FOLD นิตยสารออนไลน์ของ Moleskine ที่รวบรวมแรงบันดาลใจจากนักสร้างสรรค์ทั่วโลก

Highlights

  • FOLD คือนิตยสารของแบรนด์ Moleskine ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่ถึงหนึ่งปี เนื้อหาภายในแบ่งเป็น 5 หมวด ที่เชื่อมโยงกันด้วยการเล่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจจากศิลปิน นักคิด นักเขียน ทั่วโลก
  • แม้แบรนด์ Moleskine จะโด่งดังเรื่องสมุดบันทึกเป็นพิเศษ แต่ FOLD เลือกเผยแพร่ด้วยแฟลตฟอร์มออนไลน์เพราะพวกเขาพยายามปรับตัวเองให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอ รวมทั้งการเป็นนิตยสารออนไลน์ก็เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายระดับ global ด้วย
  • เป้าหมายของ FOLD คือการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนสร้างสรรค์ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับแชร์ความรู้และแรงบันดาลใจ และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารวิสัยทัศน์ของแบรนด์ Moleskine

ถึงเราจะมีสมุดโน้ตปกดำของ Moleskine ในครอบครองมานานแล้ว แต่สารภาพตามตรงว่าเราเพิ่งรู้เมื่อเร็วๆ นี้เองว่าแบรนด์สมุดสุดคลาสสิกแบรนด์นี้ก็มีแม็กกาซีนกับเขาเหมือนกัน

อย่างที่แฟนๆ Moleskine รู้กันว่าสมุดที่เป็นไอคอนของ Moleskine นั้นเป็นไอเทมฮิตของนักคิด นักเขียน และศิลปินช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ต่างใช้สมุดหนังปกสีดำมีสายคาดทั้งนั้น ก่อนร้านที่ผลิตสมุดชนิดนี้ในปารีสจะหยุดทำไป ปล่อยให้สมุดของศิลปินเหลือเพียงตำนาน และกว่าแบรนด์สัญชาติอิตาลีอย่าง Moleskine จะเข้ามาชุบชีวิตมันก็ปาเข้าไปปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว

และต้องใช้เวลาอีกกว่า 20 ปี FOLD Magazine ถึงเปิดตัวในโลกออนไลน์ ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความเก๋าของแบรนด์เป็นอย่างดี

หากคลี่ FOLD Magazine ออกมาดูเราจะเห็นว่านิตยสารนี้แบ่งออกเป็น 5 ส่วนที่ล้วนเชื่อมโยงกันด้วยความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ ที่ทำให้เราตื่นเต้นเพราะเนื้อหานั้นมาจากนักสร้างสรรค์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคนเล็กๆ หรือศิลปินใหญ่ก็ตาม

อะไรคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องสมุดบันทึกลุกขึ้นมาทำแม็กกาซีนของตัวเอง Mavis Leung ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กรส่วนภูมิภาคของ Moleskine จะเป็นคนเล่าให้เราฟัง

ไอเดียการทำ FOLD Magazine เริ่มต้นขึ้นได้ยังไง

ไอเดียของ FOLD Magazine เกิดขึ้นในการประชุมที่สำนักงานใหญ่ของ Moleskine ตอนนั้นผู้บริหารของเราคิดว่าในเมื่อแกนหลักของแบรนด์คือความคิดสร้างสรรค์ เราก็ควรสร้างแพลตฟอร์มสำหรับความคิดสร้างสรรค์เพื่อแชร์บทความ บทสัมภาษณ์ อีเวนต์ เรื่องราวจากนักเขียนชื่อดัง ศิลปินที่กำลังเติบโต หรือใครก็ตามที่เต็มไปด้วยแพสชั่นต่องานศิลปะ

เป้าหมายของเราคือการเน้นย้ำเอกลักษณ์การเป็นแบรนด์แห่งแรงบันดาลใจ เราอยากเปิดพื้นที่ให้นักคิดได้กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคนอ่านและสร้างสังคมสร้างสรรค์ขึ้น เป้าหมายของเรายังเป็นการแชร์ความรู้และวัฒนธรรม นั่นหมายถึงเราต้องสร้างแพลตฟอร์มเพื่อแชร์ความรู้ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้คนด้วย

