“ร้านหนังสือคือสินทรัพย์ของชุมชน” คุยเรื่องการขายหนังสือในทศวรรษหน้ากับ Andrew Laties

Highlights

  • Andrew Laties หรือแอนดี้ คือชายที่นำสมัยและแหวกขนบที่สุดของการขายหนังสือ แอนดี้เป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้เข้าใจหนังสือจะสามารถบอกความจริงแท้แม้ว่าจะก่อนกาลแค่ไหนก็ตาม
  • เขามองว่า “ต้องเริ่มต้นการอ่านตั้งแต่อายุยังน้อย” นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็เป็นหัวใจสำคัญของสังคม
  • ที่สำคัญเขาเชื่อว่าร้านหนังสือถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของชุมชน อย่างในอเมริกา การมีร้านหนังสือกลางชุมชนก็ช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้กับพื้นที่ในบริเวณนั้น และส่งผลบวกแก่ชุมชนโดยรอบอย่างเห็นได้ชัด

“So indie booksellers should welcome the arrival of plentiful e-Book. 

We can expect to see renewed interest in book reading among public. 

Physical books will find more buyers because the pleasure of owning,

reading, and sharing these is different from the experience of

perusing a restricted-access electronic display on a screen”

 

นี่คือวลีเด็ดจากหนังสือ Rebel Bookseller ที่แต่งโดย Andrew Laties หรือแอนดี้ ชายที่นำสมัยและแหวกขนบที่สุดของการขายหนังสือ และเป็นคำจำกัดความตัวเอ้ของคำว่า Rebel Bookseller คนขายหนังสือวิญญาณขบถ เราสองคนพบกันเพราะหนังสือที่เขาเขียนเมื่อปี 2005 ย่อหน้าภาษาอังกฤษข้างต้นกลั่นออกมาด้วยความมั่นใจและบันทึกความเชื่อตัวเองลงไปอย่างกล้าหาญ แอนดี้เป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้เข้าใจหนังสือจะสามารถบอกความจริงแท้แม้ว่าจะก่อนกาลแค่ไหนก็ตาม

เรากลับมามีโอกาสคุยกันอีกครั้งหลังจากผมเคยเชิญเขามาประเทศไทยเมื่อปี 2011 เพราะหนังสือเล่มนี้ ในตอนนั้นเขามาแบ่งปันประสบการณ์เรื่องหนังสือ และแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการขายหนังสือในทศวรรษหน้า จากผู้จัดการร้านหนังสือของ Eric Carle Museum ตอนนี้แอนดี้เปิดร้านหนังสือของตัวเองชื่อว่า Book & Puppet Co. ที่เมืองอีสตัน ในรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา 

ร้านหนังสือของแอนดี้คือร้านหนังสือเด็กและเยาวชนที่มีรูปแบบแหวกแนวที่สุด เพราะทั้งแอนดี้ และรีเบกก้าคู่ชีวิต เป็นศิลปินที่ร้องและเล่นประกอบการเล่านิทานผ่านเครื่องดนตรี โดยเฉพาะการเล่าเรื่องผ่านหุ่นกระบอกที่เป็นพระเอกของร้าน บางครั้งอาจเห็นแอนดี้เอาสายยางมาพันรอบตัวแล้วเดินไปมาทั่วร้าน นั่นคือเครื่องดนตรีของเขา แน่นอนเด็กๆ ติดใจเขาไม่น้อย และคำว่า Rebel Bookseller ก็คือนิยามที่เขาเองเป็นคนจำกัดขึ้นมา

แอนดี้เป็นคนเมืองโรเชสเตอร์ที่เรียกว่าอีกนิดเดียวก็ถึงน้ำตกไนแองการา ข้ามไปเดินเล่นฝั่งแคนาดาได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเขาอยู่ในวงการหนังสือ หากไม่นับช่วงเวลาเด็กที่ไปหาหนังสือเก่ามาขาย เขาเคยมีร้านหนังสือทั้งที่นิวยอร์กและชิคาโก้ ก่อนมาปักหลักเติบโตที่อีสตัน เพนซิลวาเนีย

เช่นเดียวกับคนรักหนังสือส่วนใหญ่ แอนดี้เติบโตมาในครอบครัวที่รักหนังสือ คุณพ่อของเขามักอนุญาตให้แอนดี้และพี่สาวเลือกหนังสือของตัวเองหนึ่งเล่มเวลาไปร้านหนังสือ และหนังสือที่แอนดี้ชอบมากคือ Ant and Bee โดย Angela Banner ประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับหนังสือ และการเติบโตมากับหนังสือนั้นส่งผลต่อชีวิตคนขายหนังสือของเขามาก ซึ่งแอนดี้ได้บันทึกความทรงจำแสนดีนี้ไว้ที่ villagebooksblogs.typepad.com

เมื่อถามว่าแล้วหนังสืออะไรในแต่ละช่วงวัยที่มีผลต่อชีวิตเขา แอนดี้บอกว่าเขามีลิสต์ที่หลากหลายมาก แต่ที่ยังคงเป็น Top Best Reading Chart สำหรับเขาในแต่ละช่วงอายุคือ Where The Wild Things Are ของ Maurice Sendak ในวัยเยาว์ เรื่องสั้นต่างๆ ของ Franz Kafka และ The Dispossessed ของ Ursula K. Le Guin ที่อ่านในช่วงวัยรุ่น และหนังสือที่มีผลในช่วงวัยปัจจุบันของเขาก็คือ Metaphors We Live by ของ George Lakoff

ส่วนหนังสือที่เขาอ่านซ้ำไปซ้ำมาตลอดคือ Swallows and Amazons โดย Arthur Ransome และ The Count of Monte Cristo โดย Alexandre Dumas ทั้งสองเรื่องมีความน่าตื่นเต้น และไม่ว่าจะอ่านกี่ครั้งแอนดี้จะได้พบสิ่งใหม่ๆ จากหนังสือทั้งสองเล่มเสมอ และไม่ได้แค่อ่าน สำหรับแอนดี้การมีส่วนร่วมกับหนังสือเล่มนั้นๆ ทำให้การอ่านมีมิติมากกว่าเดิม ดังนั้นเขาจะจินตนาการว่าเขาเป็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น และแน่นอนมันสร้างความสุขให้เขามากทีเดียว 

กลับมาที่เรื่องของการอ่าน หรือให้ชัดคือวัฒนธรรมการอ่าน แอนดี้บอกว่าทุกวันนี้แทบไม่มีความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมการอ่านของไทย หรือในสังคมอเมริกัน จากเดิมที่หนังสือและการอ่านเป็นเรื่องของชนชั้นสูง แต่เมื่อสังคมมีวิวัฒนาการ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาจึงก่อให้เกิดการอ่านอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของพื้นฐานการเข้าถึงความรู้

เราพบว่าการอ่านได้รับการยอมรับ และมีภาพลักษณ์ที่ดีเรื่อยมาจวบจนกระทั่งปัจจุบันที่การอ่านไม่ได้เป็นกิจกรรมสันทนาการเดียวในโลก เรามีกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ มากมายที่พร้อมจะดึงเวลาของเราออกไปให้ห่างจากกิจกรรมสันทนาการเดิมเรื่อยๆ และนี่เองที่ทำให้ความเป็นจริงของวัฒนธรรมการอ่านในโลกกำลังพบกับความท้าทายว่าทำยังไงหนังสือจะสามารถดึงดูดความสนใจจากเกม อินเทอร์เน็ต โซเลียลมีเดีย และอื่นๆ อีกมากมายที่พร้อมจะพาเราให้ห่างจากหนังสือไปทุกวินาที

อธิบายให้ชัดขึ้น ทุกวันนี้ทุกคนอ่านหนังสือออก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะคนไม่อ่านหนังสือ หรืออ่านหนังสือไม่ออกอีกแล้ว การอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์มานานแล้ว เพียงแต่คนไม่อ่านเท่านั้น ไม่ใช่เพราะเบื่อ แต่เพราะมีอย่างอื่นมาแย่งเวลาของเราไปต่างหาก นี่เป็นโจทย์ใหญ่ให้คิดว่าเราควรตีโจทย์ของการอ่านใหม่ให้มีความเอ็นเตอร์เทนมากขึ้น อาจด้วยวิธีการเล่าเรื่องจากหนังสือผ่านตัวช่วยอย่างที่แอนดี้ใช้ เช่น หุ่นกระบอกและดนตรี เหล่าคนขายหนังสือคงต้องคิดให้ออกว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำก่อน-หลังเพื่อดึงคนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการอ่านมากขึ้น

แล้วอะไรล่ะคือทางที่เหมาะสมในตอนนี้? จุดเริ่มต้นของคำตอบที่พอคาดเดาได้คือ แอนดี้บอกว่าต้องเริ่มต้นการอ่านตั้งแต่อายุยังน้อยนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราได้ยินกันบ่อยครั้ง และนั่นพิสูจน์แล้วว่ามันคือหัวใจของทั้งหมด แอนดี้เสริมว่าเมื่อโตขึ้น การมี Book Club จะช่วยรักษาระดับการอ่านของเยาวชนและผู้ใหญ่ให้คงกิจกรรมนี้ไว้ได้

ส่วนตัวแอนดี้เขาเชื่อว่าเหล่าดาราคนดังทั้งหลายมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการอ่าน เพราะการมีใครสักคนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและเป็นผู้นำทางความคิด สามารถผลักดันพลังการอ่านออกมาได้ แน่นอนว่าจะมีผลลัพธ์ถึงขนาดเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมให้กลายเป็นสังคมการอ่านและการเรียนรู้อย่างแท้จริงได้เลยทีเดียว

เราคุยกันเรื่องหนังสือเปลี่ยนชีวิต แอนดี้บอกว่า Banker to the Poor ของ Muhammad Yunus เป็นประหนึ่ง wake-up call ให้กับเขา เขามองโลกเปลี่ยนไป และมองโลกกว้างขึ้น การกลับไปเรียนปริญญาโททางด้าน International Community Economic Development ก็เกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน

แอนดี้คิดว่าหนังสือเป็นแหล่งความรู้ และร้านหนังสือก็เป็นเหมือนสถาบันการศึกษา การที่คนเข้าร้านหนังสือเหมือนเข้าไปเลือกหาความรู้ และแน่นอนว่ามันส่งผลเชิงบวกต่อสังคม

ในมุมมองเรื่องจำนวนของร้านหนังสือ ผมถามเขาว่าคิดยังไง และวิธีการแบบไหนที่จะทำให้ร้านหนังสือสามารถขยายตัวไปได้มากกว่านี้ แอนดี้บอกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนในชุมชนไม่เห็นความสำคัญของการมีร้านหนังสือ และถ้าเจ้าของพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้มองร้านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างคุณค่าให้แค่ชุมชน หรือช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้กับพื้นที่ในบริเวณนั้นๆ อย่างในอเมริกา การมีร้านหนังสือกลางชุมชนสะท้อนมูลค่าทางสังคมและส่งผลบวกแก่ชุมชนโดยรอบอย่างเห็นได้ชัด การเปิดร้านหนังสือในพื้นที่ที่ยอดเยี่ยมกลางเมืองอีสตันได้นั้นก็เพราะ Greater Easton Development Partnership องค์กรสนับสนุนด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นเห็นว่าร้านหนังสือถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของชุมชน

ดังนั้นองค์กรนี้จึงได้เป็นตัวแทนพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ และนั่นเป็นที่มาของ Book & Puppet Co. ทุกวันนี้ ด้วยค่าเช่าที่ไม่แพง และการได้รับแรงสนับสนุนจากชุมชน แอนดี้หวังว่าเขาจะได้พื้นที่ในการขยายสาขาให้ ครอบคลุมเมืองอีสตันเร็วๆ นี้

การอ่านทำให้เราเข้าใจชุมชน ร้านหนังสือสะท้อนภาพลักษณ์ของชุมชนและบ้านเมืองนั้นๆ เราพ้นยุคแห่งการเอาชนะด้วยกำลัง หากแต่ความรู้สามารถทำให้เราก้าวไปข้างหน้าก่อนคนอื่น ความรู้จากหนังสือผ่านชุมชนที่เข้มแข็ง และคนขายหนังสือที่เชี่ยวชาญเป็นส่วนผสมสำคัญของการมีสังคมที่ก้าวหน้า แน่นอนว่าเราไม่ควรฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่หนังสือ แต่อย่างน้อยการเปิดหนังสืออ่านสักนิดอาจช่วยให้ชีวิตและสังคมรอบๆ เปลี่ยนจากที่เคยเป็นก็เป็นได้

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นภิษา

เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สนใจในหนังสือ และสิ่งพิมพ์