เรณุกา หุตานุวัตร เจ้าของร้าน Sloafbake & Else ผู้อยากมอบความสุขให้คนผ่านขนมปัง Sourdough

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย คณะฯ ที่ผมเรียนมีวิชาเลือกให้เราสามารถทำอาหารเมนูไหนก็ได้ ผมเลือกทำขนมปังด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่า มันดูน่าจะทำง่ายและคงมีขนมปังให้เราชิมได้ทุกวัน แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ทำง่ายแต่อย่างใด แถมขนมปังที่ได้ชิมทุกคาบก็มาจากความอ่อนฝีมือของผมนั่นเอง

เรียกว่าหมดสิทธิ์เอากลับไปอวดหรือส่งให้ใครชิมต่อได้เลย…

หนี่นี้-เรณุกา หุตานุวัตร เจ้าของร้านและหัวหน้าทีมนักอบขนมปังร้าน Sloaf House by Sloafbake & Else เล่าให้ผมฟังตลอดบ่ายวันที่ได้สัมภาษณ์กันว่า ที่ร้านนี้ขายขนมปัง Sourdough เพียงอย่างเดียว และกว่าที่ขนมปังสักก้อนจะเสร็จออกมาได้แบบอร่อยด้วย ต้องผ่านการฝึกฝนและความเอาใจใส่ตลอดการลงมือทำอย่างต่อเนื่องกว่า 36 ชั่วโมง

แต่ต้องใส่ใจปริมาณขนาดไหนส่วนผสมถึงลงตัว ต้องผ่านการฝึกฝนกี่คืนวันถึงทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นดั่งใจ เพื่อได้คำตอบ ผมขอชวนทุกคนสวมผ้ากันเปื้อนลองเดินเข้าห้องทำปังของ Sloafbake และเรียนรู้ผ่านบทสนทนานี้ไปด้วยกันครับ

ขั้นที่ 1 : กว่าส่วนผสมจะลงตัว

“จุดเริ่มต้นทุกอย่างมาจากการได้ดูรายการหนึ่งในทีวีตอนเรายังเด็ก เราดูรายการทำอาหารในทีวี แล้วเราเห็นคุณป้าคนนึงเขาสอนทำขนมปัง และนั่นก็ทำให้เราสนใจสิ่งนี้” หนี่นี้เล่าให้ฟังด้วยเสียงหัวเราะ หลังถูกถามว่าเธอพบรักกับการทำขนมปังได้ยังไง

ในทุกวันหนี่นี้ก็ต้องมีขนมปังเป็นอาหารประจำวัน แบบไม่เกี่ยงว่าจะเป็นมื้อเช้า-กลางวัน-เย็น “หนี่นี้เป็นคนกินขนมปังตั้งแต่จำความได้ ก่อนทำกินเองก็โตมากับขนมปังร้านสะดวกซื้อค่ะ ไม่มีวันไหนที่ไม่กินขนมปังเลย หากวันไหนไม่ได้กินมื้อเช้าจะโหย จบที่กินมื้อบ่ายหรือค่ำอยู่ดี”

แต่ถึงจะมีความหลงใหลในขนมปังแค่ไหน ความตั้งใจอยากจะเปิดร้านขนมปังกลับไม่ได้เป็นภาพที่ชัดเจนขนาดนั้น หนี่นี้เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็น Project Manager ในบริษัทออกแบบเว็บไซต์ ต่อด้วยงานสายบริษัทตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ IT ยี่ห้อหนึ่ง และเป็นผู้ช่วยเจ้าของบริษัทเวชสำอางเล็กๆ ซึ่งทำให้เธอได้ทำงานที่หลากหลาย และได้เรียนรู้ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การตลาด และธุรกิจ

“จากงานทุกที่ที่ทำมาตลอด 10 ปี ทำให้เราได้ความรู้กลับมาเยอะมาก” หลังออกจากงานประจำ หนี่นี้ตัดสินใจเปิดธุรกิจเล็กๆ อย่างการทำสบู่ขายรวมไปถึงงานวาดภาพศิลปะ ซึ่งทั้งสองงานต่างก็ไปได้ดีและมีรายได้กลับมาอยู่บ้าง 