จากที่เราเคยฟังเรื่องราวของ Moleskine มา พวกคุณพูดถึงความคิดสร้างสรรค์บ่อยมาก ความคิดสร้างสรรค์สำคัญยังไงสำหรับแบรนด์เครื่องเขียนอย่างคุณ

ฉันคิดว่ามันคือตราประทับของมรดกทางวัฒนธรรมของเราที่เริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 ในยุคนั้นมีการผลิตหนังสือปกหนังสีดำมีสายรัดแล้ว และนักคิด นักวาดคนสำคัญ อย่าง Picasso, Hemingway, Bruce Chatwin หรือ Van Gogh  ก็ใช้มันเพื่อจดไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ มันเลยเป็นแกนหลักที่ตกทอดมายังแบรนด์ของเราในยุคนี้ด้วย ทุกวันนี้โลกของเรามีแรงงานที่มีความรู้ซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน อย่างเช่น คุณทำงานที่ a day คุณก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ฉันที่ทำงานในสายมาร์เก็ตติ้งก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมความคิดสร้างสรรค์ถึงเป็นสิ่งสำคัญและเราอยากถ่ายทอดเรื่องราวสร้างสรรค์ออกมา

มีอย่างหนึ่งที่เราสนใจคือทำไมแบรนด์ที่เด่นเรื่องสมุดโน้ตถึงตัดสินใจทำแม็กกาซีนออนไลน์

มีหลายเหตุผลที่ทำให้เราทำแม็กกาซีนออนไลน์ อย่างแรก คือเราเปิดกว้างมากๆ ต่อโลกดิจิทัล เราต้องวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงในโลกให้ทัน นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับเรื่องที่เราพัฒนากระดาษและสมุดโน้ตของเราด้วยนวัตกรรมเสมอ เช่น smart writing system และแม้ฉันจะคิดว่านักคิดทุกคนในศตวรรษที่ 19 หรือแม้แต่ยุคนี้ ต่างก็เริ่มต้นด้วยกระดาษหนึ่งแผ่นกันทั้งนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกดิจิทัลก็สำคัญและสร้างความสะดวกให้คนมากขึ้นจริงๆ

อีกเหตุผลที่เราทำแม็กกาซีนออนไลน์เพราะพูดตามตรง FOLD คือเครื่องมือการตลาดของเรา ได้รับเงินสนับสนุนจาก Moleskine เราก็อยากให้คนเข้าถึงมันได้ง่ายๆ ด้วย

ถึงอย่างนั้นฉันก็คิดว่าโลกแอนะล็อกและดิจิทัลไม่สามารถแทนที่กันและกันได้นะ เพราะมันต่างก็มีฟังก์ชั่นเฉพาะตัว อย่างเมื่อคุณจดลงสมุด คนอื่นๆ สามารถเห็นบุคลิกของคุณได้ทันที มันมีตัวตนของคุณอยู่ในนั้น เหมือนบางทีที่คนก็อยากเขียนการ์ดวันเกิดให้เพื่อนเพราะมันทำให้เพื่อนรู้สึกอบอุ่นใจ เหมือนมีคนแคร์กันจริงๆ รักกันจริงๆ ฉันว่าการเขียนสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้ และเราไม่สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลมาทดแทน

นั่นคือเหตุผลว่าต่อให้เราทำแม็กกาซีนออนไลน์ แต่เราก็พิมพ์ FOLD ออกมาเป็นเล่มด้วย แต่ตอนนี้เราเพิ่งทำไปได้แค่หนึ่งเล่มและวางให้หยิบใน Moleskine Cafe สาขามิลานเท่านั้น เพราะ FOLD เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เราเลยยังปรับปรุงมันกันอยู่เลย

ใครคือผู้อ่านของ FOLD

อย่างที่ฉันบอกว่า FOLD ต้องการเน้นเอกลักษณ์ของแบรนด์และสื่อสารว่าเราคือแบรนด์ของแรงบันดาลใจ นักเรียน นักศึกษา นักคิด นักเขียน นักวาดที่กำลังเติบโตและมีชื่อเสียงเลยเป็นทาร์เก็ตของเรา เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่ต้องการแรงบันดาลใจ นอกจากนั้น คนที่ย้ายหลักแหล่งอยู่ตลอดเวลาแบบ urban nomads คนที่เดินทางเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศเสมอก็เป็นคนที่ต้องการแรงบันดาลใจ และแน่นอนว่าคอมมิวนิตี้ของ Moleskine เองก็เป็นทาร์เก็ตของเราเหมือนกัน

ในทางกลับกัน คุณใช้ FOLD เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้ของ Moleskine ด้วยไหม

ใช่ๆ เราใช้ FOLD สร้างคอมมิวนิตี้ด้วย เราอยากให้ FOLD เป็นพื้นที่สำหรับคนสร้างสรรค์ เช่น เมื่อเราสัมภาษณ์ผู้นำทางความคิดและคนได้อ่านบทสัมภาษณ์นั้น เราก็มีสถานะเป็นคอมมิวนิตี้ที่แชร์ความรู้กันได้

ความคิดสร้างสรรค์แบบไหนที่จะผ่านเกณฑ์และทีมงาน FOLD จะอยากหยิบมาเล่า

อย่างแรกคือความน่าเชื่อถือ เพราะถ้าเราจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับแชร์ความรู้ให้ผู้คนจริงๆ เราต้องมั่นใจว่าเรื่องที่เราเลือกมาเป็นเรื่องที่ดีและไม่หลอกลวง สอง คือความเกี่ยวข้องกับผู้อ่าน และสาม คือเรื่องราวที่เราเล่าต้องให้แรงบันดาลใจกับคน

เพราะเราเป็นแบรนด์ระดับโลก เราต้องทำคอนเทนต์ให้คอมมิวนิตี้ของ Moleskine ทั่วโลก คุณจะเห็นว่าเราสัมภาษณ์ศิลปินจากที่ต่างๆ ทั่วโลก แม้กระทั่งสิ่งที่เราเลือกมาแนะนำ อย่างนิยายที่เราแนะนำก็มีทั้งนิยายตะวันตกและตะวันออก หรือแนะนำงานของศิลปินเกาหลีที่ไม่มีคำพูดใดๆ เลย ดังนั้นใครๆ ก็เข้าใจได้ทั้งหมด คนเกาหลีสามารถอ่านได้ คนตะวันตกสามารถอ่านได้ และแม้ว่าเราจะเป็นแบรนด์อิตาลีแต่เราใช้ภาษาอังกฤษในเว็บไซต์เพราะเราอยากสื่อสารกับคนทั่วโลกให้ได้มากที่สุด

คนสร้างสรรค์แบบไหนที่จะอยู่ในบทสัมภาษณ์ของ FOLD ได้

เราพยายามเล่าเรื่องราวของคนในสาขาที่หลากหลาย เช่น โซเชียลมีเดียอินฟลูเอนเซอร์ นักวาดภาพประกอบ หรือสถาปนิกที่ให้แรงบันดาลใจ ในแต่ละหมวดเราก็จะโฟกัสเรื่องไม่เหมือนกัน

เว็บของเราแบ่งเป็น 5 ส่วน Gallery คือบทสัมภาษณ์ศิลปินทั้งหน้าใหม่และมีชื่อเสียงเพราะเราอยากแนะนำศิลปินใหม่ๆ ให้สังคมครีเอทีฟ สนับสนุนให้พวกเขาได้มีพื้นที่ Top Ten คือหมวดที่เราให้คนสร้างสรรค์อาชีพต่างๆ มาแนะนำ ‘10 อันดับ’ ของตัวเองในเรื่องต่างๆ

หมวด Journey จะเป็นเส้นทางของคนสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว อย่างเรื่องราวของ Ma Yansong สถาปนิกชื่อดังชาวจีนที่มาแชร์กับเราว่าเขาเข้าสู่โลกของสถาปัตยกรรมได้ยังไง เขามีแนวคิดยังไงในการทำงาน พัฒนาตัวเองจนสำเร็จได้ยังไง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้คน

ส่วนในหมวด Agenda เราเน้นสัมภาษณ์คนที่ทำงานในสาขาที่เฉพาะตัวและน่าสนใจ เช่น คุยกับภัณฑารักษ์ของมิวเซียมดังๆ ช่างภาพ หรือแม้กระทั่งนักเขียนฟรีแลนซ์

 

เท่าที่เราเคยอ่าน FOLD ดูให้ความสำคัญกับศิลปินหน้าใหม่มากเลยนะ

มันเป็นเพราะเราให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าศิลปินคนนั้นจะดังหรือไม่ เราเชื่อว่าทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ดังนั้นเราจึงอยากให้พวกเขาได้มาแชร์ผลงาน ไอเดียของตัวเองนะ จริงๆ นั่นก็เป็นเหตุผลที่เราเปิดคาเฟ่ในหลายๆ เมืองเช่นกัน เพราะเราเชื่อว่าคาเฟ่คือพื้นที่ที่คนจะได้มาเจอกัน เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา และการแลกเปลี่ยนไอเดียและวัฒนธรรม

ในฐานะที่คุณเป็นผู้จัดการแผนกมาร์เก็ตติ้งและสื่อสารองค์กรระดับภูมิภาคและต้องเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เสมอ คุณเห็นการเติบโตของศิลปินและศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไง

ที่ผ่านมา ฉันเดินทางไปปารีสบ่อยมากๆ เพราะฉันเคยทำงานในแบรนด์แฟชั่นของฝรั่งเศส ปารีสนั้นเต็มไปด้วยมิวเซียม พวกเขาถึงกับมีโซนสำหรับแกลเลอรีศิลปะโดยเฉพาะ มีการกำหนดช่วงเวลาให้แกลเลอรีหลายๆ แห่งจัดนิทรรศการพร้อมๆ กัน หรือที่อิตาลีมีก็มิวเซียมใหญ่ๆ เช่นกัน เอาเข้าจริงที่นั่นมีพิพิธภัณฑ์เยอะมากจนฉันจำชื่อไม่ได้แล้ว

แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉันคิดว่าเป็นเพราะการเติบโตของอินสตาแกรมทำให้หลายคนมีโอกาสปล่อยของมากขึ้น ฉันยังคิดว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แวดวงศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เติบโตขึ้นเยอะ มีการจัดนิทรรศการศิลปะมากมาย

หรืออย่างเมื่อวานฉันไปเซ็นทรัลเวิลด์มาและเห็นว่าพวกเขามีงาน installation ของ Yayoi Kusama ที่แขวนอยู่ในห้างและบนบันไดเลื่อน มันทำให้ฉันคิดว่าพวกเขาใช้พื้นที่ได้คุ้มมาก และทั้งๆ ที่พื้นที่ในห้างมีราคาแพงลิบลิ่ว แต่ห้างก็ยังเก็บพื้นที่ขนาดใหญ่ให้งานศิลปะซึ่งแปลว่าผู้คนที่นี่ก็ให้คุณค่ากับงานศิลปะมากขึ้น แม้กระทั่งคาเฟ่ต่างๆ ก็ตกแต่งอย่างสวยงามและมีความเป็นศิลปะมากๆ ฉันคิดว่านี่คือการผสมศิลปะเข้าไปในชีวิตประจำวันเหมือนกัน

กลับมาพูดถึง FOLD กันสักนิด ตลอดเกือบๆ หนึ่งปีที่ผ่านมาฟีดแบ็กเป็นยังไงบ้าง

ฟีดแบ็กที่เราได้รับถือว่าดีมากๆ เพราะเราเพิ่งเปิดตัวแฟนเพจไปไม่นานแต่ก็มีคนรู้จักเรา มีคนกดไลก์กว่า 50,000 คนภายในเวลาประมาณ 8 เดือนที่เราเปิดมา และมีคนติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่น่าประทับใจกว่าคือบางครั้งก็มีคนส่งเมสเสจหลังบ้านมาหาเราว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับชีวิตของเขามากๆ และขอบคุณที่เราแชร์เรื่องเหล่านั้นออกไป

FOLD เพิ่งเปิดมาได้แค่เกือบๆ หนึ่งปี ตอนนี้เป้าหมายของแม็กกาซีนคืออะไร

ตอนนี้สำนักงานใหญ่ก็ยังไม่ได้ฟันธงว่าเราจะทำอะไรกันต่อไปแต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือการรวบรวมฟีดแบ็กเพื่อพัฒนาต่อไป รวมถึงเราก็มีการคุยเพื่อพัฒนาโครงสร้างคอนเทนต์ในเว็บไซต์ รูปแบบคอนเทนต์ต่างๆ เพราะเราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ในทิศทางของแบรนด์ คือการพัฒนาและแชร์ความรู้ให้ผู้คน นั่นคือเป้าหมายของเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด