‘เดินกาแฟ’ วัฒนธรรมเชื่อมต่อคนไร้บ้านของญี่ปุ่นสู่การช่วยเหลือคนไร้บ้านในเมืองไทย

Highlights

  • เดินกาแฟ คือกิจกรรมที่เครือข่ายช่วยเหลือคนไร้บ้านใช้สื่อสารถึงการช่วยเหลือและพูดคุยความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่สาธารณะ
  • การเดินกาแฟจึงไม่ใช่แค่การแจกกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่มีอาหาร ยาสามัญ ยากันยุง แจกให้คนไร้บ้านเพื่อเป็นสื่อกลางในการเปิดบทสนทนาสานต่อความช่วยเหลือให้มากขึ้นด้วย
  • แนวทางนี้มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ซึ่งมีวัฒนธรรมเดินชาเพื่อแจกใบปลิวบอกคนไร้บ้านให้ไปทานข้าวในพื้นที่ที่กลุ่มช่วยเหลือจัดไว้ให้
  • ในวิกฤตโรคระบาด การเดินกาแฟเป็นไปด้วยความลำบากเพราะมาตรการ social distancing และเคอร์ฟิวของรัฐ ทำให้คนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะเข้าถึงการช่วยเหลือจากเครือข่ายได้ลำบากมากขึ้นอีก  

เช้าที่ดีของใครบางคนอาจเริ่มต้นด้วยกลิ่นหอมของกาแฟ

เพราะการได้ลิ้มรสสัมผัสกับคาเฟอีนก่อนทำงานช่วยเติมพลังที่ดีให้กับชีวิตได้ไม่น้อย ด้วยเหตุผลนี้ กาแฟจึงเข้าถึงได้ทุกกลุ่มคน และยังเป็นสิ่งที่ โด่ง–สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยบอกกับเราว่า พวกเขาเอามาเป็นตัวกลางในการพูดคุยกับคนไร้บ้านเพื่อสอบถามความเป็นอยู่และเข้าช่วยเหลือผู้คนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ

วิธีการของพวกเขาคือการถือกาน้ำร้อนพร้อมกาแฟและโอวัลตินเดินแจกคนไร้บ้านตามพื้นที่ต่างๆ เช่น หัวลำโพง สนามหลวง ซอยคลองหลอด เพราะรู้ดีว่าก่อนคนไร้บ้านจะเริ่มต้นรับจ้างทำงานในแต่ละวัน โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานช่วงดึกๆ กาแฟและโอวัลตินเป็นสิ่งที่คอยเติมกำลังได้ไม่ยาก หลายปีผ่านไปพวกเขาก็พัฒนาให้การเดินกาแฟมีอาหารและยาสามัญแจกด้วย

แต่ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ การเดินกาแฟเพื่อเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือคนไร้บ้านเป็นเรื่องลำบากมากขึ้น เพราะด้วยมาตรการ social distancing และมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาล ทำให้คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โด่งและเครือข่ายต่างๆ จึงต้องมาช่วยกันระดมความคิด จัดพื้นที่แบ่งโซนช่วยเหลือคนไร้บ้านให้เข้าถึงมากขึ้น

ภาวะเช่นนี้คงไม่ใช่แค่กาแฟหอมกรุ่นที่จะเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาได้ แต่ยังเป็นอาหารสักมื้อ หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือที่ส่งต่อให้เกิดบทสนทนาถามความเป็นอยู่และวิถีชีวิตในขณะที่ภาวะวิกฤตมาถึง 
 

 

เดินชา-กาแฟ ตัวกลางสื่อสารกับคนไร้บ้าน

โด่งเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2544 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเริ่มทำงานเพื่อช่วยเหลือคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การลงพื้นที่พูดคุยความเป็นอยู่กับคนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ

งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะเป็นการเข้าไปคุยเพื่อช่วยเหลือ เสียงตอบรับจากคนไร้บ้านกลับมีไม่มากนัก

ตอนที่ลงไปใหม่ๆ เราไม่มีอุปกรณ์อะไรเป็นตัวช่วยเลย เราเข้าไปถามเขามีอาชีพอะไร อยู่ยังไง มาจากไหน เขาก็ไม่ค่อยคุยกับเรา เพราะเขาไม่ไว้ใจ” โด่งย้อนความทรงจำช่วงแรกที่ลงพื้นที่ให้ฟัง

ตามคำบอกเล่าของลุงดำ–สุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน บอกว่าโดยธรรมชาติของคนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะจะไม่ไว้ใจกันง่ายๆ เพราะพวกเขาต้องป้องกันความเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม หรือคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักมาขโมยของ ในช่วงที่ลุงดำพักที่สนามหลวงเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐไล่ออกจากพื้นที่ จนต้องวางเวรยามกับเพื่อนที่รู้จักกัน บางครั้งต้องเอากระสอบเก็บของเก่าผูกไว้ที่แขนก่อนนอนเพื่อไม่ให้ถูกขโมย และสามารถหยิบของวิ่งหนีได้ทันถ้าถูกไล่

ใช่ว่าความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนไร้บ้านต่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยจะทำให้พวกเขาล้มเลิกความช่วยเหลือ โด่งเล่าว่าเขายังคงพยายามทำงานและติดต่อกับคนไร้บ้าน หาช่องทางและวิธีการพูดคุยจนรวมกลุ่มได้จำนวนหนึ่

“พอเราทำงานกับพี่น้องที่อาศัยพื้นที่สาธารณะไปเรื่อยๆ ทีนี้เริ่มมีองค์กรต่างประเทศพยายามติดต่อเพื่อแก้ปัญหาคนจนระดับเอเชียด้วยกัน ซึ่งองค์กรเหล่านี้เขาเห็นว่าเราทำงานจนเริ่มผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มคนไร้บ้านแล้ว ทีนี้ที่ญี่ปุ่นเขายังไม่ได้รวมกลุ่มเป็นเครือข่าย เขาจะทำงานเฉพาะที่ในระดับเมือง แต่เขาจะมีวัฒนธรรมคือในหนึ่งปีจะมีการสรุปงานรวมเป็นสัมมนา เขาก็เลยชวนเราไปร่วมด้วย เพราะว่าเรารวมกลุ่มคนไร้บ้าน สร้างเครือข่ายได้” โด่งเล่า

การเดินทางไปร่วมสัมมนานี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่าง ปฐมฤกษ์ เกตุทัต เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และตัวแทนจากคนไร้บ้าน คือลุงดำ

“สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากเขาคือ เราเห็นเทคนิคการลงไปเยี่ยมพี่น้องคนไร้บ้านในญี่ปุ่น คือเขาจะมีกิจกรรมเดินชา โดยเขาจะมีกาน้ำร้อน มีชาอุ่นๆ เดินถือไปหาคนไร้บ้านพร้อมใบปลิวของกลุ่ม ซึ่งในนั้นจะบอกว่ามีการนัดทำอาหาร กินข้าวด้วยกันในสวนสาธารณะนี้นะ ประมาณกี่โมง กลุ่มไหนเป็นเจ้าภาพ” โด่งเล่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากญี่ปุ่นให้เราฟัง

ในเว็บไซต์ The Guardian เล่าถึงวัฒนธรรมเดินชาในเมืองโตเกียวเช่นกันว่า มีชายคนหนึ่งชื่อ Tsuda Masaaki ในช่วงรุ่งอรุณเขาจะเดินถือกาน้ำร้อนกับชาไปในสวนสาธารณะชินจูกุ พร้อมกล่าวทักทายคนในพื้นที่ว่า Ohayo gozaimasu! หรือแปลเป็นไทยอย่างน่ารักๆ ว่า อรุณสวัสดิ์! พร้อมรินชาให้กับคนไร้บ้านและแลกเปลี่ยนบทสนทนากันสั้นๆ

เหตุผลที่เขาทำแบบนั้น เพราะเขารู้มาว่ามีคนไร้บ้านเสียชีวิตอยู่ที่สวนสาธารณะ และเห็นว่าสิ่งที่คนไร้บ้านขาดมากที่สุดคือการพบปะติดต่อสื่อสารกับผู้คน เขาจึงเชื่อว่าการนำชาไปมอบให้พร้อมบทสนทนาสั้นๆ จะช่วยทำให้คนไร้บ้านรู้สึกดีขึ้นได้

“อีกสิ่งที่ลุงได้รู้ตอนไปญี่ปุ่นคือคนไร้บ้านญี่ปุ่นเขาอยากให้โดนจับ ไม่เหมือนประเทศไทย เพราะในหน้าหนาว เขาไม่มีที่หลบลมหนาวนอกจากห้องน้ำสาธารณะ คนไปหนีหนาว ไปนอนขด ปรากฏว่ามีคนหนาวตายเยอะ เขาเลยแจกชาด้วย” ลุงดำเล่าให้ฟัง

เมื่อกลุ่มมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายทำงานคนไร้บ้านได้เห็นการเดินแจกชาก็อยากนำไอเดียมาใช้ที่บ้านเราบ้าง แต่พวกเขาคิดกันว่าถ้าเดินชาอาจจะเข้าไม่ถึงคนไร้บ้านในไทย เพราะคนไทยไม่นิยมดื่มชา แล้วจะเป็นอะไรดี

“เรารู้แล้วว่าพี่น้องเราเก็บของเก่าตอนกลางคืน คนนอนดึกก็มี ถ้าบางคนไม่กินกาแฟก็กินโอวัลตินนะ ถ้างั้นเราเอามาปรับจากชาเป็นกาแฟหรือโอวัลตินแล้วเดินแจกพี่น้องเราแล้วกัน” ลุงดำเล่า

นี่จึงกลายมาเป็นชื่อกิจกรรมที่เรียกว่า ‘เดินกาแฟ’

“แต่เราไม่ได้แจกแค่กาแฟหรือโอวัลติน เรามียาสามัญ ยากันยุงให้ด้วย เผื่อใครต้องการ เราเริ่มมีเขียนโบรชัวร์เรื่องกิจกรรมว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไร และอยากช่วยเหลืออะไร มีการชักชวนให้เขามาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้าน แต่ถ้าเขาไม่อยากไปอยู่ อยากมีอิสระ เราก็จะช่วยเหลือเขาในด้านอื่นๆ” โด่งอธิบายเสริม

ไม่นานนัก กิจกรรมเดินกาแฟก็เริ่มเป็นที่พูดถึงในกลุ่มคนไร้บ้านมากขึ้น

“การเข้าถึงคนไร้บ้านก็ดีขึ้นตามลำดับๆ การเดินกาแฟมันเป็นตัวกลางที่ให้เรากับคนไร้บ้านได้เปิดใจคุยกัน เราได้ถามไถ่ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน พอเราทำบ่อยๆ เขาก็รู้แล้วว่าอ๋อ นี่เป็นกลุ่มเดินกาแฟ เริ่มติดปาก เพราะเวลาเราลงไปเขาก็จะเห็นพวกเราแล้ว อ๋อ มีกาน้ำร้อน เขาต้องมียา มีกาแฟ มีโอวัลตินให้เรากิน เขาจะลงมาช่วยเหลือเรานะ ไม่ต้องกลัวเขาหรอก มันก็เลยสื่อสารปากต่อปากจากพี่น้องกลุ่มคนไร้บ้าน” โด่งพูดอย่างภูมิใจ

ในตอนหลังการเดินกาแฟของเครือข่ายที่เข้าช่วยเหลือคนไร้บ้าน ไม่ได้มีเพียงเครื่องดื่มหรือยาสามัญเพียงอย่างเดียว แต่มีอาหาร ของใช้ในยามจำเป็นประกอบด้วย แต่คำว่าเดินกาแฟยังคงเป็นสิ่งที่คนไร้บ้านเข้าใจตรงกันในรูปแบบของการเข้ามาช่วยเหลือของเครือข่ายต่างๆ 

 

โรคระบาดและการเดินกาแฟ

อย่างที่เราได้เห็นหลายสื่อเสนอไปว่าในสถานการณ์โรคระบาดที่มีนโยบายสนับสนุนให้คนกักตัวอยู่บ้านและมีมาตรการเคอร์ฟิวเช่นนี้ คนไร้บ้านย่อมได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

“อย่างพี่น้องคนไร้บ้านที่มาอยู่ศูนย์คนไร้บ้านก็ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ โดยปกติเขาไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำกันอยู่แล้ว มีรายได้วันต่อวัน พอเจอสถานการณ์โควิดและมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐ ทำให้เขาขาดรายได้ แต่เขายังต้องใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิม สิ่งที่โอเคคือเขายังมีที่พัก แต่ยังไงมันก็มีผลกระทบต่อสุขภาพเขานะ เพราะเขาเครียด”

“ในขณะที่กลุ่มพี่น้องที่อยู่ข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นหัวลำโพง รังสิต ท่าน้ำนนท์ โอกาสที่เขาจะได้รับเชื้อโควิดจะง่ายกว่า และพอเคอร์ฟิวเขาก็ไม่รู้จะไปไหน มันมืดมนไปหมด” โด่งเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเขาลงพื้นที่ให้ฟัง

โด่งย้ำว่าสิ่งที่ทำให้การรับมือเรื่องนี้ยากเข้าไปอีกคือองค์กรที่คอยช่วยเหลือคนไร้บ้านไม่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยได้เต็มที่เหมือนเคย

เดิมมีคนมาแจกอาหาร มีคนคอยมาช่วยพี่น้องคนไร้บ้าน แต่พอเจอสถานการณ์นี้ รัฐจัดระเบียบไม่ให้คนไปแจกของในพื้นที่สาธารณะ เพราะเขาอ้างว่าจะเป็นการรวมเชื้อ ทำให้พี่น้องติดเชื้อมากขึ้น”

“ทำให้ตอนนี้เราต้องปรับตัวในการลงเดินกาแฟ หลังจากที่ได้ไปร่วมหารือกับทางกรมพัฒนาสังคมของกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ (พม.) มูลนิธิอิสระชน และมูลนิธิกระจกเงา เราจะจัดโซนกันแบ่งพื้นที่ดูแล มูลนิธิอิสระชนดูแลที่คลองหลอด มูลนิธิกระจกเงาดูแลที่หัวลำโพง และเราจะดูแลที่ท่าน้ำนนท์กับรังสิต แล้วก็มีการปรับตัวด้วยการขยับเวลาลงพื้นที่ให้เร็วขึ้น ปกติเราจะลงช่วงเย็นๆ แต่เมื่อเขาไม่ให้ดำเนินการหลัง สี่ทุ่ม เราก็ต้องปรับเวลาลงพื้นที่ให้เร็วขึ้น”

“นอกจากเอาอาหารไปให้แล้ว เราจะต้องแจกหน้ากากอนามัย หรือเจลล้างมือเท่าที่เรามี แล้วบอกวิธีดูแลตัวเองกับพี่น้องด้วย เพื่อให้เขาดูแลตัวเองได้ เพราะนับว่าเขาเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อเราพูดถึงผู้สูงอายุในคนไร้บ้าน ไม่ใช่อัตราอายุเท่ากับคนทั่วไปนะครับ เพราะเขาอยู่ข้างนอก แน่นอนว่าเขามีความทรุดโทรมของร่างกาย และการป้องกันที่น้อยกว่า ทำให้เขาเสี่ยงเข้าไปอีก”

ปัญหาอีกอย่างที่โด่งเจอจากการลงพื้นที่คือคนไร้บ้านบางส่วนเริ่มกลัวการถูกจับ เพราะช่วงหลังเคอร์ฟิวจะมีเจ้าหน้าที่รัฐตรวจพื้นที่ต่างๆ ทำให้คนไร้บ้านต้องไปหลบในมุมที่หาตัวยากขึ้น  

“อันนี้คือสิ่งที่พี่น้องได้รับผลกระทบ นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องลงทะเบียน 5,000 บาท แน่นอนสัดส่วนของพี่น้องคนไร้บ้านที่ลงทะเบียนได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ชีวิตเขาลำบากมาก และระบบการดูแลจากสังคมตอนนี้ก็ยังเข้าไม่ถึง พี่น้องหลายคนที่ไปเจอบางคนเขาก็บอกว่าถ้าเจ้าหน้าที่มาจับก็มาจับเลย คือเขาไม่รู้จะไปไหนอยู่แล้ว และเขาก็บอกว่าไม่กลัวโรค สิ่งที่กลัวยิ่งกว่าคือความอดอยาก”

แม้ตอนนี้จะมีการเคลื่อนไหวจากหน่วยงานภาครัฐเปิดบ้านพักกระทรวงให้คนไร้บ้านได้เข้ามาพักอาศัยพร้อมอาหารในช่วงนี้ แต่โด่งก็บอกกับเราว่ายังมีข้อกังวลในแง่ความสมัครใจของคนไร้บ้าน เพราะบางคนอาจจะยังไปทำงานได้ และอยากเดินทางโดยอิสระ แต่ตอนนี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกของคนไร้บ้านที่ไม่มีงานให้ทำต้องเข้าไปพึ่งพาที่พักเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้


ต่อจากนี้คนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้น

อีกสิ่งที่เครือข่ายช่วยเหลือคนไร้บ้านกังวลคือคนตกงานที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้คนออกมาอาศัยในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น จากรายงานการประมาณการประชากรคนไร้บ้าน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดย ผศ. ดร. พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น นักวิจัยภายใต้แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. ระบุชัดว่าจะมีคนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้นเพราะภาวะการว่างงานและเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์

“ตอนนี้ที่เราลงพื้นที่พอเห็นบ้างว่ามีกลุ่มใหม่ แต่ยังไม่เห็นสูงขึ้นจนน่าตกใจ อย่างเช่น ที่หัวลำโพง เราลงไปเดินกาแฟมีข้าวจำนวน 200-300 กล่อง ก็ยังเพียงพอต่อพี่น้องอยู่ ยังไม่กระโดดไป 500-600”

“แต่ในอนาคตก็ต้องมีแน่นอน ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือต้องช่วยเหลือเบื้องต้นตามศักยภาพที่เราช่วยได้ก่อน ยังเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ถ้าหากสถานการณ์ยืดเยื้อเราต้องมาคุยกันอีกทีว่าจะช่วยเหลือยังไง” โด่งกล่าวทิ้งท้าย

AUTHOR