จนกระทั่งวันหนึ่ง หนี่นี้ถูกตรวจพบว่าเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพใหญ่ ต้องทำการเจาะไขสันหลังและนอนพักอยู่ใน ICU ระยะหนึ่ง วิกฤตด้านสุขภาพทำให้มีโอกาสทบทวนชีวิต และถามตัวเองว่าสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำมีอะไรอีกบ้าง 

Photographer: Nethin Chaleewan Instagram: @tonsohot 

“เราพบว่าเราอยากทำขนมปังมาตลอด ที่ผ่านมาตอนเราลองทำธุรกิจอื่นๆ พอมันเริ่มไปได้และมีโอกาสขยายต่อ เราก็ถามตัวเองว่าอยากทำสิ่งนี้ในทุกวันไหม คำตอบก็คือไม่เลย แต่กับขนมปังมันกลับต่างกัน เรารู้สึกว่าเราอยากทำ” 

เมื่อตัดสินใจได้แล้ว หนี่นี้ใช้เวลาที่ต้องนอนพักบนเตียงทยอยซื้ออุปกรณ์ทำขนมปังมารอไว้ เธอตัดสินใจไว้แล้วว่าหลังจากที่อาการทุกอย่างดีขึ้น 

เธอจะลงมือทำความฝันนี้ให้กลายเป็นจริง

ขั้นที่ 2 : ขนมปังที่ดีต้องอบอย่างเหมาะสม

“เราทำขนมปังเสียใน 40 ลูกแรก คือมันกินไม่ได้เลย”

ในช่วงเริ่มต้นจากคำแนะนำของพี่เอ-อโณทัย ก้องวัฒนา เจ้าของร้านอาหาร ‘อโณทัย’ ที่บอกให้เธอลองอ่านและทำตามในเว็บไซต์ พอถึงวันที่ได้ซื้ออุปกรณ์ เธอจึงได้ใช้ห้องส่วนตัวเล็กๆ ที่บ้านในการเริ่มต้น

แต่พอทำออกมาแล้วก็ไม่สำเร็จ จนเริ่มท้อคิดจะไปลงเรียนจริงจัง แต่เมื่อได้ลองคำนวณดูเธอก็พบว่า ค่าเรียนสามารถซื้อแป้งมาฝึกทำได้ถึง 200 กิโลกรัมเลยทีเดียว พอเทียบกันแล้ว หนี่นี้ก็ตัดสินใจว่าจะลองลุยทำต่อไปดู โดยตั้งใจว่าในระหว่าง 200 กิโลฯ นี้ มันต้องมีสำเร็จบ้างล่ะ 

แล้วในที่สุด หนี่นี้ก็พบวิธีทำที่เหมาะกับตัวเอง

หนี่นี้เริ่มมีลูกค้าที่เป็นขาประจำมากขึ้น เธอใช้ประสบการณ์จากที่เคยทำอยู่ในบริษัททำเว็บไซต์มาทำเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เธอใช้ความรู้เรื่องการตลาดจากสิ่งที่เรียนรู้มาสร้างสเน่ห์ให้กับร้านขนมปังของเธอ

ก่อนที่จะมารู้ภายหลังว่า หนึ่งในลูกค้าของเธอกลายเป็นผู้บริหารของบริษัทนำเข้ายักษ์ใหญ่ของประเทศ และเขาก็หลงรักขนมปังของเธอเข้าอย่างจัง จนถึงกับเอ่ยปากอยากนัดเจอและพูดคุยกัน เขาเป็นกำลังใจและเป็นที่ปรึกษาในการเริ่มทำธุรกิจการผลิต และผลักดันให้เธอทำต่อไปอย่างหนักแน่น 

หนี่นี้ยังคงตั้งใจทำขนมปังต่อไป และถึงวันหนึ่งที่ขายได้เยอะขึ้น ห้องเล็กๆ ที่เคยทำอยู่ทุกวันก็ไม่พอต่อการทำงาน เธอจึงตัดสินใจปรับปรุงบ้านเป็นห้องทำขนมปัง (Bread Room) และสร้างครัวเล็กๆ ให้ลูกค้าจากเดิมที่เป็นการสั่งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ได้มาลองชิมขนมปังหน้าเตา

ขั้นที่ 3 : ขายขนมปังที่ดีด้วยฝีมือและความตั้งใจ

“ความตั้งใจคือเราจะทำขนมปังอย่างเดียว และอย่างอื่นเราจะเปิดโอกาสให้กับเพื่อนๆ และทีมงานทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับขนมปังเข้ามาแจมกับร้าน” หนี่นี้ให้คำตอบถึงความหมายของชื่อร้าน 

ความจริงแล้ว Sloafbake มาจากการผสมคำระหว่าง Sloth กับคำว่า Loaf Bake คือเอาตัวสลอธที่ชื่นชอบมารวมกับก้อนขนมปัง เหมือนเป็นการสื่อว่าการใช้เวลาทำนานเหมือนสลอธจึงได้เป็นขนมปังอร่อย ส่วนคำว่า Else ก็เป็นการเปิดพื้นที่ในร้านให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ

“ตอนนี้เราไม่ได้ทำคนเดียวแล้ว มีทีมงานที่อยู่ด้วยกันด้วย เราไม่ได้คิดว่าเขาจะอบขนมปังอยู่กับเราตลอดไป เราจึงอยากให้เขามีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการติดตัวด้วย ดังนั้น ถ้าคนในทีมเขาเกิดอยากทำอะไรที่กินกับขนมปังได้ แล้วมันอร่อย ลูกค้าของเราน่าจะสนใจ เหมือนมีธุรกิจเล็กๆ อยู่ในกิจการขนมปังของเราอีกที” 

ด้วยความตั้งใจนี้ ทำให้ในร้าน Sloaf House by Sloafbake & Else มีทั้งขนมปัง ซุป กาแฟ สเปรดหรือแยม ที่เพิ่มเข้ามาสร้างสีสันให้กับทางร้าน และกลายเป็นเมนูที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว

“เราเริ่มต้นทำร้านขนมปังด้วยความคิดว่าเราเน้นความอร่อย เพราะความอร่อยคือสิ่งสากล

“และการทำขนมปัง sourdough ให้ดี คุณต้องเรียนรู้ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จากสภาพอากาศ และวัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้ได้ขนมปังที่มีคุณภาพในแบบของเรา  เพราะสูตรนี้จะเป็นภาพจำของรสชาติร้านคุณ และสุดท้ายคือคุณต้องเอาตัวและใจไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ตอนลงมือทำ”

“ที่ร้านเรามีวลีขำๆ อยู่ว่า ‘Dough มันร้าย’ เราเศร้าดำดิ่งหรือมีความสุขสดใส มันสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมหมด คนที่ทำงานอยู่กับมันทุกวันจะสังเกตได้ ถ้าคุณเผลอใจไปที่อื่น ขนมปังก็จะออกมาไม่ได้คุณภาพ

“ดังนั้นแล้ว ความใส่ใจที่เราพูดถึงมันคือแบบนี้ล่ะ”คุณหนี่นี้เล่าให้ฟังถึงที่มาของคำถามที่ค้างคาใจในตอนแรกของเรา

คำถามสุดท้ายที่ผมถามกับเจ้าของร้านก่อนส่งตัวให้เธอกลับเข้าครัวเพื่อลงมืออบขนมปังลอตใหม่ คือคำถามว่า อยากให้คนที่ได้กินขนมปังของคุณรู้สึกอะไรบ้าง 

หนี่นี้ยิ้มน้อยๆ และตอบว่า “ตั้งแต่เด็ก เราจะอิจฉาคนอยู่ 2 อาชีพคือนักร้องและเชฟทำอาหาร เพราะเรารู้สึกว่าทั้งสองอาชีพสามารถเยียวยาจิตใจ และสร้างความสุขให้ผู้คนได้จากงานที่เขาทำ

“เราก็แค่อยากเป็นอย่างนั้นให้กับคนที่กินขนมปังของเราได้บ้างเหมือนกัน”

รู้จัก Sloaf House by Sloafbake & Else มากขึ้นได้ที่

Website: www.sloafbake.com

Facebook: facebook.com/sloafbake

Instagram: instagram.com/sloafbake

LINE ID: @sloafbake

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย