เนติวิทย์และ #ส่งต่อความอิ่ม แคมเปญซื้อหนึ่งเผื่ออีกหนึ่งที่จะช่วยให้ร้านและคนรอดไปด้วยกัน

Highlights

  • โครงการคือ #ส่งต่อความอิ่ม ของนักกิจกรรมนักศึกษา เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กับเพื่อนนิสิตในสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ที่เกิดมาจากการที่พวกเขาร่วมกันหาทางช่วยเหลือคนที่กำลังลำบาก หรือผู้ที่เปราะบางในสังคมในช่วงวิกฤตโควิด-19
  • ก่อนหน้านี้เขาได้ช่วยเหลือผู้ค้าในห้างจามจุรีสแควร์ก่อนกับการทำแบรนด์ 'น้ำพริกแว่นแดง' แล้วจึงขยายมาทำโครงการนี้ และเสริมด้วยการออกไปแจกข้าวกล่องให้กับชุมชนผู้ได้รับความเดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
  • เนติวิทย์มองว่าสิ่งที่ทำอยู่นับเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างหนึ่ง เพราะตอนที่เกิดความเดือดร้อนจะทำให้คนเข้าใจปัญหามากขึ้น หากอยากเปลี่ยนแปลงสังคม การออกไปเห็นความทุกข์ยากจะทำให้เกิดโจทย์และตั้งคำถามกับสังคม เพื่อเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์และนำไปสู่การปลี่ยนแปลง

ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกินเวลายาวนานเป็นหลักหลายเดือน มีการบังคับใช้มาตรการ social distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทำให้หลายบริษัทและธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางคนเสียรายได้ บางคนถึงขั้นตกงาน แม้จะมีนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากความล่าช้าและไม่มีมาตรฐานในการคัดเลือก

นั่นจึงทำให้เราเห็นประชาชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเองในทุกหย่อมหญ้า บ้างทำคนเดียว บ้างรวมตัวกันเป็นเครือข่าย บ้างสามารถขยายได้เป็นความช่วยเหลือระดับประเทศ

หนึ่งในโครงการที่เราเห็นและประทับใจมากๆ โครงการหนึ่งคือ #ส่งต่อความอิ่ม ของนักกิจกรรมนักศึกษา เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กับเพื่อนนิสิตในสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ที่เกิดมาจากการที่พวกเขาร่วมกันหาทางช่วยเหลือคนที่กำลังลำบาก หรือผู้ที่เปราะบางในสังคมในช่วงวิกฤต โควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้เนติวิทย์กับเพื่อนๆ ได้เริ่มต้นช่วยเหลือผู้ค้าในห้างจามจุรีสแควร์ก่อน จึงค่อยขยายมาทำโครงการนี้ และเสริมด้วยการออกไปแจกข้าวกล่องให้กับชุมชนผู้ได้รับความเดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

 

ใครมีใส่เพิ่ม ใครขาดหยิบไป

 ‘น้ำพริกแว่นแดง’ คือโครงการแรกที่เนติวิทย์ออกโรงช่วยเหลือแม่ค้าในห้างจามจุรีสแควร์ เนื่องจากตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พ่อค้าแม่ขายในห้างต้องต่อสู้กับการถูกกลั่นแกล้งไล่พื้นที่ภายในห้าง บวกกับค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม พอมาเจอกับวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องปิดห้าง ส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจอีก ทำให้รายได้ของพวกเขาแทบเป็นศูนย์ ทั้งค่าเช่าที่เองก็ไม่มีมาตรการใดๆ เยียวยา จนสุดท้ายพวกเขาก็เรียกร้องจนทางห้างลดค่าเช่าให้ ส่วนร้านใดที่ไม่เปิดทำการก็ไม่ต้องเสียค่าเช่า

“เมื่อก่อนตอนสถานการณ์ปกติดี เราก็ไม่เห็นหรอกว่าคนเดือดร้อน แต่ตอนนี้เราก็เห็นร้านต่างๆ ที่เคยขายได้ ร้านอาหารที่เคยคึกคักก็ไม่มีคน เป็นประสบการณ์ที่ผมเคยเห็นครั้งแรก ผมก็ได้พยายามช่วยเหลือผู้ค้า จากนั้นมาเริ่มคิดว่าแล้วจะทำอะไรอย่างอื่นได้อีก”

