ปี 1933 เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี สั่นกราวด้วยเสียงปราศรัยของฟือเรอร์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ประกาศการครองอำนาจของพรรคนาซีที่มีเหนือสาธารณรัฐไวมาร์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ท่ามกลางสายตาของประจักษ์พยานนับล้านที่มองดูการเดินสวนสนามอันเกรียงไกรของนายทหารจากพรรคนาซี พร้อมด้วยเสียงเพลง Horst-Wessel-Lied อันเป็นเสมือนเพลงชาติที่มีเนื้อหาว่าด้วยตราสวัสติกะ อำนาจ และความรุ่งโรจน์ แทรกซึมลึกไปยังหัวใจคนฟัง นับเป็นการโหมโรงครั้งใหญ่ก่อนที่นาซีเยอรมันจะเคลื่อนพลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง อันนำมาสู่โศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติในอีกไม่กี่ปีต่อมา
กระทั่งฮิตเลอร์ลั่นไกปลิดชีพตัวเองหนีความผิดเมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม โลกทั้งใบก็พลันรุมประณามการกระทำอันต่ำช้าของนาซี และบทเพลง Horst-Wessel-Lied ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยึดครองพื้นที่ทางเลือดเนื้อของชาวอารยัน ก็กลายเป็นเพลงต้องห้ามของเยอรมนีและออสเตรียจนถึงทุกวันนี้
กรณีของนาซีนั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่บทเพลงทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการหนุนหลัง เสริมสร้างการโฆษณาชวนเชื่อ แต่มันเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด ไล่มาตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะในนามของเพลงมหาวิทยาลัย เพลงชาติ หรือกระทั่งเพลงอื่นใดที่กล่อมให้เราเชื่อมาหลายต่อหลายสิบปีก็ตามที
แต่อะไรทำให้เพลงทรงพลังมากพอจะโน้มน้าวมนุษย์ได้จนมันกลายเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ล่ะ? อาจเป็นอย่างที่โยเซฟ เกิบเบิลส์ คนสนิทของฮิตเลอร์ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ (The Reich Ministry of Public Enlightenment and Propaganda) กล่าวถึงอำนาจของเสียงเพลงไว้ว่า “ดนตรีนั้นมีผลต่อหัวใจและความรู้สึกมากยิ่งกว่าความรู้เสียอีก ที่ซึ่งจิตวิญญาณความเป็นชาติเต้นระรัวเสียยิ่งกว่าเมื่ออยู่ในฝูงชน นั่นหมายความว่าจิตวิญญาณของชาติพบที่พักพิงที่แท้จริงแล้วใช่หรือไม่”
ฌาคส์ อีลลูน นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยนิยามเงื่อนไขที่จะทำให้โฆษณาชวนเชื่อได้ผลว่า “ต้องเป็นสิ่งที่อยู่กับประชาชน ‘ทั้งวัน’ และ ‘ทุกวัน’” ในแง่นี้ ดนตรีจึงเป็นสิ่งที่ตอบข้อเรียกร้องในทุกประการ
ดนตรีเป็นสิ่งล่องหนโดยตัวมันเองแต่เรารับรู้ถึงมันอยู่เสมอ มันอยู่ในรูปแบบเสียงประกาศอันไกลโพ้น อยู่ในรายการโทรทัศน์ อยู่ในชีวิตประจำวันในทุกรูปแบบ มันกลายเป็นวัฒนธรรมร่วม ด้วยพื้นฐานเช่นนี้ ลำพังดนตรีจึงมีอิทธิพลมหาศาลในการหลอมรวมผู้คน แยกย่อยไปเป็นการสั่นสะเทือนความรู้สึกหรือปลูกสร้างความทรงจำ ดนตรีจึงกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ปะทะ และช่วงชิงพื้นที่ในเนื้อตัวผู้คนจนเป็นหนึ่งในเบ้าหลอมสำคัญในการสร้างหรือแม้แต่ทำลายบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยน้ำเสียงเร่าร้อนหรืออ่อนโยน
หัวเรือคนสำคัญของนาซีอย่างเกิบเบิลส์ตระหนักถึงอิทธิพลของดนตรีในประเด็นนี้ดี งานหลักนับตั้งแต่ช่วงปี 1933-1938 ของเกิบเบิลส์จึงเป็นการเผยแพร่ ‘ดนตรีที่ถูกต้อง’ ให้ชาวเยอรมัน ดนตรีแบบเยอรมันในนิยามของเขาและนาซีนั้นต้องไม่ด่างพร้อยหรือแปดเปื้อน ปราศจากเครื่องดนตรีที่ “ผิดแผกไปจากจิตวิญญาณความเป็นเยอรมัน” และต้องเป็นดนตรีที่มาจากคนเยอรมันเท่านั้นอย่างแอนตัน บรูกเนอร์, บีโธเฟน และโดยเฉพาะ ริชาร์ด แวกเนอร์ คีตกวีที่ในตอนนี้ก็ยังตกเป็นจำเลยข้อหาที่บทเพลงของเขามีส่วนในการสร้าง ‘จิตวิญญาณ’ แบบนาซีขึ้นมาจนกลายเป็นอาชญากรสงคราม ภายหลังจากที่ฮิตเลอร์ซึ่งชื่นชมแวกเนอร์มาอย่างยาวนานใช้แนวคิดของแวกเนอร์–ซึ่งบางส่วนเสี้ยวมีแนวคิดเหยียดคนยิว และดนตรีของเขาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างนาซี สร้างชาติ และสร้างผู้คนเยอรมันในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (ฮิตเลอร์ยังเจาะจงเลือกเพลงโอเปร่า Rienzi, der letzte der Tribunen ของแวกเนอร์เป็นเพลงเปิดการแสดงสวนสนามนูเรมเบิร์ก “การได้ฟังบทเพลงอันงดงามนี้ สมัยเมื่อยังเป็นหนุ่มที่โรงละครในลินซ์ ข้าพเจ้าก็เห็นภาพตัวเองประสบความสำเร็จในการรวมจักรวรรดิเยอรมันและทำให้มันหวนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งแล้ว”) บทเพลงของแวกเนอร์นั้นโดยทั่วไปแล้วเขียนถึงอัศวินหรือผู้กล้าที่รังสรรค์ความดีงามทั้งปวงให้หวนกลับมายังสังคมอีกครั้ง (Rienzi เล่าถึงความหาญกล้าของนักการเมืองกรีกในอดีต) ซึ่งฮิตเลอร์หยิบมาสร้างเป็นภาพลักษณ์ของเขาต่อสาธารณชนมาอย่างยาวนาน
เสียงเพลงยังแทรกซึมไปอยู่ในกลุ่มยุวชนฮิตเลอร์ โดยบทเพลงที่อื้อฉาวทว่ากลายเป็นเพลงที่เด็กหนุ่มขับร้องกันประจำคือ Es zittern die morschen Knochen ซึ่งพูดถึงชัยชนะ การปราบปราม และการเชื่อมั่นว่าพวกเขากำลังกอบกู้สิ่งที่เคยผุพังไปแล้วให้หวนกลับมารุ่งโรจน์อีกหน (ปล่อยให้คนเฒ่าและเด็กร่ำไห้ไป เพราะต่อให้โลกทั้งใบตัดสินใจจะสู้กับเรา เราก็ยังจะชนะและตั้งมั่นเดินขบวนต่อไปอยู่ดี) หรือกระทั่งเพลงชาติเยอรมันยุคนาซีเรืองอำนาจอย่าง Das Lied der Deutschen ก็ยังมีท่อนที่เปล่งเสียงร้องว่า ‘Deutschland, Deutschland über alles.’ (เยอรมนีนั้นดีกว่าชาติอื่นใด) มันได้กลายเป็นแรงผลักสำคัญที่หล่อหลอมให้คนเยอรมันในยุคนั้นเชื่อมั่นว่าพวกเขาอยู่เหนือและดีกว่าชนชาติอื่นๆ นำมาซึ่งวิธีคิดที่จะกำจัดผู้ที่ถูกประทับตราว่าต้อยต่ำกว่าออกไป… อันหมายรวมถึงการออกใบอนุญาตให้นาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกัน
ในอีกซีกโลกหนึ่ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตามมาด้วยสงครามเย็นอันเครียดเขม็ง อุดมการณ์ทางการเมืองของโลกแตกออกเป็นสองฝั่ง โดยที่หนึ่งในนั้นคือระบอบคอมมิวนิสต์ที่แผ่ขยายอิทธิพลอยู่ในแถบโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ซึ่งประธานเหมากุมบังเหียนและออกคำสั่งอันจะกลายเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ นั่นคือการปฏิวัติวัฒนธรรม (กำจัดระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมแบบชนชั้นสูงซึ่งเหมามองว่าเป็นพิษร้ายออกไปจากสังคมให้หมด) ที่นำมาซึ่งการล้มล้างสิ่งเก่าและการปลูกสร้างสิ่งใหม่ แน่นอนว่า หนึ่งในวิธีการที่ได้ผลที่สุดคือการประกาศผ่านบทเพลง
The East Is Red (บูรพาแดง) เพลงแห่งการปฏิวัติที่เป็นเสมือนเพลงชาติจีนในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม ดัดแปลงมาจากเพลงรักพื้นบ้านแถบมณฑลส่านซี กับเนื้อเพลงที่เดิมทีเชิดชูคอมมิวนิสต์นิรนามที่ถูกสังหารในมณฑล ก่อนที่ในเวลาต่อมาเนื้อเพลงช่วงนั้นจะถูกแทนที่ด้วยชื่อของเหมา เจ๋อตง กับสีแดงซึ่งเป็นภาพแทนของคอมมิวนิสต์ (ซึ่งในทางประวัติศาสตร์การเมือง มันมีนัยของฝ่ายซ้ายมาอย่างยาวนานในการปฏิวัติและการต่อสู้หลายๆ แห่ง) เป็นเพลงบูรพาแดงนี่เองที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างลัทธิบูชาบุคคลของเหมา แม้ว่าเนื้อเพลงแทบไม่ได้พูดถึงการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์เลยหากไม่นับวรรคสุดท้าย เพราะมันอุทิศพื้นที่ส่วนใหญ่ของเพลงในการพูดถึงเหมา เจ๋อตง ในฐานะผู้วิเศษผู้มาโปรดประชาชนชาวจีนให้พ้นจากความทุกข์ยาก และยิ่งในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม บูรพาแดงได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของผู้คน มันอยู่ในทุกตรอกซอกซอยของแผ่นดินจีน อยู่ในคลื่นวิทยุทุกช่องที่จะเล่นเพลงนี้วันละสองครั้งเช้า-เย็น บูรพาแดงและภาพของเหมา เจ๋อตง ยังคืบกรายไปยังสถาบันการศึกษา ก่อนขึ้นชั้นเรียนเด็กๆ จะต้องยืนตรงเพื่อแสดงความเคารพและร้องเพลง The East Is Red โดยพร้อมเพรียงกัน (ฟังดูคุ้นๆ นะ)
เช่นเดียวกับบทเพลงอื่นๆ ที่กระจายอยู่ตามคลื่นวิทยุหรือใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเดินสวนสนามของเหล่ายุวชนเรดการ์ด Sailing the Seas Depends on the Helmsman เปรียบความอัจฉริยะภาพของประธานเหมาเป็นดั่งแสงตะวันที่คอยนำทางผู้คน Long Live Chairman Mao ซึ่งชื่อเพลงก็เอามาจากสโลแกนของเหล่าเรดการ์ด เล่าถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของเหมา เจ๋อตง ผู้นำการปฏิวัติในครั้งนั้น ขณะที่เจียง ชิง อดีตนักแสดงสาวและเมียรักของเหมาก็สานต่ออุดมการณ์ของสามีด้วยการสร้างละครเวทีและเพลงโอเปร่าเพื่ออวยยศและสรรเสริญเหมาเป็นหลัก โดยมักเล่าเรื่องของชนชั้นกรรมาชีพที่ลุกขึ้นมีชัยเหนือชาวต่างชาติหรือคนจากชนชั้นสูง
ควบคู่ไปกับการใช้ดนตรีเป็นสะพานหลักในการเชื่อมอุดมการณ์ของรัฐกับประชาชน รัฐบาลจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมยังปิดกั้นดนตรีหรือวัฒนธรรมอื่นๆ จากโลกตะวันตก ชะตากรรมของดนตรีคลาสสิกหรือเพลงป๊อปจากอเมริกาช่วงยุค 60s เลยเป็นอันต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับภาพยนตร์ พวกแฟชั่นหรือสิ่งอื่นใดก็ตามที่แปะป้ายว่ามาจากอีกซีกโลกล้วนโดนสั่งแบนยาวไม่ได้ลืมตาอ้าปากแจ้งเกิดในแผ่นดินจีน โรงเรียนสอนดนตรีถูกสั่งปิด คุณครูถูกข่มขู่ เครื่องดนตรีคลาสสิกทั้งหลายถูกทุบหรือไม่ก็โยนเข้าเตาเผา ด้วยเหตุผลว่าดนตรีจากตะวันตกนั้นเป็นดนตรีของชนชั้นสูงซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวทางของพรรค
ในโลกเสรีนิยม บทเพลงและดนตรีก็ทำหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ไม่ต่างกัน ถ้าเราย้อนกลับไปยังการลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจที่มาพร้อมความโฉ่งฉ่างเมื่อปี 2016 เราจะพบว่าเขาเลือกใช้เพลงหาเสียงที่เป็นภาพแทนของอุดมการณ์บางอย่างเสมอ นับตั้งแต่ God Bless the U.S.A. โดยศิลปินลี กรีนวูด ที่พูดถึงความงดงามของแผ่นดินสหรัฐฯ หรือในการลงเลือกตั้งปี 2020 ที่ผ่านมา ทรัมป์ก็ยังใช้เพลงตั้งแต่ยุค 70s อย่าง YMCA โดย Village People ขณะที่ฟากเดโมแครตขนเอาเพลงจากศิลปินรุ่นใหม่เข้าสู้ ทั้งเพลง High Hopes ของวง Panic! At The Disco หรือ We Take Care of Our Own ของบรูซ สปริงส์ทีน
ยังไงก็ตาม บทความ “We are the world”: Music and propaganda in democracy ของหลุยส์ เวลอาสโก-พูเฟลา ตั้งคำถามถึงอุดมการณ์ของประชาธิปไตยกับการโฆษณาชวนเชื่อผ่านบทเพลง ในนามของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (humanitarian aid) ได้อย่างน่าสนใจ พูเฟลาชี้ว่า โดยนิยามแล้วความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคือการมอบความช่วยเหลือในระยะสั้น–ไม่ว่าจะอาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือทรัพย์สิน–ให้แก่ผู้ที่ต้องการอย่างเร่งด่วน ซึ่งส่วนมากแล้วเกิดขึ้นเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งประสบภัยทางธรรมชาติฉุกเฉินครั้งใหญ่ รัฐบาลของประเทศเยียวยาไม่ทันจนประเทศหรือองค์กรจากข้างนอกยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
ภาวะอดอยากแร้นแค้นในเอธิโอเปียช่วงปี 1983-1985 ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุด มีคนที่ต้องอดตายอยู่ที่ราวๆ 1.2 ล้านชีวิต อีก 4 แสนคนกลายเป็นผู้อพยพออกนอกประเทศ และเด็กอีก 2 แสนคนกลายเป็นเด็กกำพร้าในช่วงเวลาไม่กี่คืน นักร้องนักดนตรีชาวอเมริกันหลายคนจึงอาสาให้ความช่วยเหลือโดยการระดมทุนผ่านการเล่นคอนเสิร์ตการกุศล Live Aid ในปี 1985 หัวเรือสำคัญคือบ็อบ เกลดอฟ เขียนเพลง Do They Know It’s Christmas? ให้เหตุการณ์อดอยากครั้งใหญ่ในเอธิโอเปียนี้เป็นพิเศษ จัดแสดงพร้อมกันที่สนามกีฬาเวมบลีย์ในลอนดอนและสนามกีฬาจอห์น เอฟ. เคนเนดีในฟิลาเดลเฟีย ระดมเงินไปได้ทั้งสิ้น 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการกระจายภาพการทำการกุศลของโลกเสรีเพื่อเยียวยาช่วยเหลือประเทศที่ยากลำบากที่อยู่ไกลโพ้น
ตัดภาพกลับมายังประเทศไทย น่าจะกล่าวได้ว่าเราล้วนอยู่กับโฆษณาชวนเชื่อและบทเพลงมาตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก มันอยู่ในโทรทัศน์ทั้งเช้า-เย็น อยู่ตรงหน้าเสาธง อยู่ในคลื่นวิทยุ ประกาศผ่านหอกระจายเสียง และไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราได้ซึมซับมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจนมันได้กลายเป็นหนึ่งในเบ้าหลอมความเชื่อบางอย่างจากบางยุคสมัย
ความเป็นไทยและความเป็นชาติที่เรารับรู้กันในปัจจุบันนั้นอาจต้องหวนกลับไปขอบคุณ หลวงวิจิตรวาทการ ที่เป็นหัวเรือหลักในการสร้างภาพจำและอุดมการณ์ความเป็นไทยที่รัฐไทยเองรับไม้ต่อมาจนทุกวันนี้ “ต้นตระกูลไทยใจท่านเหี้ยมหาญ รักษาดินแดนไทยไว้ให้ลูกหลาน สู้จนสูญเสีย แม้ชีวิตของท่าน เพื่อถนอมบ้านเมืองไว้ให้เรา” เนื้อเพลงท่อนแรกจากเพลง ต้นตระกูลไทย กับการใส่ตัวละครวีรบุรุษหรือวีรสตรีทางประวัติศาสตร์ในตำนานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบทเพลง (เช่น ‘พระราชมนูทหารสมัยกู้ชาติ’, ‘เจ้าพระยาโกษาเหล็ก ท่านเป็นแม่ทัพชั้นเอก ของสมเด็จพระนารายณ์’ และ ‘เจ้าคุณพิชัยดาบหัก ผู้กล้าหาญยิ่งนัก’) ภายใต้นโยบายชาตินิยมสุดขีดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ รัฐไทยไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันได้สืบทอดสิ่งที่หลวงวิจิตรวาทการสร้างไว้–แม้กระทั่งพ้นจากยุคสร้างชาติของจอมพล ป. ไปแล้วก็ตามที ทั้งยังสานต่อจนกลายเป็นตำราชาตินิยม งอกเป็นภาพยนตร์ ละครพีเรียดที่พูดถึงการสู้ศึกและความรักชาติ (ซึ่งเล่าถึง ‘ชาติ’ ในยุคที่ความเป็นชาติยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้น และยังไม่มีเขตแดนเป็นตัวเป็นตนเลยนะ) พร้อมกันนั้นก็สร้างศัตรูซึ่งเป็นอื่นในหลายๆ มิติ ทั้งเป็นอื่นในเชิงเชื้อชาติ หรืออาจจะเป็นอื่นในความหมายของการเป็นมนุษย์เองก็ตามที โดยที่มันก็ได้ส่งผ่านอุดมการณ์บางอย่างมายังผู้คนอีกหลายต่อหลายรุ่น รับไม้ต่ออย่างเงียบเชียบและว่าง่าย กระทั่งเมื่อเวลาเดินทางมาถึงช่วงปี 2519 ที่การโฆษณาชวนเชื่อจากฝั่งรัฐได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่าการกล่อมเกลาผู้คนนั้นทรงพลังมากเพียงใด เมื่อเสียงเพลง หนักแผ่นดิน ที่เขียนเนื้อเพลงโดย พ.อ. บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก ดังขึ้นตลอดการปราบปรามประชาชน เช่นเดียวกันกับเพลงที่มีเนื้อหามุ่งจู่โจมโดยตรงอย่าง รกแผ่นดิน (รกแผ่นดิน รกแผ่นดิน กำจัดมันไปอย่าให้รกแผ่นดิน) กลายเป็นเสียงเพลงที่รัฐใช้แทนอุดมการณ์กวาดล้างคนเห็นต่าง
อุดมการณ์จากรัฐสมัยสงครามเย็นเหล่านี้ยังมีเนื้อตัว มีที่ทางอยู่ในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างน่าฉงน มันอยู่ในเรื่องเล่ารักชาติที่ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ทางวิชาการว่ามีตัวตนอยู่จริง อยู่ในบทเรียนที่ผลิตโดยรัฐ อยู่ในความรุนแรงผ่านคำพูดของอดีต ผบ.ทบ. เมื่อครั้งที่อ้างถึงเพลง หนักแผ่นดิน ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม และหากจะมีสักอย่างที่ยืนยันว่าเพลงจากการโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐมันทรงอิทธิพลมากขนาดไหน คำตอบอาจอยู่ในแววตากระเหี้ยนกระหือรือในการทำลายล้าง อยู่ในการจับกุม และการทุบทำลายที่รัฐไทยมอบให้ประชาชนมาอย่างยาวนาน