สานความคิดถึงคนไกลด้วย 7 #เมนูจากทางบ้าน พร้อมวิธีทำกิน

แม้ว่าวันนี้จะไม่ใช่วันหยุดตามปกติ แต่ตามปฏิทินแล้ว 14 เมษายนคือวันครอบครัว ใครอยู่ไกลบ้านและไม่สามารถกลับไปเยี่ยมครอบครัวได้คงจะอดคิดถึงบรรยากาศการรวมตัวไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ได้ร่วมโต๊ะอาหารพร้อมกับข้าวกลิ่นหอมกรุ่นฝีมือของคนที่เรารัก

ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์อะไรก็แล้วแต่ เราชวนชาว a team และผู้อ่านของเรามาแชร์เมนูสุดยอดฝีมือจากสมาชิกในครอบครัว ต่อให้ไปกินที่ไหนก็คงไม่อร่อยเท่านี้ หรือถ้าให้ทำกินเองบรรยากาศในครอบครัวต้องหวนมาให้คิดถึงพอๆ กับรสหอมกรุ่นของอาหารแน่ๆ

เมนูอะไรที่พวกเขาอยากแชร์ ลองมาดูพร้อมกัน และถ้าใครอยากแชร์ #เมนูจากทางบ้าน ของตัวเองด้วยก็ไม่ว่ากัน

เมนูจากทางบ้าน

Chanatda Tannopparat
ชื่อเมนู ต้มจับฉ่าย

ตั้งแต่เด็กจนโตได้กินจับฉ่ายทุกปี (หลายคนคงเป็น) แน่ล่ะวันไหว้เป็นเหตุ เคยสงสัยว่าทำไมทุกวันไหว้ที่บ้านต้องทำจับฉ่ายด้วย แถมต้องกินซ้ำๆ หลายวันเหลือเกินนะ พอเริ่มโตหน่อยเห็นวิธีทำก็เข้าใจว่า อ้าว มันรวมทุกอย่างที่ไหว้มาใส่ได้เลยนี่นา ไม่ต้องปรุงด้วย เพราะรสจากผัดผักกว่า 3-4 แบบปรุงให้แล้ว ด้วยความชอบกินผักอยู่แล้วเลยกินได้เรื่อยๆ จนเริ่มเขยิบตำแหน่ง จับฉ่ายวันไหว้เป็นจับฉ่ายวันไหนก็ได้

พอต้องไปอยู่หอก็ไม่ได้กินบ่อยๆ ได้กินเฉพาะตอนพ่อแม่เอามาให้ แต่พออยากกินมากๆ และคิดว่าจับฉ่ายที่อื่นคงรสชาติไม่ต่างจากพ่อเท่าไหร่หรอก (ก็มันดูทำไม่ยาก ไม่ต้องปรุงเยอะนี่) เลยลองกินหลายร้าน แต่ก็ไม่ถูกใจอีก เข้าใจคำว่าไม่มีอะไรแทนได้แล้ว จนมันมีก้อนความไม่ไว้ใจ ความกลัวผิดหวัง ผุดขึ้นเสมอเวลาดูเมนูนี้ที่อื่น กำหมัดแน่น ท่องไว้ ไม่สั่งๆ ไม่ต้องรับบทรู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง และจนตอนนี้ก็ยังเป็นเมนูอันดับหนึ่งที่พ่อกับแม่จะทำมาให้เสมอ

วิธีทำต้มจับฉ่ายของบ้านเราคือ
1. เตรียมผัก อันได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง หัวไชเท้า แคร์รอต ผักกาดขาว ขึ้นฉ่าย (พ่อบอกอันนี้ขาดไม่ได้เลย) และอาจจะมีผักอื่นๆ หรือเอาผักอะไรออกก็ได้ (พ่ออีกนั่นแหละที่บอกว่าอยากใส่ผักที่อยากใส่) ล้างน้ำให้สะอาด หั่นให้เรียบร้อย

2. แวบไปจุดเตาถ่านหน้าบ้าน (หรือจะเตาทั่วไปก็ได้) ตั้งหม้อ ต้มน้ำไว้ โดยใส่โครงไก่หรือเนื้อไก่ (บางวันโชคดีเป็นซี่โครงหมู อร่อย!) ไป

3. กลับมาที่ท้ายครัว ตำกระเทียม พริกไทย และรากผักชี ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันเล็กน้อย นำลงไปผัด พร้อมกับสารพัดผักที่หั่นไว้ ผัดไปจนให้ผักสลบ (พ่อบอกว่าผัดให้ผักสลบทุกครั้ง นึกแล้วก็ขำ บ้านอื่นใช้คำนี้ไหม)

4. นำไปใส่หม้อที่ต้มน้ำไว้ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำนิดๆ พอให้มีสีสันๆ เกลือป่นนิด น้ำปลาอีกหน่อย ต้มไปจนผักที่สลบอยู่เปื่อย ก็เป็นอันเสร็จ

สิ่งที่พิเศษที่สุดในเมนูธรรมดานี้คือการต้มของพ่อ ที่ต้องจุดเตาถ่าน เคี่ยวทั้งวัน บางทีก็ข้ามวัน คิดเผื่อตลอดว่ารอบนี้จะให้ลูกสาวสองคนกินกี่วัน รสชาติต้องระดับไหน ถ้าหลายวันหน่อยจะปรุงอ่อนๆ เพราะยิ่งอุ่นจะยิ่งเข้มข้นขึ้น ที่สนุกคือทุกครั้งจะมีการประเมินจากลูกสาว “พ่อ ครั้งนี้ใส่น้ำปลาเยอะเหรอ เค็มจัง” “เฮ้ย พ่อชิมแล้ว ยังเค็มไปเหรอ สงสัยใส่เยอะไป กินข้าวไปเยอะๆ” จนพ่อต้องคอยถามทุกครั้งที่ได้กิน “วันนี้เป็นไง อร่อยไหม จืดไปรึเปล่า ถ้าอุ่นอีกรอบจะอร่อยเลยนะ”

เกือบเดือนแล้วที่พ่อแม่ไม่ได้ส่งข้าวส่งน้ำ แม้ทั้งสองจะพูดทุกวันว่าให้เอาไปให้ไหม ด้วยลูกสาวคนที่สองอยากให้ทุกคนเซฟตัวที่บ้าน อย่าได้ย่างกรายเข้ากรุง ตอนจบเลยคือทุกวันนี้ต้องทำกับข้าวกินเอง ถึงจะชอบทำแต่ก็ไม่เหมือนทำอาหารกับพ่อกินเองที่บ้านอยู่ดี

Bom Kalawa
ชื่อเมนู แกงหน่อไม้สไตล์สาวภูไท

อาหารจากบ้านที่เทยนึกถึงคือแกงหน่อไม้สไตล์สาวภูไทใกล้บ้านค่ะ เป็นอาหารที่เกิดมาเทยก็ได้ทานรสชาตินี้แล้ว เพราะแม่ทำแกงไปขายที่ตลาดบ่อยๆ และหน่อไม้ที่นำมาแกงก็เป็นหน่อไม้ที่พ่อหามาเกือบทุกครั้ง เมื่อได้กลิ่นผักสะแงะ (ผักหอมแย้) จากแกงหน่อไม้นี่จะเผลอนึกเสมอว่าเราได้นั่งกินข้าวอยู่กับครอบครัว มากกว่าแกงหน่อไม้ยังแสดงถึงความห่วงใยจากทางบ้านที่ส่งมาให้ด้วยค่ะ

สำหรับการปรุงก็ไม่แตกต่างจากแกงหน่อไม้ทั่วไป แต่ที่เพิ่มเติมเข้าไปคือชาวภูไทจะใส่ผักสะแงะแทนผักกะแยงค่ะ ส่วนผสมคือ หน่อไม้ไร่, น้ำใบย่านาง, ฟักทองสุก, น้ำปลาร้าดิบ, ข้าวเบือ, ผักสะแงะ, เครื่องปรุงรสต่างๆ ส่วนวิธีทำคือ

1. ตั้งหม้อให้เดือดแล้วต้มน้ำปลาร้าดิบพร้อมปรุงรสตามใจชอบ
2. พอหม้อร้อนได้ที่แล้วใส่หน่อไม้ลงไปต้มเพื่อให้รสชาติขมจากหน่อไม้ลดลง
3. พอได้ที่แล้วนำน้ำใบย่านางกับน้ำข้าวเบือใส่ลงไป รอให้ข้าวเหนียวเริ่มสุกแล้วใส่ฟักทองสุกลงไป
4. ขั้นตอนสุดท้าย พอทุกอย่างสุกแล้วใส่ผักสะแงะลงไปเป็นอันเรียบร้อย

สำหรับเคล็ดลับที่ขาดไม่ได้คือ ผักสะแงะและหน่อไม้ไร่จะต้องทุบเท่านั้น ไม่ซอยบางๆ และปลาร้าดิบนัวๆ บางคนก็จะใส่เห็ดลงไปบ้าง หมูบ้าง แต่สำหรับเทยแล้วจะไม่ใส่เยอะสิ่ง เพราะอยากให้หน่อไม้ไร่ที่ใส่ไปทำหน้าที่นางเอกของเมนูนี้

แกงหน่อไม้สไตล์สาวภูไทใกล้บ้านจึงเป็นอาหารที่เทยนึกถึงบ้านทุกครั้ง เพราะที่บ้านชอบไปหาหน่อไม้จากภูเขาแถวๆ นานึ่งอัดแล้วส่งมาให้พร้อมกับผักสะแงะ คนที่ได้ชิมรสชาติของเมนูนี้ติดอกติดใจกันใหญ่ค่ะ

Akkrapats Ratthongkhong
ชื่อเมนู แกงป่าหมูสับรสจัดจ้าน ใส่มะเขือพวงและผิวมะเขือเปราะ ตามด้วยหน่อไม้ดองเส้นเพิ่มความเผ็ดร้อน

เมนูนี้คือเมนูสุดโปรด ทุกครั้งที่กลับเมืองไทยและกลับบ้านที่สุพรรณฯ เมนูนี้แม่จะทำไว้ให้เรากินเป็นมื้อแรกตลอดเลย ความพิเศษของเมนูนี้คือพริกแกง ปกติแม่จะตำเอง แต่หลังๆ แม่อายุเยอะแล้ว ไปซื้อของเจ้าประจำในตัวเมืองสุพรรณฯ รสชาติเหมือนของแม่เลย

วิธีการทำแกงป่าหมูสับรสจัดจ้านคือ
1. ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไปประมาณ 5 ช้อนโต๊ะ พอน้ำมันร้อน ใส่พริกแกงลงไปผัดจนหอมได้ที่
2. ใส่หมูสับลงไปผัดให้สุก แล้วใส่กระชายซอยกับพริกไทยดำเม็ดบุหยาบๆ ลงไปด้วยเพื่อความหอมและเผ็ด
3. ค่อยๆ ใส่น้ำลงไปพอประมาณ ไม่ต้องเยอะแบบพวกแกงส้ม เอาพอคลุกคลิก
4. ผักที่ใส่คือมะเขือเปราะ (ที่บ้านจะใช้แค่ตัวผิวมะเขือเพราะทานง่าย ไม่ใส่ตัวเม็ดลงไป) และหน่อไม้ดอง (ต้องล้างด้วยน้ำร้อน 2 รอบเพื่อดับกลิ่นและความเปรี้ยวลง)

บางคนจะใส่หน่อไม้สด แต่หน่อไม้ดองจะมีความเผ็ดร้อนในตัว ช่วยเพิ่มความเผ็ดได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ‘ใบยี่หร่า’ หรือใบกะเพราควาย เพราะเป็นตัวเอกจะทำให้แกงหอมมากขึ้นและเพิ่มความเผ็ดด้วยเช่นกัน

แต่เราอยู่ออสเตรเลียหาใบยี่หร่าไม่ได้ เลยใช้ใบกะเพราแทน และตำพริกขี้หนูพอหยาบๆ ใส่เพิ่มเข้าไป แล้วปรุงรส ผัดเสร็จแล้วตักใส่ถ้วย พร้อมทานคู่กับไข่เจียวจะอร่อยมากเลยครับ

อาหารที่ไม่เคยลืมรสมือแม่ คิดถึงบ้านทุกครั้งที่ทำเมนูนี้
#คิดถึงบ้านจัง

Pongthida Angsuvatanakul
ชื่อเมนู ผัดสะตอหมูสับ

เราไม่ใช่คนไกลบ้าน แต่เห็นแคมเปญนี้ทำให้นึกถึงกับข้าวที่บ้าน เพราะเดี๋ยวนี้คุณนายแม่เลิกทำครัวมาน้านนาน  ครอบครัวเราเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ชอบอาหารรสจัด และแม่ทำกับข้าวเป็นอยู่ไม่กี่เมนู แต่เมนูที่ทุกคนในครอบครัวคอนเฟิร์มว่าแม่เราทำได้อร่อย ถูกใจทุกคนในครอบครัว คือผัดสะตอหมูสับ

ถ้าหาสะตอได้แม่จะทำเมนูนี้บ่อยมาก เรามีความทรงจำดีๆ ของครอบครัวมากมายเกี่ยวกับเมนูนี้ ตั้งแต่ที่พ่อจะเป็นคนไปจ่ายตลาด บางทีก็ลืมซื้อพริก ซื้อกระเทียมกลับมาไม่ครบ พ่อก็จะโดนแม่บ่นให้กลับไปซื้อให้ครบ (หัวเราะ)

ขั้นตอนการทำเมนูนี้คือ
1. เตรียมโขลกกระเทียมและพริกขี้หนูสดตำหยาบๆ พักไว้
2. แล้วนำกระทะตั้งไฟใส่น้ำมันพืช กระทะร้อนแล้วใส่กระเทียม น้ำพริก หมูสับ ลงผัดให้เข้ากัน
3. พอหมูสุกใส่สะตอผัดพอสุก ถ้ามีกุ้งก็ใส่กุ้งพร้อมกับสะตอเลย แล้วผัดต่อให้ทุกอย่างสุก
4. ปรุงรสด้วยนำ้ตาล ซอสปรุงรส น้ำปลา ผัดให้เข้ากันแล้วตักใส่จาน

ที่สำคัญคือบ้านเราจะใส่หมูสับแบบไม่ติดมัน สะตอไม่อั้น พริกขี้หนูสวนสีเขียวๆ ที่ผัดเสร็จออกมาแล้วดูไม่ออกเลยว่ารสเด็ดเผ็ดจัดจ้าน มีเมนูนี้จานเดียวกินได้ 3-4 มื้อเลย ไม่มีเบื่อ ทุกคนในบ้านจะมารวมตัวแข่งกันจ้วงตัก สนุกสนานดีเหมือนกัน

อีกอย่างที่รู้สึกตลกดี คือวันไหนถ้าบ้านเราทำเมนูนี้ กลิ่นของความเผ็ดจัดจ้านจะคลุ้งไปหมดทั้งบ้าน เราชอบบ่นว่าน้ำหูน้ำตาไหลด้วยความแสบตาแสบจมูก แต่พอทำเสร็จเราจะเป็นคนที่กินเยอะที่สุดทุกทีเลย (หัวเราะ)

Faan Peeti
ชื่อเมนู ดับเบิลครีมชีสเค้ก

ไฮไลต์หนึ่งของการกลับบ้านที่ชลบุรีคือการชวนแม่ทำขนม เอ หรือแม่ชวนเราทำนะ ไม่แน่ใจว่าใครชวนใคร และหนึ่งในขนมหวานที่ทุกคนในบ้านชอบมากคือดับเบิลครีมชีสเค้ก

สูตรนี้แม่ได้มาจากคนญี่ปุ่นที่รู้จักกัน แต่แม่ปรับสูตร คือลดนำ้ตาลและเพิ่มสัดส่วนครีมชีสไป 4 เท่า! ใช่ พิมพ์ไม่ผิดค่ะ 4 เท่าจริงๆ เพราะบ้านเราชอบรสชาติครีมชีสมากๆ เลยใส่แบบไม่เกรงใจ

สุดท้ายมันเลยกลายเป็นเมนูโปรดเฉพาะในบ้าน ถ้าเอาไปให้คนอื่นกินเขาจะไม่ค่อยชอบเพราะรสชีสมันเข้มข้นเกินไปและหวานน้อย

แต่ไม่เป็นไรเลย เพราะแค่พวกเราแฮปปี้กับสิ่งที่ทำและได้กินของที่ชอบก็พอแล้ว

Paweekan Insawang
ชื่อเมนู หมูโค

จริงๆ เป็นคนมีเมนูโปรดเยอะมาก กลับบ้านที พ่อ แม่ แม่เฒ่า ก็จะสรรหาทำมาเสิร์ฟเอาใจวันละเมนู ต้มหมูใบชะมวง แกงส้ม ต้มกระดูกหมูเห็ดหอม หมูโค คือต้องมีครบตามนี้ ไม่งั้นเหมือนไม่ถึงบ้าน

ปีนี้ไม่ได้กลับบ้าน แต่พ่อกับแม่ส่งหมูโคมาให้ก่อนหน้าแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่ถึงเดือนแม่เฒ่าก็เพิ่งส่งมาให้เหมือนกัน มันเป็นเมนูเดียวในเมนูโปรดที่เก็บได้นานแหละ

ซึ่งพอบอกว่าทุกคนที่บ้านส่งหมูโคมาให้ ก็ฟังดูเหมือนเป็นเมนูที่ทำยากใช่ไหม แต่จริงๆ วิธีทำไม่ได้ยากอะไรหรอก คือ
1. ล้างหมูสามชั้นให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้น
2. นำหมูสามชั้นใส่ลงกระทะ เติมน้ำ เหยาะซีอิ๊วขาวและเกลือเพิ่มรสชาติ
3. ตั้งไฟอ่อน รอจนน้ำแห้ง เมื่อเริ่มมีมันหมูออกมาให้ทุบกระเทียมลงผัด
4. อาจใส่ซีอิ๊วหวานเพิ่มสักนิดเพื่อทำให้หมูมีสีสันสวยงาม

แม้วิธีทำจะง่ายแต่ทุกคนก็ยังทำส่งมาทุกครั้งที่บอกว่าอยากกิน (ทั้งๆ ที่ไปซื้อหมูทำเองน่าจะถูกกว่าค่าเคอรี่จากสุราษฎร์ฯ) หรือช่วงไหนเหนื่อยๆ มีเรื่องเศร้าๆ คำปลอบใจของพ่อกับแม่ก็จะส่งมาในรูปแบบของหมูโคเสมอ

หลายครั้งตอนอยู่กรุงเทพฯ ที่แกะหมูโคมากินก็ไม่ได้คิดถึงรสชาติมันหรอก คิดถึงคนที่ทำให้กินมากกว่า คิดถึงเสียงหายห่วงของแม่เฒ่าเวลาโทรไปบอกว่าได้กินแล้ว อร่อยมากเลย คิดถึงแม่ที่ยืนหน้าเตาเลือกแต่หมูเนื้อแดงมาให้เพราะรู้ว่าเราชอบกินกว่าหมูเนื้อขาว คิดถึงพ่อที่ทำหน้าที่เป็นสารถีพาหมูโคไปส่งเคอรี่ คิดถึงพี่ๆ ญาติๆ ที่มักจะโดนหางเลขจากแม่เฒ่าให้รีบไปตลาดเพื่อซื้อหมูมาทำ

จริงๆ เรื่องตลกเกี่ยวกับหมูโคคือ ถ้ากินที่บ้าน หมูโคไม่เคยเหลืออยู่ในกระทะข้ามคืนเลย อย่างมากคือกินได้แค่สองมื้อ เพราะนี่ชอบฉกหมูไปกินเล่น แต่พอน้องเดินทางมาไกลกว่าจะถึงกรุงเทพฯ กลายเป็นว่ากินได้หลายมื้อมาก ไม่ใช่ว่าแม่ทำมาให้เยอะนะ แต่กินแบบประหยัดมาก กลัวหมด (หัวเราะ)

Nawapat Nawacharoen
ชื่อเมนู ต้มหมูชะมวง

ตั้งแต่เด็กผมชอบกินอะไรหลายอย่าง แต่เมนูที่ถูกปากเสมอคือ ‘หมูชะมวง’

ไม่แน่ใจว่าคนรู้จักเมนูหมูชะมวงหรือต้นชะมวงมากแค่ไหน แต่ทั้งสองอย่างนี้คนระยอง จันทบุรี และตราด คุ้นเคยและกินกันมายาวนาน ในร้านทั่วไปจะขายแกงหมูชะมวงที่มีสีแดงเข้ม ใส่หมูและใบชะมวงใบใหญ่ให้รสชาติเผ็ด เปรี้ยว หวาน แต่ด้วยความที่สมัยเด็กผมกินเผ็ดไม่ได้มาก แม่จึงทำเมนูนี้เป็นต้มหมูชะมวงแทน ตัดความเผ็ดออกไป เน้นรสเปรี้ยว หวาน และน้ำซุปเยอะกว่า เพราะผมชอบซดน้ำ สูตรที่แม่ทำให้กินคือ

1. ต้มน้ำใส่รากผักชีทุบ หอมแดงทุบ และซุปปรุงรสหมูก้อน
2. พอน้ำเดือดจะใส่กระดูกสันหลังหมู กระดูกหมู และกระดูกอ่อน เคี่ยวจนเริ่มสุก
3. เบาไฟกลาง ใส่ใบชะมวงหั่นฝอย เคี่ยวจนมีรสเปรี้ยว
4. ปรุงรสตามชอบด้วยน้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย
5. เคี่ยวไฟอ่อนๆ ประมาณ 30-40 นาที จนกระดูกหมูร่อน นุ่ม
6. เบาไฟกลาง ใส่ใบชะมวงหั่นฝอย เคี่ยวจนมีรสเปรี้ยว
7. ชิมรสอีกครั้งให้ได้รสกลมกล่อม ได้รสเปรี้ยวของชะมวง

ปัจจุบันผมอายุ 25 นอกจากจะอยู่ไกลบ้านแล้ว ตอนนี้ห่างหายจากการกินต้มหมูชะมวงไปมาก ส่วนหนึ่งเพราะต้นชะมวงที่ตาปลูกไว้ให้ผมที่บ้านที่ระยองถูกถอนไปเพื่อใช้พื้นที่ต่อเติมบ้าน แต่ก่อนตัดทิ้งได้ตอนกิ่งไปปลูกใหม่ที่บ้านอีกหลังที่ชลบุรี และกลายเป็นต้นไม้ใหญ่จนผมจำไม่ได้ เพราะนานๆ ครั้งถึงจะได้แวะเวียนไปเด็ดใบอ่อนมาทำต้มหมูชะมวงกินบ้าง

แต่ยังไงต้มหมูชะมวงก็ยังทำให้การกลับบ้านของผมอร่อยขึ้นเยอะเมื่อได้กลับบ้านอยู่ดี

AUTHOR