จากจุดนั้นเองที่ทำให้เกิดเป็นโครงการส่งต่อความอิ่ม กับไอเดีย ‘ซื้อกินหนึ่ง ซื้อเผื่ออีกหนึ่ง’

ไอเดียนี้มาจากธรรมเนียมของคนในเมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี ที่จ่ายเงินค่ากาแฟเผื่อไว้อีกหนึ่งแก้วให้คนที่ไม่ค่อยมีเงินหรือกำลังลำบากอยู่แวะเข้ามากินได้ เพื่อทำให้คนในเมืองนาโปลีมีโอกาสได้ดื่มกาแฟกันทุกคนทั้งในช่วงปกติและโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ แต่จะทำยังไงให้คนซื้อเผื่อกันไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน ชาวเมืองนาโปลีจึงต่อยอดกับคำถามนี้ เกิดเป็นหลักการคิดง่ายๆ อย่าง ‘ใครมีก็ใส่เพิ่ม ใครขาดก็หยิบไป’

ตามร้านกาแฟหรือคาเฟ่จะมีตะกร้าแขวนไว้ให้คนที่พอมีกำลังทรัพย์ซื้อกาแฟไว้เผื่อ และใส่ไว้ในตะกร้าให้คนที่ไม่ค่อยมีเงินได้หยิบไปดื่ม

 

แบ่งปันเพื่อสร้างความเท่าเทียม

“หลังจากที่พวกเราเรียนรู้ธรรมเนียมเหล่านี้ของพวกเขา เราเห็นว่าเป็นธรรมเนียมที่ดีมาก และเหมาะกับสถานการณ์ช่วงนี้ เป็นธรรมเนียมการช่วยเหลือแบ่งปัน คนที่พอมีเงินก็มีช่องทางช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนในช่วงนี้ได้ ส่วนคนที่กำลังเดือดร้อนก็พอจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น”

เนติวิทย์กับกลุ่มเพื่อนเริ่มต้นทำแคมเปญส่งต่อความอิ่ม ที่ร้านน้ำ 2 ร้านบริเวณแถวที่พักอาศัยของพวกเขา ได้แก่ ย่านราชเทวีและบางแค เมื่อเข้าไปคุยทำความเข้าใจตกลงกับเจ้าของร้านแล้ว พวกเขาก็ขอติดป้ายโครงการที่หน้าร้าน มีข้อความพิมพ์ตัวใหญ่ๆ บนกระดาษ A4 ว่า

#ส่งต่อความอิ่ม น้ำฟรี 1 แก้ว

สำหรับทุกคนที่กำลังลำบากหรือไม่มีเงินพอจะซื้อ

เชิญท่านฉีกคูปอง เลือกรสชาติ แล้วส่งให้เจ้าของร้าน

นอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงแล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนร้านค้าอีกแรง เพราะการได้เงินสดมาก่อนแบบนี้ ทำให้เจ้าของร้านสามารถนำเงินไปหมุนเวียนได้ทันที ซึ่งใครที่พอมีกำลังทรัพย์อยากช่วยเหลือแบ่งปัน ก็ไปซื้อคูปองน้ำเพิ่มเพื่อแจกจ่ายให้คนอื่นๆ ต่อไปได้

เนติวิทย์เล่าว่าหลังจากที่แคมเปญนี้แพร่กระจายไปในโลกออนไลน์ ปัจจุบันเขาเห็นคนจำนวนมากนำไปทำในพื้นที่หลายจังหวัด จากร้านน้ำเริ่มขยายไปยังร้านขนมและร้านอาหารตามที่หลายคนได้เห็น

ไม่ว่าใครก็สร้างประโยชน์ให้สังคมได้

ช่วงที่เนติวิทย์ริเริ่มทำแบรนด์น้ำพริกแว่นแดง และแคมเปญส่งต่อความอิ่มนั้นเป็นช่วงเวลาแรกๆ ที่โควิด-19 ระบาด ยังไม่กินเวลานานและส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก หลายคนยังทำงานใช้ชีวิตได้ปกติ ทว่าเมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น รัฐบาลประกาศใช้มาตรการ social distancing หลายธุรกิจต้องหยุดหรือปิดตัว ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน 

ด้วยเหตุนี้เองปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนติวิทย์จึงรวมตัวกับกลุ่มนิสิตนักศึกษานำเงินส่วนตัวและรายได้ของสำนักพิมพ์สามย่านที่พวกเขาก่อตั้งมาซื้อข้าวกล่องแจกให้ประชาชนที่สูญเสียรายได้จากการล็อกดาวน์เมือง โดยเริ่มจากพ่อค้าแม่ขายและลูกจ้างบริเวณศูนย์อาหารชั้นใต้ดินของห้างจามจุรีสแคว์ แล้วขยายไปยังชุมชนแออัดในกรุงเทพ เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนริมทางรถไฟ เป็นต้น รวมถึงที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ Swing เพื่อช่วยเหลือ sex worker ด้วย

“เราอยากทำทุกวันแต่ทำไม่ได้ เพราะเราไม่มีเงินไม่มีทรัพยากร เลยยึดว่าเป็นทุกวันอังคารแล้วกัน ทำร่วมกับเพื่อนๆ นิสิต เพราะเห็นนิสิตหลายคนอยู่บ้านไม่มีอะไรทำเหมือนกัน ผมว่านิสิตนักศึกษาสามารถทำประโยชน์กับสังคมได้ สามารถใช้พลังงานมาช่วยกันคิดตรงนี้ได้

“หลังจากโพสต์ในโซเชียลมีเดียก็มีคนในทวิตเตอร์ติดต่อมา มีเพื่อนๆ เห็นเยอะ บางคนทำร้านอาหารอยู่แล้วก็ส่งมาสมทบไม่ก็ส่งอย่างอื่นมาให้เราไปแจก พอวันอังคารยังไม่ถึงเวลาที่เราแจกก็มีคนมารอแล้ว ไม่ทันวางก็มีคนหยิบไปหมดเลย เราก็เห็นความยากจนความเดือดร้อน ขนาดอยู่ในห้างพนักงาน รปภ.ก็มา ทุกคนลำบากกันหมด”

ทุกครั้งที่แจกข้าวกล่อง พวกเขาจะทำหนังสือขออนุญาตทางเขตทุกครั้ง ทั้งยังให้ผู้มารับข้าวกล่องจัดแถว เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่โครงการแจกข้าวกล่องดำเนินการมา 

“โครงการผมไม่ได้เป็นโครงการระยาวมาก ผมคิดว่าเราก็ทำได้ในเบื้องต้น น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบนี้สัก 3-4 เดือนนี้ ซึ่งเราจะทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์”

 

มองหาวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

แน่นอนว่าถ้าพูดถึงเนติวิทย์ ผู้คนส่วนใหญ่มักรู้จักเขาในฐานะนักเคลื่อนไหวและนักเรียกร้องทางการศึกษา ข้อคิดข้อเขียนและการกระทำของเขาปรากฏตามสื่อมวลชนไม่น้อย แต่ไม่ว่าจะเหตุการณ์ใดที่ส่งผลต่อภาพรวมสังคม เขาก็ยังคงออกมายืนยันจุดยืนและเคลื่อนไหวทุกครั้ง แม้จะเจอทั้งกระแสบบวกและกระแสลบขั้นรุนแรง

อะไรที่ยังทำให้คุณทำตรงนี้อยู่ เราตั้งคำถาม

“ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมนะ เพราะเป็นตอนที่เกิดความเดือดร้อน มันทำให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้น ผมอยากเปลี่ยนแปลงสังคมใช่ไหม หลายๆ คนก็อยากทำ ดังนั้น การที่เราไปเห็นความทุกข์ยากมันทำให้เรามีโจทย์และตั้งคำถามกับสังคม การช่วยเหลือมันคือการแสดงออกถึงการเป็นคนในสังคมเดียวกัน ชาติเดียวกัน บางทีการที่เราอยู่แยกตัวกับคนอื่นมันทำให้เราไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ ของสังคม เมื่อเราได้ไปลงพื้นที่ได้เห็นชีวิตของคนอื่นก็ถือเป็นการเรียนรู้ของเราด้วย”

สำหรับเขา การแจกข้าวกล่องในช่วงโควิด-19 คือการแก้ปัญหาเบื้องต้น เป็นการบรรเทาความลำบากของคนในสังคมที่รวดเร็วที่สุด แต่สิ่งที่นักเคลื่อนไหวอายุน้อยคนนี้มุ่งหวังจริงๆ ต้องไปให้ไกลกว่านั้น

“ผมว่าโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าเหลือเชื่อคือโครงการส่งต่อความอิ่ม รู้สึกว่าเป็นเหมือนการเปลี่ยนแปลงและสร้าง awareness ที่มีคนเห็น เรามีอะไรก็ต้องช่วยและแบ่งปันกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องที่บ้าน เราสามารถเดินไปร้านขายของใกล้ๆ บ้าน เข้าไปถามว่าขอซื้อของเผื่อให้คนที่เดือดร้อนได้ไหม ผมว่านี่คือเรื่องดีและค่อนข้างประสบความสำเร็จ คนเริ่มมี awareness มากขึ้นว่าทุกคนสามารถช่วยเหลือสังคมได้

“ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการแก้ปัญหาระดับบุคคล สิ่งสำคัญคือเราอาจต้องคิดไปไกลกว่านั้น เช่น มี universal basic income เราจะให้เงินทุกคนมากกว่าจะไปมีระบบ ai ซึ่งคนตกหล่นไปเยอะมาก แต่เราต้องเข้าใจไงว่ารัฐบาลไม่ได้ฟังเสียงประชาชนตลอด ฉะนั้นประชาชนข้างล่างต้องเข้มแข็งด้วย พวกเราต้องมีขบวนการมีมูฟเมนต์ที่ทำแล้วมีประโยชน์ แล้วเราก็ต้องต่อรองส่งเสียงให้รัฐบาลทราบ

“ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ดี มันก็ไม่ต้องเคลื่อนไหวช่วยเหลือกันมากหรอก รัฐบาลเขาจัดให้ แต่นี่ไม่ใช่ เราอยู่ในสังคมที่เห็นอยู่ว่าการเมืองเป็นแบบไหน และบางทีคนที่มีอำนาจก็เห็นว่าประชาชนอ่อนแอ ประชาชนไม่สามารถมีปากมีเสียงกับเขาได้ การที่พวกเรามาทำสิ่งเล็กน้อยต่างๆ ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นเครือข่ายร่วมกัน จะเป็นการกดดันทางอ้อมให้ทางรัฐบาลเห็น”

แล้วอะไรที่จะทำให้สังคมเราเดินต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างไม่เป็นปกติแบบนี้ ฉันโยนคำถามที่อยากรู้ที่สุดให้นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่คนนี้

“เราต้องมองวิกฤตนี้เป็นโอกาสบ้างในระดับหนึ่ง เช่น เรามองเห็นความทุกข์ของคนอื่นว่ามันไม่ได้อยู่ไกลมากหรอก ก่อนหน้านี้คุณอาจไม่ทันคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำและผลกระทบต่างๆ หลายคนยังบินไปเมืองนอกได้ แต่ตอนนี้เราไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว อยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ คนเริ่มเห็นความทุกข์ความเหลื่อมล้ำแล้วว่ามันอยู่ใกล้ตัวมาก และมันใกล้มาถึงตัวเขามากขึ้นทุกวัน ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือการเข้าใจคนอื่นว่าเขาเดือดร้อน ต้องเห็นตรงนี้ และจินตนาการถึงสังคมใหม่ร่วมกันว่าหลังโควิด-19 เราอยากให้ประเทศเราถูกปกครองแบบนี้ต่อไปจริงหรือ เราอยากได้รัฐบาลแบบนี้หรือ ต้องมานั่งคิดตั้งแต่ตอนนี้ เรียนรู้จากประสบการณ์จากในข่าวและเห็นในชีวิตจริง

“ที่จริงตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็ทำได้ อย่างที่อังกฤษคนรุ่นใหม่ยังออกมาเคลื่อนไหวได้ น่าจะเป็นประโยชน์ถ้าคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากองค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในการช่วยเหลือคน ถือเป็นโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะเข้าใจสภาพปัญหามากขึ้น”

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน