิลปะมาซเตอร์พีชของศิลปินชื่อดังระดับโลกกว่า 16 ชีวิต เช่น Claude Monet, Vincent Van Gogh, Edvard Munch, Gustav Klimt, Paul Gauguin, Wassily Kandinsky ในงาน From Monet to Kandinsky ซึ่งจัดขึ้นที่ River City Bangkok ที่พิเศษกว่าเข้ามาเดินชมเองเพราะมีโอ๊ต–พัฒนพงศ์ มณเฑียร ศิลปินผู้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ผ่านศิลปะและถ่ายทอดโลกของศิลปะในลอนดอนผ่านคอลัมน์ London Scene และ London Museum เป็นผู้นำชมพร้อมบอกเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของศิลปินกับผลงานต่างๆ พร้อมปิดท้ายด้วยการวาดภาพบนดาดฟ้า River City Bangkok 

เบื้องหลังงานศิลปะเหล่านี้เป็นอย่างไร โอ๊ตเริ่มต้นพาเราย้อนเวลาท่องไปในยุคของศิลปินทั้ง 16 ชีวิตนี้

See Art : เรื่องราวเบื้องหลังที่ขับเคลื่อนให้ศิลปินตวัดฝีแปรงเป็นผลงานชื่อดังระดับโลก

ก่อนที่พวกเราจะได้เข้าไปชมงานศิลปะ โอ๊ตให้เลือกภาพขนาดเท่าโปสต์การ์ดที่เขาเตรียมมาให้คนละ 1 ใบ ในจำนวนนั้นคละไปด้วยภาพวาดอย่างพอร์เทรตผู้หญิง ทิวทัศน์ รูปเรขาคณิต ฯลฯ ท่ามกลางความแตกต่าง จุดร่วมคือภาพเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานของศิลปินในนิทรรศการที่เรากำลังจะเข้าไปดูด้วยกัน

“อยากให้ทุกคนเลือกรูปแล้วแนะนำตัวนะครับ เชื่อว่ารูปที่พวกเราเลือกจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา” โอ๊ตพูดขึ้น เราพยักหน้าเห็นด้วย เพราะเราหยิบรูปที่ใช้สีสันสะดุดตาแบบที่ชอบ เมื่อผู้ร่วมกิจกรรมแนะนำตัวพร้อมบอกเหตุผลที่เลือกรูปกันครบแล้ว โอ๊ตเริ่มแจกแผ่นกระดาษที่เขาตั้งใจเตรียมเป็นข้อมูลมาให้พวกเราระหว่างเดินชมนิทรรศการ

ในแผ่นกระดาษนี้คือเส้นไทม์ไลน์ของผลงานศิลปินที่จัดแสดงในงาน ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1840-1940 เขาอธิบายว่าในช่วง 100 ปีของการเกิดงานศิลปะในยุคนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะศิลปินมีความเป็นตัวเองสูง มีอิสระในการสร้างสรรค์งาน และผลงานแตกต่างจากภาพวาดเสมือนจริงในยุคที่ผ่านๆ มา แสดงให้เห็นว่าศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับชนชั้นสูงแล้ว

“จะเห็นว่าด้านล่างของเส้นไทม์ไลน์ผมใส่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไว้ มันคือคลื่นใต้น้ำที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อผลงานของศิลปิน ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังระหว่างชมงานนี้” 

ว่าแล้วโอ๊ตก็เริ่มพาพวกเราเดินเข้าสู่โซนแรกของนิทรรศการซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีประวัติศิลปินทั้ง 16 ชีวิตเรียงรายรอบๆ ผนังห้อง ก่อนจะเข้าชมงาน โอ๊ตอยากให้เราได้เข้าใจสภาพสังคมและแนวคิดที่ก่อให้เกิดผลงานแต่ละชิ้นขึ้นมาก่อน

เราเริ่มต้นที่ประวัติของผู้บุกเบิกศิลปะยุค Impressionism อย่าง Claude Monet โอ๊ตให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดูรูปที่เขาเตรียมมา ภาพวาดสีฟุ้งๆ ชวนฝัน มีควันโขมงจากเครื่องจักรไอน้ำทำให้พวกเราเดากันได้ว่ามันคือสถานีรถไฟ ผลงานชิ้นนี้ชื่อ The Gare Saint-Lazare (1877) ตั้งชื่อตามสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส โอ๊ตอธิบายว่ารถไฟคือหมุดหมายสำคัญของโลกใหม่ เพราะหมายถึงการมาถึงของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเต็มไปด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนเพิ่มมากขึ้น ไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตคนจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง

อย่างโลกของศิลปะก็มีวิถีที่เปลี่ยนไปมากขึ้น เช่น มีการผลิตสีเป็นหลอด ทำให้ศิลปินสามารถออกไปวาดภาพนอกสตูดิโอได้ง่ายขึ้น และการถือกำเนิดของกล้องถ่ายรูป เป็นครั้งแรกที่ผู้คนได้เห็นมิติของภาพที่แท้จริงมากขึ้น ทำให้ศิลปินยุคนี้ไม่ได้สนใจวาดภาพเหมือนจริงอย่างยุคที่ผ่านมาแต่หันมาวาดภาพที่มากกว่าสมจริง

เทคโนโลยีกล้องยังมีอิทธิพลต่อเทคนิคการวาดภาพของศิลปิน เช่น ผลงาน Edgar Degas ที่ชื่นชอบถ่ายรูปเบลอๆ เพื่อเอามาวาดมูฟเมนต์ของวัตถุ เช่น ภาพม้า หรือภาพนักบัลเลต์ที่กำลังเคลื่อนไหว 

ในขณะเดียวกัน แม้ว่ากล้องถ่ายภาพจะสามารถบันทึกภาพเสมือนจริงได้ แต่อีกนัยหนึ่งศิลปินกลับมองว่ากล้องไม่สามารถบันทึกความรู้สึก ณ ขณะนั้นไว้ได้ จึงเกิดแนวคิดที่ศิลปินเลือกบันทึกช่วงเวลาที่ประทับใจไว้ โดยมีจุดเด่นที่การบันทึกแสงในขณะวาด  จึงเกิดเป็นแนวคิดศิลปะแบบ Impressionism ซึ่งมีลักษณะของการใช้ฝีแปรงฉับพลัน ไม่ระบายสีเกลี่ยให้เรียบร้อยแบบยุคก่อนๆ ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนอาจจะไม่ประทับใจศิลปะแนวทางนี้ อย่างรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสฝรั่งเศส ทรงอธิบายไว้ในจดหมายถึงคนที่บ้านว่า งานศิลปะแบบ Impressionism เป็นเหมือนศิลปะที่ยังระบายไม่เสร็จ 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพในยุค Impressionism ทำให้เราประทับใจในสีสันของดอกไม้และสวนผ่านผลงานของศิลปินหลายคน โดยเฉพาะโมเนต์ที่สร้างสรรค์จุดเด่นให้กับภาพดอกไม้ได้เป็นอย่างดี โอ๊ตอธิบายว่า ความจริงแล้วในยุคนั้นผืนดินของฝรั่งเศสยังไม่มีดอกไม้สีสันเหมือนในภาพ แต่เหตุผลที่ทำให้โมเนต์สามารถสร้างสรรค์ผลงานน่าชื่นชมได้ เพราะการเกิดขึ้นของ Wardian Case หรือกล่องบรรจุต้นไม้ ซึ่งออกแบบมาคล้ายกับเรือนกระจก ทำให้คนเราสามารถเคลื่อนย้ายต้นไม้ต่างถิ่นที่โตแล้วมาได้ง่ายขึ้น ความตื่นเต้นในการก้าวเข้าสู่โลกไร้พรมแดนของคนในยุคนั้นจึงแสดงออกมาผ่านภาพวาดไว้อย่างเป็นเอกลักษณ์

นอกจากนี้ ในยุคนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมที่สะท้อนออกมาผ่านผลงานศิลปิน โอ๊ตชี้ให้เราดูภาพนักบัลเลต์แล้วอธิบายว่า เมื่อศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงหมู่ชนชั้นสูง ศิลปินจึงเลือกถ่ายทอดเรื่องราวของคนหลังฉากที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างผลงานที่ชื่อว่า Rehearsal on Stage (1874) โดย Edgar Degas ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังของนักบัลเลต์ โอ๊ตอธิบายว่ายุคนั้นนักบัลเลต์หญิงมักเป็นเด็กสาวชนชั้นล่างที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้น จึงเข้ามาสมัครเป็นนักบัลเลต์ เมื่อ Degas วาดภาพนี้ จึงเป็นการเปิดให้คนชนชั้นอื่นๆ นอกเหนือจากชนชั้นสูงมีพื้นที่ในงานศิลปะ

อีกภาพที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนของโครงสร้างสังคมคือภาพ Dance at Le Moulin de la Galette (1876) ของ Pierre-Auguste Renoir โอ๊ตบอกว่านี่คือภาพลานเบียร์ที่มีคนจากหลากหลายชนชั้นมาสังสรรค์กัน สังเกตได้จากหมวกที่แตกต่างและบ่งบอกชนชั้น

แต่ใช่ว่าทุกคนจะชื่นชอบการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในทางกลับกันศิลปินบางคนเลือกจะปลีกตัวออกจากการพัฒนาของเมืองไปสู่ชนบทเพื่อผลิตผลงาน อย่าง Paul Gauguin ที่ไปวาดภาพไกลถึงเกาะตาฮิติ และเลือกใช้สีสันสดแปลกใหม่บนผลงานเพราะเบื่อสีมืดทึมของปารีส รวมไปถึง Vincent Van Gogh ที่เบื่อหน่ายและไม่ชอบสังคมโมเดิร์นของมหานครปารีส จึงออกไปหาความเรียบง่ายนอกเมือง ผลงานของเขาจึงประกอบไปด้วยทุ่งหญ้าและทิวทัศน์ชนบท 

นอกจากนี้ด้วยสภาวะทางจิตของแวน โกะห์ เอง ผลงานของเขาจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เขาส่งผ่านมายังฝีแปรง ซึ่งโอ๊ตเล่าประสบการณ์ว่า ตอนได้ไปชมผลงาน The Starry Night (1889) ของจริง เขาแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะลวดลายของฝีแปรงที่แวน โกะห์ ระบายความรู้สึกลงไปนั้นชัดเจน และสื่อสารถึงสภาวะจิตใจได้เป็นอย่างดี

ไม่ใช่เพียงแวน โกะห์ เท่านั้นที่ใช้ศิลปะระบายความทนทุกข์ลงผ้าใบ Edvard Munch ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานจากสภาวะในจิตใจ ผลงานมาสเตอร์พีซของเขาอย่าง The Scream (1893) คือภาพวาดที่เขาใช้สีฉูดฉาดบอกเล่าความรู้สึกในวันที่พระอาทิตย์กำลังตกดินได้อย่างยอดเยี่ยม 

โอ๊ตอธิบายต่อว่าอาการทางจิตของผู้ชายในยุคสมัยนั้นสะท้อนผ่านงานศิลปะ ในขณะที่ผู้หญิงได้รับการวินิจฉัยอาการผิดปกติ เช่น ลมชัก ลมบ้าหมู โก่งตัวโค้งงอ ว่าเป็นโรคฮิสทีเรีย แพทย์ในสมัยนั้นระบุว่าอาการแปลกๆ ของผู้หญิงเหล่านี้เกิดจากความต้องการทางเพศ โดยมีการศึกษาที่บันทึกภาพถ่ายผู้หญิงหลากหลายท่าทางเมื่อมีอาการ และแนวคิดเหล่านี้ยังมีอิทธิพลต่อมุมมองเรื่องผู้หญิงของศิลปินหลายคน ทำให้มีภาพวาดผู้หญิงลักษณะตัวงอไม่เหมือนปกติเช่น ผลงาน The Kiss (1907-1908) ของ Gustav Klimt  

ยุคถัดจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ศิลปินเริ่มตั้งคำถามกับหลักการต่างๆ ของศิลปะมากขึ้น อีกทั้งอิทธิพลของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อย่างการศึกษาเรื่องดวงดาว เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ผลักดันให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานที่เริ่มตัดทอนองค์ประกอบหลายๆ อย่าง แต่แฝงไปด้วยแนวคิดสำคัญๆ ซึ่งเราเรียกลัทธิศิลปะนี้ว่า Abstract 

ผลงานที่สำคัญของยุคนี้คือ Composition No.8 (1923) ของ Wassily Kandinsky หรือตารางที่ประกอบไปด้วยแม่สี อย่าง Composition with Red, Blue and Yellow (1929) ของ Piet Mondrian

หลังจากการบรรยายอย่างเต็มอิ่ม โอ๊ตสรุปให้พวกเราว่า ผลงานที่เราได้ชมกันมีเรื่องเล่าเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ ศิลปินไม่ได้สร้างผลงานผ่านสุญญากาศ ทว่าสังคมรอบตัวได้หล่อหลอมให้ศิลปินมีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ นั่นเอง

ก่อนเดินเข้าไปดูงานในห้องถัดไป โอ๊ตอยากให้พวกเราเข้าถึงศิลปะได้ผ่านประสบการณ์ส่วนตัว จึงแนะนำหนังสือ Art as Therapy (2013) ของ Alain de Botton ซึ่งมองว่าศิลปะไม่ได้มองได้แค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ศิลปะควรมี 7 อย่าง คือ 1. ย้อนรำลึก (remembering) 2. ให้ความหวัง (hope) 3. สะท้อนความโศกเศร้า (sorrow) 4. สร้างสมดุล (rebalancing) 5. เข้าใจตนเอง (self-understanding) 6. เติบโต (growth) 7. ให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัวได้ (appreciation)

 

Draw Art : ปลดปล่อยความรู้สึกไปกับฝีแปรงและผืนผ้าใบ

หลังจากเดินชมงานพร้อมเต็มอิ่มด้วยเรื่องราวเบื้องหลังผลงานของศิลปินระดับโลกกันแล้ว โอ๊ตบอกว่าการที่เราจะเรียนรู้งานศิลปะได้ดีเราจะต้องลองถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาเป็นงานศิลปะเสียก่อน เขายกตัวอย่างว่าพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ที่ลอนดอนก็มี art-based learning เช่นนี้ ว่าแล้วเขาจึงชวนพวกเราขึ้นไปวาดภาพกันบนดาดฟ้าของศูนย์การค้า River City Bangkok ในช่วงเวลาที่แดดอ่อนแรงลงแล้วและสายลมกำลังพัดคลายความร้อนให้พวกเรา

ระหว่างที่ผู้ร่วมกิจกรรมต่างช่วยกันกางขาตั้งผ้าใบ โอ๊ตเริ่มอธิบายการวาดภาพที่พวกเราจะเริ่มตวัดฝีแปรงกันในครั้งนี้ “สิ่งแรกที่เราอาจจะรู้สึกตอนวาดภาพคือมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราหวัง แต่ไม่เป็นไรนะครับ เราระบายความรู้สึกออกมา เพราะการวาดภาพเป็น ไม่ได้หมายความว่าเราแรเงาถูกต้อง หรือว่าวาดสัดส่วนตามหลักการ แต่การวาดรูปเป็นคือ เราถ่ายทอดสภาวะที่เราเป็น ความรู้สึก สิ่งที่เราคิดลงไปในภาพได้” 

สิ่งที่โอ๊ตบอกเป็นกำลังใจให้ผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นมือใหม่ในการวาดภาพด้วยสีอะคริลิกบนผ้าใบได้เป็นอย่างดี บางคนเริ่มเดินหาแรงบันดาลใจรอบๆ รูฟท็อป อย่างครอบครัวของคุณพ่อสถาปนิกที่พาลูกชายและลูกสาวทั้งสองเดินดูทิวทัศน์ตึกริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเลือกมุมที่ชื่นชอบมาวาดลงผ้าใบ บางคนเลือกหามุมที่ตัวเองสนใจและเริ่มเอาพู่กันจุ่มสีป้ายลงผ้าใบอย่างสนุกสนาน บางคนเลือกมุมเงียบๆ เพื่อปล่อยให้ความรู้สึก ณ ขณะนั้นระบายผ่านฝีแปรงลงไปบนพื้นสีขาว

ในกระแสลมอ่อนๆ และความเงียบ ผู้ร่วมกิจกรรมต่างจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองอยากสื่อสาร โดยมีโอ๊ตคอยพูดให้กำลังใจ และกล่าวย้ำถึงความสำคัญในการปล่อยให้ความรู้สึกผ่านออกมาเป็นภาพวาด

“อย่าลืมนะครับว่าในกระบวนการที่เราทำอยู่ ศิลปินระดับโลกก็ผ่านสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างสรรค์งานที่คนชื่นชอบ ผ่านฝีแปรง สี และผืนผ้าใบเหมือนที่เรากำลังทำ” 

หลังผ่านไปเกือบชั่วโมง โอ๊ตชวนทุกคนมาสรุปกิจกรรมด้วยการนำผลงานมาวางรวมกัน แล้วให้ทุกคนเลือกงานที่ชอบ พร้อมอธิบายเหตุผล แต่ละผลงานสะท้อนตัวตนเจ้าของผลงานได้เป็นอย่างดี แม้หลายคนจะบอกว่านี่คือการจับพู่กันวาดภาพครั้งแรก แต่ความรู้สึกต่างๆ ก็เต็มเปี่ยมไปทั่วผ้าใบทุกผืน

แม้ผลงานที่เราได้สร้างสรรค์กันอาจจะไม่ได้โด่งดังหรือเป็นที่ชื่นชอบเหมือนผลงานที่ศิลปินระดับโลกได้ฝากไว้ แต่เราเชื่อว่ามันจะยังเอ่อล้นไปด้วยความทรงจำของความรู้สึกตอนวาด และเราจะรับรู้ถึงมันได้อีกครั้งและอีกครั้งเมื่อได้กลับไปมองผลงานเหล่านี้  

 


ขอขอบคุณ สมใจ ผู้สนับสนุนอุปกรณ์ศิลปะสำหรับกิจกรรมครั้งนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด