“It’s coming home. It’s coming home. It’s coming. Football’s coming home.”
ท่ามกลางเสียงกู่ร้องตะโกนเชียร์นักเตะที่รักและเสียงก่นด่าสาปแช่งฝั่งตรงข้าม
‘เพลงเชียร์’ คืออีกเสียงหนึ่งที่ดังขึ้นท่ามกลางเสียงต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเพลง Three Lions ของวง The Lightning Seeds ที่กลายเป็นเพลงประจำชาติอังกฤษทุกครั้งที่ลงแข่งเวิลด์คัพ เรื่อยมาจนถึงเพลงประจำสโมสรอย่างเพลง You’ll Never Walk Alone ของลิเวอร์พูล เพลง Blue Moon ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ Go West จากชาวอาร์เซนอล
สำหรับฟุตบอลฝั่งอังกฤษและในพรีเมียร์ลีกแล้ว เพลงเชียร์สลักสำคัญถึงขนาดที่ว่าเมื่ออังกฤษคลายล็อกดาวน์เมื่อเดือนกันยายน 2020 หลังไวรัสโควิด-19 ระบาด และอนุญาตให้แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันในสเตเดียมได้โดยเว้นระยะห่างกัน แต่ห้ามร้องเพลงเชียร์ใดๆ ทั้งสิ้น มีคนออกมาโวยวายว่า “มันจะไปทำได้ยังไงกันล่ะวะ! ก็การร้องเพลงเชียร์น่ะมันอยู่ในจิตวิญญาณ!”
ต้นกำเนิดของเพลงเชียร์
คำถามคือ เพลงเชียร์เหล่านี้ผสานกลายเป็นเนื้อเดียวกับการดูฟุตบอลในอังกฤษตั้งแต่เมื่อไหร่กัน การจะถามคำถามนี้ได้ เราอาจต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 สมัยที่การดูฟุตบอลเพิ่งจะกลายเป็นกิจกรรมที่นำผู้คนมารวมตัวกันได้มากที่สุด ขยับขยายจากการแข่งขันแค่ในเมืองตัวเองไปสู่เมืองข้างเคียงซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากการที่เมืองใหญ่ๆ ในอังกฤษเชื่อมต่อถึงกันด้วยรถไฟ การเดินทางของทีมเยือน–ทั้งนักเตะและแฟนบอล ไปสู่เมืองของทีมเหย้าจึงมาพร้อมการแสดงอัตลักษณ์ที่ไม่ได้หมายถึงแค่สำเนียงพูดและชื่อเมือง แต่มันยังสะท้อนผ่านบทเพลงที่พวกเขาหอบไปร้องกันที่ต่างถิ่นด้วย (แน่นอนว่าในทางกลับกัน ฝั่งเจ้าบ้านก็มีเพลง มีเรื่องราวของตัวเองเช่นกัน)
แต่ก่อนหน้าที่การร้องเพลงเชียร์เหล่านี้จะหยิบเอาบทเพลงดังๆ ของนักดนตรีมาใช้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ต้นกำเนิดของมันนั้นเรียบง่าย อันที่จริงเพลงเชียร์ยุคแรกๆ ใช้ศัพท์และท่วงทำนองเรียบง่ายเป็นหลัก (หรือจริงๆ คือเน้นให้ตะโกนออกไปแล้วได้อารมณ์มากกว่า) หากไม่หยิบฉวยจากเพลงพื้นบ้านของแต่ละถิ่นมาแปลงเป็นเพลงเชียร์ ชาวอังกฤษเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนก็มักแปลงเพลงจากละครเวทีเรี่องต่างๆ มาเป็นเพลงเชียร์ให้ทีมตัวเองแทน
ในปี 1960 เพลงเชียร์ได้กลายเป็น ‘ประเพณีที่เกรียงไกร’ ของคนดูบอลอังกฤษ หลังจากนิยมร้องกันโดยไม่มีแบบแผนหรือไม่ได้ส่งต่อเนื้อร้องให้กันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ถึงขั้นมีคนวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้เพลงเชียร์ที่ร้องกันแค่ในสนามบ้านตัวเองกลายไปเป็น ‘ของที่ต้องทำ’ ประจำการดูบอลไปได้
อย่างแรกอาจจะเป็นที่ตัวกีฬาฟุตบอลเองไต่ระดับความนิยมไปสู่สากลโลก การันตีความนิยมด้วยการเปิดตัวสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (UEFA) ในช่วงปี 1954 ขณะที่ฟุตบอลอังกฤษเองก็ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ และกลายเป็นกีฬาของคนรุ่นใหม่ที่ทั้งต้องดูและลงเล่นเอง แต่สำคัญไปกว่านั้นคือการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีในอังกฤษ ที่ระบบวิทยุและการกระจายเสียงทำให้เพลงป๊อปที่ดังระเบิดทุกเพลงในสหราชอาณาจักรกระจายตัวไปทุกๆ พื้นที่ จนทำให้แฟนบอลไม่จำเป็นต้องหยิบเอาเพลงพื้นบ้านมาแปลงเป็นเพลงเชียร์อีกแล้ว แต่ไปเอาเพลงดังๆ ที่ได้ยินจากวิทยุพวกนี้แหละมาเป็นเพลงของทีมตัวเองซะเลย!
ขณะเดียวกันก็มีอีกทฤษฎีหนึ่งแย้งว่า เป็นไปได้ที่อังกฤษอาจรับเอาวัฒนธรรมการร้องเพลงเชียร์แบบนี้มาจากยุโรป สมัยแข่งฟุตบอลโลกปี 1962 และ 1966 ที่ทำให้พวกเขาได้เห็นว่าแฟนบอลอิตาลีหรืออเมริกาใต้ตะโกนเพลงเชียร์กันอย่างบ้าคลั่งแค่ไหน อย่างลิเวอร์พูลที่ไปเอาท่อน “Brazil, cha-cha-cha” ของแฟนบอลชาวบราซิลมาแปลงเป็นเพลงตัวเองด้วยท่อน “Li-ver-pool!” พร้อมปรบมือสามครั้งปิดท้าย หรือกระทั่งธีมเชียร์ Glory Glory ของฝั่งสหราชอาณาจักรก็ไปหยิบยืมมาจากท่วงทำนองเพลง Battle Hymn of the Republic ของสหรัฐฯ สมัยสงครามกลางเมืองโน่น โดยเปลี่ยนท่อน “Glory, Glory, Hallelujah” เป็น “Glory, Glory” ตามด้วยชื่อทีมแทน ไม่ว่าจะเป็น “Glory, Glory, Tottenham Hotspur” หรือ “Glory, Glory, Leeds United” (แถมได้รับความนิยมไปยันลีกรักบี้ในออสเตรเลียด้วยการที่กลายเป็นเพลงเชียร์ทีม South Sydney Rabbitohs ที่ลงแข่งเมื่อไหร่ก็จะได้ยินเสียงเพลงแว่วมาจากข้างสนามว่า “Glory, Glory, South Sydney”)
ยุคสมัยของความเฟื่องฟู
เพลงเชียร์เหล่านี้กลายเป็นที่นิยมถึงขั้นที่ว่า สโมสรตัดสินใจว่าต้องไม่ใช่แค่แฟนบอลร้องแต่นักเตะยังต้องร้องด้วย จนเกิดเป็นเพลง Back Home (1970) ที่ขนเอานักเตะทีมชาติอังกฤษจำนวน 22 คนถ้วนมาร้องเพลงก่อนเตรียมลงเตะในเวิลด์คัพ 1970 ซึ่งดันพุ่งพรวดขึ้นติดอันดับหนึ่งชาร์ตเพลงฝั่งสหราชอาณาจักรแบบเหมายกแผงนาน 3 สัปดาห์ติด (ยังไงก็ดี ในปีนั้นอังกฤษซึ่งเป็นแชมป์เก่าปี 1966 พ่ายให้เยอรมนีตะวันตกไปที่ 3-2 ตกรอบไปก่อนอย่างน่าเศร้า คนเลยปลอบใจหรือไม่ก็แซวๆ กันว่า เอาน่า อย่างน้อยเพลงพวกนายก็ติดชาร์ตตั้งนานนะ)
Back Home นี่เองที่กลายเป็นชนวนสำคัญให้สโมสรต่างๆ ทำเพลงให้ทีมตัวเองบ้าง เพราะในเวลานั้นทีมเดียวที่ดูจะมีเพลงเป็นของตัวเองคือลิเวอร์พูลกับเพลง You’ll Never Walk Alone ซึ่งเป็นเพลงของวง Carousel ในปี 1945 ที่ถูกหยิบมาคัฟเวอร์โดย Gerry and the Pacemakers วงจากเมืองลิเวอร์พูลในปี 1963 จนกลายเป็นเพลงสามัญประจำท้องถิ่นชาวเดอะคอปไปในที่สุด อีกทั้งยังติดชาร์ตเพลงสหราชอาณาจักรนาน 4 สัปดาห์ และขยับขยายกลายเป็นคติประจำทีมอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ไปโดยปริยาย และในปี 1964 ความอลังการของเพลงก็ยิ่งถูกขับเน้นเมื่อลิเวอร์พูลถล่มเอาชนะอาร์เซนอลไป 5-0 และคนเรือนหมื่นในสเตเดียมต่างครวญเพลงนี้พร้อมๆ กัน ภายหลังจากนั้น จอห์น มอร์แกน ผู้ประกาศข่าวที่เป็นพยานเหตุการณ์นั้นเล่าว่า “ผมไม่เคยเห็นอะไรเหมือนชาวลิเวอร์พูลมาก่อนเลย เดอะคอป 28,000 คนเริ่มร้องเพลงด้วยกันราวกับรู้อยู่แล้วว่าต้องเริ่มเพลงเมื่อไหร่”
ยังไงก็ดี ด้วยความสำเร็จของลิเวอร์พูลและแรงผลักดันสำคัญจากเพลง Back Home ของทีมชาติอังกฤษ สโมสรอาร์เซนอลเลยปล่อยซิงเกิลเด็ด Good Old Arsenal ออกมาบ้าง แต่ปรากฏว่าเสียงแตกเพราะแฟนทีมบางคนบอกว่าเพลงเนือยมาก เดาก็ง่าย แต่ก็มีฝ่ายที่บอกว่าเพลงง่ายสิดี จำง่ายจะตายไป โดยที่สุดท้ายเพลงนี้ก็ไต่ระดับชาร์ตไปได้แค่ที่ 16 เท่านั้น
หรืออย่างทีมลีดส์ยูไนเต็ดก็ได้ปล่อยเพลงชื่อเดียวกันกับสโมสรออกมา แต่ปรากฏว่าเพลงหน้าบีอย่าง Marching On Together กลับได้รับความนิยมและเป็นที่จดจำมากกว่า แถมยังกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญเมื่อแฟนบอลพูดถึงทีมลีดส์ด้วยการลงท้ายประโยคด้วยตัวย่อ MOT ซึ่งมาจากชื่อเพลง แถมยังดังระเบิดข้ามไปยังฝั่งทีมรักบี้ถิ่นเดียวกันอย่างเจ้า ‘แรดลีดส์’ Leeds Rhinos อีกด้วย
ทว่าไม่มียุคไหนที่เพลงเชียร์จะกระหึ่มเท่ากลางยุค 90s สมัยอังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดยูฟ่ายูโรปาลีก และเพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลอันยิ่งใหญ่แบบชาวอังกฤษ วงดนตรี The Lightning Seeds เลยปล่อยเพลง Three Lions เพื่อตอกย้ำความอลังการของงานและของทีมชาติแบบเทหมดหน้าตัก เพราะไม่ได้ปล่อยเพลงออกมาแค่เพื่อต้อนรับยูฟ่าเท่านั้น แต่ทั้งชื่อเพลงทั้งสัญลักษณ์ยังแสนจะอังกฤษ เพราะความหมายของสิงโตสามตัวบนชื่อเพลงมาจากตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักร มากไปกว่านั้นเนื้อเพลงยังแหกขนบ ‘เพลงเชียร์ฟุตบอล’ อย่างที่เคยๆ ได้ยินกันด้วยการไม่ได้เล่าถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของฟุตบอลอังกฤษ แต่เล่าถึงความพ่ายแพ้ บาดแผล และความหวังที่จะหวนกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง (เพราะก่อนหน้านี้อังกฤษสร้างผลการแข่งขันระดับโลกไว้ชวนปวดหัวใจตั้งแต่ตกรอบยูโร ไล่มาจนถึงไปไม่ถึงฝั่งฝันตั้งแต่รอบคัดเลือกฟุตบอลโลก) บวกกันกับที่กระแสบริตป๊อปถล่มโลกในช่วงปี 1996 จึงส่งผลให้เพลง ‘สามสิงห์’ ประสบความสำเร็จแบบสุดขีดคลั่งถึงขั้นฟุตเทจที่แฟนบอลอังกฤษขับร้องเพลงนี้หลังถล่มสก็อตแลนด์และสเปนได้กลายเป็นภาพชวนช็อกของหลายๆ คน Jürgen Klinsmann ผู้จัดการทีมชาติเยอรมนีถึงกับเอ่ยปากว่าตอนที่อังกฤษเจอกับเยอรมนีรอบเซมิไฟนอล นักเตะแดนเบียร์ชอบใจเพลงนี้มากถึงขนาดไปติดชาร์ตเพลงบ้านเขาอีกด้วย โดยที่เพลงนี้ก็ยังกลับมาไต่ชาร์ตบ้านเกิดในสหราชอาณาจักรแบบลืมตายทุกครั้งเมื่อมีการแข่งฟุตบอลนัดใหญ่ๆ ทั้งเวิลด์คัพปี 2006 (กลายเป็นไวรัลอีกครั้งเมื่อแฟนบอลพากันขับร้องเพลงนี้เมื่ออังกฤษเอาชนะปารากวัย 1-0) เช่นเดียวกับอีก 4 ปีต่อมา และล่าสุดกับการชิงถ้วยฟีฟ่าปี 2018 ที่เพลงนี้ได้พุ่งทะลุอันดับหนึ่งชาร์ตเพลงในสหราชอาณาจักร
ในยุคหลังๆ ผู้คนเริ่มหยิบจับเอาเพลงดังมาดัดแปลงเป็นเพลงเชียร์ ทั้งในฐานะสโมสรหรือไม่ก็เชียร์นักกีฬาโดยตรง Love Will Tear Us Apart เพลงตั้งแต่ปี 1980 และได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดเพลงหนึ่งจากวงร็อกสัญชาติอังกฤษ Joy Division ถูกแฟนแมนยูฯ นำมาปรับแต่งเนื้อเพลงเป็น Giggs will tear you apart เพื่อใช้บอกลามิดฟิลด์ผู้เป็นที่รักอย่าง Ryan Giggs ในปี 2014 หรือล่าสุดกับการอ้าแขนต้อนรับ Virgil van Dijk กองหลังของลิเวอร์พูลด้วยการแปลงเพลง Dirty Old Town ของวง The Pogues เป็นวีรกรรมการเป็นกำแพงของฟาน ไดจ์ก หรือขนาดเขียนเพลงขึ้นใหม่เพื่ออวยยศนักกีฬาแบบที่ดูโอ้ Sanjin & Youthman เคยเขียนเพลง Zlatan พูดถึงความสามารถของดาวยิงชาวสวีเดน Zlatan Ibrahimović
สำหรับสหราชอาณาจักร บทเพลงกับกีฬานั้นผสานกันอย่างแยกไม่ขาด มันได้กลายเป็นลมหายใจ เป็นเลือดเนื้อของผู้คนผ่านห้วงระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งความรุ่งโรจน์ ความเจ็บช้ำ ชัยชนะ หรือพ่ายแพ้ จนมันได้กลายเป็นเบ้าหลอมจิตวิญญาณชาวอังกฤษ ท้ายที่สุด ใครกันจะปฏิเสธได้ว่ามนตร์ขลังอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ระหว่างที่ดูฟุตบอลคือการได้ยินเสียงเพลงแว่วมาจากสเตเดียม ผสมผสานปนเปไปกับเสียงกู่ร้องหรือสบถสาบาน อันกลายเป็นมวลรวมของโลกกีฬาอย่างที่ใครก็ไม่อาจเลียนแบบ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากสองสิ่งซึ่งเป็นหัวใจของคนอังกฤษ–ฟุตบอลและดนตรี